Skip to main content

บทเรียนที่ไม่เคยจำ..เรื่องเอดส์จนถึงหวัดนก

คอลัมน์/ชุมชน

เมื่อเริ่มต้นทศวรรษ 1980 (2523)  ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องในคนอันเป็นสาเหตุให้เกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคบางโรคที่มักพบในคนสูงอายุแต่กลับพบในคนวัยหนุ่มสาวได้ปรากฎขึ้น เช่น โรคปอดอักเสบ ซึ่งตามปกติหากรักษาทันก็จะไม่เสียชีวิต แต่พบการเสียชีวิต เนื่องจากไม่มีใครคิดว่าคนในวัยหนุ่มสาวจะป่วยเป็นโรคนี้


 


หลังจากปรากฏการณ์นี้ผ่านไปปีสองปี นักวิทยาศาสตร์จึงค้นพบไวรัสที่เป็นสาเหตุและให้ชื่อว่าเป็นไวรัสในคนที่มีผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เกิดโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (เอดส์)  เกือบสามทศวรรษที่เอดส์ปรากฎและระบาดขึ้นในโลกนี้ ได้ก่อให้เกิดผลมากมายทั้งต่อการสูญเสียชีวิต สภาพสังคม ประชากร และผลกระทบด้านเศรษฐกิจ 


 


เมื่อโลกกำลังขับเคลื่อนเข้าสู่สหัสวรรษใหม่ (รอบพันปีใหม่) ปี ค.ศ.2000 เมื่อปี ค.ศ.1997 เกิดการระบาดของไข้หวัดนกในฮ่องกง มีคนเสียชีวิต จากนั้นปรากฎการเจ็บป่วยด้วยโรคนี้มากขึ้นทั้งในไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย ยุโรป แม้จะมีการเสียชีวิตเป็นจำนวนน้อย แต่เริ่มเกิดวงจรระบาดตามฤดูกาลโดยเฉพาะในช่วงเวลาฤดูฝนต่อฤดูหนาว ที่นกป่าเป็นพาหะนำเชื้อมาสู่สัตว์ปีกในท้องถิ่นแล้วส่งต่อเชื้อให้คนผ่านการสัมผัส และการรับเชื้อผ่านเข้าเยื่อบุอ่อนที่ตา เข้าจมูก สูดลมหายใจ


 


สิ่งที่ทั่วโลกเป็นห่วงคือการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสไข้หวัดนกเข้าสู่ไวรัสไข้หวัดใหญ่ในคน ซึ่งมีประสบการณ์ในการระบาดใหญ่ทั่วโลกในทุกๆ รอบ 40 ปี   โดยระบาดใหญ่ในปี พ.ศ.2460 มีผู้เสียชีวิตราวๆ 20-40 ล้านคน ต่อมาปี พ.ศ. 2500 ระบาดในเอเชีย มีคนเสียชีวิตราว 1-2 ล้านคน และเริ่มปี พ.ศ. 2540 ไข้หวัดนกระบาด และมีแนวโน้มจะกลายพันธุ์ไปสู่การระบาดในคน ซึ่งก็ครบรอบ 40 ปีอีกครั้ง(ข้อมูลจาก http://www.ift2004.org/iftissue/iftissue86.asp)


 


สิ่งที่พบคือ เริ่มมีผู้เสียชีวิตด้วยไข้หวัดนกในไทยอีกครั้ง และพบว่าไวรัสในนกเริ่มกลายพันธุ์เป็นไวรัสในคน ซึ่งรัฐก็ค่อยๆ ประกาศจังหวัดที่มีการระบาดให้เป็นจังหวัดที่มีการควบคุม การทำลายสัตว์ปีก สิ่งที่รัฐปฏิบัติการเหมือนกันระหว่างเอดส์กับหวัดนกคือ ความกลัว ความวิตกกังวลว่าหากประกาศยอมรับเรื่องการระบาดของโรคเร็วเกินไปจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ประเทศไทยด้านเศรษฐกิจ การส่งออกสินค้าไก่ เป็ด และอื่นๆ รวมถึงผลต่อธุรกิจการท่องเที่ยว  ทำให้มีการชะลอการประกาศพื้นที่เสี่ยงหรือควรจะประกาศว่าทั้งประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะพบเชื้อไข้หวัดนกได้ 


 


