Skip to main content

นาโน-โซลาร์ พลังงานไฟฟ้าที่อาจกระเทือนตลาดโลก

คอลัมน์/ชุมชน

มีคำกล่าวที่กระแนะกระแหนต่อพวกที่คัดค้านโรงไฟฟ้าอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นกรณี บ่อนอก-บ้านกรูดที่โด่งดัง หรือที่กำลังก่อตัวที่จากที่อื่น ๆ ว่า "เป็นพวกชอบขัดขวางความเจริญ หากคัดค้านก็ไปอยู่ถ้ำหรือไปใช้ตะเกียงซิ"


ข้อความดังกล่าวเป็นการเบนประเด็นของผู้เป็นเจ้าของโครงการที่ค่อนข้างจะได้ผลมากสำหรับสังคมไทย เพราะข้อมูลที่เจ้าของโครงการนำมาเสนอต่อสาธารณะนั้น ทำให้ผู้คนคิดว่า ถ้าจะใช้ไฟฟ้าก็ต้องมีโรงไฟฟ้าอย่างที่เราเห็น ๆ กันอยู่ คือใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน หรือเรียกรวม ๆ ว่าพลังงานฟอสซิลที่ (1) ใช้แล้วหมดไป (2) นับวันราคายิ่งแพงขึ้น (3) ก่อมลพิษ (4) สามารถผูกขาดกิจการได้ง่าย และ (5) ใช้เวลานานในการก่อสร้าง

ผมเองก็คัดค้าน เหตุผลของผมมีอยู่ 2-3 ข้อใหญ่ ๆ คือ หนึ่ง นโยบายและแผนการดำเนินงานหลักมีข้อผิดพลาด สอง ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมทั้งในการตรวจสอบนโยบายและการดำเนินกิจการ และสาม น่าจะนำพลังงานหมุนเวียนที่สำคัญ ได้แก่ พลังงานลม และแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับพลังงานฟอสซิล คือ (1) ไม่มีวันหมด (2) ไม่มีมลพิษ (3) นับวันจะมีราคาถูกลง (4) ผูกขาดกิจการได้ยาก และ (5) สร้างเสร็จไวและปรับแผนให้เข้าภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปง่าย เข้ามาแทนที่พลังงานฟอสซิลในอัตราที่ใกล้เคียงกับกลุ่มประเทศที่สนใจปัญหามลพิษเขาทำกัน


ผมจำเป็นต้องกล่าวให้ครบประเด็นก่อน เพื่อเราจะได้เห็นภาพรวมทั้งหมดของปัญหาในเนื้อที่อันจำกัดนี้ แต่ในบทความนี้จะขอกล่าวถึงแต่เพียงพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ หรือที่เรียกกันในบ้านเราว่า โซลาร์เซลล์เพียงอย่างเดียว


โซลาร์เซลล์ทำหน้าที่แปลงแสงแดดให้เป็นกระแสไฟฟ้า โดยไม่ต้องมีเครื่องยนต์กลไก ไม่ต้องมีสารเคมีหรือความร้อนอื่นใด วัสดุที่นำมาทำก็เป็นพวกสารกึ่งตัวนำซึ่งโดยมากจะเป็นซิลิกอน


ข้อเสียที่สำคัญของโซลาร์เซลล์คือมีราคาแพง ทำให้ต้นทุนไฟฟ้าที่ผลิตได้สูงกว่าไฟฟ้าที่ผลิตจากฟอสซิลถึง 4-8 เท่าตัว เช่น ในปี 2545 ต้นทุนไฟฟ้าต่อหน่วยที่ผลิตจากถ่านหินและโซลาร์เซลล์จะอยู่ในช่วง 4-5 เซนต์ (สหรัฐ) และ 15-24 เซนต์ ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ราคาโซลาร์เซลล์มีแนวโน้มจะต่ำลงเรื่อย ๆ เพราะมีผู้ใช้จำนวนมากขึ้น นอกจากข้อเสียที่มีราคาแพงแล้ว ยังมีเรื่องการติดตั้งที่ทั้งไม่สะดวกและดูไม่ค่อยสวยงามอีกด้วย


แต่ด้วยการคำนึงถึงปัญหามลพิษที่ทำให้โลกร้อนขึ้นจนเกิดภัยพิบัติไปทั่วโลก ตั้งแต่พายุจนถึงการแพร่ของไวรัส รัฐบาลของหลายประเทศจึงได้มีการชดเชยราคาให้กับผู้ที่ผลิตกระแสไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์


ล่าสุด บริษัทเอกชน เช่น Merrill Lynch ได้พัฒนาโซลาร์เซลล์ โดยใช้เทคโนโลยีที่มีขนาดเล็กมาก ที่เรียกว่า "นาโนเทคโนโลยี" และเมื่อนำเทคโนโลยีนี้มาใช้กับโซลาร์เซลล์ เขาจึงตั้งชื่อทางการค้าว่า "นาโนโซลาร์ (Nano-Solar)" บริษัทนี้คาดหมายว่าจะสามารถนำออกสู่ตลาดได้ประมาณกลางปี 2548 โดยที่ทั้งต้นทุนและความสะดวกในการติดตั้งรวมทั้งความสวยงามเป็นที่ดึงดูดให้น่าลงทุนมากขึ้น


