Skip to main content

ร่วมใจปั่นจักรยาน ศึกษาประวัติวัดในเมืองเชียงราย

คอลัมน์/ชุมชน

คุณผ่องพรรณ  ตันกุละ ได้รายงานกิจกรรมอันเป็นมงคลในช่วงเข้าพรรษา อย่างน่าชื่นชม ดังนี้ค่ะ


 



 


"ท้องฟ้ามืดครึ้ม ฝนตกลงมาปรอย ๆ ในเช้าวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๔๙  เมื่อเยาวชนและแกนนำชุมชนรอบวัดในตัวเมืองเชียงรายสี่ชุมชน ได้แก่ ชุมชนรอบวัดพระแก้ว ชุมชนเกาะลอย ชุมชนฮ่องลี่ และชุมชนป่างิ้ว ชุมชนละ ๓๐ คน รวมเป็น ๑๒๐ คน นั้น มารวมตัวกันที่ลานหลังอนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งราย โดยทุกคนปั่นจักรยานมาจากที่บ้านของตนและสวมใส่เสื้อสีเหลืองมีข้อความติดด้านหลังว่า "เรารักในหลวง"


 


นับเป็นภาพที่ดูแล้วประทับใจยิ่ง ที่คนไทยทั่วทุกภาคของประเทศไทยร่วมใจกันสวมใส่เสื้อสีเหลืองและจัดกิจกรรมต่างๆ ขึ้นเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี


 


กิจกรรมปั่นจักรยานพบพระในจังหวัดเชียงราย เป็นกิจกรรมของมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขาร่วมกับสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงราย ที่รณรงค์ให้สมาชิกในชุมชนใช้วันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันของครอบครัว ได้เข้าวัดเพื่อศึกษาและปฏิบัติธรรมร่วมกัน


 



 


เริ่มต้นด้วยการไหว้อนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งราย ถ่ายภาพร่วมกันเพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึก และก่อนออกปั่นจักรยาน ทุกคนได้มารับแซนวิชทูน่ากับน้ำดื่มหนึ่งขวด ที่เจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขาเตรียมไว้ให้เพื่อรองท้อง เนื่องจากว่าทุกคนออกบ้านกันตั้งแต่เช้า จึงไม่ได้ทานอาหารเช้า แล้วเริ่มสตาร์ทจากอนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งราย ตรงไปยังวัดพระสิงห์ ซึ่งเป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ ตั้งอยู่ที่ ถนนสิงหไคล ตำบลเวียง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย


 


ขบวนจักรยานที่มีทั้งเด็กเล็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่วัยกลางคน และผู้สูงอายุ ปั่นจักรยานตามกันไปเป็นแถว แสดงถึงพลังอันยิ่งใหญ่ ที่จะร่วมกันทำความดี  ผู้ปกครองบางท่านได้พาลูกน้อยซึ่งยังไม่สามารถขี่จักรยานเองได้นั่งซ้อนท้าย เป็นภาพที่หาดูได้ยากในสังคมปัจจุบัน


 


เมื่อมาถึงลานวัดพระสิงห์ ทุกคนก็จัดแจงจอดจักรยานให้เป็นระเบียบ แล้วพากันเข้าไปในพระอุโบสถเพื่อกราบพระประธาน พระราชสิทธินายก เจ้าอาวาสวัดพระสิงห์และเจ้าคณะจังหวัดเชียงรายได้มอบหมายให้พระมหาศรีบุญแสง สิริบุญโญ และพระมหากุศล ปัญญาธีโร มาบรรยายถึงประวัติของวัดพระสิงห์ โดยวิธีการบรรยายของพระทั้ง ๒ รูป เป็นวิธีการแบบใหม่ มีการทำวีซีดีบันทึกภาพสถานที่สำคัญในวัด อาทิเช่น พระอุโบสถ โรงเรียนปริยัติธรรม เจดีย์ และต้นไม้ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เช่นต้นโพธิ์ และดอกสาละ


 


การบรรยายเริ่มด้วยวีซีดีบันทึกภาพพระราชสิทธินายก เจ้าอาวาสวัดพระสิงห์กล่าวต้อนรับผู้ที่มาเยี่ยมชมวัดพระสิงห์ ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ คู่บ้านคู่เมืองเชียงราย


 


