Skip to main content

หมู่บ้านของความเปลี่ยน (4)

คอลัมน์/ชุมชน

กลางกระแสทุนที่ไหลบ่าเข้าไปในทุกหย่อมย่าน


ไม่ว่าเมืองหรือชนบท จดจ้องดูสิ, เรามองเห็น...


ความฝันลอยคว้าง ความหวังลอยหาย


อา -ชีวิต บางห้วงขณะเหมือนว่าเรากำลังเปี่ยมสุข


ทว่าในบางวันหมอกควันห่มคลุมดวงจิต


ในบางค่ำคืนสงัดดำมืดและไหวว้าง


ปัญญากำลังเฝ้าตั้งคำถามกับปัญหาที่เข้ารุมเร้า


สะกิดและไถ่ถามตัวตนข้างในอยู่ย้ำๆ


 "อยู่ไหนความจริง ตอบมาอย่าเสแสร้ง...


หรือว่าแท้จริงแล้วเราต่างกำลังจมอยู่ในกองทุกข์!"


 


 



 


 


 


เช้านั้น, ผมเดินทางกลับบ้านเกิดอีกครั้ง...


รถกระบะโตโยต้าสีดำหม่นของพี่ชายค่อยๆ เคลื่อนตัวออกจากบ้านเช่า ผ่านซอกซอยไปสู่ท้องถนนสายหลัก ถนนสายที่ใครหลายคนพากันออกมาเผชิญโชค และเป็นถนนสายที่หลายคนโหยหา ถนนสายที่กลับบ้านสายนั้น


 


บนถนนชีวิต


ของความหม่นและความเปลี่ยน...


ท่ามกลางความรู้สึกเฝื่อนฝาดในรสชาติชีวิตของแต่ละคน


 


เมื่อคืนก่อน พี่ชายพร้อมลูกเมีย ขนมะเขือมาขายที่กาดเมืองใหม่ ตั้งแต่เช้ายันมืดค่ำ ก่อนแวะมาหาที่บ้านเช่า ดูสีหน้าแต่ละคนนั้นเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ผมชวนให้นอนค้างคืนที่นี่ กลับคืนนี้ หรือกลับพรุ่งนี้มีค่าเท่ากัน


 


"ขายได้ราคามั้ย วันนี้..." ผมถาม


"ก็พอได้ สองพันกว่า...ช่วงนี้ไม่ค่อยมีคนเอามะเขือมาขาย ราคาดีขึ้นหน่อย"


"อาจเป็นเพราะพวกนั้นถอดใจ ไม่สู้กันแล้วก็ได้" พี่ชายผมหมายถึงพรรคพวกที่ลงทุนปลูกผักกันแล้วเจ๊ง เป็นหนี้เป็นสินกันบาน กระทั่งเลิก และเดินทางไปทำงานรับจ้างที่กรุงเทพฯ กันหลายราย


           


จริงๆ แล้ว คำว่า "ก็พอได้" ของพี่ชายนั้น หมายความว่า พอได้เงินกลับไปหมุนเวียน นำไปใช้จ่ายใช้สอย และก็นำไปเป็นทุนรอนในการปลูกผักงวดใหม่


           


แต่ถ้านำมาคิดบวกกับต้นทุนที่ลงไป ไม่ว่าแรงงานสองคนผัวเมียที่ลงไป กับเวลาในแต่ละวันๆ ที่วุ่นอยู่กับการเพาะ ปลูก ไถพรวน รดน้ำ พ่นยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง ฯลฯ เหล่านี้ ไม่รู้ว่าเงินสองพันกว่าที่ได้วันนี้นั้น "ก็พอได้" หรือไม่!?


           


จริงสิ ชาวนาชาวสวนส่วนใหญ่ พวกเขาไม่ค่อยนำเรื่องเหล่านี้มาบวกรวมไว้กับราคาผลผลิตที่ได้ อันที่จริงแล้ว ไม่ว่าหยาดเหงื่อ แรงงานที่ลงไปอยู่ในท้องนาท้องสวนในช่วงสองเดือนสามเดือนนั้น ล้วนคือ "ต้นทุนชีวิต" กันทั้งสิ้น


 



           


ขณะรถเคลื่อนไปบนถนนคดเคี้ยวเลี้ยวเลียบเลาะริมฝั่งน้ำปิง สองมือพี่ชายจับพวงมาลัย สายตาจ้องมองไปเบื้องหน้า ในห้วงนั้น เขาบ่นออกมาด้วยสีหน้าเหนื่อยหน่าย


           


"จริงๆ แล้วฮาอยากจะเปลี่ยน อยากกลับไปปลูกผัก เลี้ยงไก่ เลี้ยงวัวอยู่ในสวนง่ายๆ เหมือนแต่ก่อน แต่ว่ามันทำบ่ได้ ยังเลิกบ่ได้ ฮายังเป๋นหนี้อยู่..."เป็นน้ำเสียงของพี่ชายที่บ่นครวญออกมา


           


ผมพยักหน้าเข้าใจและเศร้าใจ


ใช่. นี่ไม่ใช่เรื่องน่าอาย ที่ใครต่อใครต่างก็เป็นหนี้กันทั้งนั้น


           


