Skip to main content

ข่าวสารจาก ‘โทรทัศน์’

คอลัมน์/ชุมชน

เป็นเวลาหลายปีมาแล้ว เวลาที่ใครๆ คุยกันเกี่ยวกับเรื่องราวในโทรทัศน์ เช่น รายการนั้นสนุกอย่างไร หรือ ละครเรื่องนั้นเป็นอย่างไร พร้อมกับหันมาถามผมว่า "ได้ดูหรือเปล่า?"  ผมจะตอบเสมอว่า "ไม่ได้ดู"  ไม่ว่าใครจะมาชวนผมคุยเรื่องเกี่ยวกับรายการอะไรในโทรทัศน์ก็ตาม คำตอบของผมจะมีอยู่อย่างเดียวคือ "ไม่ได้ดู" ที่เป็นอย่างนั้น ไม่ใช่ไม่มีเวลานะครับ แต่ผมไม่มีโทรทัศน์


 


เมื่อเรียนจบและทำงานมีรายได้เป็นของตัวเอง สิ่งแรกที่ผมซื้อคือ สเตอริโอ ไม่ใช่โทรทัศน์เพราะผมเป็นคนฟังเพลง และรู้สึกถนัดที่จะ ฟัง มากกว่า ดู  ผมฟังเพลงไปพร้อมๆ กับอ่านหนังสือมาตั้งแต่สมัยเรียน


 


ในตอนที่ผมซื้อสเตอริโอนั้น เพื่อนร่วมงานคนหนึ่งถามผมว่า ทำไมผมไม่ซื้อโทรทัศน์ ทั้งที่ราคาก็เท่าๆ กัน ผมเองก็ไม่ทราบจะอธิบายเขาอย่างไร ก็ได้แต่ตอบแก้เก้อไปว่า ถึงซื้อมาก็คงไม่ค่อยได้ดู เพราะผมชอบอ่านหนังสือมากกว่า เขาถามอีกว่า แล้วจะรู้ข่าวสารบ้านเมืองได้อย่างไร ข้อนี้ ผมตอบได้ทันที เพราะหนึ่ง ผมอ่านหนังสือพิมพ์ซึ่งแม้จะไม่รวดเร็วเท่า แต่ละเอียดกว่าเยอะ และ สองไม่ว่าจะมีข่าวดัง หรือข่าวสำคัญอะไร พอถึงตอนเช้าก็จะมีคนในที่ทำงานพูดถึงกันเองนั่นล่ะครับ บางทีไม่ต้องดูโทรทัศน์หรืออ่านหนังสือพิมพ์ ก็มีผู้ปรารถนาดีมารายงานข่าว (อย่างละเอียด) ให้ฟัง


 


ไม่ใช่ว่าผมไม่อยากได้โทรทัศน์นะครับ ทุกวันนี้ก็ยังคิดว่าควรจะมี แต่ที่ไม่ได้มีสักที เพราะเอาเข้าจริงๆ มันเป็นเรื่องของ ความเคยชิน ซะมากกว่า ผมชินกับการไม่มีโทรทัศน์มานานหลายปี และรู้สึกว่า ถึงไม่มีมัน ชีวิตก็ไม่ได้ขาดอะไรไป ตรงกันข้าม การไม่มีโทรทัศน์ซะอีก ที่ทำให้ผมมีเวลาไปทำอย่างอื่นมากขึ้น


 


คิดย้อนดูแล้วก็แปลกใจเหมือนกัน เพราะในตอนที่ผมเป็นเด็กนั้น ผมโตมากับโทรทัศน์เลยก็ว่าได้ จำได้ว่า โทรทัศน์เครื่องแรกของบ้านผมนั้น เป็นโทรทัศน์ขาวดำยี่ห้อธานินท์ ไม่ทราบเหมือนกันว่า พ่อผมซื้อมาตั้งแต่ปีอะไร แต่ผมจำความได้ ก็เห็นโทรทัศน์เครื่องนี้อยู่ในบ้านแล้ว


 


จนผมอายุได้ประมาณ 7-8 ขวบ บ้านเราก็ได้มีโทรทัศน์สีดูเหมือนบ้านอื่นๆ ถึงแม้ว่าตอนนั้นจะยังมีโทรทัศน์ให้ชมได้เพียง 2 ช่องคือช่อง 7 กับช่อง 11 ของกรมประชาสัมพันธ์  (ในตอนนั้นช่อง 3, 5 และ 9 ยังไม่ขยายเครือข่ายมาถึง) ตอนเด็กๆ นั้น ผมจะได้ดูโทรทัศน์ช่องอื่นๆ ก็ตอนที่มาหาปู่กับย่า ที่จังหวัดสิงห์บุรีในช่วงสงกรานต์เท่านั้น เวลาเจอกับลูกพี่ลูกน้องที่เขารับชมโทรทัศน์ได้ทุกช่องแล้วคุยกันเรื่อง "ไอ้มดแดง" , "ตำรวจอวกาศ", "ขบวนการโกกุลไฟว์" ฯลฯ (ซึ่งส่วนใหญ่จะฉายทางช่อง 9) ก็มักจะทำให้ผมรู้สึกมี "ปมด้อย" ทางข่าวสารเสมอ


