Skip to main content

เก่อตอเก (จบ)

คอลัมน์/ชุมชน

เซาะ ถ่อ เช ซู เดาะ เช วา               เซาะ เช กอ โหม่ คา


ฉู่ ถ่อ โข่ เผ่อ กิ                            ดิ ที พวี หน่า ดิ เจ๊ะ


ลี่ แพ ส่า เหล่ กอ เต่อ เก


 


เป่อ บะ เก่อ ตอ เก ออ                   เป่อ บะ อิ กว่า เก ออ


เป่อ เหม่ เต่อ กว่า เก ออ                เก่อ ญอ อะ ลา เก่อ ปอ


เก่อ ลอ หม่า กุย แว เหน่ ลอ


 


ใส่เชซู สวมเชวา                         ใส่เชกอ และ เชโหม่คา


โพกผ้าโข่เผ่อกิ                            ใส่กำไลเงินและต่างหู


ใส่สร้อยส่าเหล่กอ


 


เราต้องสืบสร้างสานต่อ                   เราต้องร่วมรักษ์ร่วมใช้


หากเราหมางเมินคุณค่า                  ศักดิ์ศรีของบรรพชน


และศักดิ์ศรีคนปวาเก่อญอจะหมดสิ้นไป


 


(ท่อนสุดท้าย  เพลงเก่อตอเก : คำร้อง/ทำนอง : พนา  พัฒนาไพรวัลย์  ขับร้อง : ชิ  สุวิชาน  อัลบั้ม :เพลงนกเขาป่า)


 


*เชซู  หมายถึง เสื้อสำหรับผู้หญิงปวาเก่อญอที่แต่งงานแล้ว


*เชวา หมายถึง เสื้อสำหรับผู้หญิงปวาเก่อญอที่ยังไม่ได้แต่งงาน


*เชกอ เชโหม่คา หมายถึง เสื้อสำหรับผู้ชาย


*โข่เผ่อกิ หมายถึง ผ้าโพกหัวทอมือสำหรับผู้หญิงปวาเก่อญอ


*แพส่าเหล่กอ หมายถึง สร้อยลูกปัดของผู้หญิงปวาเก่อญอ


 


พายุแห่งการเปลี่ยนแปลงได้พัดโถมกระหน่ำหมู่บ้านบนดอยสูง 


บ้านป่าถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐชาติ ระบบการผลิต คุณค่าวิถีวัฒนธรรมเดิมของชุมชนถูกเปลี่ยนจากวาทกรรมใหม่ที่ชื่อว่า "การพัฒนา" แนวคิดพื้นฐานของวาทกรรมนี้คือชาวบ้าน โง่ จน เจ็บ ต้องทำให้ทันสมัยให้เจริญ บ้านดอยจึงถูกผลักดันให้เข้าสู่การพัฒนาแบบทุนนิยมที่ต้องพึ่งพาระบบการผลิตและกลไกลจากข้างนอกมากขึ้น


 


แต่เบื้องหลังของวาทกรรมนี้  เป็นการที่ต้องการสร้างวัฒนธรรมหลักของรัฐชาติให้เป็นหนึ่งเดียว มันไม่ใช่การรวมแต่เป็นการกลืนวัฒนธรรม ไม่ใช่การหลอมแต่เป็นการทุบเพื่อให้เกิดวัฒนธรรมเดี่ยว ภาษาเดียว ศาสนาเดียว ประเพณีเดียว  พิธีกรรมเดียว  ฯลฯเดียว


 


ครอบครัวและชุมชนที่ทำหน้าที่ในการกล่อมเกลาและถ่ายทอดความรู้ถูกแทนที่ด้วยโรงเรียน  หมอตำแย หมอตำยาถูกแทนที่ด้วยโรงพยาบาล งานจักรสานถูกแทนที่ด้วยตะกร้าพลาสติก เครื่องแต่งกายประจำเผ่าถูกแทนที่ด้วยเสื้อผ้าแบรนด์เนมต่าง ๆ  ช้าง ม้า วัว ควาย ถูกแทนที่ด้วยเครื่องยนต์ ระบบความเชื่อเดิมถูกแทนที่ด้วยศาสนาใหม่  สายสัมพันธ์แห่งการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันก็เริ่มเสื่อมคลายลง  สมาชิกในชุมชนเริ่มไม่สามารถช่วยตนเองหรือพึ่งพาอาศัยกันได้อีกต่อไปการแลกเปลี่ยนช่วยเหลือเกื้อกูล เอามื้อเอาวันถูกแทนที่ด้วย การซื้อขาย และจ้างเป็นเงินตรา วัฒนธรรมท้องถิ่นกลายเป็นเพียงสินค้า


 


ทรัพยากรท้องถิ่นถูกสร้างมูลค่าเพื่อนำออกไปขายนอกชุมชน  บ้านไพรมิอาจอยู่แบบพอเพียงได้อีกต่อไปทางเลือกของชุมชนในการดำเนินชีวิตลดลง  ลูกหลานออกจากชุมชนเข้าไปหางานและหาเรียนในเมือง ในชุมชนมีแต่เด็กน้อยที่ถูกทิ้งให้ผู้เฒ่าดูแล  สิทธิหน้าหมู่ของชุมชนกลายเป็นสมบัติส่วนบุคคลมากขึ้น ดิน น้ำ ป่า กลายเป็นเพียงสินค้าที่มีมูลค่า  การแย่งชิงทรัพยากรในธรรมชาติรุนแรงขึ้นจนทรัพยากร ธรรมชาติในชุมชนเสื่อมโทรม หาคนรับผิดชอบไม่มี


 


เขาคนนี้เติบโตท่ามกลางพายุลูกนี้  ครอบครัวของเขาอุทิศตนให้กับศาสนา เขาจึงถูกส่งไปเพื่อเป็นนักบวช  ตอนเด็กเขาไม่อยากเป็นชาวเขา เพราะชาวเขาคือผู้อาศัยที่เป็นส่วนเกินไม่ใช่คนไทย  เพราะชาวเขาเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ  เพราะชาวเขาเป็นพวกสกปรกล้าหลัง ไม่มีการศึกษา เพราะชาวเขาเป็นพวกตัดไม้ทำลายป่า และพวกค้ายา ………..ฯลฯ……….


