Skip to main content

ทรานสเจนเดอร์เขย่าอคติทางเพศในวงการวิทยาศาสตร์

คอลัมน์/ชุมชน


ภาพของบาร์รารา บาร์เรส และเบน บาร์เรส
จาก
http://www.msnbc.msn.com/id/13879349/site/newsweek/


 


 


เมื่อปีที่ผ่านมา  มีเรื่องโต้แย้งในวงการวิทยาศาสตร์ของอเมริกาเรื่องหนึ่งที่ร้อนระอุมาก  และเรื่องยิ่งร้อนแรงขึ้นเมื่อมีทรานสเจนเดอร์ผู้ผ่านการแปลงเพศจากหญิงเป็นชายกระโดดเข้ามาร่วมในการโต้แย้งด้วย 


 


เรื่องมีอยู่ว่า  เมื่อเดือนมกราคมปีที่แล้ว  ประธานมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในขณะนั้น  คือ นายลอว์เรนซ์  ซัมเมอร์ส  ได้กล่าวว่า ความแตกต่างของเพศชายเพศหญิงที่มีมาแต่กำเนิด  น่าจะเป็นเหตุผลว่าทำไมจึงมีผู้หญิงจำนวนน้อยนิดที่ประสบความสำเร็จในทางวิทยาศาสตร์   พูดง่าย ๆ ก็คือ  นายซัมเมอร์สคิดว่า  ผู้หญิงน่ะเกิดมาพร้อม ๆ กับความสามารถทางวิทยาศาสตร์ที่ด้อยกว่าผู้ชาย 


 


คำกล่าวของเขาทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านอย่างรุนแรงจากบรรดาอาจารย์ในมหาวิทยาลัยและนักวิทยาศาสตร์หญิงทั้งหลาย  จนเขาเองต้องออกมาขอโทษหลายครั้งหลายหน  และแก้ตัวด้วยการพูดถึงผลกระทบของการเลือกปฏิบัติ  แล้วยังอนุมัติเงิน 50 ล้านเหรียญสหรัฐ  ให้กับโครงการดูแลลูก ๆ และโครงการอื่น ๆ สำหรับผู้หญิงและชนกลุ่มน้อยในมหาวิทยาลัย  แต่เขาก็ไม่สามารถทานกระแสต่อต้านได้  จนต้องลาออกไปเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา


 


เรื่องยังไม่จบด้วยการลาออกของซัมเมอร์ส  เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา  นักวิทยาศาสตร์อีกคนออกมาเขียนความคิดเห็นลงในวารสารวิทยาศาสตร์ Nature เพื่อตอบโต้นายซัมเมอร์ส ว่าจริง ๆ แล้วผู้หญิงไม่ได้อ่อนด้อยทางด้านวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่กำเนิดหรอก  เป็นเพราะอคติต่อผู้หญิงในแวดวงวิทยาศาสตร์ต่างหาก  ที่ปิดกั้นโอกาสก้าวหน้าของผู้หญิง เรื่องนี้จุดประเด็นที่น่าสนใจอย่างมาก  เพราะนักวิทยาศาสตร์คนนี้ยกข้อมูลของตัวเอง  ในฐานะทรานสเจนเดอร์ที่แปลงเพศจากหญิงเป็นชาย  และผ่านประสบการณ์การเป็นนักวิทยาศาสตร์ทั้งหญิงและชายมาแล้ว! 


 


ตอนนี้ชื่อของเขาคือ  ดร. เบน  บาร์เรส (Dr. Ben Barres) ก่อนการแปลงเพศ  เธอคือ ดร. บาร์บาร่า  บาร์เรส (Dr. Barbara Barres) เบน พบว่า จากประสบการณ์ของเขาที่ได้ผ่านทั้งการเป็นหญิงและชาย  ทำให้เขาเห็นชัดแจ้งว่าอคติของคนต่างหากที่เป็นตัวขัดขวางความก้าวหน้าทางอาชีพวิทยาศาสตร์ของผู้หญิง   เขาเองเริ่มการเปลี่ยนเพศเมื่อ 9 ปีที่แล้ว  หลังจากนั้นเขาได้ตระหนักว่าเขาได้รับการยอมรับและความเคารพมากขึ้นในสรีระของผู้ชาย


