Skip to main content

สังคมอุดมภัย

คอลัมน์/ชุมชน

หัวเรื่องวันนี้ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับ "สังคมอุดมปัญญา" ซึ่งเป็นสโลแกนของสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่งแต่ประการใด แต่ใช้ชื่อนี้เพราะว่า เห็นข่าวคราวที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในแต่ละวันแล้วยังไม่เห็นสังคมอุดมปัญญาเกิดขึ้นกับสังคมไทยเลย กลับเห็นแต่ "สังคมอุดมภัย" หรือ "สังคมอุดมทุกข์" เสียมากกว่า


 


ที่ต้องบอกว่าเป็นสังคมอุดมภัยนั้น ก็เพราะว่าสังคมไทยในทุกวันนี้เต็มไปด้วยภัยนานาชนิด ที่ผู้คนต้องประสบ หากเป็นเพียงภัยธรรมชาติก็ไม่กระไร ทว่า ที่น่ากลัวกว่ากลับเป็นภัยจากบุคคลที่ใกล้ตัวและจากคนที่ควรเป็นผู้ให้ความปลอดภัย กลับมาเป็นผู้นำภัยมาให้เสียเอง


 


ดังปรากฏเป็นข่าวเกรียวกราวอยู่ในวันนี้ คือ กรณีครูข่มขืนลูกศิษย์หรือนักเรียนวัยเพียง 7-8 ขวบ ถึงแม้ว่าจนขณะนี้จะยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าครูที่ถูกกล่าวหาได้กระทำการนั้นจริงหรือไม่ แต่ก็ต้องยอมรับกันว่ากรณีครูข่มขืนเด็กนี้นั้นไม่ใช่ครั้งแรก เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง ทั้งที่เป็นเหตุการณ์ที่ไม่ควรเกิดขึ้นเลย หรืออีกหนึ่งข่าวร้อน กรณีตำรวจปล้นร้านทองอย่างอุกอาจและฆ่าเจ้าทรัพย์ นอกจากนั้นยังมีข่าวก่อนหน้านี้กรณีพระลวงผู้หญิงไปลวนลามหรือข่มขืน แน่นอนว่าเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกทั้งสิ้น


 


จากหลายๆ กรณีที่เกิดขึ้นเหล่านี้ มากพอที่เราจะพูดได้หรือยังว่า สังคมไทยนั้นช่างเป็นสังคมที่ไม่น่าอยู่อย่างยิ่ง เพราะว่า ในสถานที่ที่ปลอดภัยที่สุด กลับกลายเป็นที่ที่ไม่ปลอดภัยที่สุด รวมทั้งบุคคลที่เราควรไว้ใจได้ที่สุด หรือบุคคลที่ควรปกป้องคุ้มครองเรากลับมาเป็นผู้ทำร้ายคนในคุ้มครองเสียเอง นี่ย่อมหมายรวมถึงเหตุที่เกิดจากสถาบันที่ควรจะอบอุ่นที่สุดนั่นคือครอบครัว ที่บ่อยครั้งพบเด็กถูกทำร้าย ทารุณกรรม และข่มขืนจากคนในครอบครัวเอง


 


ในที่นี้อยากขอตั้งเป็นประเด็นไว้ให้ลองช่วยกันคิดและลองแลกเปลี่ยนกันดูดีหรือไม่ว่า เพราะเหตุใด คนอย่างครู ถึงกลับเป็นคนที่มาทำร้ายเด็กเสียเอง ทั้งที่การอยู่โรงเรียนนั้นควรจะเป็นที่ที่ปลอดภัยสำหรับเด็กมากที่สุดรองจากบ้าน  กล่าวคือการกระทำของครูนั้นนอกจากมองไม่เห็นเด็ก เป็นเด็ก และเป็นลูกศิษย์ แล้วยังมองไม่เห็นในคุณค่าความเป็นคนของเด็กด้วยซ้ำ เพราะหากครูมองเห็นเด็กเป็นศิษย์อยู่ ครูก็ควรจะรู้หน้าที่ว่า ต้องปกป้องคุ้มครองลูกศิษย์ไม่ใช่มาทำร้ายเด็ก และหากมองในฐานะผู้ใหญ่กับเด็ก ผู้ใหญ่ก็ควรเอื้อเฟื้อเด็ก


 


ต่อมา กรณีของตำรวจ เหตุใดเล่าตำรวจถึงได้กล้ากระทำการละเมิดกฎหมายทั้งที่ตนเป็นผู้รักษากฎหมายและคอยคุ้มครองประชาชน และทำไมถึงไม่มองเห็นประชาชนเป็นราษฎร หากตำรวจมองเห็นว่านี่คือราษฎร และตระหนักว่าตนเองเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ก็ย่อมจะไม่กระทำการอันอุกอาจเยี่ยงนี้