เป็นที่รู้ๆ กันนั่นแหละว่า ชาวบ้าน ชาวสวน ชาวนาเกือบทุกหลังคาเรือน ล้วนเป็นหนี้เป็นสินท่วมตัวกันไปทั่ว หนี้เก่าสุมใส่ หนี้ใหม่พอกพูนรุมเร้า บางรายเป็นหนี้อย่างต่ำสี่ซ้าห้าหมื่น อย่างมากและอย่างหนักถึงสองสามแสนบาทต่อครอบครัว


           


ในขณะที่ทุกคนก้มหน้าก้มตาทำงานหาเช้ากินค่ำ บางวันไม่มีแม้แต่เศษเงินอยู่ในกระเป๋า ทุกวันนี้จากเดิม นอกจากทุกคนจะเป็นหนี้ ธกส. หนี้สหกรณ์การเกษตรฯ กันอยู่ก่อนแล้ว หากใครได้ลงไปสัมผัสถามไถ่ชาวบ้านตามรอบนอกจริงๆ พอจะรู้ว่า หลังจาก "นโยบายประชานิยม" ของรัฐบาลทักษิณเข้าไปถึงหัวกระไดบ้าน พร้อมกับประกาศว่า "ปัญหาความยากจนต้องหมดไป" พร้อมตั้ง "กองทุนหมู่บ้านเงินล้าน" เข้าไปช่วยเหลือให้แต่ละหมู่บ้าน แต่ตอนนี้ "กองทุนปลดหนี้" กลับกลายเป็น "กองทุนหนี้ประจำหมู่บ้าน" อย่างมิต้องสงสัย...


 


(แปลกแต่จริง...เหมือนกับว่าชาวบ้านกำลังถูกต้องมนต์นะจังงัง...โอ.พระเจ้าช่วยเป็นพยาน ชาวบ้านไม่รู้สึกตัวกันเลย ต่างฝ่ายต่างพากันยกย่องและชื่นชมว่า สิ่งที่ได้รับนั้นคือยาวิเศษที่จะช่วยเยียวยาความจนที่เรื้อรังให้หายไปได้...)


 


อย่างที่รู้ๆ กันนั่นแหละ ว่า ในเมื่อชาวบ้านไม่มีทางออก


สุดท้ายก็ต้องใจกล้าและใจใหญ่ จำฝืนทนเป็นหนี้ใหม่กันต่อไป


           


ขึ้นชื่อว่า "หนี้" ไม่ว่า "หนี้นอกระบบ" หรือ "หนี้ในระบบ" มันก็คือ หนี้ที่คือภาระที่ต้องชดใช้และจำยอมใช่หรือไม่


           


(มาถึงตอนนี้แล้ว ผมเริ่มไม่เชื่อที่ผู้บริหารประเทศ หรือใครต่อใคร ที่พยายามจะบอกว่า หนี้ในระบบดีกว่าหนี้นอกระบบ และพยายามจะเอาใต้ดินมาอยู่บนดินกันให้หมด...ไม่ว่าหวยบนดิน หนี้บนดิน อีกหน่อยก็คงมีการพนันบนดิน ยาเสพติดบนดิน ประกาศขายให้โจ่งแจ้งกันให้หมด) 


           


"หลายคนตอนนี้ นอกจากหนี้ ธกส.  หนี้สหกรณ์ฯ ยังไม่ได้ใช้ ทั้งต้นทั้งดอกยังค้างอยู่นั่น ยังต้องมาเป็นหนี้กองทุนหมู่บ้าน หนี้กลุ่มออมทรัพย์แม่บ้าน อะไรอีกเยอะ ที่มีอยู่ในหมู่บ้าน พวกที่เครดิตไม่ดี เมื่อหลุดออกจากกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ก็กลายเป็นกลุ่มไร้สัจจะออมทรัพย์ ก็ชักชวนกันออกไปหาพ่อเลี้ยงเมืองพร้าวโน่น..." ชาวบ้านคนหนึ่งเล่าให้ฟัง


           


หมายถึงว่า สุดท้ายพวกเขาก็กลับไปยอมเป็นหนี้นอกระบบอีกจนได้!


           


รู้สึกเจ็บปวดใช่มั้ย ที่รู้ข่าวจากชาวบ้านว่า หลายรายต้องไปกู้เงินจากพ่อเลี้ยงเมืองพร้าว ผู้เป็นนายทุนนอกระบบ เพื่อนำมาใช้หนี้ ธกส. รวมทั้งหนี้ในกองทุนหมู่บ้านเงินล้าน


           


มาถึงห้วงยามนี้แล้ว...ผมไม่รู้ว่าจะโทษใครดี ว่าทำไมหมู่บ้านของผมและหมู่บ้านอื่นๆ จึงเปลี่ยนไปอย่างนี้


หรือเราจะโทษชาวบ้าน โทษความไม่รู้หรือความจน หรือโทษ ธกส., โทษนายทุนนอกระบบ หรือเราจะโทษนโยบายประชานิยม โทษนายกฯ ทักษิณ ที่ช่วยทำให้ชาวบ้านเป็นหนี้ในระบบอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้


           


ผมไม่รู้...และผมเข้าใจว่าชาวบ้านก็ไม่รู้!?


ใครก็ได้ช่วยบอกหนทางออกให้ที!?