Skip to main content

โครงการลดความต้องการไฟฟ้าสูงสุด : นโยบายดี แต่ทำไม่ดี !

คอลัมน์/ชุมชน





























































































เมื่อเดือนสิงหาคม 2547 คณะกรรมการพลังงานแห่งชาติได้คลอดแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือที่มีชื่อย่อว่า " แผนพีดีพี 2004" ซึ่งจะประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2547 ถึง 2554 โดยจะมีการลงทุนคิดเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 4 แสนล้านบาท

 

แผนนี้มีสิ่งที่น่าสนใจอยู่หลายอย่าง แต่ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะ โครงการลดความต้องการไฟฟ้าสูงสุด (peak cut) ซึ่งผมจะขอทำความเข้าใจพื้นฐานเพียงสั้น ๆ ดังนี้

 

ในแต่ละชั่วโมงของวัน คนไทยจะใช้ไฟฟ้าไม่เท่ากัน เช่น ในช่วงตี 3 ตี 4 จะเป็นช่วงที่ใช้ไฟฟ้าน้อยที่สุด ในขณะที่ประมาณบ่าย 2 ถึงบ่าย 3 จะใช้ไฟฟ้ามาก เมื่อนับให้ครบทุกวันของปีจะพบว่าในช่วงเวลาประมาณบ่าย 2 ถึงบ่าย 3 ของช่วงฤดูร้อน คนไทยจะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของปี ศัพท์ทางวิชาการเขาเรียกช่วงเวลานี้ว่า พีค (peak) แปลว่า ช่วงสูงที่สุด

 



ที่มา ฝ่ายควบคุมกำลังไฟฟ้า กฟผ . (20 มีนาคม 2546)



หมายเหตุ พีคของปี 2546 เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม เท่ากับ 18,121.4 เมกะวัตต์

 

เวลาที่คนใช้ไฟฟ้ากันมาก ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ .) ก็จะให้โรงไฟฟ้าเดินเครื่องทำงานให้ได้เท่ากับความต้องการของผู้ใช้ เมื่อความต้องการใช้ไฟฟ้าต่ำก็จะหยุดเดินเครื่องให้เหลือเท่ากับความต้องการ อย่างไรก็ตามทาง กฟผ . จะต้องมีโรงไฟฟ้าให้เพียงพอกับความต้องการที่มากที่สุดของปี

 

ผมขอยกเอาข้อมูลการใช้ไฟฟ้าในวันที่ 4 เมษายน 2545 ซึ่งเป็นพีคของปีมาพิจารณาพบว่า ในวันดังกล่าวมีพีคอยู่ที่ 16,681.1 เมกะวัตต์ ( เกิดขึ้นเวลาบ่าย 2 โมง ) แต่มีอยู่เพียงประมาณ 3 ชั่วโมงเท่านั้นที่ความต้องการไฟฟ้าสูงกว่า 16,000 เมกะวัตต์

 

โดยปกติ กฟผ . จะมีการสำรองโรงไฟฟ้าไว้ประมาณ 15% ของความต้องการในช่วงพีคของปี ดังนั้น ถ้าทาง กฟผ . ไม่คิดจะทำอะไรเลยก็ต้องสร้างโรงไฟฟ้าไว้ให้มากกว่า 16,681.1 เมกะวัตต์ อีก 15% นั่นคือต้องสร้างไว้ถึงจำนวน 19,183.3 เมกะวัตต์ เพื่อให้มั่นใจว่า ถ้าโรงไฟฟ้าเสียไม่เกิน 15% ของกำลังผลิตที่ใช้อยู่ เราก็จะมีไฟฟ้าใช้

 

จากที่ได้กล่าวมาแล้ว ทำให้เกิดคำถามที่น่าคิดขึ้นมาว่า ทำไม กฟผ . จะต้องมาเสียเงินสร้างโรงไฟฟ้าจำนวนหนึ่ง ( ส่วนที่เป็นสำรองของช่วงสั้น ๆ เพียง 3 ชั่วโมงต่อวัน ) แต่สามารถนำมาใช้งานได้เพียงไม่กี่ชั่วโมงต่อปีเท่านั้น ( รวมกันทั้งปีประมาณ 70 ชั่วโมง )

 

