Skip to main content

ล่า : รสหวานของความพยาบาท

คอลัมน์/ชุมชน

นวนิยายเรื่อง "ล่า" ของ "ทมยันตี"  มีความคล้ายคลึงกับนวนิยาย 2 เรื่องที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้คือ "มุมปากโลก" กับ "ลับแลลายเมฆ" ในแง่ที่ว่าตัวละครเด็กผู้หญิงต่างถูกกระทำทางเพศทั้งสิ้น การดำเนินเรื่องก็ล้วนถูกผลักดันมาจากปมปัญหานี้ ส่วนผลจากการถูกกระทำทางเพศและการหาทางออกของตัวละครนั้นแตกต่างกันไปในรายละเอียด


ในเรื่อง "ล่า"   มธุสร-ผู้เป็นแม่ของเด็กหญิงที่ถูกกระทำทางเพศนั้นเต็มไปด้วยความอาฆาตพยาบาทต่อคนที่กระทำต่อลูกของเธอ


เธอออกตามล่าล้างแค้นผู้ชายแต่ละคนที่ข่มขืนลูกของเธอจนเสียสติ เธอแปลงโฉมหน้าภายนอกจนแม้แต่เพื่อนสนิทเธอก็จำไม่ได้ แต่ที่มากกว่านั้นก็คือเธอได้เปลี่ยนแปลงภายในของตัวเองด้วยการปล่อยให้อำนาจปรารถนาพยาบาทเข้าครอบงำจิตใจ


มธุสรหรืออีกชื่อหนึ่งที่เธอตั้งให้ตัวเองหลังการแปลงโฉมว่า  "รุ่งฤดี"   ดื่มด่ำกับรสชาติของความพยาบาทมากเสียจนความพยาบาทได้กลายเป็นเป้าหมายในตัวมันเอง 


เธอบอกว่า "คุณเคยล่าอะไรสักอย่างไหม ถ้าคุณเคย… คุณถึงจะรู้ว่า ตอนที่สนุกที่สุดนั้นคือการแกะรอย ตามหา และท้ายสุดยามประจันหน้า ใครจะอยู่ ใครจะไป แต่… ล่าอะไรจะรื่มรมย์เท่าล่ามนุษย์ มนุษย์ที่มีสติปัญญาเท่ากัน โอกาสที่จะเป็นผู้ล่าหรือถูกล่าย่อมมีได้ทั้งสิ้นในชั่วพริบตา" (หน้า 419)


และความพยาบาทอันล้ำลึกนี่เอง ที่เธออ้างว่าเป็นสายใยเชื่อมระหว่างเธอกับลูกที่สูญเสียความจำไปหมดแล้วเข้าไว้ด้วยกันอีกครั้งหนึ่ง


ดูเผิน ๆ การแก้แค้นของผู้เป็นแม่-รุ่งฤดี ดูเหมือนเกิดมาจากความรัก  และห่วงหวงลูกสุดชีวิตจิตใจ แต่ทว่าเมื่อพิเคราะห์ให้ดีจะเห็นว่าการแก้แค้นนั้นไม่ได้ทำเพื่อลูกหรือเป็นไปเพราะความรักลูกเพียงอย่างเดียวเท่านั้น


แต่เธอทำเพื่อตัวเธอเอง เพื่อตอบสนองความพยาบาทที่เธอมีต่อผู้ชายซึ่งก็รวมไปถึงสามีของเธอด้วยมธุสรหย่าร้างกับสามีโดยที่ไม่ได้สมบัติติดตัวมาเลยนอกจากลูกสาวที่น่ารักน่าชังเท่านั้น  เธอจึงต้องเริ่มต้นจากศูนย์โดยมีความรักลูกเป็นแรงกระตุ้นให้เธอกัดฟันสู้ ความยากลำบากที่ต้องเผชิญทำให้ความเกลียดชังสามีและผู้ชายฝังล้ำลึกยิ่งขึ้นและยิ่งขึ้นเมื่อลูกสาวของเธอถูกรุมข่มขืน