ผลที่ตามมาคือ คนไทยที่อยู่ในจังหวัดที่ไม่ได้ประกาศเป็นพื้นที่ระบาดมีความไว้วางใจว่าตนเองไม่อยู่ในภาวะเสี่ยง ก็คงมีพฤติกรรมเสี่ยงได้ตลอดเวลา ยังคงมีคนที่ต้องทำงานเสี่ยงภัยต่อการติดเชื้อในการชำแหละไก่สดในที่ต่างๆ ที่อาจชะล่าใจ ไม่ป้องกันตนเอง ไม่มีความรู้ ความเข้าใจและเครื่องมือในการป้องกัน เจ้าของกิจการฟาร์มไก่ เจ้าของโรงชำแหละ ได้ให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองชีวิตคนเหล่านี้เพียงใด มีการให้ข้อมูลให้อุปกรณ์ป้องกัน ให้การดูแลรักษาทันท่วงทีเมื่อพบการเจ็บป่วยหรือไม่เพียงใด


 


ส่วนในกลุ่มผู้เลี้ยงไก่ชนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชาวบ้าน ชาวเมืองในประเทศไทย  เป็นกลุ่มคนที่มีการรวมตัวกันและออกแรงกดดันรัฐไม่ให้ดำเนินการขั้นรุนแรงต่อการทำลายไก่ชน ขณะเดียวกันก็เป็นกลุ่มใหญ่ที่แอบลักลอบใช้วัคซีนเพื่อควบคุมเชื้อไวรัสมาใช้กับไก่ชน ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย นอกจากนี้ยังมีขบวนการเดินสายหลอกขายวัคซีนปลอมให้คนเลี้ยงไก่ชนอีกด้วย


 


เด็กนักเรียนทั้งหมดในประเทศไทยได้รับรู้เรื่องไข้หวัดนกนี้อย่างไร นอกจากรู้ว่าหนูจะไม่กินไก่เพราะจะเป็นไข้หวัดนก เด็กเข้าใจวิถีการเกิดโรคนี้เพียงใด ใครคือผู้มีโอกาสรับเชื้อมากที่สุด พ่อแม่ผู้ปกครองของใครที่ทำงานในฟาร์มไก่ เป็ด หรือเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่ง หรือเลี้ยงไก่ชน หรือไก่บ้าน  ซึ่งมีความเสี่ยงสูง  รู้วิธีป้องกันตนเองอย่างไร และเมื่อเจ็บป่วยรู้วิธีการดูอาการ วิธีให้ข้อมูลกับแพทย์เพียงใด  รวมถึงการเข้าใจว่านี่คือโรคระบาดที่ต้องช่วยกันให้ข้อมูลมากที่สุดเพื่อป้องกันตนเองและคนอื่นๆ ที่เป็นเพื่อนบ้าน เครือญาติ และสังคมไทย


 


วิธีการรณรงค์ป้องกันก็ใช้วิธีเดิมๆ คือให้ อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน) ทำหน้าที่เป็นผู้ให้ข้อมูล ติดตาม ตรวจสอบ แจ้งข่าว ซึ่งมีลักษณะการแยกส่วนความรับผิดชอบ เป็นหน้าที่ ไม่ใช่ความรู้สึกร่วมของชุมชนว่าเป็นภาวะภัยคุกคามทุกคน และทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์สถานการณ์ วางแผนป้องกัน ควบคุม ดูแล และร่วมกันดำเนินการ โดยเฉพาะการให้กลุ่มคนที่มีการรวมตัวกันเป็นองค์กร เช่น ชมรมผู้เลี้ยงไก่ชน กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มเยาวชน เป็นผู้มีบทบาทร่วมในการดำเนินการ  โดยรัฐให้ความสนับสนุนในฐานะเป็นภาคีความร่วมมือ ไม่ใช่ในฐานะเป็นลูกน้อง ลูกจ้าง ที่สั่งการให้ทำ เพราะมันไม่ได้ผลมาแล้วในการทำงานรณรงค์เรื่องเอดส์ 


 


คนที่ประสบปัญหาคือคนที่ต้องมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของตนเอง  ชุมชนคือหน่วยสำคัญในการแก้ปัญหา บทเรียนเรื่องเอดส์เป็นบทเรียนราคาแพงในการกังวลเรื่องภาพลักษณ์ การส่งออก มากกว่าชีวิตคนซึ่งก็คือคนที่ทำงานให้ธุรกิจส่งออกเติบโตนั่นเอง แต่กลับถูกให้ความสำคัญน้อยที่สุด


 


อย่าให้บทเรียนล้มเหลวย่ำรอยเดิมต่อไป รัฐต้องกล้าประกาศความจริง ยอมรับความจริง และให้ความสำคัญต่อการสนับสนุนการทำงานขององค์กรชุมชน ชมรมผู้เลี้ยงไก่  ให้เข้ามีส่วนร่วมในการทำงานเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้ประเทศต้องเผชิญกับการระบาดของไข้หวัดใหญ่อย่างรุนแรงในรอบ 40 ปีอีกครั้ง


 


 


.................................................