ถ้ายึดเอาข้อมูลในวันที่ 4 เมษายน 2545 เป็นตัวอย่าง ทาง กฟผ . อาจจะมีนโยบายให้โรงไฟฟ้าที่อยู่ในเครือข่ายของตนเองเดินเครื่องเพื่อตอบสนองความต้องการที่ระดับ 16,000 เมกะวัตต์เท่านั้นก็พอ ส่วนอีก 3 ชั่วโมงที่เกินระดับนี้ไปให้ผู้ที่มีโรงไฟฟ้าฉุกเฉินของตนเองเป็นผู้เดินเครื่องแทน กฟผ . จะได้ไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าเองไว้เยอะเกินไป สำหรับกรณีของวันดังกล่าว กฟผ . ต้องมีโรงไฟฟ้าไว้เพียง 16,000 เมกะวัตต์บวกกับสำรอง 15% รวมเป็น 18,400 เมกะวัตต์ นั่นคือ กฟผ . ไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าที่ไม่จำเป็นถึง 783 เมกะวัตต์ ( มาจาก 19,183 ลบด้วย 18,400)

 

ปกติค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าเฉลี่ยประมาณ 35 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ ถ้า กฟผ . ไม่ต้องลงทุนคิดเป็นเงิน 27,405 ล้านบาท ก็จะเป็นการประหยัดเงินของ กฟผ . และจะทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าของประชาชนถูกลงด้วย

 

ถ้าคิดค่าดอกเบี้ยจากทุนค่าก่อสร้าง 4% ต่อปีและค่าบำรุงรักษารวมค่าเสื่อมราคาอีก 6% ต่อปี ดังนั้น กฟผ . ก็จะประหยัดเงินได้ถึงปีละ 2,740 ล้านบาท

 

ด้วยเหตุนี้จึงได้เกิดนโยบายที่เรียกว่า " โครงการลดความต้องการไฟฟ้าสูงสุด " ขึ้น สำหรับแผนพีดีพี 2004 ได้มีนโยบายว่าจะลดพีคของประเทศไทยให้ได้ถึง 500 เมกะวัตต์ในปี 2549 นโยบายนี้จึงถือเป็นสิ่งที่ต้องสนับสนุนให้เกิดขึ้น

 

แต่ปัญหาอยู่ที่รายละเอียดของการปฏิบัติ ก่อนจะลงรายละเอียดผมขอสรุปเป็นประเด็นให้เห็นเป็นทางเลือก 2 ทางก่อน
ทางที่หนึ่ง ถ้าไม่มีการลดพีค 500 เมกะวัตต์ กฟผ . ต้องสร้างโรงไฟฟ้าเอง ต้องเสียดอกเบี้ยและค่าบำรุงรวมค่าเสื่อมราคารวม 10 % คือประมาณ 1,750 ล้านบาทต่อปี
ทางที่สอง ให้ผู้ที่มีเครื่องปั่นไฟฟ้าสำรองเป็นของตัวเอง เช่น โรงงานอุตสาหกรรม โรงพยาบาล ( ซึ่งมีอยู่ทุกโรง ตั้งแต่ระดับอำเภอ โดยโรงพยาบาลระดับจังหวัดจะมีขนาดประมาณ 0.5 เมกะวัตต์เป็นอย่างน้อย ) รวมทั้งมหาวิทยาลัย เดินเครื่องปั่นไฟในช่วงที่มีความต้องการไฟฟ้าสูงสุด

 

ปัญหาที่ต้องคิดก็คือว่า กฟผ . จะต้องตอบแทนผู้ที่เข้าร่วมในทางเลือกที่สองอย่างไร จึงจะเกิดแรงจูงใจและเป็นประโยชน์ต่อคนไทยทุกคน

 

จากเว็บไซต์ของ กฟผ . พบว่า กฟผ . จะตอบแทนผู้เข้าร่วมโครงการใน 2 ส่วน คือ
ส่วนแรก เรียกว่า " ค่าความพร้อมจ่าย " ซึ่งหมายถึงความพร้อมของอุปกรณ์ที่จะจ่ายไฟฟ้าเมื่อได้รับคำสั่ง โดย กฟผ . จะจ่ายเงินให้เจ้าของเครื่องปั่นไฟในอัตรา 66.45 บาทต่อกิโลวัตต์ต่อเดือนรวม 3 เดือน ถ้าใครมีเครื่องปั่นขนาด 0.5 เมกะวัตต์ก็จะได้รับเกือบ 2 แสนบาทต่อปี หรือถ้าคิดถึงที่เป้าหมาย 500 เมกะวัตต์ก็ประมาณ 100 ล้านบาทต่อปี
ส่วนที่สอง กฟผ . จะจ่ายค่าเชื้อเพลิงตามที่ผลิตจริงจากฐานราคาค่าน้ำมันดีเซล 1 ลิตร ผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 3 หน่วย หรือประมาณหน่วยไฟฟ้าละ 5 บาท

