Skip to main content

ทุยอยู่ไหน

คอลัมน์/ชุมชน

ขวัญใจเจ้าทุย


คำร้อง สมศักดิ์ เทพานนท์  ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน  ขับร้อง รวงทอง ทองลั่นทม


 


เจ้าทุยอยู่ไหน ได้ยินไหมใครมากู่ กู่


เรียก หาเจ้าอยู่ อยู่ หนใดรีบมา


เจ้าทุยเพื่อนฉัน ออกมาหากันดีกว่า กว่า


อย่า เฉยเลยอย่าอย่า มะมา เร็วไว


           


เกิดมามีแต่ทุยเป็นเพื่อนกัน


ค่ำเช้าทำงาน ไม่ทิ้งกัน ไม่หายไป


ข้ามีข้าวและน้ำนำมาให้


อีกทั้งฟางกองใหญ่ อย่าช้าไย อย่าช้าไย


 


เจ้าทุยเพื่อนจ๋า ออกไปไถนาคงเหนื่อยอ่อน


เหนื่อยนักพักผ่อนก่อน หิวจนอ่อนใจ


ข้าจะอาบน้ำ ป้อนฟางทั้งกำคำใหญ่ ใหญ่


จะสุมไฟกองใหม่ ใหม่ ไว้กันยุงมา


           


เจ้ามีคุณแก่เรามามากมาย


ถึงแม้เป็นควาย เจ้าเหนือกว่า ดีเสียกว่า


ผู้คนที่เกียจคร้านไม่เข้าท่า


ทุยเอ๋ยเจ้าดีกว่าช่วยไถนาได้ทุกวัน


 


เจ้าทุยนี่เอ๋ย ข้าเคยเลี้ยงดูมาก่อนเก่า


เมื่อครั้งยังเยาว์เยาว์ ทั้งทุยและฉัน


ข้าเคยขี่หลัง นั่งไปไหนไป ไม่หวาดหวั่น


สุขทุกข์เคยบุกบั่น รู้กันด้วยใจ


           


เติบโตมาด้วยกันในไร่นา


เคยหากินมาข้าเห็นใจ ข้าเห็นใจ


เจ้าทุยยากจะหาใครเทียมได้


ข้ารักดังดวงใจ ไม่รักใคร ข้ารักทุย   


 


ข่าวออกมาว่ามีคนพูดว่า "คนกทม. โง่" ผู้เขียนพาลนึกถึงเพลง "ขวัญใจเจ้าทุย" เพลงเก่าเพลงนี้อย่างช่วยไม่ได้ พลางนึกในใจว่า "แรงจัง" แต่ก็อดคิดตามไปด้วยไม่ได้ว่า เอ๊ะ เราโง่จริงหรือ คำตอบคือ "คงโง่" เพราะว่าคนเราไม่ได้ฉลาดไปเสียทุกเรื่อง อย่างไรก็ตาม ทำให้ผู้เขียนระมัดระวังการพูดมากขึ้น สมัยก่อนชอบเหลือเกินที่พูดเรื่อง "ทุย" เวลาเวทนาคนที่ไม่พยายามจะรู้เรื่อง การที่มีคนมาพูดแบบนี้ในที่สาธารณะ ถือเป็นเรื่องเตือนสติตนเองว่าการพูดแบบนี้มีผลกระทบมาก ไม่ว่าจะเป็นความจริงหรือไม่ ขนาดไหนก็ตาม


 


บทความนี้ไม่ได้มาจับผิดใครไหนเลย แต่อยากให้ทบทวนถึงคำว่า "โง่" ว่ามันเป็นมาอย่างไร ทำไมคนถึงชอบด่ากันว่า "โง่" มากกว่า


 


ในพจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ.2525 ได้ให้นิยามว่า "เขลา, ไม่ฉลาด, ไม่รู้" พูดง่ายๆ คือไม่มีความรู้ ไม่เข้าใจในเรื่องนั้นๆ  อย่างไรก็ตาม การไม่รู้ไม่ใช่ความเลวร้ายเสมอไป เพราะต้องดูที่เจตนาด้วย และ อีกทั้งสาเหตุอื่นๆที่ไม่รู้ เพราะไม่มีใครรู้ไปเสียทุกอย่าง เพียงแต่สิ่งที่น่ากลัวคือ การที่โง่แล้วไม่รู้ว่าโง่นั่นเอง อันนี้ก็มีการเรียกว่า "โง่แล้วอยากนอนเตียง" ซึ่งหมายถึง "โง่แล้วไม่เจียมตัวว่าโง่ ไปทำสิ่งที่ตนไม่รู้ไม่เข้าใจ" ซึ่งก็พอมีให้เห็นเป็นระยะในชีวิตของเราๆ เช่น การปฐมพยาบาลคนป่วยของพวกหน่วยกู้ภัยอาสาสมัครบางเจ้า "นักวิชาเกิน" บางท่านที่ชอบแสดงความฉลาดข้ามสาขาความถนัด ที่เห็นบ่อยๆ คือพวกวิทยาศาสตร์สุขภาพที่พยายามตอบปัญหาเชิงสังคม จนวุ่นวายปั่นป่วน หรือพวกที่รู้ของเก่า แต่อยากอธิบายของใหม่โดยที่ไม่รู้ว่าของใหม่แท้จริงเป็นอย่างไร หรือในทางกลับกัน พบเห็นกันอยู่บ่อยๆ


 


นอกจากนี้ "โง่แกมหยิ่ง" ก็มีการอธิบายไว้ว่า "โง่แล้วยังอวดฉลาด, อวดดีทั้งๆที่โง่" อันนี้ก็คงไม่ต่างกับที่เพิ่งอธิบายมา ส่วน "โง่เง่าเต่าตุ่น" แปลว่า "โง่มากที่สุด" นี่ก็เป็นการบอกกับผู้เขียนว่าโง่เหมือนกันเพราะไม่รู้ความหมายชัดๆ แบบนี้มาก่อน คงเป็นเพราะว่ามัวแต่ไปใช้คำเบาๆ ว่า "ทุยเขายาวแล้วยาวอีก" ไปโทษไอ้ทุยมันมากไป จนวันนี้มาค้นพจนานุกรม ตนเองก็เลยกลายเป็นทุยไปเหมือนกัน


 


ว่าไปแล้ว "ทุย" เป็นสัตว์ที่คนเองเอามาเปรียบกับ "คนที่โง่" กว่าตนเอง หรือคิดว่าน่าจะโง่ เป็นเพราะมองว่า ทุยคิดเองไม่เป็นตัดสินใจเองไม่ได้ ต้องให้คนสนตะพายหรือสนจมูกจูงให้เดิน ดังนั้น อีกนัยหนึ่งคือ คนที่ต้องทำอะไรตามที่คนอื่นบอก ตัดสินใจเองไม่ได้คือคนโง่   อันนี้ไม่เกี่ยวกับฉลาดหรือไม่ฉลาดตรงๆ แต่เป็นคนที่ยอมให้คนมีอิทธิพลเหนือกว่า จึงเป็นประเด็นน่าสนใจ


 


ในทางวาทวิทยาแต่ดั้งเดิมสมัยยุคกรีก ยุคโรมันนั้น เชื่อว่าคนที่สามารถชักจูงโน้มน้าวใจคนได้ คือคนที่มีอำนาจ  ในสมัยนั้นคนที่มีอำนาจจึงต้องสามารถที่จะใช้วาทะได้เก่งฉกาจ ไม่เช่นนั้นก็ต้องมีคนที่กล่าวสนับสนุนเก่งๆ และเก่งพอที่จะทำให้คนอื่นๆนั้นเชื่อไปในทางเดียวกันได้ หากทำได้เช่นนั้นก็จะได้อำนาจในมือและปกครองคนได้ เพราะจะสั่งให้หันซ้ายหันขวา หรือแม้กระทั่งไปตาย คนเหล่านั้นที่หลงใหลในวาทะต่างๆ ก็จะไหลตามนั้น หลายๆ หนคนที่ชักจูงให้คนเชื่อก็มักเชื่อในสิ่งที่ตนเองพูด บางทีก็ไม่จริงแต่เมื่อต้องพูดให้เหมือนจริง ตนเองจึงเคลิ้มไปกับคนอื่นได้เช่นกัน  เอาเป็นว่า "มั่ว" จนลืมว่านั่นน่ะ "มั่ว" แล้วพาลทึกทักไปว่าเป็นจริงไปกันหมด


 


