Skip to main content

บันทึกคนลุ่มน้ำปากพนัง : จากข้อมูลพื้นบ้านสู่วิชาการ

คอลัมน์/ชุมชน

1


 ผมเกิดในลุ่มน้ำปากพนัง บ้านผมอยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลอ่าวไทยประมาณ 200 เมตรและอยู่ห่างจากแปลงนาข้าวเพียง 50 เมตรเท่านั้น ผมเริ่มออกจากบ้านไปเรียนหนังสือในเมืองเมื่อตอนวัยรุ่น ในวัยทำงานผมกลับไปบ้านเกิดประมาณเดือนละครั้ง ผมจึงพอจะสามารถนำเรื่องราวทั้งของชาวบ้านและข้อมูลวิชาการมาเล่าสู่กันฟังได้บ้าง


2


ประมาณเกือบครึ่งหนึ่งของคนในหมู่บ้านของผมหากินในทะเล และอีกครึ่งหนึ่งทำนาข้าว มีคนไม่มากนักที่ทำสองอาชีพ ส่วนอาชีพเสริมมีกันทุกครัวเรือนครับ เช่น เลี้ยงหมู เลี้ยงแพะ ปลูกผัก ค้าขายเล็ก ๆ น้อย ๆ รวมทั้งขายหวยใต้ดินด้วย


3


ผมทราบว่าชาวประมงบ้านผมจำนวนหนึ่งจะไปหาปลาที่บริเวณแหลมตะลุมพุก ซึ่งอยู่ปลายสุดของแผ่นดินในลุ่มน้ำปากพนัง ( ดูแผนที่ในรูปที่ 1 ) ที่นั่นนอกจากจะมีสัตว์น้ำจำนวนมาก ตัวโต ๆ และหลายชนิดแล้วยังเป็นที่จอดเรือและ " หลบลม " ได้อีกด้วย


ปี 2534 ผมเคยไปซื้อ " ไข่ปลาบอกเค็ม " ซึ่งมีเยอะมากที่แหลมตะลุมพุกไปฝากพ่อฝากแม่ซึ่งถือเป็นวัฒนธรรมของคนที่นั่นที่พ่อจะมักสอนลูกว่า " ไข่ปลานี้ใส่เกลือเก็บไว้ไปฝากโป คำว่า โป หมายถึง ปู่ " จนปัจจุบันนี้เสียงนี้ก็ยังแว่วดังอยู่ในหูเสมอเมื่อผมเจอปลาตัวโต ๆ


คนไทยรู้จักชื่อ " แหลมตะลุมพุก " มาตั้งแต่ปี 2505 จากวาตภัยที่กวาดต้อนชาวบ้านไปกว่า 500 ชีวิต จนเป็นที่มาของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในปัจจุบัน และเมื่อเร็ว ๆ นี้ ( 40 ปีผ่านไป ) ก็มีภาพยนตร์เรื่องนี้ออกมาฉาย ชาวแหลมตะลุมพุกไปดูกันเยอะมาก รวมทั้งคนที่รอดตายจากเหตุการณ์ครั้งนั้นด้วย แต่ออกมาด้วยความผิดหวัง เพราะเรื่องราวในหนังแตกต่างจากเรื่องจริงมากเลย


4


นอกจากแหลมตะลุมพุกแล้ว ชาวประมงบ้านผมบางส่วนจะไปหากินที่ทะเลสาบสงขลา อ่าวปัตตานี ตลอดจนอำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช


ผมทราบว่าในที่เหล่านั้นมีกุ้ง หอย ปู ปลา ชุกชุมมาก เพราะที่นั่นเป็นที่ ๆ น้ำจืดซึ่งอุดมไปด้วยแร่ธาตุและสารอาหารที่ไหลมาจากเขตป่าเขา และไร่นามาบรรจบกับน้ำทะเลที่มีทั้งสัตว์น้ำวัยอ่อน และไข่ปะปนเข้ามากับสายน้ำด้วย นอกจากนี้ยังมีป่าชายเลนซึ่งเปรียบเสมือนบ้านเรือนไว้ป้องกันภัยจากฝน น้ำค้าง และลมของฝูงสัตว์เหล่านั้นอีกด้วย


ประกอบกับในบริเวณปากแม่น้ำมักจะเป็นที่ตื้นมากเมื่อเทียบกับความลึกของทะเล ดังนั้นแสงอาทิตย์จึงสามารถส่องลงไปได้ถึงพื้นดิน การสังเคราะห์แสงจึงเกิดขึ้นได้ทั่วทั้งพื้นน้ำ พืชเซลล์เดียวเหล่านี้ทำให้น้ำมีสีเขียว เมื่อผสมกับสารอาหารและแร่ธาตุสีของน้ำ จึงกลายเป็นสีเขียวปนน้ำตาล กลายเป็นที่บังแดดไม่ให้น้ำอุ่นจนเกินไป


