Skip to main content

การเสริมสร้างพลังทางศีลธรรมในสังคมไทย (๓)

คอลัมน์/ชุมชน

การครอบงำของวัตถุนิยมและอำนาจนิยม


 


จะเห็นได้ว่าสถาบันหรือกลไกทางสังคมที่มีหน้าที่เสริมสร้างสำนึกทางศีลธรรมแก่ประชาชนโดยตรงนั้น ประสบความล้มเหลวในการทำหน้าที่ดังกล่าว สาเหตุสำคัญเพราะมีความอ่อนแอเสื่อมทรุดภายในตัวเอง  อีกทั้งยังไม่สามารถเข้าถึงจิตใจของประชาชนได้   ในทางตรงข้ามมีปัจจัยแวดล้อมอย่างใหม่ที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อสำนึกและพฤติกรรมของประชาชน  แต่เป็นอิทธิพลในทางลบ   ที่สำคัญได้แก่สื่อมวลชน


 


สื่อมวลชน


 


ในขณะที่แต่ละวันพ่อแม่มีเวลาอยู่กับลูกน้อยมาก  แต่ลูกกลับมีเวลาอยู่กับสื่อชนิดต่าง ๆ มากขึ้นทุกที   มีการศึกษาพบว่าในวันธรรมดามีเด็กเพียง ๑ ใน ๔ หรือร้อยละ ๒๕.๓ เท่านั้นที่ดูโทรทัศน์ในวันธรรมดาไม่เกิน ๒ ชั่วโมงต่อวัน  ที่เหลือนอกนั้นคือร้อยละ ๗๔.๗ ดูโทรทัศน์ตั้งแต่ ๓ ชั่วโมงขึ้นไปจนถึง๑๒ ชั่วโมง  ยิ่งเป็นวันเสาร์อาทิตย์  เด็กที่ดูโทรทัศน์ไม่ถึง ๒ ชั่วโมงจะลดลงเกือบครึ่งหนึ่ง คือเหลือเพียงร้อยละ ๑๓.๗  ส่วนที่เหลือคือร้อยละ ๘๖.๓ จะดูโทรทัศน์ตั้งแต่  ๓ ชั่วโมงขึ้นไปจนถึง ๑๒ ชั่วโมง[1]   และ ๕ อันดับแรกที่เด็กชอบดูล้วนแต่เป็นรายการบันเทิง ได้แก่ ๑)ละคร ๒)การ์ตูน ๓) รายการเพลง ๔)รายการตลก และ ๕)รายการกีฬา[2]


 


การใช้เวลาอยู่หน้าจอโทรทัศน์วันละหลายชั่วโมงตั้งแต่เล็กจนโต  ทำให้โทรทัศน์มีอิทธิพลอย่างมากต่อความรู้สึกนึกคิดของประชาชน   ดังนั้นเนื้อหาสาระทางโทรทัศน์จึงมีความสำคัญอย่างมาก   แต่เมื่อสำรวจโดยละเอียดจะพบว่า โทรทัศน์เต็มไปด้วยเนื้อหาสาระที่ส่งเสริมความรุนแรงและยั่วยุในทางเพศ   ดังพบว่าภาพยนตร์และละครไทยมีฉากรุนแรงหรือยั่วยุทางเพศ ๓ ฉากทุก ๆ ชั่วโมง   และเมื่อสอบถามความเห็นของเด็ก พบว่าร้อยละ ๕๔ ชอบดูหนังที่มีฉากต่อสู้และยิงฟันฆ่ากัน   นอกจากนั้นโทรทัศน์ยังเต็มไปด้วยโฆษณาที่กระตุ้นความยาก ขณะที่ภาพยนตร์และละครก็มักจะมีเนื้อหาส่งเสริมบริโภคนิยม หรือค่านิยมฟุ้งเฟ้อ[3]


 


