Skip to main content

โจ๊ก นักคณิตศาสตร์

คอลัมน์/ชุมชน

ผมสังเกตว่า  บทความที่เกี่ยวกับเรื่องโจ๊กหรือเรื่องขำขันในวงการคณิตศาสตร์มักจะได้รับ "เรทติ้ง" ดีพอสมควรจากแฟนประชาไท


 


อย่างไรก็ตาม ผมเองก็ไม่ได้มีเรื่องราวมากมายให้มาเล่าได้ประจำ  และเรื่องราวที่ทางท่านบรรณาธิการประชาไทคาดหวังก็คือเรื่องพลังงานและคณิตศาสตร์ ดังนั้นหากท่านใดมีเรื่องน่าสนใจก็กรุณานำเล่าสู่กันฟังบ้าง  ถือเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน


 


วันนี้ผมตั้งใจจะนำมาเล่าสัก 2-3 เรื่อง แต่เมื่อตรวจดูเรื่องเก่าก็พบว่า เคยลงมาแล้วหนึ่งเรื่องในครั้งวันที่ 14 พฤศจิกายน 2548  ตัวผมเองชอบโจ๊กเรื่อง "นักคณิตศาสตร์คือใคร" มากที่สุด   เพราะมันสะท้อนบุคลิกภาพของนักคณิตศาสตร์ได้ดีมาก คือ เป็นคนที่เมื่อเจอปัญหาอะไรแล้วก็จะ "คิดนาน สามารถ คำตอบถูกต้องแม่นยำ แต่คำตอบนั้นไม่มีประโยชน์เลย" (โจ๊กนะครับ) ขอท่านที่สนใจกรุณากลับไปอ่านอีกครั้งครับ


 


วันนี้ขอเล่าอีกสัก 2 เรื่องครับ ประเด็นของเรื่องแรกอยู่ที่ความแตกต่างทางความคิดที่แต่ละคนได้รับการปลูกฝังกันมาระหว่างนักวิชาการ 3 สาขา คือ นักคณิตศาสตร์ นักชีววิทยา และนักฟิสิกส์


 


วันหนึ่ง นักคณิตศาสตร์ นักชีววิทยา และนักฟิสิกส์นั่งโม้และดื่มน้ำชาอยู่ที่ร้านแห่งหนึ่ง พวกเขาสังเกตเห็นคน 2 คนเดินเข้าไปในบ้านหลังหนึ่งที่อยู่ตรงกันข้ามกับร้านน้ำชา


 


ครู่ต่อมาพวกเขาเห็นคน 3 คนเดินออกมาจากบ้านหลังเดิม  นักวิชาการผู้ร้อนวิชาก็รู้สึกงุนงงกันมาก ทั้งสามนักวิชาเกินก็พยายามหาเหตุผลมาอธิบายปรากฏการณ์ที่มีคนเข้าไปเพียง 2 คนแล้วกลับออกมาถึง 3 คน


 


นักฟิสิกส์ที่เชี่ยวชาญเรื่องการชั่ง ตวง วัด  ก็เสนอเหตุผลเป็นคนแรกว่า


"สงสัยว่าเรานับผิดมั๊ง!"


 


นักชีววิทยาซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องการขยายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต ก็เสนอความเห็นว่า


"เฮ้ย! คนที่ 3 อาจจะเป็นผลผลิตของ 2 คนแรกก็ได้นะ"


 


นักคณิตศาสตร์ผู้สติเฟื่องและถูกฝึกมาในเรื่องระบบจำนวน (number system) ก็กล่าวว่า


"ไม่ว่าจะเกิดจากอะไรก็ตาม แต่ถ้ามีคนอีกหนึ่งคนเดินเข้าไปในบ้านหลังนั้นอีก จะทำให้จำนวนคนในบ้านหลังนั้นเป็นศูนย์อีกครั้งหนึ่ง"


 