 


หรือกรณีของพระสงฆ์องค์เจ้า ทำไมถึงมีกรณีออกนอกลู่นอกทางมากขึ้นทุกวัน ทำไมถึงขาดความตระหนักว่าตนเป็นผู้ทรงศีลที่ต้องเผยแพร่ธรรมะให้กับอุบาสก อุบาสิกา เพื่อจะได้ขัดเกลาจิตใจ เพื่อให้เป็นคนดีในสังคม ถ้าหากพระตระหนักในภารกิจของตนเองแล้ว พระก็คงจะไม่กระทำการอันผิดศีลธรรมเป็นแน่


 


คนจำนวนไม่น้อยอาจตอบแบบกำปั้นทุกดินว่า "ทุกที่มีทั้งคนดีและชั่ว" ปนๆ กันไป  แต่คำตอบควรมีแค่นี้เองหรือ ปัญหาเหล่านี้ควรได้รับการแก้ไขหรือไม่ หรือการควบคุมไม่ให้มีเหตุการณ์แบบนี้จะทำได้หรือไม่ หรือจะต้องปล่อยให้เป็นเช่นนั้นเอง


 


เคยลองแลกเปลี่ยนกับบรรดามิตรสหายกันในวงแคบๆ อยู่เหมือนกันว่าปัญหาที่หยิบยกขึ้นมาข้างต้นนี้เป็นเพราะอะไร  แน่นอนที่จะเจอคำตอบแบบกำปั้นทุบดินว่า เพราะ "ศีลธรรมเสื่อม" เอาล่ะ เพราะศีลธรรมเสื่อมจึงเกิด "สังคมทราม" ทว่า สิ่งที่น่าคิดต่อก็คือ เหตุใดถึงเกิดปรากฏการณ์ศีลธรรมเสื่อมเช่นนี้ได้


 


มีบางคนมองว่านี่เป็นการเสพติดอำนาจชนิดหนึ่ง และที่สุดก็ใช้อำนาจในทางที่ผิด นั่นคือตั้งแต่อดีตเป็นต้นมา มีคนอยู่ 4 ประเภทที่ทำอะไรก็มักจะไปเอาผิดเอาโทษไม่ได้ นั่นคือ หมอ ครู  ตำรวจ และพระ  ในส่วนของของหมอ ครู และพระนั้น ผู้คนมักเชื่อด้วยใจว่าเป็นคนดี เป็นผู้ให้ และช่วยคนมากกว่าที่จะทำร้ายคน ดังนั้นคนเหล่านี้มักได้รับการยกย่อง ส่วนตำรวจ เป็นผู้ที่ถือทั้งอาวุธและกฎหมายอยู่ในมือก็มักได้รับความยำเกรง


 


เมื่อก่อน หมอจะทำอย่างไรกับคนไข้ก็ได้ในนามของ "การรักษา" หากพลาดไปบ้างก็บอกว่า สุดความสามารถแล้ว หรือเป็นเรื่องสุดวิสัย หาใช่สะเพร่าและละเลยไม่ ทว่า ปัจจุบันด้วยกฎหมายสิทธิผู้ป่วยก็ทำให้คนไข้นั้นสามารถสอบถามข้อสงสัยจากหมอมากขึ้น บารมีหมอถูกลดลงไปบ้าง หมายถึงว่าเริ่มมีผู้คนกล้าร้องเรียนหมอได้มากขึ้น กระนั้นก็ไม่แน่ใจว่าส่วนนี้จะช่วยเสริมสร้างให้หมอที่รักษาคนอยู่นั้น เป็น "หมอใจ" แบบหมอโฮจุนได้มากขึ้นหรือไม่


 


ส่วนกรณีครูนั้น ก็มีคนดังข้อสังเกตว่า เนื่องจากคนที่สัมพันธ์ด้วยนั้นคือเด็ก ดังนั้น ครูกับเด็กจึงเป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจโดยแท้ แต่ในอดีต เนื่องจากโรงเรียน และที่อยู่อาศัยของเด็กอยู่ใกล้ๆ กัน ลูกใคร หลานใครก็รู้จักหมด และครูก็มักเห็นนักเรียนเป็นลูกเป็นหลาน  ช่วยดูแลแทนพ่อแม่ได้ ซึ่งต่างกับปัจจุบันโดยเฉพาะในกรุงเทพฯที่โรงเรียนกับบ้านอาจไม่ได้อยู่ในชุมชนเดียวกัน หรือแม้จะใกล้กันแต่ด้วยผู้คนใส่ใจเฉพาะการทำมาหากินของตัวเองกันมากขึ้น ความใส่ใจกันของคนในสังคมไทยลดลงไปมาก ดังนั้นครูจึงสามารถใช้อำนาจกับเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็กๆ ได้ทุกด้าน จนถึงขั้นใช้อำนาจในทางที่ผิดจนเลยเถิดออกไป