 


แต่ต่อมาไม่นาน เมื่อมีการขยายเครือข่าย ผมก็ได้ชมโทรทัศน์ทุกช่องเช่นเดียวกัน และตั้งแต่นั้นมา ผมก็กลายเป็น "เด็กติดโทรทัศน์ขั้นโคม่า" ประเภทที่ว่า วันธรรมดากลับมาจากโรงเรียนก็จะนั่งจมอยู่หน้าโทรทัศน์ ถ้าไม่โดนไล่ไปอาบน้ำ ไปกินข้าวก็จะไม่ไปไหน ผมหลับหน้าโทรทัศน์แทบทุกวัน (ในชุดนักเรียน) ส่วนวันหยุดนี่ไม่ต้องพูดถึงเลยครับ กิน นอน หน้าโทรทัศน์ได้เลย


 


เมื่อผมติดโทรทัศน์ขนาดนั้น ผมก็แทบจะไม่ทำอย่างอื่น ทั้งการช่วยงานบ้าน การทำการบ้าน หรืออ่านหนังสือ ผมไม่ทำทั้งสิ้น ผมกลายเป็นเด็กไม่มีความรับผิดชอบ สมาธิสั้น ทำอะไรสะเพร่า ขี้ลืม หงุดหงิดโมโหง่าย เหลวไหลเป็นที่สุด


 


ผมเป็นอย่างนี้จนกระทั่งเข้าเรียนมัธยมต้น เมื่อผมเริ่มติดเพื่อน ติดหนังสือ และมีกิจกรรมอื่นที่น่าสนใจกว่า อาการติดโทรทัศน์ขั้นโคม่าของผมจึงหายไป พร้อมกับความโล่งใจของพ่อและแม่


 


พอมาเรียนมหาวิทยาลัยผมแทบจะไม่ได้ดูโทรทัศน์เลยก็ว่าได้ ว่างจากเรียน ถ้าไม่หาหนังสืออ่าน ก็ทำกิจกรรม เดือนๆ หนึ่งดูโทรทัศน์แทบจะนับครั้งได้ ยิ่งมาทำงานยิ่งแล้วใหญ่ โทรทัศน์กลายเป็นสิ่งไม่จำเป็นสำหรับผมอีกต่อไป ช่วงปีหลังๆ นอกจากดูบอล หรือดูหนังที่ฉายทางยูบีซีแล้ว รายการตามปกติทางโทรทัศน์ แม้แต่รายการข่าว ก็ไม่สามารถดึงดูดความสนใจให้ผมอยู่กับมันได้เกินหนึ่งชั่วโมงสักที


 


 


ล่าสุดที่ผ่านมา ผมมีธุระที่จะต้องเข้ากรุงเทพฯ และค้างคืนที่ห้องพักรายวันแห่งหนึ่ง ผมมีธุระตอนบ่าย ในตอนเช้าผมขี้เกียจออกไปข้างนอก และไม่มีอะไรจะทำ จึงต้องเปิดโทรทัศน์ดู จากการที่ไม่ได้ดูโทรทัศน์มาเป็นเวลานาน มันทำให้ผมพบว่า รายการโทรทัศน์ทุกวันนี้ มัน "ย่ำแย่" กว่าที่ผมเคยดูครั้งล่าสุดเยอะเลย


 


สำหรับคนที่รับข่าวสารจากการอ่านมาตลอดอย่างผม เมื่อกลับมาดูข่าวทางโทรทัศน์ (ซึ่งก็รู้ๆ อยู่ว่าทั้ง แบน และ ฉาบฉาย) อีกครั้ง ก็ยิ่งรู้สึกว่าสาระที่น่าจะได้รับจากช่วงข่าว มันช่าง "ว่างเปล่า" เสียเหลือเกิน ไม่ใช่แค่ดาดๆ ทั่วๆ ไป เท่านั้น แต่หลายๆ ข่าวที่นำเสนอมันไม่ได้ให้ประโยชน์อะไรกับสมองผู้ชมเลย คือจบรายการแล้วสิ่งที่ได้ชมได้ฟังก็จบไปพร้อมกับรายการนั่นเอง