ผมเคยเล่าเรื่องนี้ให้หลายคนฟัง ปรากฏว่าหลายคนไม่ขำเลย ในขณะที่ผมเองขำเสียจนเล่าเกือบไม่ได้  ที่เขาไม่ขำเพราะเขาไม่เข้าใจธรรมชาติของนักคณิตศาสตร์ที่ยอมให้เกิดจำนวนที่เป็นลบ แม้กระทั่งกับคนก็ตาม


 


เสียดายที่ไม่มีนักอาชญาวิทยาอยู่ในวงนี้ด้วย  ถ้ามี ก็อาจจะเป็นเพราะปรากฏการณ์ ample  rich  ก็ได้ใครจะไปรู้


           


เรื่องที่สอง  การช่วยเหลือเกษตรกรในโครงการเลี้ยงวัว แต่จะเป็นวัวล้านตัวหรือไม่ ผมเองก็ไม่ทราบ


กลุ่มนักวิชาการที่ถูกเชิญไปมี 3 คน คือ วิศวกร นักฟิสิกส์ และนักคณิตศาสตร์(เจ้าเก่า)


 


เกษตรกรถามว่า


"ท่านครับ ผมต้องการจะทำคอกวัวสำหรับขังวัวฝูงนี้ จะทำอย่างไรดีให้สิ้นเปลืองวัสดุน้อยที่สุด แต่ได้พื้นที่มากที่สุด"


 


ผมขอขยายความนิดหนึ่งครับ คำถามของเกษตรท่านนี้จัดอยู่ในวิชา "การหาค่าเหมาะที่สุด (optimization theory)" ซึ่งนักคณิตศาสตร์ วิศวกร รวมทั้งนักฟิสิกส์และนักเศรษฐศาสตร์นิยมเรียนกัน  เพื่อนำไปใช้ในการจัดการ การบริหารครับ


 


วิศวกร (ผู้สมองไว) เสนอความเห็นเป็นคนแรกว่า


"เอาอย่างนี้ซิ  ต้อนวัวให้มาอยู่ในวงกลม จากนั้นก็ทำรั้วรอบๆ วัวทั้งฝูง"


เขาเสริมต่อว่า "ตามทฤษฎีบอกว่า สำหรับพื้นที่ที่กำหนดให้แล้ว  รูปรั้วที่เป็นวงกลมจะทำให้สิ้นเปลืองวัสดุที่ใช้ทำรั้วน้อยที่สุด "


 


นักฟิสิกส์เสนอความเห็นเป็นรายต่อมาว่า


"สร้างวงกลมที่มีรัศมีใหญ่มากๆ จากนั้นก็ค่อยๆ ดึงลวดทำรั้วให้เล็กลงๆ จนกระทั่งวัวอยู่กันอย่างแน่นแออัด โดยวิธีนี้จะทำให้รั้วมีขนาดเล็กที่สุด"


 


ถึงคราวนักวิชาการท่านสุดท้าย คือนักคณิตศาสตร์ (ซึ่งถูกฝึกมาให้เริ่มต้นจากนิยามทฤษฎีบท และพิสูจน์) บ้าง เขาเสนอว่า


"เอาอย่างของผมดีกว่า คือเริ่มต้นทำรั้วล้อมรอบตัวผมเองก่อน ซึ่งจะใช้รั้วเพียงนิดเดียว จากนั้นก็สร้างนิยามขึ้นมาว่า ผมอยู่นอกวงกลม อย่างนี้แหละจึงจะประหยัดวัสดุได้มากที่สุด และขังวัวได้มากที่สุดด้วย "


 


โจ๊กทั้ง 2 เรื่องนี้มาจากตำราคณิตศาสตร์เรื่อง "แคลคูลัสเชิงอนุพันธ์และการประยุกต์" ที่ผมเขียนเอง ตั้งแต่ปี 2541   ผมดัดแปลงมาจากเว็บไซต์


http://www.math.rutgers.edu/~greenfie/currentcourses/math135/jokes.html


 


แต่เมื่อผมลองค้นใหม่ กลับไม่เจอแล้วครับ  จึงขำไม่ออกเลย ผมจะพยายามใหม่ครับ โปรดอดใจรอ