ฝูงสัตว์น้ำเหล่านั้นจึงมีความสุขโดยปราศจากภัยใด ๆ เป็นที่น่าอิจฉายิ่งนัก


เมื่อแร่ธาตุและสารอาหารในน้ำที่มาจากแผ่นดินได้รับแสงอาทิตย์ก็เกิดการสังเคราะห์แสงจนสามารถสร้างแพลงก์ตอนพืชเล็ก ๆ ( ที่มีเซลล์เดียวเรียกว่าเอลจี ) จากนั้นแพลงก์ตอนพืชเหล่านี้ก็จะเป็นอาหารของสัตว์น้ำอื่น ๆ เรื่อยไปเป็นห่วงโซ่ที่เรียกกันเป็นสำนวนว่า " ปลาใหญ่กินปลาเล็ก " แต่ความหมายในที่นี้ไม่ใช่สำนวนนะครับ แต่เป็นธรรมชาติของสัตว์ที่ถูกพวกมนุษย์เรียกพวกเขาเหล่านั้นว่า " สัตว์ชั้นต่ำ "


 
รูปที่ 1 แสดงลุ่มน้ำปากพนัง ( ความยาวของแม่น้ำปากพนังที่เห็นสีขาว ๆ ยาวประมาณ 150 กม . ความกว้างปลายสุดของปากอ่าวประมาณ 10 กม .)


ผมซึ่งเป็นนักคณิตศาสตร์ ( ที่สนใจด้านสมุทรศาสตร์กายภาพ ) ไม่ทราบข้อมูลที่เป็นทางวิชาการว่า ที่บริเวณ " ปากแม่น้ำ หรือ estuaries" เหล่านั้นจะมีสารอาหารมากน้อยแค่ไหนเมื่อเทียบกับพื้นที่ส่วนอื่นๆของโลก ไม่ว่าจะเป็นมหาสมุทร นาข้าว ป่าไม้ หรือทะเลทราย


เมื่อประมาณปี 2535 " บังหยอ " ซึ่งเป็นชาวประมงพื้นบ้านบริเวณตำบลคูขุด อำเภอสทิงพระ ในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาได้อธิบายว่า


"ทะเลสาบสงขลาเป็นที่ผสมพันธุ์ของ น้ำตัวผู้ ซึ่งมาจากทะเลอ่าวไทย กับ น้ำตัวเมีย ซึ่งมาจากภูเขา การผสมของน้ำตัวผู้กับน้ำตัวเมีย ทำให้ทะเลสาบสงขลามีสัตว์น้ำอุดมสมบูรณ์มาก ถ้ามีการสร้างเขื่อนกั้นกลางทะเลสาบสงขลาจะทำให้น้ำตัวผู้กับน้ำตัวเมียผสมกันไม่ได้ ทะเลสาบก็จะมีสัตว์น้ำลดลง "


5


ไม่กี่ปีต่อมา ผมเองได้พบข้อมูลจากตำราวิชาการเล่มหนึ่ง Environmental Science: Living Within the System of Nature , Charles E. Kupchella and Margaret C. Hyland, Prentice Hall International 3 rd ed n ., 1993 ซึ่งได้จำแนกพื้นส่วนต่าง ๆ ของโลกโดยการคำนึงถึง " ผลผลิตเบื้องต้น (primary production)" เป็นหลัก พบว่าสิ่งที่ " บังหยอ " บอกเล่ามานั้นก็จัดอยู่ในบริเวณที่มีผลผลิตเบื้องต้นสูงที่สุดในโลกนั่นเอง


ผมสรุปไว้ล่วงหน้าจากข้อมูลทั้งหมดว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพที่เป็นธรรมชาติของบริเวณปากแม่น้ำโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการปิดกั้นการไหลของน้ำ 2 กระแสคือน้ำจืดจากแผ่นดินกับน้ำเค็มจากทะเลไม่ให้มาพบกัน คือการลดคุณค่าของธรรมชาติซึ่งไม่ต่างอะไรกับ " การเปลี่ยนเพชรให้เป็นถ่าน "


อย่างไรก็ตาม ถ่านก็ยังมีประโยชน์สำหรับคนบางกลุ่ม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการให้มูลค่าและคุณค่าของแต่คนแต่ละกลุ่มด้วย