 


ตัวอย่างหนึ่งก็คือ  เบนไปได้ยินนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งที่ไม่รู้ว่าเบนแปลงเพศ  กล่าวชื่นชมเขาว่า  เบนบรรยายได้ดีมาก ๆ ในการสัมมนาวันนี้  งานของเบนดียิ่งกว่าน้องสาวของเขาเสียอีก  คือนักวิทยาศาสตร์คนนี้คิดว่าบาร์บาร่า บาร์เรส  เป็นน้องสาวของเบน  บาร์เรส 


 


บาร์บาร่าฉายแววการเป็นนักวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่เด็กแล้ว  เธออยากจะเข้าเรียนต่อที่ MIT (Massachusetts Institute of Technology) ซึ่งมีชื่อเสียงด้านวิทยาศาสตร์มาก  แต่ตอนอยู่มัธยมปลาย  ครูแนะแนวบอกกับเธอว่า  "เธอไม่วันเข้าได้หรอก"  ทั้ง ๆ ที่เธอทำคะแนนคณิตศาสตร์ได้อย่างดีเยี่ยมและเป็นหัวหน้าทีมคณิตศาสตร์ของโรงเรียนอีกด้วย   


 


อย่างไรก็ดี  บาร์บาร่าทำตามความฝันของเธอ  โดยการสอบเข้า MIT ได้ในที่สุด  แต่เธอก็ต้องเผชิญกับอคติของอาจารย์ใน MIT อีกจนได้  สมัยเมื่อสามสิบปีก่อนนั้น  MIT ยังมีนักศึกษาหญิงอยู่เพียงแค่ 5% เท่านั้น  วงการวิทยาศาสตร์ก็ยังอยู่ในมือของผู้ชายเป็นส่วนใหญ่  วันหนึ่งอาจารย์ผู้ชายของเธอให้ข้อสอบเป็นโจทย์คณิตศาสตร์ที่ยากมาก  ไม่มีใครแก้ปัญหาได้เลย  ยกเว้น  บาร์บาร่า  แต่ในห้องอาจารย์กลับประกาศว่าไม่มีใครแก้โจทย์ข้อนี้ได้  บาร์บาร่าข้องใจมากจึงเข้าไปถามอาจารย์หลังจากนั้น  อาจารย์กลับตอบว่า  "แฟน (ผู้ชาย) ของเธอแก้โจทย์ให้ล่ะสิ"  ซึ่งเรื่องนี้  เบนกล่าวว่า  ไม่เป็นความจริงแม้แต่น้อย  เพราะ หนึ่ง  เขาไม่เคยมีแฟนผู้ชาย  และสอง เขาเป็นคนแก้โจทย์ได้เอง


 


หลังจากจบจาก MIT แล้ว บาร์บาร่าเรียนต่อด้านแพทยศาสตร์  ที่ดาร์ทเมาท์  และจบปริญญาเอกที่ฮาร์วาร์ด  อีกหนึ่งมหาวิทยาลัยที่มีชื่อ  ปัจจุบัน  เบนเป็นนักวิทยาศาสตร์และอาจารย์ด้านประสาทวิทยา  ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด  ในรัฐแคลิฟอร์เนีย


 