 


แต่จะด้วยอำนาจแบบไหนก็ตามที่นำมาใช้ ปรากฏการณ์อีกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในสังคมในปัจจุบันก็คือ คนเราถูกทำร้ายจากคนใกล้ชิดและคนที่เราควรไว้ใจมากที่สุดมากขึ้น เราถูกสอนกันว่าอย่าไว้ใจคนแปลกหน้าซึ่งแน่นอนกับคนแปลกหน้านั้นเราย่อมระมัดระวังตัวเองได้ตี แต่ว่ากับคนใกล้ชิดจะให้ระวังตัวได้อย่างไร และถ้าเราต้องอยู่ด้วยความหวาดระแวงขนาดนี้ เราจะหาความสุขจากสังคมที่เราอยู่ได้อย่างไร  นี่เป็น "สังคมแห่งความทุกข์" ชัดๆ


 


แล้วเราจะมีทางออกสำหรับเรื่องนี้หรือไม่ ทำอย่างไรเรื่องนี้ผิดศีลธรรมอย่างนี้จะไม่กลายเป็นเรื่องธรรมดาและเรื่องเคยชินไป  บางคนก็บอกว่า มันต้องใช้มาตรการทางกฎหมายให้ถึงที่สุด หรือ บางคนก็มองว่า เราหันกลับมาฟื้นฟูยกระดับมาตรฐานศีลธรรมให้สูงขึ้นแล้วให้สังคมช่วยหันมาใส่ใจกันมากขึ้นจะเป็นไปได้หรือไม่  ทว่า วิธีการฟื้นฟูทางศีลธรรมนั้นจะทำได้อย่างไร


 


บางคนมองเห็นว่า ทั้งเรื่องการเข้มงวดทางกฎหมายและการจัดการทางศีลธรรมโดยสังคมนั้นควรจะต้องไปด้วยกัน  แต่สิ่งที่จะต้องทำด้วยก็คือ จะทำอย่างไรให้คนเห็นว่าเหตุการณ์เหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของปัจเจกบุคคล  แน่นอนการกระทำความผิดเหล่านี้อาจเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยคนๆคนหนึ่งที่ต้องนำตัวมาลงโทษ(ที่ส่วนใหญ่มักจะถูกแถมด้วยคนเข้ามารุมประชาทัณฑ์) แล้วก็จบไป  แต่แล้วเหตุการณ์เหล่านี้ก็ไปเกิดซ้ำอีกที่นั่น ที่นี่ไม่รู้จบ  ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นกลับกลับไม่ใช่แค่เรื่องของปัจเจกบุคคล  และการแก้ปัญหานี้ นอกเหนือจากนำตัวผู้กระทำผิดเพียงไปลงโทษแล้ว ยังต้องทำเป็นระบบและทั้งระบบด้วย


 


เรื่องนี้อาจมีบางคนว่าดูจะเป็นเรื่องที่เล็กๆรวมทั้งมีไม่น้อยที่อาจจะคิดแค่ว่า "โชคร้าย" นะ หากเรื่องเหล่านี้มาเกิดกับใครเข้า แต่จริงๆ แล้ว ผู้คนควรตระหนักว่า นี่ไม่ใช่เรื่องโชคร้าย หรือโชคดี แต่นี่แหละคือ ภาระโดยตรงของรัฐบาลที่จะเข้ามาช่วยดูแลชีวิตทุกชีวิตในสังคมให้อยู่ได้อย่างปลอดภัย เป็นภาระหน้าที่ของรัฐบาลโดยตรงที่จะต้องส่งเสริมให้คนมีศีลธรรม ให้คนทำหน้าที่ของตนเองให้ดี ให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ และให้คนเกรงกลัวต่อการกระทำผิดกฎหมายและเกรงกลัวต่อการกระทำผิดศีลธรรม


 


ดังนั้น ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลก็ช่างเถอะ จะทำตัวเลขทางเศรษฐกิจดีแค่ไหนก็ตาม แต่ว่า คิดว่าประเทศไทยจะน่าอยู่หรือไม่ หากว่าทุกวันที่ลูกไปโรงเรียนแล้วเรานั่งภาวนาตลอดเวลาว่าลูกจะกลับมาโดยไม่บอบช้ำ หรือทำการค้าอยู่ดีๆ ก็มีคนเข้ามาปล้น แล้วคนๆ นั้นก็เป็นตำรวจที่เราหวังว่าจะพึ่งเขาหากมีโจรผู้ร้ายมา แล้วอย่างนี้เรายังจะนั่งกอดตัวเลขทางเศรษฐกิจได้อย่างเป็นสุขอยู่หรือ