แต่นอกจากโทรทัศน์แล้ว  ยังมีสื่ออีกหลายชนิดที่เข้าถึงเด็ก อาทิ อินเตอร์เน็ต วีซีดี และดีวีดี   ปัจจุบันมีเด็กร้อยละ ๓๐-๔๐ เสพสื่อลามก เช่น การ์ตูน วีซีดี เว็บโป๊ และภาพโป๊ทางโทรศัพท์ มือถือเป็นประจำ   ขณะที่เด็กซึ่งติดเกมร้อยละ ๔๔ ชอบเล่นเกมที่มีการต่อสู้กัน[4]


 


จะเห็นได้ว่าสื่อมวลชนมีอิทธิพลอย่างมากต่อพฤติกรรมของประชาชน ไม่ว่าการใฝ่เสพใฝ่บริโภค    การหมกมุ่นในทางเพศ  และการนิยมความรุนแรง  ซึ่งอาจเรียกสั้น ๆ ว่า   กิน กาม โกรธ     ที่จริงนอกจาก ๓ ก. แล้ว ยังมี ก.ที่ ๔ คือ เกียรติ อันได้แก่  การติดยึดในเรื่องหน้าตา   ความโก้เก๋  ความเท่  รวมทั้งการใฝ่หาความเด่นดัง  ชื่อเสียง ตำแหน่ง และเกียรติยศ  ค่านิยมและพฤติกรรมดังกล่าว ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของคนไทยในปัจจุบัน ก็ได้รับอิทธิพลจากสื่อมวลชนมิใช่น้อย           


 


อย่างไรก็ตาม  เมื่อมองให้กว้างแล้ว กิน  กาม โกรธ และเกียรติ เป็นค่านิยมที่ไม่ได้ส่งผ่านมาโดยสื่อมวลชนเท่านั้น  หากได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมในปัจจุบัน  และเป็นสิ่งที่ได้รับการปลูกฝังโดยคณะอื่น ๆ ในสังคม อาทิ  ครอบครัว โรงเรียน  มหาวิทยาลัย  รวมทั้งจากปฏิสัมพันธ์กับผู้คนทั้งหลายทั้งในละแวกบ้าน ที่ทำงาน สถานที่ราชการ ศูนย์การค้า ฯลฯ    กล่าวอีกนัยหนึ่งวิถีชีวิตและระบบความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคมปัจจุบันล้วนเป็นไปในทางที่บ่มเพาะหรือเป็นเงื่อนไขให้เกิดค่านิยมและพฤติกรรมดังกล่าว


 


วิถีชีวิตและระบบความสัมพันธ์ดังกล่าวมิใช่สิ่งที่เกิดขึ้นมากับมนุษยชาติหรือประวัติศาสตร์ชาติไทย  แต่เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นมาไม่ถึงร้อยปีมานี้เอง  ปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดอย่างสำคัญให้เกิดวิถีชีวิตและระบบความสัมพันธ์ดังกล่าว ได้แก่ ระบบทุนนิยม และการแผ่ขยายอำนาจรัฐ


 


ระบบทุนนิยม


 


ระบบทุนนิยม เป็นระบบเศรษฐกิจที่ถือว่าเสรีภาพทางเศรษฐกิจเป็นพื้นฐานของเสรีภาพทั้งปวง  ดังนั้นจึงส่งเสริมการแข่งขันอย่างเสรีโดยอาศัยกลไกตลาดเป็นตัวกำกับ  ทั้งนี้โดยถือเอากำไรสูงสุดเป็นเป้าหมาย  ความคิดที่อยู่เบื้องหลังระบบดังกล่าวก็คือ ความเชื่อว่า การที่มนุษย์ทุกคนทำเพื่อประโยชน์ของตนเอง  ผลสุดท้ายย่อมเกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม  กล่าวอีกนัยหนึ่งระบบชี้เชื่อว่าการกระตุ้นความโลภ และใช้ความโลภเป็นสิ่งขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ (รวมทั้งเรื่องอื่น ๆด้วย)นั้น เป็นของดี  ประโยคที่สะท้อนความเชื่อพื้นฐานของระบบทุนนิยมก็คือคำพูดที่ว่า "Greed is good"