ก่อนหน้านี้เบนไม่เคยคิดว่าเขาได้รับการเลือกปฏิบัติเพราะเป็นผู้หญิง  ข้อนี้เขาบอกว่าคงเป็นความโชคดีที่เขาเป็นทรานสเจนเดอร์  เลยทำให้เขาคิดว่าตัวเองเป็นผู้ชายมากกว่า  แต่หลังจากแปลงเพศ  เขาจึงเห็นความแตกต่างระหว่างการเป็นผู้หญิงและผู้ชายได้อย่างเด่นชัด  ตอนนี้เขาสังเกตว่า  พวกผู้ชายที่ไม่รู้ว่าเขาแปลงเพศให้ความเคารพเขามากกว่าเดิมมาก  เช่น  พวกผู้ชายยอมฟังเขาพูดจนจบประโยคโดยไม่พูดแทรกขึ้นมา  ทั้ง ๆ ที่ตอนที่เขาเป็นผู้หญิงนั้น  เขาจะโดนขัดจังหวะเสมอ ๆ   แม้แต่เรื่องเล็ก ๆ อย่างการไปเดินห้าง เบนก็เห็นว่าตอนนี้พนักงานห้างจะเข้ามาคอยบริการเขามากกว่าแต่ก่อน   การเป็นผู้ชายยังทำให้เขาได้ไปอยู่ในวงสนทนาในเรื่องที่ผู้ชายคงจะไม่พูดต่อหน้าผู้หญิง  เช่น  เบนได้คุยกับหมอศัลยกรรมคนหนึ่งที่กล่าวว่า  เขาไม่เคยพบศัลยแพทย์หญิงคนไหนที่เก่งเท่าผู้ชายเลย


 


เบนกล่าวกับสำนักข่าวเอพีว่า  การที่เขาออกมาตอบโต้ซัมเมอร์สนั้น  "เกิดจากความรู้สึกว่าผมมีหน้าที่ที่ต้องพูด   การแปลงเพศอาจจะเป็นสิ่งที่ยากที่สุดในชีวิตสำหรับหลาย ๆ คน  แต่มันเป็นสิ่งที่ให้อิสรภาพกับเรา  มันทำให้เราหวาดกลัวสิ่งอื่น ๆ น้อยลง"  เบนคิดว่า  กรณีซัมเมอร์สไม่ควรจบลงเร็วเกินไป  เพราะเหตุการณ์นี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์หญิงรุ่นใหม่ได้รับคำกล่าวหาที่แย่ ๆ และอาจปิดโอกาสต่าง ๆ ได้


 


หลังจากที่เบนออกมาตอบโต้แล้ว  ก็จุดประกายให้มีนักวิทยาศาสตร์อื่น ๆ ออกมาแสดงความคิดเห็น  ทั้งเห็นด้วยและขัดแย้งกับเบนอย่างรุนแรง 


 


หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์  รายงานว่า  นักวิทยาศาสตร์หญิงคนหนึ่งที่เห็นด้วยกับเบน  คือ  แนนซี่  แอนเดอร์สัน  จิตแพทย์ชื่อดังจากมหาวิทยาลัยไอโอวา  เธอยกตัวอย่างว่า  เวลาที่เธอและสามีไปยืนเช็คอินที่เคาน์เตอร์สายการบินนั้น  พนักงานจะให้ความเคารพสามีมากกว่าเธอ  และแม้ว่าแอนเดอร์สันจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีความสามารถจนเป็นหนึ่งในผู้หญิงไม่กี่คนที่เคยได้รับรางวัล  National Medal of Science  มาแล้ว  ในวงสนทนากับผู้ชาย  เธอมักถูกมองข้ามเสมอ  ผู้ชายมักจะเข้ามาในวงแล้วทักทายทุกคนยกเว้นเธอ  เธอบอกว่า  ในแวดวงอาชีพนี้ "ผู้ชายไม่ได้ถูกใส่โปรแกรมให้มองเห็นผู้หญิง" 


 