ในสมัยกรีกโบราณนั้นจึงมีการว่าด้วย "จริยธรรม" ในการพูด พูดอย่างไรเรียกว่า "พูดดี" มีหลายคนให้นิยามและหลักต่างๆ เช่น อริสโตเติลก็มีหลักในการสร้างวาทะ และนำหลักนั้นมาใช้วิเคราะห์และประเมินคุณภาพของวาทะนั้นได้  แต่ที่จับใจผู้เขียนมากที่สุดสองชุดคือ "พูดให้ถูกกาลเทศะ" หรือ เรียกในภาษากรีกว่า Kairos ออกเสียงว่า "ไครอส" และ "การพูดดีคือพูดเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้อื่นเป็นหลัก" ซึ่งจุดนี้เป็นสิ่งที่ทางพุทธเรียกว่า "การไม่เห็นแก่ตัว" น่าเสียดายที่ทุกวันนี้ อันที่สองนี้ไม่ค่อยมีใครปฏิบัติเสียเท่าไรเพราะว่า การพูดที่จะให้คนอื่นดีนั้นกลายเป็นเรื่องของคนโง่ เพราะกลัวว่าคนอื่นจะดีกว่าตนเอง ดังนั้น จึงไม่มีใครยอมเป็นคนโง่ในลักษณะนี้


 


ดังนั้น วาทวิทยาเองจึงอาจเป็นอาวุธที่ร้ายแรง หากใช้ไม่ถูกต้อง และโดยเฉพาะใช้ผิดกาลเทศะ  หรือใช้โดยเพื่อประโยชน์ของตนเอง นั่นคือการใช้ผิดกาลเทศะก็อาจทำให้เสื่อมเสียต่อตนเอง การทำร้ายจิตใจคนฟัง การทำให้เสียหน้าไม่ว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และในขณะเดียวกันการจะพูดให้คนอื่นได้ดีก็อาจเกิดผลร้ายถ้าอีกฝ่ายไม่พอใจที่ไปตักเตือน หรือพูดระคายหู ดังนั้นนักวาทวิทยาก็ต้องระมัดระวัง


 


การพูดหรือสื่อสารจึงกลายเป็นอีกประเด็นหนึ่ง ที่เป็นพฤติกรรมที่คนอื่นๆได้รับรู้ได้ชัดเจน ถึงความตื้นลึกของผู้พูด และผู้ฟังด้วย ดังนั้น  คำว่า "โง่" จึงหลีกไม่ได้ที่จะเกี่ยวกับกับการพูด การฟังและการสื่อสาร


 


ผู้เขียนเชื่อว่า หลายคนยังทำใจไม่ได้ ที่มีคนบอกว่า "โง่"  ผู้เขียนเคยโดนบอกมามากต่อมาก และผู้เขียนต้องขอบคุณบุคคลเหล่านั้นในวันนี้ ไม่ว่าจะกล่าวด้วยเจตนาหวังทำลายหรือหวังดี เพราะการเตือนเหล่านี้เป็นเรื่องดีที่ทำให้เราได้ฉุกคิด ได้คิดถามตนเองว่าเราทำถูกหรือไม่ มาถูกทางหรือไม่ ดีกว่าที่จะไม่พูดอะไรเลยแล้วปล่อยให้หลงทางต่อไป


 


ก่อนจบมีเรื่องตลกๆ ที่บรรดานักศึกษาทั้งไทยทั้งฝรั่งบอกกับผู้เขียนเกี่ยวกับพฤติกรรมของพวกเขาในการเขียนรายงาน โดยเฉพาะที่ไปลอกคนอื่นมาเป็นย่อหน้าๆ หรือ ประโยคต่อประโยค แต่ไม่ให้เครดิตเจ้าของไอเดีย หรือไม่รู้จักเขียนเสียใหม่เป็นภาษาตนเอง (ซึ่งแก้ไขได้บ้าง โดยยกมาตรงๆ มีเครื่องหมายคำพูดเปิดและปิด และบอกว่าใครเขียนหรือพูด) ซึ่งขอบอกว่าผู้เขียนอ่อนใจเหลือเกินกับเรื่องแบบนี้ แล้วก็ขำกับการตอบของพวกเค้า


 


รายแรกเป็นฝรั่งบอกว่า "หนูกลัวว่าจะไม่เหมือนกับต้นฉบับจริง เลยเอามาชัดๆ เลย หนูไม่รู้มาก่อนว่าห้ามเหมือน ก็สงสัยเหมือนกัน แต่ไม่ว่างมาถามค่ะ"  ซึ่งผู้เขียนก็บอกว่า "แล้วที่ผ่านมานี่ทำไมไม่รู้จักถาม ก็บอกในห้องตลอดว่าห้ามลอกเอามาเป็นดุ้นๆ"  เนื่องจากเธอลอกมามากเกินไป ผู้เขียนช่วยไม่ไหว หลับตาสองข้างก็ยังเห็นทะโล่ อันนี้ก็เลยถือว่าไม่มีงานมาส่ง ไม่ได้คะแนน