จากค่าไฟฟ้าที่เคยสูงกว่า 4-8 เท่าจะลงมาเหลือเพียงประมาณ 2 เท่า หรือใกล้เคียงกับค่าไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิล จากที่เคยติดตั้งค่อนข้างลำบาก จะมีสภาพเป็นม้วนคล้ายเสื่อน้ำมัน เมื่อคลี่ออกมาถึงก็ใช้การได้เลย หรืออาจจะเป็นแค่สีพ่นเท่านั้น จากที่เคยดูเกะกะสายตา ก็จะกลมกลืนไปกับตัวอาคารจนดูไม่ออก


พูดถึงการส่งเสริมให้ประชาชนหันมาผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียน กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป จะมีกฎหมายที่เรียกว่า อี.เอฟ.เอล. (electricity feed in law) สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ก็คือ อนุญาตให้ใครก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นบริษัท หรือเจ้าของบ้านแต่ละหลังสามารถผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อป้อนเข้าไปในระบบสายส่งไฟฟ้าได้เลย


ดังนั้น ด้วยกฎหมายฉบับนี้ สมมุติว่าเราได้ติดตั้งโซลาร์เซลล์ในตอนกลางวัน (หากมีแดด) กระแสไฟฟ้าจากหลังคาบ้านเราก็จะไหลเข้าสู่ระบบสายส่งกลาง (เราไม่ได้ผลิตไฟฟ้าเพื่อจะใช้เอง แต่ผลิตไว้ขายในราคาที่สูงกว่า) โดยมีบริษัทกิจการไฟฟ้าเป็นผู้จัดการกระจายให้เกิดความสมดุลระหว่างไฟฟ้าที่ผลิตได้กับไฟฟ้าที่ต้องการใช้ทั้งระบบ เมื่อบ้านที่มีแผงผลิตไฟฟ้าต้องการใช้ไฟฟ้าก็สามารถรับจากระบบสายส่งกลางเข้ามาใช้ในบ้านได้ บ้านที่ใช้ไฟฟ้ามาก เช่น มีเครื่องปรับอากาศก็สามารถใช้ไฟฟ้าได้ตามที่ต้องการได้ตามปกติ


เมื่อสิ้นเดือนก็มีการคิดบัญชีกันว่า บ้านแต่ละหลังป้อนเข้าสู่ระบบได้เท่าใดและใช้ไฟฟ้าจากระบบเท่าใด คิดเป็นเงินออกมา


ถ้าเราคิดจะติดแผงเซลล์แสงอาทิตย์ไว้ใช้เองในบ้าน ถือว่าเป็นความคิดที่เพ้อฝัน ต้องผลิตเพื่อขายในราคาที่แพงกว่าเท่านั้นจึงจะเป็นจริงได้ บริษัทไฟฟ้าทำได้อย่างไร


ในประเทศเยอรมันนี ถ้าเราผลิตจากเซลล์แสงอาทิตย์ ทางบริษัทจะคิดราคาไฟฟ้าให้หน่วยละประมาณ 0.4-0.5 ยูโร ในขณะที่เราซื้อจากระบบในราคาเพียงประมาณ 0.12 ยูโร เท่านั้น (หนึ่งยูโร ประมาณ 50 บาท)


นี่เป็นข้อตกลงตามกฎหมาย ไม่ต้องร้องขอให้เสียเวลา ด้วยนโยบายอย่างนี้คนจึงหันมาใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น ที่ทำเช่นนี้ได้ก็เพราะว่าบริษัทรับซื้อไฟฟ้าจากถ่านหิน (ที่ก่อมลพิษ) ในราคาเพียง 0.05 ยูโร เท่านั้น แต่นำไปขายถึงกว่า 2 เท่าตัว


มีการคาดการณ์กันว่า ตลาดของโซลาร์เซลล์ทั่วโลกจะเติบโตปีละ 260,000 เมกะวัตต์ ในปี 2573 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 20 ล้านล้านดอลลาร์ นี่เป็นการคาดการณ์ตั้งแต่ยังไม่มีนาโน-โซลาร์ นั่นหมายถึงว่าเมื่อสินค้าตัวใหม่ที่มีราคาถูกลงอย่างมีนัยสำคัญ ตลาดจะเติบโตเร็วขึ้นกว่านี้อีกเยอะ


ถึงวันนั้น บรรดาพวกพ่อค้านายหน้าทั้งในระดับโลก และระดับประเทศคงจะวิ่งกันอุตลุด ที่น่าเป็นห่วงก็แต่นายหน้าค้าที่ดินสำหรับตั้งโรงไฟฟ้าที่มักจะเป็นผู้ผลักดันให้เกิดโครงการพลังงานฟอสซิลอยู่ร่ำไป เพราะนาโน-โซลาร์สามารถติดตั้งได้ทั้งบนหลังคาหรือผนังอาคารก็ได้ โดยไม่ทำให้ดูน่าเกลียดน่าชังแต่ประการใด