 


ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่เรตติ้งดีที่สุดอย่าง "ห้าสาว" หรือ "สรยุทธ"  ผมดูแล้วก็ยังเห็นว่า ซื้อหนังสือพิมพ์มาอ่านเองดีกว่าเยอะเลย


 


เป็นที่ทราบกันดีว่า สื่อโทรทัศน์นั้นมีจุดเด่นที่สามารถถ่ายทอดได้ทั้งภาพและเสียง ทั้งยังสามารถถ่ายทอดได้อย่างรวดเร็ว อย่างที่เรียกกันว่า ถ่ายทอดสด  และด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน ยังทำให้โทรทัศน์สามารถสื่อสาร สองทาง ด้วยการโทรศัพท์เข้ารายการ,โพสต์ข้อความบนเว็บไซต์ หรือ ส่งข้อความผ่านโทรศัพท์มือถือ (ซึ่งทำกำไรให้เจ้าของรายการมากมาย) นอกจากนั้น โทรทัศน์บ้านเรายังเป็น ฟรีทีวี คือแค่มีโทรทัศน์กับเสารับสัญญาณ คุณก็สามารถรับชมได้เลย ไม่ต้องเสียตังค์ ดังนั้น โทรทัศน์จึงเป็นสื่อที่มีคนนิยมมากที่สุด มีอิทธิพลต่อประชาชนมากที่สุด มีผลประโยชน์สูงที่สุด และถูกควบคุม (ผูกขาด?)จากรัฐมากที่สุด เช่นกัน


 


เคยสังเกตกันบ้างไหมครับว่า รายการโทรทัศน์สมัยก่อน ไม่ว่าจะเป็นข่าว ละคร หรือเกมโชว์ ดูเหมือนว่า มันน่าติดตาม มันมีสาระ ไม่ขาดๆ เกินๆ หรือ กลวงโบ๋เหมือนรายการโทรทัศน์สมัยนี้


 


ละครดีๆ อย่าง ตราไว้ในดวงจิต,ปริศนา,รัตนาวดี,สี่ยอดกุมาร หรือเกมโชว์ระดับตำนานอย่างมาตามนัด,คู่หูพลิกล็อค, นาทีทอง หรือแม้กระทั่งคนอ่านข่าวระดับตำนานอย่าง "ย.โย่ง" ก็ดูเหมือนจะไม่มีให้เทียบเคียง หรือเหลือให้เห็นอีกแล้วในปัจจุบัน


 


สมัยเด็กๆ ที่ผมติดโทรทัศน์ขนาดหนักนั้น จำได้ว่า ไม่มีรายการอะไรน่าเบื่อเลย แม้แต่ข่าวหรือโฆษณา (หรือเพราะยังเด็กเลยไม่รู้จักแยกแยะก็ไม่ทราบ) แต่ตอนนี้ ดูเหมือนว่า อะไรๆ ก็เต็มไปด้วย "การขาย" ไปเสียทั้งหมด ไม่ว่าจะ ขายกันแบบแอบๆ อย่างโฆษณาแฝง ทั้งที่ตั้งใจ และ (ดูคล้าย) ไม่ตั้งใจ ขายกันจนละเลยแม้กระทั่งสิ่งสำคัญอันได้แก่ สาระ ที่ผู้ชมควรจะได้รับหรือเก็บไปคิดต่อหลังจากรับชมจบ


 


ผมเคยอ่านบทความเรื่องหนึ่งของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่ท่านพูดเรื่องของเทคโนโลยี เนื้อความเป็นอย่างไรนั้น ผมก็จำได้ไม่ครบถ้วน แต่มีข้อความหนึ่งที่จำได้แม่นคือ ท่านบอกว่า "เทคโนโลยีไม่ได้รับใช้มนุษย์ แต่เทคโนโลยีนั้นรับใช้ทุนนิยม" เมื่อพินิจพิเคราะห์ตามข้อความดังกล่าว และเหลียวมองดูรอบตัว ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า นี่คือเรื่องจริง


 


ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ ที่แต่ละบริษัทโฆษณาสวยหรูโอ่อ่า ว่าจะทำให้ชีวิตคุณสะดวกสบายขึ้น, มีรูปแบบชีวิตที่เท่ห์เก๋ไม่ซ้ำใคร หรือ ย่อโลกไว้ในมือคุณ แต่สุดท้ายแล้วทั้งหมดคือราคา (และเวลา) ที่คุณต้องจ่ายเพื่อให้คุณได้ "รู้สึก" ว่าคุณได้เป็นอย่างที่เขาบอกว่าคุณจะได้เป็น