6

ข้อมูลวิชาการ


 
รูปที่ 2 แสดงห่วงโซ่อาหาร จากพืชเซลล์เดียวที่สังเคราะห์ได้มากในบริเวณปากแม่น้ำ ( ซ้ายมือด้านล่างของรูป ) จนกลายเป็น กุ้ง หอย ปู ปลา เป็ดน้อยและคน ที่มา http://sfbay.wr.usgs.gov/access/ColeCloern/Rates.html


จากรูปที่ 2 เราจะเห็นแพลงก์ตอนพืชเซลล์เดียวที่แสงอาทิตย์สังเคราะห์ได้มากในบริเวณปากแม่น้ำ ( ซ้ายมือด้านล่างของรูป - จริง ๆ แล้วเราจะไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า ) จนกลายเป็นลูกกุ้ง หอย ปู ปลา เป็ดน้อย และคนในที่สุด


นักวิทยาศาสตร์เขาเลือกเอาพื้นที่ต่าง ๆ ของโลกมาศึกษาเพื่อเปรียบเทียบกันว่าบริเวณใดสามารถสังเคราะห์แสงจากดวงอาทิตย์จนให้ผลผลิตที่เรียกว่า " ผลผลิตเบื้องต้น (primary production)" ผลการศึกษาเป็นไปดังรายละเอียดในรูปที่ 3 ซึ่งสรุปได้คร่าว ๆ ดังนี้


 
รูปที่ 3 แสดงผลผลิตเริ่มต้น ( กิโลแครอรีต่อพื้นที่หนึ่งตารางเมตรต่อปี ) ในพื้นที่ต่างๆของโลก ที่มา จากหนังสือ Environmental Science: Living Within the System of Nature , Charles E. Kupchella and Margaret C. Hyland, Prentice Hall International 3 rd ed n ., 1993


นักวิทยาศาสตร์พบว่า บริเวณปากแม่น้ำ (Estuaries) ( ซึ่งลุ่มน้ำปากพนัง ทะเลสาบสงขลา อ่าวปัตตานี อ่าวบ้านดอน และอีกหลายพื้นที่ของประเทศไทยก็จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับปากแม่น้ำ ) สามารถให้ผลผลิตเบื้องต้นสูงที่สุด คือให้ผลผลิตเบื้องต้นเฉลี่ย 24,500 กิโลแคลอรี่ต่อตารางเมตรต่อปี


รองลงมาได้แก่ ป่าพรุเขตร้อน ซึ่งคนไทยส่วนมากคิดว่าป่าพรุไม่มีค่อยจะมีประโยชน์ คือให้ผลผลิตเบื้องต้นถึง 13,500 กิโลแคลอรี่ต่อตารางเมตรต่อปีหรือประมาณครึ่งหนึ่งของบริเวณปากแม่น้ำ


ถัดมาเป็นนาข้าว (9,000 กิโลแคลอรี่ต่อตารางเมตรต่อปี ) ให้ผลผลิตน้อยกว่าป่าพรุเขตร้อนและให้ผลผลิตประมาณเพียง 1 ใน 3 ของบริเวณปากแม่น้ำเท่านั้น


บริเวณที่ให้ผลผลิตต่ำที่สุดคือทะเลทราย (500 กิโลแคลอรี่ต่อตารางเมตรต่อปี ) บริเวณที่ให้ผลผลิตต่ำเป็นอันสองคือมหาสมุทรลึกที่อยู่ไกล ๆ (700 กิโลแคลอรี่ต่อตารางเมตรต่อปี )


จึงเป็นเรื่องน่าขันสำหรับมนุษย์ที่ต้องลงทุนไปจับปลาในที่ไกล ๆ ทั้ง ๆ ที่ปลาน่าจะอยู่บริเวณปากแม่น้ำ แต่มนุษย์ได้ทำลายมันลงไปแล้วโดยไม่รู้สึกตัว


7


 หลังจากมีการปิดคันกั้นน้ำปากพนังเมื่อเดือนตุลาคม 2542 ได้ไม่นาน ผมก็ได้รับทราบว่าน้ำในคลองหัวไทร เชียรใหญ่เน่า บางแห่งทั้งเน่าทั้งเค็ม


ผมได้ข่าวจากชาวบ้านว่าหลังจากมีการเปิดคลองระบายน้ำฉุกเฉินออกสู่ทะเลโดยตรง ทำให้ในคลองมีปลา กุ้งแต้ และปูดำจำนวนมาก ชาวบ้านบางส่วนกำลังลงทุนทำยอ ( ราคาหัวละหมื่นบาท )