 


แม้ระบบนี้จะทำให้การผลิตขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อผลิตเกินความต้องการ ก็ต้องมีการกระตุ้นให้บริโภคมากขึ้น  แม้จะเป็นการบริโภคที่ไม่จำเป็น   สิ่งที่ตามมาก็คือระบบบริโภคนิยม  ทั้งทุนนิยมและบริโภคนิยมนั้นได้ทำให้เงินกลายเป็นสิ่งสำคัญ  เงินกลายเป็นเป้าหมายของชีวิตและของประเทศ   ดังเห็นได้ว่าทุกประเทศถือเอาการเติบโตของจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ)เป็นเป้าหมายหลักของประเทศ   ขณะที่ความร่ำรวยก็เป็นเป้าหมายของคนส่วนใหญ่ในสังคม ด้วยเหตุนี้สิ่งแรกที่ผู้คนพากันขอจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรืออวยพรให้แก่กันและกันก็คือ ขอให้มั่งมี  "บ้านนี้อยู่แล้วรวย" จึงเป็นพรยอดปรารถนาที่ใครๆ ก็อยากได้จากหลวงพ่อคูณ 


 


ใช่แต่เท่านั้นเงินยังกลายเป็นตัววัดคุณค่าของทุกสิ่ง   ความรู้หรืออาชีพใดจะมีคุณค่ามากน้อยเพียงใดวัดกันที่รายได้หรือเงินตราที่จะเกิดขึ้น   ประเพณีใดควรส่งเสริมหรือไม่อยู่ที่ว่านำรายได้เข้าท้องถิ่นได้มากน้อยเพียงใด หรือขายนักท่องเที่ยวได้หรือไม่  ป่าและแม่น้ำจะถือว่ามีคุณค่าต่อเมื่อสามารถแปรเป็นเม็ดเงินได้อย่างมหาศาล  หาไม่ก็ต้องเปลี่ยนสภาพเช่น สร้างเขื่อน หรือปลูกสวนป่าแทน   แม้แต่ชีวิตจะมีคุณค่าหรือไม่ก็ต้องวัดกันที่จำนวนเงินที่หาได้  ชีวิตของซีอีโอจึงมีค่ากว่าชีวิตของนักการ


 


เงินยังกลายเป็นสื่อกลางความสัมพันธ์ในทุกมิติ   ทุกวันนี้ความรักที่พ่อแม่แสดงกับลูกหรือสามีแสดงกับภรรยาโดยอาศัยเงินและวัตถุ (เช่น โทรศัพท์มือถือ)  ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนอาจารย์กับนักศึกษา หมอกับคนไข้ ก็ต้องอาศัยเงินเป็นตัวเชื่อม  หาใช่น้ำใจดังแต่ก่อนไม่  แม้แต่ฆราวาสก็เข้าหาพระก็เพราะหวังโชค เช่น ถูกหวย  ขณะที่พระก็ปรารถนาได้ลาภจากฆราวาส


 


กล่าวได้ว่าทุนนิยมและบริโภคนิยมได้ทำให้แทบทุกอย่างถูกตีค่าเป็นสินค้าที่ซื้อขายกันได้ด้วยเงิน  หรือต้องอาศัยเงินเป็นหลัก ไม่เว้นแม้แต่ ความรู้ สุขภาพ  บุญกุศล  ความสงบ  รวมทั้งเด็ก ผู้หญิง และอวัยวะมนุษย์    ทัศนะดังกล่าวส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในสังคม เพราะเมื่อเห็นคนเป็นสินค้า (เช่น เห็นเป็นแค่แรงงาน หรือวัตถุทางเพศ ที่ซื้อได้ด้วยเงิน) ไม่ได้เห็นเป็นคนเต็มคน  ก็ย่อมขาดความรู้สึกเห็นอกเห็นใจหรือเอื้ออาทร  ไม่มีสำนึกทางศีลธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องในความสัมพันธ์  มีแต่เงินเท่านั้นที่เข้ามาเป็นใหญ่ในฐานะสื่อกลาง