จากนั้นก็เป็นการบรรยายถึงประวัติของวัดพระสิงห์ ซึ่งสันนิษฐานกันว่าวัดพระสิงห์สร้างขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๑๙๒๘ ในรัชสมัยของพระเจ้ามหาพรหม ซึ่งมาครองเมืองเชียงรายระหว่างปี พ.ศ.๑๘๘๘ ถึง พ.ศ. ๑๙๔๓


 


ความสำคัญที่เป็นที่มาของชื่อวัดพระสิงห์ เชื่อว่าน่าจะเป็นเพราะเคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปที่สำคัญคู่บ้านคู่เมืองของไทย คือ พระพุทธสิหิงค์


 


พระพุทธสิหิงค์หรือที่เรียกกันในชื่อสามัญว่าวัดพระสิงห์ ดั่งมีหลักฐานปรากฏในสิหิงคนิทาน บันทึกไว้ว่าสร้างขึ้นเมื่อราวปี พ.ศ. ๗๐๐ ในประเทศลังกาหรือศรีลังกาในปัจจุบันและประดิษฐานอยู่ที่ประเทศลังกา ๑,๑๕๐ ปี จากนั้นได้ถูกอัญเชิญมาประดิษฐานในราชอาณาจักรไทย ตามลำดับดังนี้ พ.ศ. ๑๘๕๐ ประดิษฐานที่กรุงสุโขทัย   ๗๐  ปี ที่พิษณุโลก   ปี ที่กรุงศรีอยุธยา    ปี  ที่กำแพงเพชร   ปี  ที่เชียงราย    ๒๐  ปี  ที่เชียงใหม่   ๒๕๕  ปี  ที่กรุงศรีอยุธยา ๑๐๕ ปี  ที่เชียงใหม่   ๒๘   ปี  พ.ศ. ๒๓๓๘ – ปัจจุบัน   ประดิษฐานที่กรุงเทพ ฯ


 



 


ปัจจุบันวัดพระสิงห์ เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธสิหิงค์หรือพระสิงห์จำลอง ศิลปะเชียงแสนปางมารวิชัย ชนิดสัมฤทธิ์ปิดทอง


 


นอกจากนี้ภายในวัดพระสิงห์ยังมีสถานที่สำคัญ ๆ เช่น พระอุโบสถ ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมล้านนาไทยสมัยเชียงแสน ปลูกสร้างทำด้วยไม้เนื้อแข็ง สันนิษฐานกันว่าสร้างขึ้นเมื่อราวจุลศักราช ๑๒๕๑ – ๑๒๕๒ หรือปีพุทธศักราช ๒๔๓๒ – ๒๔๓๓ ต่อมามีการบูรณปฏิสังขรณ์อีก ๒ ครั้ง คือ ปีพุทธศักราช ๒๕๐๔ และปีพุทธศักราช ๒๕๐๓ ปัจจุบันพระอุโบสถวัดพระสิงห์มีอายุ ๑๑๑ ปี


 


พระประธานในพระอุโบสถของวัดพระสิงห์ เป็นพระพุทธรูปศิลปะเชียงแสน สิงห์ ๑ เนื้อสัมฤทธิ์ปิดทอง ปางมารวิชัย สร้างขึ้นในสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐาน


 


พระเจดีย์สถาปัตยกรรมแบบล้านนาไทย เชื่อว่าสร้างขึ้นในสมัยเดียวกันกับพระอุโบสถและมีการบูรณะใหม่ในปีพุทธศักราช ๒๔๙๒ และบูรณะอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ.๒๕๓๓ เดิมทาสีขาวปัจจุบันทาสีทองที่ดูเด่นเป็นสง่า ประดิษฐานอยู่ทางทิศตะวันตกชิดด้านหลังของพระอุโบสถ


 


พระพุทธบาทจำลอง จำหลักบนแผ่นศิลาทราย มีขนาดกว้าง ๖๐ เซนติเมตร ยาว ๑๕๐ เซนติเมตร ปราชญ์บางท่านสันนิษฐานว่าน่าจะมีมาแต่สมัยพ่อขุนเม็งรายมหาราช ปฐมกษัตริย์ แห่งล้านนาไทย


 