 


 "คอมพิวเตอร์" ซึ่งเป็นเสมือนไอคอนและตัวแทนของยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมาก ใครเล่นคอมฯ เป็นประจำคงจะรู้ดีว่า แต่ละวัน แต่ละเดือนนั้น เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มันก้าวหน้าไปขนาดไหน คอมฯ รุ่นใหม่ล่าสุดที่คุณซื้อในวันนี้ จะกลายเป็นของเก่าทันทีเมื่อถึงสิ้นเดือน ถึงแม้มันจะทำให้คุณสะดวกสบาย และ "รับใช้คุณ"ได้ทั้งวันทั้งคืน แต่เมื่อถึงวันหนึ่ง คุณก็มี "ราคาที่ต้องจ่าย" เพื่อซ่อม เพื่ออัพเกรด หรือ เพื่อซื้อใหม่ เพราะคุณไม่สามารถขาดมันได้อีกต่อไป


 


โทรทัศน์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ใกล้ชิดมนุษย์ที่สุดก็หนีไม่พ้นข้อเท็จจริงนี้ไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมันเป็นเครื่องมือที่สามารถนำเสนอ "การขาย" อันเป็นเส้นเลือดของทุนนิยมได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด มันจึงต้องแฝงการขายไว้กับการนำเสนอทุกรูปแบบ


 


ก็ในเมื่อจุดประสงค์ของแทบทุกรายการมันมุ่งแต่เรื่อง "จะขาย" เสียแล้ว จะเอาสาระและบันเทิงแท้ๆ ได้จากที่ไหนเล่าครับ?


 


จะพูดแบบเหมารวมก็ใช่ที่ รายการดีๆ ก็มีไม่น้อย แต่รายการเหล่านั้นก็มักจะถูกดันให้ไปอยู่ช่วงเวลา ที่ไม่เป็นเงินเป็นทอง เช่นช่วงดึก การจะดูรายการดีๆ มีสาระ กลายเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความเพียรพยายามอดตาหลับขับตานอนไป


 


ผมไม่แน่ใจว่า คนประเภทไม่ดูโทรทัศน์อย่างผม จะมีมากน้อยแค่ไหนในสังคมไทย แต่ที่เคยรับรู้มา ในประเทศสหรัฐฯ เขามีกลุ่มที่ "ต่อต้านโทรทัศน์" คือไม่ใช่แค่ตัวเองไม่ดู แต่รณรงค์ให้คนอื่นไม่ดูอีกด้วย


 


เขาบอกว่า การดูโทรทัศน์ทำให้เด็กสมาธิสั้น(อันนี้เรื่องจริง ผมขอยืนยัน) เสียเวลาไปกับความบันเทิงที่เต็มไปด้วย เซ็กส์, ความรุนแรง, โฆษณาแอบแฝง  และปราศจากความรับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากนั้น เขายังรณรงค์ให้มี "วันงดดูโทรทัศน์" แบบเดียวกับวันงดสูบบุหรี่โลกอีกด้วย


 


ผมไม่ได้ตามข่าวนี้นานแล้ว ไม่แน่ใจว่ากลุ่มต่อต้านโทรทัศน์ยังมีอยู่หรือเปล่า แต่สำหรับในบ้านเรา มีงานวิจัยหลายชิ้น ที่แสดงให้เห็นว่า การดูโทรทัศน์ติดต่อกันเป็นเวลานาน เป็น "ผลเสีย" มากกว่าผลดี แต่ก็อย่างว่าละครับ  "การเตือนภัยจากสื่อ"  มักจะเป็นเรื่องสุดท้ายที่คนไทยสนใจ


 


ก็เหมือนพูดเรื่องที่รู้ๆ กันอยู่แล้ว ตราบใดที่ โทรทัศน์ยังถูกผูกขาดจาก "รัฐ" และ "ทุน" เรา และลูกหลานของเรา (ซึงไม่มีเงินไปติดยูบีซี) ก็คงจะต้องทนดูอะไรห่วยๆ อย่างนี้ต่อไป  บางคนอาจจะว่า จะเอาอะไรมากมาย ก็ "ของฟรี"ทั้งนั้น


 


ใช่ครับ "ของฟรี" และเป็นของฟรีที่เต็มไปด้วย "ขยะ" เสียด้วย ใครแยกแยะขยะออกจากของดีได้ ก็โชคดีไป ส่วนใครแยกไม่ได้ ก็โชคร้ายหน่อย เพราะไม่เคยมี รัฐบาลหน้าไหน รับผิดชอบกับ "ขยะ"ที่ออกมาทางสื่อโทรทัศน์เสียด้วย