 

ประเด็นที่ผมขอวิจารณ์ก็คือว่า หน่วยงานที่มีเครื่องปั่นไฟฟ้าสำรองทุกแห่งจะต้องอยู่ในสภาพที่พร้อมจะเดินเครื่อง ( ให้ตนเอง ) ได้อยู่แล้ว มิฉะนั้นเขาจะมีเครื่องไฟฟ้าสำรองไว้ทำไม ดังนั้น กฟผ . ไม่จำเป็นต้องไปจ่ายเงินในส่วนนี้ แต่สิ่งที่ต้องมาคิดก็คือว่า จะต้องจ่ายค่าเชื้อเพลิงหน่วยละเท่าใด จึงจะคุ้มกับค่าเสียงดังของเครื่องยนต์ หลักคิดง่าย ๆ เพื่อให้โครงการนี้เกิดขึ้นได้ก็คือให้ทั้งผู้เข้าร่วมและ กฟผ . เองมีกำไรทั้งคู่ (win-win games)

 

เมื่อไรก็ตามที่ กฟผ . จ่ายเงินสำหรับโครงการนี้ต่ำกว่า 1,750 ล้านบาทต่อปีก็ต้องถือว่า กฟผ . มีกำไร สมมุติว่า กฟผ . ต้องการกำไรปีละ 1,000 ล้านบาท ดังนั้นอีก 750 ล้านบาทต้องมอบให้กับผู้เข้าร่วมโครงการในส่วนที่เป็นค่าเชื้อเพลิงจริงอย่างเดียว ไม่ต้องมีค่าพร้อมจ่าย ถ้าผู้เข้าร่วมโครงการจะได้เดินเครื่องคิดเป็นเวลาไม่เกิน 70 ชั่วโมงต่อปี ดังนั้นผู้เข้าร่วมโครงการควรจะได้ค่าตอบแทนหน่วยละ 21 บาท นั่นคือได้กำไรหน่วยละ 16 บาท ถ้าคิดถึงเป้าหมายที่ 500 เมกะวัตต์ กฟผ . จะต้องจ่ายเงินจำนวนปีละ 750 ล้านบาท

 

วิธีการสร้างแรงจูงใจในลักษณะนี้ ได้มีการทำกันมากในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปในกรณีของเซลล์แสงอาทิตย์ โดยเขาจะยอมซื้อกระแสไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์สูงกว่าราคาตลาดถึง 3-4 เท่าตัว ทั้งนี้เพื่อให้เป้าหมายที่สำคัญบรรลุตามวัตถุประสงค์

 

ถ้าท่านผู้อ่านเป็นผู้ร่วมโครงการท่านคงยินดี ถ้าท่านเป็นผู้บริโภคไฟฟ้าท่านคงจะพอใจ ในเมื่อเงิน 1,000 ล้านบาทที่ประหยัดได้จะทำให้ค่าไฟฟ้าถูกลง 1 สตางค์ต่อหน่วย หรืออาจถูกลงถึง 5 สตางค์ก็ได้เพราะจำนวนเครื่องปั่นไฟฟ้าดังกล่าวมีอยู่ถึง 2,600 เมกะวัตต์ ( ข้อมูลจากบางกอกโพสต์ 21 กันยายน 2547)

 

แต่หลักปฏิบัติของ กฟผ . ที่ได้เสนอมานั้น นอกจากจะไม่เกิดแรงจูงใจแล้ว ยังอาจจะทำให้บางกลุ่มได้รับค่าพร้อมจ่ายไปโดยไม่ต้องเดินเครื่องเลยก็ได้

 

ที่ผมตั้งข้อสังเกตไว้เช่นนี้ก็เพราะว่า โครงการนี้จะเกิดประโยชน์ได้ก็ต่อเมื่อในปีที่ลงมือปฏิบัติ ไฟฟ้าสำรองจะต้องมีน้อยกว่า 15% เท่านั้น มิเช่นนั้นการเซ็นสัญญาแบบที่ กฟผ . เสนอ ก็จะเกิดกรณี " ไม่ซื้อก็ต้องจ่าย " หรือ " การคอรัปชั่นเชิงนโยบาย " ขึ้นมาอีก ผมจะขอลงรายละเอียดในโอกาสต่อไป

 

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ผู้บริโภคทั้งหลายต้องร่วมกันตรวจสอบโครงการของรัฐ เพราะเรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นได้บ่อยมากในประเทศไทยเราครับผม