หอระฆังของวัดพระสิงห์ เป็นสถาปัตยกรรมล้านนาไทยร่วมสมัยแบบประยุกต์ สร้างขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๑๙ มีระฆังเป็นแบบใบระกาหล่อด้วยทองเหลืองทั้งแท่ง ซึ่งหาดูได้ยากมากในปัจจุบัน ขุดพบบริเวณวัดพระสิงห์เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๓๘ ปัจจุบันชั้นล่างของหอระฆังใช้เป็นหอกลอง


 


ต้นพระศรีมหาโพธิ์ เป็นต้นไม้มงคลในพระพุทธศาสนา คือ เป็นต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าประทับนั่งตรัสรู้ เมื่อวันเพ็ญเดือนวิสาขะ โดยพลโทอัมพร  จิตกานนท์ นำมาจากพุทธคยา ประเทศอินเดีย  ปลูกไว้ ณ วัดพระสิงห์ เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ปีพุทธศักราช ๒๕๐๖


 


ต้นสาละลังกา เป็นไม้มงคลในพระพุทธศาสนา ที่พระพุทธเจ้าเสด็จสำเร็จสีหไสยาสเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพมหานคร นำมาจากประเทศศรีลังกา แล้วนำมาปลูกไว้ที่วัดพระสิงห์เมื่อ ปีพุทธศักราช ๒๕๑๒


 


พระราชสิทธินายกดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดพระสิงห์ตั้งแต่ ปีพุทธศักราช ๒๕๒๓ ท่านได้สร้างสิ่งที่มีความสำคัญยิ่งต่อวัดพระสิงห์ คือ การทำให้วัดพระสิงห์ได้รับการยกฐานะจากวัดราษฎร์ขึ้นเป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ  ในปีพุทธศักราช ๒๕๓๖ เป็นที่เชิดหน้าชูตาของชาวจังหวัดเชียงราย


 


วัดพระสิงห์มีความครบทุกสิ่งทุกอย่างทั้งด้านปริยัติ ด้านปฏิบัติ ด้านปริยัติก็มีการเรียนพระปริยัติธรรมตั้งแต่ พระธรรม ตรี โท เอก ตั้งแต่ไวยากรณ์จนถึงเปรียญธรรม ๙ ประโยค และการสอนภาษาล้านนาไทยแก่ภิกษุสามเณร นอกจากนั้นวัดพระสิงห์ได้อำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการสืบชาตาเมืองเชียงราย ทำให้เมืองเชียงราย มีความเจริญก้าวหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่สมเด็จย่าเสด็จและเลือกเชียงรายเป็นบ้านหลังสุดท้ายของพระองค์ท่าน จึงทรงโปรดให้มีการสร้างพระตำหนักขึ้นที่ดอยตุง


 


หลวงพ่อพระราชสิทธินายก ยังได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา โบราณสถานและโบราณวัตถุของวัดพระสิงห์ ให้คงดูสง่าสวยงาม เป็นที่ชื่นตาชื่นใจของพุทธศาสนิกชน  อาทิเช่น การจัดสร้างบานประตูพระอุโบสถ การวาดภาพพุทธประวัติพระเจ้าสิบชาติ ภายในพระอุโบสถเพื่อเป็นคติสอนใจให้กับพุทธบริษัทที่เป็นชาวพุทธทั้งหลาย การเก็บรักษาพระธรรมมาส สมัชรัชกาลที่ ๖ ซึ่งเป็นพระธรรมมาสที่สวยงามควรค่าต่อการเก็บรักษาไว้ และการเก็บรักษาพระคัมภีร์อักขระใบลาน โดยได้จัดเป็นหมวดหมู่ ง่ายต่อการเก็บรักษาและค้นคว้า โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่


 


วัดพระสิงห์ได้เผยแพร่ศาสนาให้กับพุทธบริษัท เนื่องในวันสำคัญต่าง ๆ ได้แก่ การจัดกิจกรรมทำบุญตักบาตร  แสดงพระธรรมเทศนาพื้นเมืองแบบล้านนาโบราณ ภายในวัดพระสิงห์ทุกวันธรรมสวนะ มีเทศกาลที่สำคัญ ๆ เช่น การตักบาตรเทโวโรหณะ และงานกฐินพระราชทานจากองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบัน


 