 


ด้วยเหตุที่เงินมีความสำคัญมากมายถึงเพียงนี้ จึงมีอิทธิพลอย่างมากในการกำหนดกลไกต่าง ๆ ในสังคม เช่น ทำให้ครอบครัวและชุมชนอ่อนแอ เพราะแต่ละคนมัวแต่ทำมาหาเงิน และให้เวลากับวัตถุมากกว่าที่จะให้เวลาแก่กันและกัน   ขณะเดียวกันเงินยังเป็นตัวกำหนดการศึกษาโดยเน้นการผลิตคนเพื่อตอบสนองเศรษฐกิจหรือตลาดจ้างงาน  หลักสูตรใดจะเปิดหรือไม่ขึ้นอยู่ว่าตลาดแรงงานต้องการมากน้อยเพียงใด   หรือเปิดแล้วจะทำให้มีรายได้เข้าคณะการศึกษาหรือไม่   หลักสูตรที่มีคุณค่า แต่ไม่ทำให้เกิดรายได้งอกเงย ทั้งแก่คณะการศึกษาหรือแก่ประเทศชาติ ย่อมถูกมองข้ามไป  จึงไม่น่าแปลกใจที่การส่งเสริมศีลธรรมจรรยาจึงไม่ได้รับความสำคัญจากคณะการศึกษาทั้งหลาย


 


นอกจากนั้นเงินยังมีอิทธิพลอย่างมากต่อสื่อมวลชน      ไม่ว่าโทรทัศน์หรือวิทยุ    ต่างเน้นความบันเทิง เช่น เพลง ละคร ทอล์คโชว์ ชิงรางวัล ก็เพราะต้องการมีรายได้มาก ๆ จากค่าโฆษณา  ในขณะที่รายการที่ส่งเสริมความรู้และจริยธรรม กลับไม่สามารถอยู่ได้ เพราะไม่ทำรายได้ให้แก่เจ้าของสื่อ   ดังนั้นจึงต้องหลีกทางให้แก่ผู้ผลิตรายการที่มีทุนมากและต้องการใช้สื่อโฆษณาสินค้าของตัวเอง หรือเพื่อแสวงหากำไรสูงสุดให้แก่ตนเอง  ผลก็คือในขณะที่นายทุนมีรายได้มากขึ้น แต่สังคมกลับเต็มไปด้วยค่านิยมบริโภค  หมกมุ่นทางเพศ และนิยมความรุนแรง


 


แม้แต่คณะศาสนาก็ยังถูกเงินเข้ามามีอิทธิพล จนเกิดไสยพาณิชย์อย่างแพร่หลาย  มีการขายวัตถุมงคลเพื่อตอบสนองบริโภคนิยมโดยไม่สนใจมิติด้านศีลธรรม  แม้แต่บุญก็ถูกใช้เป็นสินค้าเพื่อแลกกับความหวังว่าจะมั่งมีศรีสุข  วัดจึงกลายเป็นตลาดค้าบุญและโชคลาภวาสนา  ขณะที่พระสงฆ์องคเจ้าก็ตกอยู่ภายใต้อำนาจของบริโภคนิยมมากขึ้น  จนไม่สามารถทำหน้าที่หรือเป็นแบบอย่างในทางศีลธรรมแก่ประชาชนได้เหมือนก่อน


 


รัฐอำนาจนิยม


 


การเกิดขึ้นของรัฐชาติเมื่อศตวรรษที่แล้ว ทำให้เกิดการรวมศูนย์เข้าสู่ส่วนกลางอย่างไม่เคยมีมาก่อน   รัฐกลายเป็นตัวกำหนดทุกอย่างเพื่อให้เกิดแบบแผนเดียวกันทั้งประเทศ อาทิ เช่น ภาษา  ศาสนา การศึกษา การปกครอง การศาล กระบวนการยุติธรรม ภาษี เป็นต้น  สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือการแผ่ขยายอำนาจรัฐไปยังทุกชุมชนและทุกมิติของชีวิต  เพื่อบังคับปรับเปลี่ยนให้ทุกอย่างสอดคล้องกับมาตรฐานของชาติ   มีการใช้อำนาจทั้งโดยตรงและโดยอ้อม รวมทั้งสร้างแรงจูงใจเพื่อให้ผู้คนละทิ้งภาษา ประเพณี ตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่อย่างดั้งเดิม  โดยอาศัยระบบราชการ ระบบโรงเรียน หรือแม้แต่คณะสงฆ์ที่อิงกับรัฐ เป็นกลไกสำคัญ


