Skip to main content

"วิกฤติ" ที่มองไม่เห็น

คอลัมน์/ชุมชน

 


"ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เป็นปัญหาทางจริยธรรม"


อัลกอร์


อดีตว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ


 


1


 


เย็นวันปลายเดือนกรกฎาคม เสียงของ "อดีตว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ" ดังก้องอยู่ภายในโรงภาพยนตร์สกาล่า สยามสแควร์ ที่ซึ่งวัฒนธรรมบริโภคนิยมแทบจะกลืนกินเด็กวัยรุ่นของไทยเข้าไปข้างในจนแทบจะหมดสิ้นหัวจิตหัวใจ


 


จากนั้น ผมก็แทบจะไม่ขยับตัวและละสายตาออกจากจอภาพยนตร์ แทนที่จะงีบหลับตามที่ตนเองคาดคิดไว้ตลอดเวลาหนึ่งร้อยกว่านาที


 


- - - - - - - -


 


17.00 . เย็นวันนั้น


 


ผมยอมตัดใจเดินทางถ่อมาถึงย่านที่ตนเองแทบไม่เคยคิดจะเหยียบถ้าไม่มีธุระจำเป็นก็เพราะภาพยนตร์เรื่องหนึ่งกับบัตรฟรีอีกหนึ่งใบที่ได้มาโดยไม่คาดฝัน


 



 


ที่คาดการณ์ไว้เมื่อได้ยินว่าภาพยนตร์เรื่องที่ไปดูเป็น "สารคดีที่นำเสนอความจริงเกี่ยวกับภัยพิบัติของธรรมชาติ" ที่ทำอันดับรายได้สูงติดชาร์ตภายในไม่กี่วันที่ออกฉายในสหรัฐอเมริกานั้น ก็คือมันน่าจะมีการดำเนินเรื่องที่น่าสนใจไม่แพ้ภาพยนตร์มหาวินาศของฮอลลีวูดประเภทดาวหางถล่มโลกอย่าง Armageddon, Deep Impact หรือไม่ก็เป็นสารคดีที่ดำเนินเรื่องตามขนบของรายการสารคดีอย่างเคร่งครัดไปเลย


 


แน่นอน การนำเสนอแบบแรกจะสามารถจับใจคนดูได้มากกว่าการนำเสนอแบบหลัง


 


กล่าวกันตามตรง ผมกลัวจะเป็นแบบหลังเสียมากกว่าเพราะเชื่อลึกๆ ว่าที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำรายได้สูงในต่างประเทศก็เพราะที่นั่นมีกลุ่มคนดูที่มีคุณภาพมากกว่าคนดูภาพยนตร์ในบ้านเราที่ดูเหมือนจะพอใจกับการรับชมภาพยนตร์ประเภทนำเสนอความบันเทิงตื่นเต้นกันเสียมากกว่าภาพยนตร์ที่มีประโยชน์


 


ยิ่งเมื่อได้ทราบว่าภาพยนตร์เรื่องนี้มีพระเอกคนเดียวคือ "อัลกอร์" อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้รู้สึกว่าคงคาดหวังยากว่าจะนำเสนอข้อมูลตรงและจับใจผู้ชมได้ แม้ว่าข้อมูลนั้นคือความจริงที่พวกเขาควรรับรู้ก็ตาม  กับอีกความรู้สึกหนึ่งก็คือ ผมสนใจวิธีการนำเสนอว่าจะทำออกมาอย่างไร


 


สารภาพตามตรง ผมกะงีบในโรงด้วยซ้ำเพราะคาดว่าประเด็นที่มันนำเสนอนั้นคงไม่ต่างอะไรกับสารคดีที่ฉายในทีวีช่องดิสคัพเวอรี่หรือเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิกที่นอนดูอยู่ที่บ้านก็ย่อมได้


 


2


 



 


"นี่คือธารน้ำแข็งบนยอดเขาคิริมันจาโรในทวีปแอฟริกา ผมอยากให้คุณดูว่ามันแตกต่างจากเมื่อหลายปีก่อนแค่ไหน"


 


ภาพลักษณะเช่นนี้ถูกนำเสนอพร้อมความจริงอันน่าตกใจหลายครั้งหลายคราในภาพยนตร์ ผู้กำกับเลือกนำเสนอสถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจริงตามจุดต่างๆ ของโลกด้วยการตัดฉากไปมาระหว่างห้องบรรยายของอัลกอร์ซึ่งย้ายที่ไปทั่วโลกกับภาพวิกฤติการณ์สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นทั่วโลก


 


สาส์นที่ส่งมาน่าตกใจยิ่งนัก…


 


ภูเขาน้ำแข็งทั่วโลกกำลังละลาย แผ่นน้ำแข็งที่ขั้วโลกใต้กำลังแตกและสลายตัวกลายเป็นน้ำปริมาณหลายล้านลูกบาศก์เมตรทุกๆ วินาทีที่ผมกำลังลงมือเขียนงานชิ้นนี้


 


หมีขั้วโลกเหนือตัวแล้วตัวเล่าจมน้ำเพราะต้องว่ายน้ำเป็นระยะทางไกลกว่า 60 ไมล์ เพื่อหาแผ่นน้ำแข็งที่เหลืออยู่ไม่มากแล้วอาศัยทำมาหากินและจำศีล


 