หลังจากชมวีดีทัศน์ประวัติความเป็นมาและสถานที่สำคัญในวัดพระสิงห์จบแล้ว พระสงฆ์ ได้ให้พรแก่คณะปั่นจักรยานและเชิญชวนให้ทัศนศึกษารอบ ๆ บริเวณวัด ซึ่งมีต้นไม้สำคัญในพระพุทธศาสนา ได้แก่ ต้นสาละที่กำลังออกดอก ด้านหลังพระอุโบสถ ต้นศรีมหาโพธิ์ หอระฆังและโรงเรียนปริยัติธรรมซึ่งพระกำลังสอนหนังสือให้กับเด็กที่เข้าร่วมโครงการพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์


 


เมื่อเดินดูสิ่งสำคัญในวัดพระสิงห์ครบทุกจุดแล้ว ก็กลับมารวมกันที่ลานวัด แล้วได้ปั่นจักรยานต่อไปยังวัดพระแก้ว ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากวัดพระสิงห์มากนัก


           


วัดพระแก้ว อยู่ใจกลางเมืองเชียงราย ที่ถนนไตรรัตน์ อยู่ในเขตเทศบาลนครเชียงราย เป็นที่ค้นพบพระแก้วมรกตหรือพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร เมื่อปี พ.ศ. ๑๘๗๙ ปัจจุบันเป็นที่ประดิษฐาน "พระหยก" ซึ่งสร้างขึ้นใหม่ในวาระครบ ๙๐ พรรษา ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี อาณาบริเวณโดยรอบวัดพระแก้วเต็มไปด้วยไม้เยี๊ยะ ซึ่งเป็นไม้ไผ่ประเภทหนึ่ง ลำต้นมีสีเหลือง ลักษณะต้นเรียวยาว ปลูกไว้ข้างทางขึ้นไปพระอุโบสถและอาคารสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ ซึ่งเป็นจุดที่คณะปั่นจักรยานเข้าไปกราบพระประธานในอาคารสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ และเข้าพบพระครูพิพัฒน์รัตนพงศ์   ซึ่งเป็นตัวแทนท่านเจ้าอาวาสวัดพระแก้ว


 


พระครูพิพัฒน์เริ่มต้นโดยนำญาติโยมสวดมนต์ร่วมกัน แล้วเล่าประวัติวัดพระแก้วให้ฟังดังนี้


 


"เมื่อปี พ.ศ. ๑๘๙๗  ในสมัย พระเจ้าสามฝั่งแกนเป็นเจ้าเมืองครองเชียงใหม่นั้น ฟ้าได้ผ่าเจดีย์ร้างองค์หนึ่ง และได้พบพระพุทธรูปลงรักปิดทอง อยู่ภายในเจดีย์ ต่อมารักกะเทาะออก จึงได้พบว่าเป็นพระพุทธรูปสีเขียวที่สร้างด้วยหยก ซึ่งก็คือ พระแก้วมรกตนั่นเอง


 


วัดพระแก้ว ได้ทำงานร่วมกับบุคคลหลายระดับ ทั้งเด็กนักเรียน เยาวชน และประชาชนในเขตเทศบาล เนื่องจากเป็นที่ประดิษฐานของพระแก้วมรกตก่อนที่จะถูกอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ วัดพระแก้วที่กรุงเทพ ฯ ทั้งยังมีประชาชนจากทุกสารทิศทั้งชาวไทยและต่างประเทศ เดินทางมาศึกษาดูงานทุกวัน ท่านจึงได้เป็นผู้บรรยายถึงประวัติความเป็นมาของวัด ให้กับผู้ที่มาศึกษาดูงานจากจังหวัดต่าง ๆ เสมอ


 


ข้อเตือนสติในการมาวัดพระแก้วแก่พุทธศาสนิกชนที่มาเยี่ยมชมวัดว่า


๑.อย่าเป็นคนหูเบา ท่านได้อธิบายว่า เมื่อได้ยินได้ฟังอะไรมาอย่าได้เชื่อทั้งหมด จนกว่าจะได้เห็นหรือได้ฟังจากผู้ที่รู้จริง


 ๒.อย่าตื่นข่าวมงคล  คือ เมื่อมีใครเห็นสิ่งประหลาดที่ไหน อย่าตื่นตระหนกไปกับเขา


 ๓.อย่าเอาตัวบุคคลเป็นตัวศาสนา คือการเคารพ เลื่อมใส และศรัทธาในตัวบุคคล อย่าถือเอาเทียบเท่ากับเคารพศาสนา เช่น เคารพพระสงฆ์ เพราะพระสงฆ์บางรูปก็มิได้ศีลปฏิบัติที่ดีควรแก่การเคารพบูชา