 


การแผ่ขยายอำนาจและบทบาทของรัฐเข้าไปในทุกพื้นที่  ในด้านหนึ่งได้ทำให้กลไกต่าง ๆ ของชุมชนที่มีอยู่แต่เดิม อ่อนแอลง  ความสามารถในการพึ่งตนเองของชุมชนจึงลดต่ำลง ไม่ว่า ในด้านการศึกษา การรักษาพยาบาล การจัดการทรัพยากรสาธารณะ และการแก้ไขความขัดแย้งภายในชุมชน  ในอีกด้านหนึ่งก็ทำให้ผู้คนพึ่งพารัฐมากขึ้น สภาพดังกล่าวเปิดโอกาสให้รัฐมีอำนาจเหนือชุมชนและปัจเจกบุคคลมากขึ้น  ยิ่งเจ้าหน้าที่รัฐมีสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับนายทุนท้องถิ่นซึ่งเติบใหญ่ขึ้นมาได้ด้วยระบบทุนนิยม ก็ยิ่งมีอำนาจต่อชุมชนและผู้คนมากขึ้น  มีการใช้อำนาจดิบกับผู้ที่ขัดผลประโยชน์ของนายทุน โดยได้รับการปกป้องคุ้มครองจากเจ้าหน้าที่รัฐ สายสัมพันธ์แบบอำนาจนิยมจึงแผ่ไปทั่วทุกหนแห่ง


 


อำนาจนิยมโดยรัฐยังแสดงออกผ่านนโยบายต่าง ๆ อีกมายมาย เช่น การยึดเอาทรัพยากรของชุมชนไปตอบสนองนโยบายของรัฐ เช่น  ปิดกั้นลำน้ำเพื่อสร้างเขื่อน  หรือการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ รวมทั้งการแปรประเพณีท้องถิ่นไปตอบสนองนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว ยิ่งกว่านั้นก็คือการใช้อำนาจรัฐในการปราบปรามผู้ที่เห็นต่างจากรัฐอยู่เนือง ๆ  เช่น การปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงครั้งแล้วครั้งเล่า จนเกิดเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๖ ตุลา พฤษภาหฤโหด และกรณีตากใบ  ทั้งนี้มิพักต้องพูดถึงการประกาศสงครามกับผู้ค้ายาเสพติดด้วยการฆ่าตัดตอนอีกทั้งยังมีการทำวิสามัญฆาตกรรมอีกมากมาย  รวมทั้งกรณีสมชาย นีละไพจิตร


 