กระแสน้ำเย็นกับน้ำอุ่นในมหาสมุทรที่ไหลไปทั่วโลกแล้วก่อให้เกิดฤดูกาลทางธรรมชาติอย่างเหมาะเจาะลงตัวกำลังถูกรบกวนจากน้ำเย็นจำนวนมหาศาลที่ละลายจากก้อนน้ำแข็ง


 


ฯลฯ และ ฯลฯ


 


หลายฉากซึ่งควรเป็นเรื่องในภาพยนตร์เท่านั้น บัดนี้ มันเกิดขึ้นจริงๆ แล้ว


เกิดขึ้นบนโลกที่พวกเราอาศัยอยู่และใช้มันอย่างไม่บันยะบันยัง


เชื่อไหมครับ ในรอบ 2-3 ศตวรรษที่ผ่านมา กิจกรรมของมนุษย์ได้ทำให้โลกร้อนขึ้นไม่ต่ำกว่า 3 องศา ทั้งๆ ที่ในรอบ 1 พันปีโลกมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นน้อยมาก


 


แต่ทุกวันนี้มันเพิ่มขึ้นมากเสียจนขณะที่อัลกอร์บรรยายชาร์ตอุณหภูมิถึงกับต้องใช้เครนขนาดเล็กยกตัวเองขึ้นไปชี้ว่ามันสูงขึ้นอย่างน่ากลัวขนาดไหน


 


ไม่ต้องสงสัยว่าหากอีก 50 ปีข้างหน้า หากสถานการณ์เช่นนี้ยังคงดำเนินต่อไปโดยไม่มีใครใส่ใจ


นิวยอร์กจะจมน้ำ กรุงเทพฯ จะหายไปจากแผนที่ แน่นอน สัตว์ต่างๆ จะสูญพันธุ์จำนวนมาก


เราคงไม่มีหน้าไปอธิบายให้ลูกหลานที่กำลังจะเกิดตามมาฟังว่า ทำไมจึงไม่ตระหนักถึงภัยที่กำลังจะเกิดขึ้นทั้งๆ ที่ในยุคของเราที่ยังสามารถแก้ไขอะไรได้ทัน ด้วยมันมีทั้งสัญญาณเตือนภัยและมีเทคโนโลยีมากมายคอยบ่งบอกถึงปัญหาที่ว่านี้…


 


3


 



 


ขณะดูภาพยนตร์ ใจผมล่องลอยไปถึงคุณลุงคนหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ที่หมู่ 8 บ้านคลองด่าน เขตรอยต่อของจังหวัดฉะเชิงเทราและสมุทรปราการที่ประชิดติดกับอ่าวไทย


 


ผมเจอท่านในขณะที่ตนเองกำลังยืนตะลึงกับถนนที่จู่ๆ ก็หายไปต่อหน้าต่อตา และเบื้องหน้าคือท้องทะเลเวิ้งว้างที่ยามพายุเข้าจะมีคลื่นสูงหลายเมตรโหมกระหน่ำ


 


บ้านของท่านอยู่ตรงนั้น…และเคยอยู่ไกลออกไปมากกว่านั้น


"ย้ายไม่ต่ำกว่า ๔ รอบแล้วไอ้หนุ่ม หนีคลื่น"


คุณลุงบอกว่า ถนนเส้นนี้เคยยื่นยาวไปอีกนับสิบกิโลเมตร เห็นได้จากแนวเสาไฟฟ้าเก่าที่ตั้งโด่เด่อยู่กลางทะเล


 


"น้ำทะเลกินแดนเข้ามาทุกปี ปีละ 2-3 กิโลเมตร ชาวบ้านพยายามทำเขื่อนด้วยการเอาไม้มาปัก เอาต้นไม้ที่ขึ้นในป่าชายเลนมาปลูก แต่ก็ดูเหมือนไม่ค่อยได้ผลนัก เห็นตรงนั้นไหม มีนักการเมืองใหญ่คนหนึ่งไปซื้อเอาไว้ ตอนนี้จมน้ำไปเรียบร้อยแล้ว"


 


ว่าแล้วแกก็ชี้ที่ราวไม้ไผ่ที่กองระเนนระนาดตามจุดต่างๆ ของฝั่ง


"ไม่รู้จะทำยังไงแล้ว นี่ก็รอให้รัฐบาลมาช่วยอย่างเดียว ต้องสร้างเขื่อนกั้น"


 


ผมจนถ้อยคำที่จะตอบกับคุณลุงเฒ่าทะเล เพราะรู้อยู่เต็มอกว่านี่มิใช่ปัญหาที่คนๆ เดียว หรือเขื่อนๆ เดียวจะแก้ไขได้ แต่มันโยงจากปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับโลก ที่รัฐบาลและประชาชนของทุกชาติไม่ว่าจะมีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบใดต้องเข้ามาร่วมกันแก้ไข


 


4


 


20.00 น.


ผมเดินออกจากโรงภาพยนตร์ สัญญากับตัวเองว่าต่อไปนี้จะไม่เปิดไฟหรือใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลืองอีกแล้ว


อ้อ ผมลืมบอกไป ภาพยนตร์เรื่องนี้ชื่อ An Inconvenient Truth กำลังจะเข้าโรงฉายเร็วๆ นี้


 


ภาพประกอบจาก www.crimatecrisis.net