ผมเห็นกับตาหลายครั้งว่า เมื่อน้ำในคลองระบายน้ำสายใหม่จากอำเภอชะอวดลงสู่ทะเล ( ใกล้ ๆ ปาก ระวะ ) มีชาวบ้านมาทอดแหจับปลากันนับ 10 ราย ในขณะที่ถัดไปเพียง 500 เมตร คือคลองปากระวะยังคงนิ่งและเงียบเชียบดังหลายปีก่อน


ปรากฏการณ์เหล่านี้พอจะให้ " บทเรียนที่ต้องเรียนรู้ " แก่สังคมไทยอย่างไรบ้างครับ


8


 การศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ ( อีกพวกหนึ่ง )


นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากจึงมุ่งสนใจศึกษาบริเวณปากแม่น้ำต่าง ๆ ในหลายพื้นที่ของโลกเพื่อมาเปรียบเทียบกัน


พบว่าในบริเวณอ่าวซานฟรานซิสโก ( San Francisco Bay ) ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา แม้จะให้ผลผลิตเบื้องต้นสูงกว่าในพื้นที่มหาสมุทรลึก ๆ ถึง 2-3 เท่า แต่ก็ยังให้ผลผลิตเบื้องต้นน้อยกว่าพื้นที่ปากแม่น้ำส่วนอื่น ๆ ของโลกถึง 5-6 เท่าตัว ( ท่านที่สนใจดูรูปที่ 4)




9


ข้อมูลวิชาการ ( กายภาพ )

มีผู้ศึกษาลักษณะทางกายภาพของลุ่มน้ำปากพนัง พอสรุปได้ดังนี้
- ลุ่มน้ำปากพนังมีพื้นที่ 1.7 ล้านไร่ (2,720 ตารางกิโลเมตร )
- เฉพาะแม่น้ำปากพนังมีความยาว 150 กิโลเมตร
- คลองทุกสายในลุ่มน้ำรวมกันยาว 700 กิโลเมตร
- ปริมาตรของแม่น้ำปากพนัง 47 ล้านลูกบาศก์เมตร Suphaphorn Rakkhiaw, http://data.ecology.su.se/mnode/Asia/Thailand/pakphanang/pakphanangbud.htm
- ระยะ 40-90 กิโลเมตรจากเมืองปากพนังความลึกประมาณ 7-10 เมตร
- ในฤดูแล้ง แม่น้ำปากพนังมี water exchange เท่ากับ 12 วัน หมายความว่าถ้าจะให้น้ำในแม่น้ำนี้ไหลออกหมด ( สมมุติไม่มีการไหลเข้าเลย ) ต้องใช้เวลานาน 12 วัน ในขณะที่ฤดูแล้งจะมี water exchange เท่ากับ 14 วัน
- ในฤดูแล้งน้ำเค็มขึ้นไปถึงคลองหัวไทร ซึ่งจะทำให้ผักตบชวา ( ที่แน่นคลองจนเรือผ่านไม่ได้ ) ตายทุกปี นับเป็นการกำจัดผักตบชวาตามธรรมชาติ
- ลำคลองเล็ก ๆ ( ยาวประมาณ 4 กม .) หน้าบ้านผมที่แยกมาจากคลองหัวไทรมีน้ำขึ้นถึง ความสูงของน้ำขึ้น - ลง (Tidal range) ที่นี่ประมาณ 4 – 5 เซนติเมตร ( ที่ผมจำได้ )

10


สรุป


จากข้อมูลที่กล่าวมาแล้ว เราพอจะเปรียบได้ดังนี้ว่า พื้นที่ปากแม่น้ำ 1 ไร่ให้ผลผลิตเบื้องต้นเท่ากับนาข้าว 3 ไร่ กระจูดในป่าพรุ 1 ไร่ให้รายได้มากกว่าสวนยางพารา 1 ไร่

การปิดกั้นปากแม่น้ำก็คือ การทำให้พื้นที่ปากแม่น้ำที่อยู่นอกคันกั้นน้ำกลายเป็นเขตน้ำเ ค็ มล้วนซึ่งสามารถให้ผลผลิตเบื้องต้นเท่ากับเขตไหล่ทวีป ( ลดลงจากเดิม 5 เท่าตัว - ดูรูปที่ 3)


พื้นที่ที่อยู่ในคันกั้นน้ำเค็มก็มีสภาพเน่าเหม็นตามที่กล่าวมาแล้ว ผมไม่ทราบหรอกว่าหน่วยราชการที่รับผิดชอบพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังได้รับทราบข้อมูลที่ผมกล่าวมาแล้วก่อนจะทำโครงการหรือไม่


มาวันนี้เราจะช่วยกันแก้ไขเยียวยาอย่างไร ดีครับ