กล่าวได้ว่าอำนาจนิยมเป็นธรรมชาติส่วนหนึ่งของรัฐไทย   การแผ่อำนาจของรัฐไทยจึงหมายถึงการแผ่ขยายสำนึกและพฤติกรรมแบบอำนาจนิยมออกไปอย่างกว้างขวาง   กลไกสำคัญในการแผ่ขยายวัฒนธรรมดังกล่าวคือระบบราชการ  ระบบราชการนั้นได้สร้างระบบความสัมพันธ์ภายในองค์กรโดยอาศัยอำนาจ ยิ่งกว่าคุณธรรมหรือความรู้    อำนาจของผู้บังคับบัญชาคือสิ่งชี้ขาดโดยอาศัยระเบียบกฎเกณฑ์เป็นเครื่องมือ    ข้าราชการจึงซึมซับเอาวัฒนธรรมอำนาจนิยมเข้าไปอย่างเต็มที่ และนำไปใช้กับประชาชนทั่วไป จึงเกิดความสัมพันธ์แบบอำนาจนิยม  ดังนั้นไม่ว่าระบบราชการแพร่หลายไปถึงไหน  วัฒนธรรมอำนาจนิยมก็แพร่หลายไปถึงนั่น  ผู้นำชาวบ้านเมื่อเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการ เช่น เป็นผู้ใหญ่บ้าน กำนัน  จึงหันมาใช้อำนาจกับลูกบ้าน แทนที่จะปรึกษาหารือตามวิถีชาวบ้านดังแต่ก่อน   โรงเรียนเป็นอีกสถานที่หนึ่ง ที่ถูกครอบด้วยระบบราชการ (หรือองค์กรที่จัดตั้งแบบราชการ) ครูอาจารย์จึงใช้อำนาจกับนักเรียนอยู่เนือง ๆ   ดังนั้นจึงไม่น่าสงสัยเลยที่นักเรียนในที่สุดก็ใช้อำนาจกับนักเรียนด้วยกัน  ผลก็คือมีการข่มขู่คุกคามและตบตีกันในโรงเรียนหรือรุมทำร้ายกันระหว่างโรงเรียนเป็นประจำ  รวมทั้งเกิดปรากฏการณ์รับน้องด้วยวิธีรุนแรงและวิตถาร


 


ในขณะที่ระบบทุนนิยมได้ทำให้วัฒนธรรมบริโภคนิยมแพร่หลายอย่างกว้างขวาง   การแผ่ขยายอำนาจของรัฐ ก็ทำให้ชีวิตและกลไกต่าง ๆ ในสังคมถูกครอบงำด้วยวัฒนธรรมอำนาจนิยม  บริโภคนิยมนั้นเป็นเรื่องของกินและกาม  ขณะที่อำนาจนิยมนั้นตอกย้ำให้ผู้คนหมกมุ่นในโกรธและเกียรติ  กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว  วัฒนธรรมบริโภคนิยมและอำนาจนิยมนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการบั่นทอนพลังทางศีลธรรมในสังคมไทย และทำให้ผู้คนคลาดเคลื่อนออกจากศีลธรรม เพราะนอกจากจะบริโภคนิยมจะทำให้ผู้คนเห็นเงินเป็นใหญ่  ใฝ่เสพใฝ่บริโภค และคิดหาหนทางลัดเพื่อบรรลุประโยชน์ของตน โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบของผู้อื่น นำไปสู่การคอรัปชั่น ทุจริต คดโกง ลักขโมย เอารัดเอาเปรียบ และการหมกมุ่นในอบายมุข  พึ่งพาโชคชะตาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้ว อำนาจนิยมยังเป็นเหตุให้มีการทำร้ายฆ่าฟันกัน   การจับกุมคุมขัง  ตลอดจนการรังเกียจเดียดฉันท์และหยามเหยียดกันเพียงเพราะความต่างกันทางด้านศาสนา ภาษา เชื้อชาติ และความคิด จนนำไปสู่ความรุนแรงระหว่างกลุ่มหรือถึงขั้นทำสงครามกัน


 


ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้มิได้หมายความว่าเราไม่ได้มีการสอนศีลธรรมกันเลย  จะว่าไปแล้วเรามีการสอนศีลธรรมกันไม่น้อย ทั้งในบ้าน ในโรงเรียน  ในวัด ตามสถานที่ทำงาน ตามสื่อมวลชน  แม้แต่รัฐบาลก็รณรงค์ให้ผู้คนมีศีลธรรมมาหลายยุคหลายสมัย (คนรุ่นอายุ ๔๐ กว่าคงจำคำขวัญของจอมพลถนอม กิตติขจร ที่เผยแพร่ไปทั่วประเทศว่า "จงทำดี มีศีลธรรม ถือความสัตย์ พึงขจัด อีกทั้งโลภ และโกรธหลง สามัคคีมีทั่วกัน ชาติมั่นคง ทุกคนจง รักเอกราช ของชาติไทย")  แต่การสอนและรณรงค์ศีลธรรมเหล่านี้มีความหมายน้อยมาก ตราบใดที่วิถีชีวิต สภาพแวดล้อม และระบบความสัมพันธ์ทางสังคมของผู้คนนั้น สวนทางกับคำสอนหรือคำขวัญดังกล่าว   ถึงแม้จะสอนให้ทำดีเพียงใด แต่วิถีชีวิต สภาพแวดล้อม และระบบความสัมพันธ์ทางสังคม ล้วนเป็นไปในทางบริโภคนิยมและอำนาจนิยม เช่น วิถีชีวิตมีแต่การแข่งขัน เร่งรีบ พ่อแม่มัวแต่ทำมาหาเงิน สื่อเต็มไปด้วยเรื่องราวที่รุนแรงและกระตุ้นความโลภ  วัดเอาแต่หาเงิน  นักการเมืองพากันคอรัปชั่น รัฐบาลใช้ความรุนแรงกับราษฎร   ในสภาพเช่นนี้ยากมากที่ผู้คนจะมีศีลธรรม เช่น  มีความซื่อสัตย์สุจริต  ไม่คดโกงหรือคอรัปชั่น มีชีวิตที่รู้จักพอ หรือมีใจกว้าง  เมตตากรุณาต่อกัน


 


ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ อิทธิพลของสภาพแวดล้อมที่มีต่อพฤติกรรมของเยาวชน  ดังกรณีจังหวัดระยอง  ซึ่งมีพื้นที่เสี่ยง ๓๔๐ แห่งต่อประชากรแสนคน (ขณะที่อัตราเฉลี่ยทั้งประเทศ  มี ๒๙ ต่อแสน)  ปรากฏว่ามีเด็กอายุ ๑๐-๑๔ ปี และ ๑๕-๑๙ ปีมาทำคลอดถึง ๓๔๑ และ๒,๗๑๓ คนต่อแสน  สูงกว่าอัตราเฉลี่ยทั้งประเทศหลายเท่าตัว (อัตราเฉลี่ยทั้งประเทศ ๙๑ และ๑,๓๕๒ คนต่อแสน)  และมีเด็กเข้าสถานพินิจและเข้ารับการบำบัดยาเสพติด ๑๑๙ และ๘๖๒ คนต่อแสน (อัตราเฉลี่ยทั้งประเทศ ๕๕ และ ๗๓ คนต่อแสน)[5]   แม้ว่าเหตุปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมของเยาวชนมีหลายด้าน แต่ตัวเลขข้างต้นก็ชี้ว่า  การมีพื้นที่เสี่ยงเป็นจำนวนมากก็เป็นปัจจัยหนึ่งซึ่งส่งผลในทางลบต่อพฤติกรรมของเยาวชนอย่างมีนัยสำคัญ


 


ด้วยเหตุนี้ การเสริมสร้างสำนึกและพฤติกรรมทางศีลธรรมของประชาชน ด้วยการเพิ่มหลักสูตรศีลธรรมในโรงเรียนมากขึ้น  นิมนต์พระมาเทศน์มากขึ้น  ชวนประชาชนเข้าวัดมากขึ้น จัดกิจกรรมทางศาสนาที่พุทธมณฑลและสนามหลวงบ่อยขึ้น   และรณรงค์ตามสื่อมวลชนให้คนมีศีลธรรมมากขึ้น  ย่อมไม่เพียงพอ  ตราบใดที่วิถีชีวิต สภาพแวดล้อม และระบบความสัมพันธ์ทางสังคมของผู้คนยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากที่เป็นอยู่


 








[1] มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก ๒๕๔๘



[2] สำนักงานสถิติแห่งชาติ ๒๕๔๖



[3] โครงการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัด สถาบันรามจิตติ ๒๕๔๘



[4] โครงการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัด สถาบันรามจิตติ ๒๕๔๘



[5] โครงการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัด  สถาบันรามจิตติ ๒๕๔๘