นักวิทยาศาสตร์ที่เห็นต่างจากเบน  ก็เช่น สตีเวน  พิงค์เกอร์  และ  ปีเตอร์  ลอว์เรนส์  ทั้งสองอ้างว่า  มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้  แสดงให้เห็นว่า  ผู้หญิงกับผู้ชายมีความแตกต่างกันด้านความสามารถของสมอง  พิงค์เกอร์  ซึ่งบอกว่าเขาเป็นเฟมินิสต์  โต้เบนว่า  มีการทดลองที่แสดงว่า  ผู้หญิงสามารถทำการคำนวณทางคณิตศาสตร์และการพูดได้ดีกว่าผู้ชาย  ส่วนผู้ชายจะเก่งกว่าด้านการสร้างจินตภาพและการหาเหตุผลทางคณิตศาสตร์  ดังนั้นเขาจึงไม่แปลกใจเลย  ที่ในแวดวงการพัฒนาด้านภาษา  จะมีผู้หญิงมากกว่า  ส่วนด้านวิศวกรรมเครื่องยนต์แล้ว  จะมีผู้ชายมากกว่า


 


ส่วนลอว์เรนส์  บอกว่า  ดูจะเป็นยูโทเปียไปหน่อยที่  เราจะคิดว่า  วันหนึ่ง  จะมีผู้หญิงและผู้ชายจำนวนเท่าๆ กันในทุกๆ งาน  รวมทั้งในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ด้วย


 


ทางเบนก็โต้กลับออกมาเช่นกัน  เบนและอลิซาเบธ  สเปลกี้  นักจิตวิทยาหญิงจากฮาร์วาร์ด  ออกมายอมรับว่า  เพศชายและหญิงนั้นมีความแตกต่างกัน  โดยเฉพาะในเด็ก ๆ  แต่ว่าบางทีความแตกต่างนั้นก็เกิดจากบรรดาผู้ใหญ่ที่ตีความพฤติกรรมของเด็กด้วยอคติทางเพศ  การจะแยกธรรมชาติออกจากการเลี้ยงดูนั้นยากมาก 


 


เบนบอกว่า  การที่ใครทำแบบทดสอบไอคิวได้ดีกว่า  ไม่ได้หมายความว่าคน ๆ นั้น  ฉลาดกว่ามาแต่กำเนิด ใครก็ตามที่เรียนหนักกว่าก็ย่อมจะได้คะแนนดีกว่าเป็นธรรมดา  ดูตัวอย่าง  เด็กเอเชี่ยนอเมริกันที่เป็นผู้หญิงเป็นต้น  เด็กกลุ่มนี้ทำคะแนนคณิตศาสตร์ได้ดีกว่าเด็กผู้ชายอเมริกัน  แต่ไม่มีใครออกมาบอกว่า  เด็กเอเชี่ยนอเมริกันผู้หญิงเก่งกว่ามาแต่กำเนิด


 


ปีที่แล้วสเปลกี้  โต้ซัมเมอร์สว่า  ถ้าบอกว่าความแตกต่างที่มีมาแต่กำเนิดเป็นปัจจัยต่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์อย่างที่ซัมเมอร์สว่าแล้ว  เราจะอธิบายยุคที่ผ่านมาได้อย่างไร   สองศตวรรษที่แล้ว  เราไม่เห็นคนจีนหรือคนอินเดียในแวดวงวิทยาศาสตร์เลย  ถ้าเราใช้เหตุผลของซัมเมอร์ส  เราคงจะต้องบอกว่า  ยีนของคนยุโรปน่ะ  เป็นตัวทำให้นักวิทยาศาสตร์ผิวขาวเก่งคณิตศาสตร์กว่าชาวเอเชีย


 


เรื่องนี้คงยังไม่จบลงง่าย ๆ  แต่ละฝ่ายคงต้องหาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาสนับสนุนและโต้เถียงอย่างเผ็ดร้อนกันต่อไปอีกนาน   แต่ที่น่าสนใจในเรื่องนี้คือ  ประสบการณ์การเคยเป็นคนทั้งสองเพศของเบน  ที่ทำให้เขาได้ตระหนักถึงอคติทางเพศได้อย่างชัดเจนมากขึ้น 


 


ต้องขอขอบคุณทรานสเจนเดอร์อย่างเบน  ที่ทำให้โลกได้เห็นแง่มุมที่แตกต่างหลากหลาย  พร้อม ๆ ไปกับการสั่นคลอนอคติทางเพศซึ่งไม่เป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้หญิงและผู้ชาย