๔.อย่าวิจารณ์ โดยไม่ผ่านการวิเคราะห์ คือการไม่วิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่น หรือเรื่องต่าง ๆ ที่ได้ยินมา จนกว่าจะมีการวิเคราะห์เรื่องดังกล่าวอย่างละเอียดเสียก่อน"


 


ในช่วงท้ายของการบรรยาย พระครูพิพัฒน์ได้นำคณะแผ่เมตตาให้แด่เจ้ากรรมนายเวร และสวดมนต์ร่วมกันอีกครั้ง แล้วได้มอบพระเชียงแสนสิงห์ ๑ ให้กับคณะคนละหนึ่งองค์ เป็นพระองค์เล็กสำหรับห้อยคอ


 



 


กราบลาพระครูพิพัฒน์แล้ว คณะก็พากันไปขี่จักรยานเพื่อไปวัดเชียงยืนเป็นวัดสุดท้าย ซึ่งตั้งอยู่ที่ ถนนสันโค้งหลวง ตำบลเวียง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ชาวบ้านเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า วัดสันโค้งหลวง นับว่าเป็นวัดที่เก่าแก่ เริ่มสร้างเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๑๐ ตรงกับปีจุลศักราช ๑๒๒๘ ได้รับอนุญาตจัดตั้งเป็นวัดที่ถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๒๒ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ปีพุทธศักราช ๒๔๘๙


 


เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๗๐ ท่านครูบาศรีวิชัย สิริวิชโย นักบุญแห่งล้านนาได้เดินทางมาพักที่วัดเชียงยืน หลังจากท่านครูบาได้เดินทางกลับจากการไปบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระธาตุเจ้าดอยตุง  และได้ทำการบรรพชาให้แก่เด็กชายคำหล้า สุภายศ และต่อมาสามเณรคำหล้าได้เป็นครูบาอีกรูปหนึ่ง ชื่อว่า "ครูบาคำหล้า  สํวโธ" เพราะได้ปฏิบัติตามครูบาศรีวิชัย


 


ท่านคำหล้าได้ริเริ่มชักชวนคณะศรัทธาผู้ใจบุญทั้งหลายก่อสร้างเจดีย์ขึ้นหนึ่งองค์ ตั้งอยู่ด้านหลังวิหาร(พระอุโบสถ) วัดเชียงยืน  ภายหลังเจดีย์ทรุดโทรมจึงได้มีการบูรณะขึ้นมาใหม่ เป็นองค์ที่ตั้งอยู่ปัจจุบัน


 



 


เมื่อพระบุญฤทธิ์ ปภาโต เล่าประวัติวัดแล้ว ท่านได้นำคณะสวดมนต์ นั่งสมาธิ จากนั้นจึงกล่าวคำแผ่เมตตาขอให้ในหลวงหายจากพระประชวร มีพระวรกายที่แข็งแรง สมบูรณ์โดยเร็ว  จากนั้นคณะจึงกราบลาพระสงฆ์ เนื่องจากถึงเวลาที่ท่านต้องฉันเพลแล้ว


 


กิจกรรมนี้ทำให้รู้ว่าการที่เราไปวัดเพื่อทำบุญอย่างเดียว ไม่ทำให้เรารู้จักวัดได้ดีเท่ากับการเข้าไปกราบพระและขอให้ท่านช่วยเล่าประวัติความเป็นมาของวัดให้ฟัง  จากการที่ได้ไปฟังประวัติความเป็นมาของวัดในอำเภอเมือง เชียงราย ทั้งสามวัดนั้น สร้างความภาคภูมิใจ และประทับใจยิ่งนัก ในสถาปัตยกรรมแบบล้านนาที่มีความงดงาม ซึ่งหาดูได้ไม่ยากตามวัดในภาคเหนือของประเทศไทยเรา


 


ขอให้ทุกคนช่วยกันทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา โบราณสถาน โบราณวัตถุ ให้คงคุณค่า และคงอยู่คู่บ้านคู่เมืองของไทยสืบไปนานเท่านาน"


 


ภาพโดยมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา