Skip to main content

การเสริมสร้างพลังทางศีลธรรมในสังคมไทย (๔)

คอลัมน์/ชุมชน

เสริมสร้างพลังทางศีลธรรมอย่างรอบด้าน


 


การเสริมสร้างพลังทางศีลธรรมในสังคมจะเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง จะต้องมีการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้าน วิถีชีวิต สภาพแวดล้อม และระบบความสัมพันธ์ทางสังคมเพื่อให้เกื้อกูลต่อศีลธรรม  โดยมีมาตรการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้


 


๑. เสริมสร้างสายสัมพันธ์ในครอบครัว


 


การส่งเสริมให้พ่อแม่มีเวลาอยู่กับลูกมากขึ้น เป็นสิ่งสำคัญประการแรก  ความรักของพ่อแม่นั้นเป็นปัจจัยเบื้องต้นในการสร้างพื้นจิตที่ดีงามให้แก่เด็ก  เด็กที่ได้สัมผัสกับความรักของพ่อแม่ย่อมมีจิตใจอ่อนโยน อบอุ่น และเป็นสุข อันเป็นภาวะที่เอื้อต่อการทำความดี  แต่ความรักนั้นกับเวลาเป็นของคู่กัน  ความรักของพ่อแม่นั้นลูกจะประจักษ์ได้อย่างเต็มหัวใจก็ต่อเมื่อพ่อแม่ยอมสละเวลาให้แก่ลูก   มิใช่ให้แต่เงินหรือวัตถุเท่านั้น


 


ประการต่อมาก็คือการส่งเสริมให้พ่อแม่มีความสามารถในการฝึกฝนกล่อมเกลาลูก ให้รู้จักคิด ใฝ่รู้ และมีจิตสำนึกที่ดีงาม   ปัจจุบันพ่อแม่มีความสามารถทางด้านนี้น้อยมาก  นอกจากเพราะไม่มีเวลาเรียนรู้แล้ว ยังเป็นเพราะเห็นว่าหน้าที่ดังกล่าวเป็นของครู  การนำบทบาททางการศึกษากลับมาสู่พ่อแม่แม้จะไม่ทั้งหมด จะช่วยฟื้นฟูความสัมพันธ์ภายในครอบครัวให้เข้มแข็งขึ้น


 


จะทำเช่นนั้นได้ นอกจากแต่ละครอบครัวจะต้องช่วยตัวเองแล้ว  ควรมีกลไกสนับสนุนความเข้มแข็งของครอบครัวด้วย   เช่น การจัดตั้งเครือข่ายครอบครัวเพื่อช่วยเหลือกัน ทั้งด้านการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์  และแม้แต่การช่วยดูแลลูกให้แก่กันและกันในบางโอกาส  เครือข่ายดังกล่าวอาจเกิดขึ้นตามละแวกบ้านหรือพื้นที่ใกล้เคียงกัน หรือเกิดขึ้นในหมู่พ่อแม่ที่มีความคิดเห็นคล้ายกัน


 


นอกจากนั้นควรรณรงค์ให้มีกฎหมายที่เอื้อให้พ่อแม่มีเวลาอยู่กับลูกมากขึ้น เช่นสามารถลางานมาดูแลลูกได้มากขึ้น หรือยอมให้พ่อแม่นำลูกมาเลี้ยงในที่ทำงานได้   ตลอดจนการส่งเสริมให้มีพื้นที่สาธารณะหรือกิจกรรมสำหรับการเรียนรู้ของครอบครัวมากขึ้น   ปัจจุบันเริ่มมีบ้างแล้วเช่น  พิพิธภัณฑ์เด็ก ช่องรายการโทรทัศน์สำหรับครอบครัว  แต่ควรมีให้มากขึ้นและแพร่หลายยิ่งกว่าเดิม


 


๒. ฟื้นฟูชุมชนให้เข้มแข็ง


 


แม้ชุมชนจะอ่อนแอลงไปมากแล้ว ไม่เว้นแม้แต่ชนบท  แต่ก็ยังมีศักยภาพที่จะฟื้นฟูส่งเสริมศีลธรรมของผู้คนภายในชุมชนได้  มีหลายชุมชนที่เมื่อมีการหันหน้ามาร่วมมือกัน ปรากฏว่าสามารถลดปัญหาภายในชุมชนลงไปได้มาก  เช่น อบายมุข ไม่ว่าการพนันหรือการกินเหล้าลดลง  วัยรุ่นลดการมั่วสุม  และทะเลาะกันน้อยลง  ครอบครัวประพฤติดีต่อกันมากขึ้น  ใช้ความรุนแรงน้อยลง   นอกจากนั้นสภาพความเป็นอยู่ในชุมชนก็ดีขึ้น เนื่องจากมีการร่วมมือดูแลรักษาสภาพแวดล้อมและทรัพยากรสาธารณะ  มีการพัฒนาชุมชนร่วมกัน


 


แน่นอนว่าชุมชนเหล่านี้มาร่วมมือกันได้ มิใช่เพราะมีพระหรือข้าราชการมาเทศน์มาสอนให้สามัคคีกัน  แต่เกิดจากการมีส่วนร่วมในกระบวนการกลุ่ม ซึ่งมีหลายลักษณะ  เช่น  มาในรูปโครงการสัจจะสะสมทรัพย์ โดยการนำของพระสุบิน ปณีโต   การได้ทำงานร่วมกันและเห็นผลสำเร็จที่มิอาจทำได้ด้วยตัวคนเดียว ทำให้ชาวบ้านเห็นคุณค่าของการร่วมมือกัน และเกิดความไว้วางใจกันมากขึ้น  กระบวนการกลุ่มบางครั้งก็มาในลักษณะของการจัดเวทีชุมชน โดยมีแกนนำชาวบ้านเป็นผู้ดำเนินการ ทำให้มีการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนความเห็นร่วมกัน  ดังที่คณะครอบครัวรักลูก ได้ริเริ่มใน ๘ จังหวัด   ซึ่งนอกจากจะสานสัมพันธ์ในชุมชนให้แน่นแฟ้นขึ้นแล้ว การฟื้นฟูวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ยังทำให้ชาวบ้านมีความภูมิใจในตนเองมากขึ้น ซึ่งช่วยให้ชุมชนมีชีวิตชีวาและความเข้มแข็งขึ้นกว่าแต่ก่อน


 


ประสบการณ์ของคณะครอบครัวรักลูก ยังชี้ให้เห็นอีกว่า  ชุมชนนั้นมีส่วนอย่างมากในการช่วยให้ครอบครัวเข้มแข็งขึ้น   เพราะชุมชนที่สามัคคีกัน จะเข้ามาช่วยให้คำแนะนำแก่ครอบครัวที่มีปัญหา หรือช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งภายในครอบครัว รวมทั้งใส่ใจดูแลเด็ก ๆ ในชุมชนด้วย   นอกจากนั้นบรรยากาศที่สงบสุขและเกื้อกูลกันภายในชุมชน ก็ช่วยกล่อมเกลาให้เด็กและผู้ใหญ่ประพฤติตนอยู่ในศีลธรรมกันมากขึ้น   ดังนั้นในการสร้างสายสัมพันธ์ในครอบครัวให้แน่นแฟ้นโดยเฉพาะในชนบท   การฟื้นฟูชุมชนให้เข้มแข็ง ตลอดจนการส่งเสริมให้ชุมชนมีบทบาทในการช่วยเหลือครอบครัว  เป็นปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่ง


 


ดังได้กล่าวแล้วว่ากระบวนการกลุ่มมีความสำคัญมากในการช่วยให้ชุมชนเข้มแข็ง  ดังนั้นจึงควรส่งเสริมให้เกิดกระบวนการกลุ่มขึ้นในชุมชน ตามสภาพของชุมชน โดยให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมมากที่สุด โดยเฉพาะในการจัดการดูแลสิ่งที่มีผลกระทบต่อชาวบ้านโดยตรง ไม่ว่าด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรชุมชน สุขภาพ การศึกษา สิ่งนี้มีความสำคัญต่อชุมชนยิ่งกว่าการส่งเงินหรือสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ มาให้ ซึ่งอาจทำให้ชาวบ้านแตกแยกกันหนักกว่าเดิม หรือเกิดนิสัยพึ่งพารัฐ ยิ่งกว่าจะหันหน้ามาร่วมมือกัน


 


๓. ฟื้นฟูบทบาทของวัดและคณะสงฆ์


 


พลังทางศีลธรรมของวัดนั้นอยู่ที่ปฏิปทาหรือวิถีชีวิตของพระภิกษุสงฆ์เป็นประการแรก  แม้ท่านจะไม่ได้ทำอะไรเลย  แต่เพียงแค่วิถีชีวิตที่สมถะ เรียบง่าย สงบ และผ่องใสของท่านก็สามารถเป็นแบบอย่างให้ผู้คนอยากเจริญรอยตาม หรือเกิดแรงบันดาลใจอยากทำความดี  อย่างน้อย ๆ ก็ได้คิดว่าความสุขนั้นมิได้อยู่ที่วัตถุ หากอยู่ที่จิตใจเป็นสำคัญ    และยิ่งท่านมีบทบาทมากกว่านั้น ในทางเอื้อเฟื้อเกื้อกูลเพื่อนมนุษย์  ช่วยเหลือชุมชน หรือประกาศธรรมแก่มหาชน   การกระทำและคำพูดของท่านก็จะมีพลังในทางศีลธรรมมากขึ้น  และก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสำนึกและพฤติกรรมของผู้คนไม่มากก็น้อย


 


ปัจจุบันระบบต่าง ๆ ของคณะสงฆ์ ไม่เอื้อให้เกิดพระภิกษุสงฆ์ที่ใฝ่ในวัตรปฏิบัติดังกล่าว  ระบบการปกครองของคณะสงฆ์  นอกจากจะความล้มเหลวในการส่งเสริมพระดีแล้ว ยังทำให้พระสนใจในเรื่องลาภยศสรรเสริญมากขึ้น  การรวมศูนย์อำนาจคณะสงฆ์ มาอยู่ในมือของมหาเถรสมาคม (ซึ่งจะทำงานได้ต่อเมื่อมาประชุมเดือนละ ๒-๓ ครั้ง และประกอบด้วยพระภิกษุทรงสมณศักดิ์ที่ส่วนใหญ่มีอายุมากกว่า ๗๐ ปีขึ้นไป)นอกจากจะทำให้การปกครองเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพแล้ว ยังส่งเสริมให้เกิดการวิ่งเต้น  ระบบเส้นสาย และการแบ่งพรรคแบ่งพวก อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน   ขณะเดียวกันระบบการศึกษาของคณะสงฆ์ ก็ไม่สามารถทำให้พระภิกษุสงฆ์มีความรู้ทั้งทางธรรมและทางโลกดีพอ ที่จะสื่อธรรมให้ผู้คนเกิดความซาบซึ้งแจ่มชัดจนเห็นภัยของบริโภคนิยมหรืออำนาจนิยม และหันมาดำเนินชีวิตตามวิถีพุทธ  ยิ่งการศึกษาเพื่อฝึกฝนตนให้มีความสุขภายในพึงพอใจกับชีวิตที่เรียบง่าย และสามารถแก้ทุกข์ให้แก่ตนเองได้ อีกทั้งมีเมตตากรุณาปรารถนาที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลมนุษย์ผู้ทุกข์ยาก อย่างรู้เท่าทันสังคมสมัยใหม่ด้วยแล้ว   แทบจะไม่มีเอาเลย  ผลก็คือคณะสงฆ์ปัจจุบันไร้ซึ่งพลังทางปัญญา ศีลธรรม และศาสนธรรม


 