 "ทมยันตี" สร้างฉากการทารุณทางเพศที่พวกจารชนมีต่อเด็กหญิงไว้รุนแรงมากเหลือเกิน มากเสียจน  รู้สึกเกลียดกลัวและขยะแขยง   เราอาจตั้งคำถามกับวิธีการแบบนี้ของ "ทมยันตี" ได้ว่ามันเป็นการผลิตซ้ำความรุนแรงหรือเปล่า? เพราะมีวิธีการอื่นอีกมากที่จะช่วยชี้ให้เห็นถึงความทารุณโหดร้ายของการข่มขืนเด็กหญิง โดยที่ไม่จำเป็นต้องสร้างบรรยากาศและบรรยายมันออกมาน่ากลัวน่าตกใจขนาดนี้ "ลับแลลายเมฆ"  เป็นตัวอย่างที่ดีว่าการพูดถึงความรุนแรงก็ไม่จำเป็นต้องผลิตซ้ำความรุนแรงออกมาก็ได้


อย่างไรก็ตาม ความน่ากลัวและความรุนแรงของการถูกข่มขืนนี้เป็นเงื่อนไขให้น้ำหนัก กับการแก้แค้นของเธอ  การที่ลูกของเธอถูกข่มขืนเป็น "ข้ออ้าง"  ให้เธอได้ล้างแค้นผู้ชาย  และความต้องการจะล้างแค้นผู้ชายก็ปรากฏเค้าลางมาบ้างแล้วก่อนหน้านี้


ดังนั้น ถ้ามองในแง่นี้ลูกของเธอเป็นเพียง "องค์ประกอบ" ที่ผลักดันให้ความพยาบาทของมธุสรหรือรุ่งฤดีบรรลุถึงจุดขีดสุด รุ่งฤดีวางแผนแก้แค้นแต่ละคนในแก๊งจารชนโดยเริ่มจากตัวลูกน้องที่ไม่ติดคุก และเมื่อจัดการลูกน้องนอกคุกเสร็จแล้ว  เธอก็รอเวลาที่คุกจะปล่อยตัวหัวหน้าแก๊งออกมา


จะเห็นได้ว่าวันเวลาไม่ได้ทำให้ความพยาบาทของเธอลดน้อยถอยลงเลย  อาจเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ การลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมไม่เพียงพอสำหรับเธอ เธอไม่เห็นด้วยกับกระบวนการยุติธรรมที่สามารถใช้เงินและอำนาจตัดตอนไม่ให้ถึงตัวการและผู้กระทำผิดได้ถ้วนทั่ว หรือไม่ก็ทำให้โทษอ่อนลง


 (จะเห็นได้ว่าการไม่เห็นด้วยกับกระบวนการยุติธรรมนั้นเกิดขึ้นมานานปีดีดักแล้ว เพียงแต่ไม่ใคร่มีใครอยากพูดมันออกมาตรง ๆ เพราะกลัวว่า "ความศักดิ์สิทธิ์" ?  ชนิดที่แตะต้องไม่ได้ของบางองค์กรจะทำให้ต้องติดคุก 3 เดือนโดยไม่ต้องรอลงอาญา-แต่ (ผม) คิดว่าถึงเวลาแล้วล่ะที่สาธารชนต้องช่วยกันตั้งคำถามกับศาล!-อ้าว)


รุ่งฤดีเมามันและดื่มด่ำกับการแก้แค้นเป็นอย่างมาก  มากจนน่ากลัว 
"ท่ามกลางความมืด เราแม่ลูกช่วยกันทำงานโดยไม่ต้องปริปากพูดแม้แต่คำเดียว มะนาวที่เตรียมไว้ในกระเป๋าถูกยัดเข้าปากมัน มือเท้า ถูกมัดอย่างแน่นหนา ก่อนจะลากร่างอันอ่อนปวกเปียกไปพาดคอไว้บนทางรถไฟ" (หน้า475) 


แต่ละคนที่เธอจัดการแก้แค้น ไม่มีใครได้ตายดีสักคน  บ้างก็โดนรถไฟทับ-อย่างที่ยกตัวอย่างข้างต้น บ้างก็โดนแทงแล้วราดแผลด้วยน้ำกรด  ส่วนคนสุดท้ายถูกวางยาให้ทรมานตายไปช้า ๆ  ต่อหน้าต่อตาเธอ


แต่การแก้แค้นไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นเลยนอกจากความสะใจของตัวเธอเอง  ผู้ชายชั่ว ๆ อีกเป็นจำนวนมากในโลกนี้ก็ยังคงลอยนวลอย่างมีความสุข เพราะความแค้นของเธอเป็นความแค้นส่วนบุคคลที่ต้องจัดการกันไปด้วยตัวเองเป็นกรณี


แม้ว่าความพยาบาทจะมีรสหวาน แต่ความพยาบาทก็ไม่อาจแก้ไขกลับกลายอะไรได้ (ลูกของมธุสรไม่ได้มีอาการดีขึ้นแต่อย่างใดจากความพยาบาท-ส่วนแม่ก็เป็นบ้าไป แม้ว่ามธุสร-รุ่งฤดีจะบอกว่าลูกของเธอรับรู้ถึงรสชาติของความพยาบาทและสนุกไปกับเธอด้วย
 
แต่อาจตั้งคำถามได้ว่านี่เป็นวิธีการเยียวยาให้ลูกที่ถูกต้องละหรือ? จะว่าไปความรักของมธุสรที่มีต่อลูกก็ควรถูกตั้งคำถามเป็นอย่างมากว่าเป็นรักแบบไหนกัน  ทำไมเธอยินยอมให้ทางโรงพยาบาลตัดประสาทในส่วนความทรงจำออกไปของลูกออกไป? ซึ่งทำให้ลูกของเธอ "ลืม" การถูกข่มขืนหมู่ ลืมทุกสิ่งทุกอย่างในอดีต และไม่รู้จักแม้กระทั่งแม่ของตัวเอง


คนเป็นแม่ (หรือแม้กระทั่งคนเป็นพ่อ) จะทนได้หรือที่ลูกจะจดจำคนเป็นแม่หรือเป็นพ่อของตัวเองไม่ได้?  ไม่มีวิธีการเยียวการถูกข่มขืน (หรือบาดแผลอื่นๆ) ที่มันดีไปกว่าการตัดความทรงจำทิ้งไปหรือ?


ดังนั้น ถึงที่สุดแล้วการข่มขืนก็ได้กลายไปเป็นปัญหาของผู้ปกครอง  (หรือของผู้ใหญ่ที่ระเบียบรัด เอ๊ย! ระเบียบจัดหรือเป็นปัญหาการสร้างภาพของนักการเมืองหรือบรรดานักสิทธิสตรีปลอมๆ ที่ "หากิน" กับการถูกข่มขืนของเด็ก) มากกว่าเป็นปัญหาของเด็กที่ถูกข่มขืนจริงๆ คนที่ถูกข่มขืนไม่มีส่วนในการรักษาเยียวยาตนเองเป็นเพียงแต่วัตถุที่ผู้ใหญ่ผู้ปกครองหรือกระทั่งโรงพยาบาลจะจัดการกันไปตามแต่เห็นสมควร (มธุสรไม่เคยคิดถามลูกเลยว่าต้องการการล้างแค้นหรือไม่)


การคิดว่าลูกเป็นเพียงสมบัติโดยมองไม่เห็นมิติอื่นๆ เป็นปัญหาทางจิตประการหนึ่งของคนเป็นแม่  ไม่ต้องสงสัยว่ามธุสรนั้นรักลูกตัวเองหรือเปล่า แน่นอนเธอรักลูกมาก  แต่เธอก็มีปัญหาของตัวเธอเองด้วย เธอเป็นแม่ที่รุนแรง ซาดิสต์  ชอบความเป็นเจ็บปวด เป็นแม่ที่ตาบอด ไม่ใช่ตาบอดเพราะความรักลูก แต่ตาบอดเพราะความพยาบาทของเธอเอง.