 



 


แต่เขาเจ็บปวดและมีอารมณ์ทุกครั้งที่ต้องเผชิญหน้ากับการที่ชาวเขาถูกดูถูกโดยเฉพาะชนเผ่าของเขา  เคยเถียง เคยด่า เคยต่อย และต่อสู้กับคนดูถูกมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน  เพื่อกอบกู้ และปฏิเสธวาทกรรมที่ถูกสร้างจากคนอื่นที่มีต่อชนเผ่าของเขา 


 


สี่ปีที่ใช้เวลาใต้ร่มนักบวชคริสตศาสนา  เขาได้ทบทวนอะไรต่าง ๆ มากมายในการที่จะทำให้ชนเผ่าของเขาก้าวต่อไปอย่างมั่นใจและภาคภูมิ  ให้คนอื่นเข้าใจ  ในขณะที่ตนเองเข้าใจตนเองและเท่าทันคนอื่น  เขาทำทุกวิถีทาง เพื่อยกระดับความเข้าใจให้เกิดขึ้นทั้งภายในชนเผ่าเองและภายนอก ในวันที่ต้องตัดสินใจว่า จะบวชตลอดชีพหรือไม่นั้น  เขาตัดสินใจเดินออกจากรั้วนักบวชคืนสู่สภาพสัตบุรุษ  


 


"เป็นนักบวชตลอดชีพ ผมทนไม่ไหวหรอก ผมตื่นมาตอนเช้าน้องชายผมแข็งทุกเช้า (หัวเราะ)" เขาตอบข้อสงสัยของผู้ถาม แบบทีเล่นทีจริง


 


แต่ด้วยอุดมการณ์และภาระใจของเขา  เขาจึงกลับมารับใช้ศาสนจักร  ในฐานะผู้ประสานงานศูนย์เยาวชนคาทอลิก สังฆมณฑลเชียงใหม่  ทำให้เขาได้ทำงานรับใช้ศาสนจักรด้วย และได้ทำงานรับใช้ชนเผ่าตามเจตนา และความตั้งใจ 


 


"ทุกคนเป็นลูกของพระเจ้า  ไม่ว่าจะนับถือศาสนาอะไร  เป็นชนเผ่าอะไร พระเจ้ารักทุกคน เพราะทุกคนเป็นการทรงสร้างด้วยฝีพระหัตถ์ของพระเจ้า พระเจ้าทรงรักทุกคน" เป็นประโยคที่เขามักจะพูดบ่อยๆ  เขามองทุกคนเป็นลูกของพระเจ้า พึงปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียม  ทุกชนเผ่า ทุกวัฒนธรรม เป็นของประทานจากพระเจ้า พึงสืบทอดสืบสานคุณค่าเหมือน ๆ กัน 


 


เขาเป็นผู้หยิบยื่นโอกาสให้เยาวชนได้พัฒนาศักยภาพของตนเองไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา อาชีพ  งานพัฒนา ดนตรี  ศาสนาและวัฒนธรรม


 


"ดนตรี เป็นสื่อที่สร้างความเข้าใจระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติ และคนกับพระเป็นเจ้า" เขาเชื่อในหลักการนี้


 


"เราเป็นคนปวาเก่อญอ ต้องสรรเสริญพระเจ้าด้วยภาษาปวาเก่อญอ หากเสียงแห่งการสรรเสริญ ดังขึ้นสู่สวรรค์ เมื่อพระเจ้าได้ยินเสียงการสรรเสริญที่เป็นภาษาปวาเก่อญอ พระเจ้าก็จะอวยพรคนปวาเก่อญอ


เราเป็นคนชนเผ่า  หากเราสรรเสริญพระเจ้าด้วยภาษาฝรั่ง พระเจ้าได้ยินเสียงสรรเสริญที่เป็นภาษาฝรั่ง ก็จะอวยพรคนฝรั่งแทนที่จะอวยพรคนชนเผ่า" เขามักอธิบายความเชื่อของเขาเช่นนี้เสมอ


 


ท่ามกลางกระแสอันเชี่ยวกราดของสายธารแห่งการครอบงำในยุคโลกาภิวัตน์เช่นนี้ เขารับรูปแบบบางอย่างจากข้างนอกมา  แต่เขายังคงอุดมการณ์ทางการผลิตและคุณค่าของระบบคิดแบบชนเผ่าของเขาให้ดำรงอยู่อย่างได้อย่างเหนียวแน่น


 


เขาทำหนังสือ ทำเพลง จัดอบรม สัมมนา จัดค่ายฯ ฯลฯ  เขายังทำหน้าที่ของเขาต่อไปด้วยใจรัก มีความคาดหวัง และมีความสุขในสิ่งที่เขาทำ 


เขาเชื่อมั่นว่าวันหนึ่งคืนวันแห่งธรรมจะกลับมา