การจะส่งเสริมให้คณะสงฆ์เปี่ยมด้วยพลังทางปัญญา ศีลธรรม และศาสนธรรม นั้นจะต้องมีการปฏิรูปการปกครองและการศึกษาของคณะสงฆ์อย่างจริงจัง  อย่างน้อยก็ควรมีการกระจายอำนาจเพื่อให้การปกครองเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ   ใช้อำนาจน้อยลง แต่ใช้ปัญญาและคุณธรรมมากขึ้น เพื่อส่งเสริมพระดีอย่างจริงจัง  มีการศึกษาทางธรรมและทางโลกอย่างสมสมัย ชนิดที่ช่วยให้พระสงฆ์รู้จักคิด มิใช่ถนัดท่องจำ สามารถสื่อและประยุกต์ธรรมได้อย่างมีพลัง  ทั้งโดยการประพฤติเป็นแบบอย่าง การสอน และการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ ไม่ว่าโดยผ่านการฟัง การคิด  หรือการปฏิบัติ


 


นอกจากนั้นควรมีการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างวัดกับชุมชนให้แน่นแฟ้นขึ้น   เพื่อพลังทางศีลธรรมของวัดจะสามารถถ่ายทอดไปยังชุมชน และส่งอิทธิพลต่อผู้คนได้มากขึ้น   ความสัมพันธ์ดังกล่าวสามารถฟื้นฟูขึ้นได้ด้วยการส่งเสริมให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจการของวัดมากขึ้น ตามคติแต่โบราณที่ถือว่าวัดเป็นของชุมชน   เช่น มีส่วนร่วมในการส่งเสริมการศึกษาและสนับสนุนวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์สามเณร รวมทั้งร่วมในการปฏิบัติธรรมที่วัดจัดขึ้น  ในอีกด้านหนึ่งพระสงฆ์ก็เข้าไปมีส่วนร่วมในกิจการของชุมชนมากขึ้น  เช่น  ร่วมแก้ปัญหาอบายมุข  ปัญหาวัยรุ่น  การอนุรักษ์สภาพแวดล้อม  ส่งเสริมการออมทรัพย์เพื่อแก้ปัญหาหนี้สิน 


 


แม้กิจกรรมเหล่านี้บางส่วนจะเป็นเรื่อง "ทางโลก"   แต่สิ่งหนึ่งที่พึงตระหนักก็คือ พลังทางศีลธรรมของศาสนาไม่ว่าที่ใดก็ตาม ส่วนหนึ่งก็เกิดจากการสงเคราะห์ช่วยเหลือทางโลก  เช่น เยียวยารักษาผู้ป่วย ช่วยเหลือคนยากจน สงเคราะห์เด็กพิการ   แม้แต่กลุ่มศาสนาที่ถือว่าหัวรุนแรง เช่น Muslim Brotherhood ในอียิปต์ หรือ Hamas ในปาเลสไตน์   กลุ่มเหล่านี้สามารถทำให้คนทั่วไปหันมาศรัทธานับถือศาสนาอิสลามอย่างกว้างขวางก็เพราะการทำกิจกรรมสงเคราะห์ผู้ทุกข์ยากอย่างจริงจังเป็นประการสำคัญ  หาใช่เพราะการโฆษณาชวนเชื่อหรือเทศนาสั่งสอนตามสุเหร่าไม่ 


 


ที่จริงไม่ต้องดูอื่นไกล  การที่พระสงฆ์แต่ก่อนมีอิทธิพลในทางศีลธรรมต่อคนไทยในสมัยก่อนได้ก็เพราะท่านสงเคราะห์ช่วยเหลือชาวบ้านในแทบทุกเรื่อง เป็นแต่ว่าสมัยก่อนนั้นใครที่มีปัญหาก็มุ่งหน้ามาที่วัด  เพราะวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน  ผิดกับปัจจุบัน ที่คนมีปัญหามิได้หันหน้าเข้ามาหาวัดอีกต่อไป  จึงเป็นหน้าที่ที่พระสงฆ์จะต้องเดินเข้าหาคนเหล่านี้  แทนที่จะตั้งรับที่วัดดังแต่ก่อน