 


รายที่สองฝาหรั่งเหมือนกัน วิชาเดียวกัน ห้องเดียวกัน ลอกมาเหมือนกันแบบชัดๆ ผู้เขียนลงทุนโทรข้ามรัฐไปแจ้งเพราะเธอสอบเสร็จแล้วบินกลับรัฐที่บ้านเธออยู่ เธอเสียงแข็งตอนแรกว่า "หนูไม่รู้เรื่อง อาจารย์พูดอะไรคะ" "อ๋อ หนูไม่รู้จริงๆ ค่ะว่าห้ามทำ" แล้วก็มีเสียงร้องไห้ออกมา "ตกลงหนูจะได้เกรดอะไรคะ ถ้าหนูไม่ได้คะแนนจากรายงานนี้" สุดท้ายก็ปล่อยออกมาว่าจริงๆ ก็รู้ว่าผิด แต่ขอกั๊กไว้ก่อน


 


ทั้งสองท่านนี้ ไม่เคยมาปรึกษาอะไรเลยระหว่างเทอม กะลักไก่ตอนจบเพราะคิดว่างานนี้ง่ายๆ ลอกๆ มาก็ได้ หารู้ไม่ว่าตอนหลังนี้พวกครูนั้นโดนกำชับมาว่าต้องเข้ม และหลายบทความวิชาการอยู่ในฐานข้อมูลบนอินเตอร์เน็ตที่มหาวิทยาลัยเสียเงินซื้อมา  อาจารย์จึงตรวจสอบได้ง่ายกว่าแต่ก่อน


 


ส่วนในเมืองไทย "ผมเห็นโครงสร้างประโยคเค้าสวย ศัพท์เค้าสวย ผมเลยอยากเอามาใช้บ้าง" คือยกมันมาทั้งกระบิเลยว่างั้นเถอะ ลืมบอกไปว่างานที่ผู้เขียนคุมนั้นทุกอย่างเป็นภาษาอังกฤษหมด อีกคนบอกว่า "หนูให้พี่ที่ออฟฟิศเค้าช่วยดู ช่วยแก้ค่ะ กลัวผิดแยะ" มิน่าล่ะมันผิดแบบแปลกๆ ผู้เขียนจึงต้องบอกทั้งสองท่านนี้ไปว่า "เอางี้นะ โตโตกันแล้ว เขียนมาเท่าที่คุณจะเขียนได้ ถ้ามันผิดก็จะได้รู้ว่าคุณผิดอะไร จะได้แก้ไข ได้ถูก แบบนี้นี่จะไม่รู้เลยว่าจะช่วยคุณได้อย่างไร เขียนผิดแบบของคุณมาน่าจะดีกว่า" ผู้เขียนตอนนั้นไม่รู้ว่าจะหัวเราะหรือว่าร้องไห้ดี มันเศร้าใจจังเลยกับคำตอบที่ "ไร้เดียงสา" ทั้งที่ก็อธิบายมาจนปากจะฉีกแล้วเรื่องแบบนี้


 


การที่จะต้อง "โง่" เพื่อจะเดินไปข้างหน้าให้ "ฉลาดขึ้น"  ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ "โง่"แล้วต้องยอมรับความจริงและแก้ไข การที่จะนำสังคมไปให้ได้ทะลุปรุโปร่งนั้นมั่วไม่ได้ เมื่อพลาดก็แก้ไข ไม่ต้องมานั่งโวยวายว่า "ฉันไม่ผิด ฉันไม่โง่"  พิจารณาตนเองก่อน พิจารณาบริบทก่อน แล้วค่อยขยับตัว การที่เป็นคนที่เข้าใจความเป็นไปแบบนี้ไม่ใช่ของง่าย ต้องใช้ความอดทนและความเป็นผู้ใหญ่ แล้วมันก็ตรงกับที่มีคำพังเพยว่า "คนดีชอบแก้ไข คนจัญไรชอบแก้ตัว"


 

ว่าแล้วพิมพ์ต้นฉบับนี้จบ ก็จะมาทบทวนตัวเองอีกหนเหมือนกันว่า  "เขาเรางอกหรือยัง"