Skip to main content

โอกาสแห่งชีวิต

คอลัมน์/ชุมชน

วันนี้เป็นวันสิ้นสุดการอบรม "การแปลภาษาอังกฤษสู่ภาษาไทย เชิงปฏิบัติ" รุ่นที่ 4 ที่นิด้า[1]  ที่ได้เคยกล่าวถึงเมื่อไม่นานมานี้  รู้สึกดีใจที่ผู้เรียนพอใจเกือบทั้งหมด  หลายท่านนำเอาของกระจุกกระจิกมามอบให้ด้วยน้ำใจ บ้างก็บอกว่าจะมาเรียนคอร์สอื่นๆ  หากผู้เขียนมาสอน บ้างก็บอกว่าประทับใจเสียดายที่เพิ่งมารู้จัก สรุปง่ายๆ ว่า คนสอนก็ทำงานได้ คนเรียนก็พอใจ  แต่เรื่องนี้สอนใจผู้เขียนในบางเรื่อง เรื่องที่สำคัญคือ เรื่องโอกาสของชีวิต


 


หนึ่งในผู้เรียนคราวนี้เป็นอดีตลูกศิษย์ของผู้เขียนครั้งปี 1999-2000 ก่อนผู้เขียนไปสหรัฐฯ ตอนนั้นไปสอนให้ที่มหาวิทยาลัยของรัฐแห่งหนึ่ง เป็นระดับหลัง ป.ตรี ก่อน ป.โท นักศึกษาหลายท่านจบโทมาบ้างแล้ว แต่อยากฝึกฝนภาษาอังกฤษด้วยหวังว่า "จะพูดได้เหมือนเจ้าของภาษา"  อันเป็นเรื่องที่เหมือนฝันในการเรียนรู้ภาษาอังกฤษในบริบทแบบไทยๆ ทั่วไป แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเพราะอิทธิพลของโฆษณาชิ้นหนึ่งในสมัยก่อนของโรงเรียนกวดวิชาภาษาอังกฤษเจ้าหนึ่ง ที่ขายฝันให้คนไทยทั่วไป


 


ตอนนั้นมีคนทั้งชอบและไม่ชอบการสอนของผู้เขียน ที่ไม่ชอบเพราะคิดว่าผู้เขียนหัวเราะเยาะที่พวกเค้าพูดผิด ส่วนที่ชอบบอกว่าอาจารย์ครื้นเครงดี ไม่เครียด เจตนาของผู้เขียนคือเอ็นดูที่มีการทดลองแบบผิดๆ ถูกๆ ของผู้เรียน ซึ่งพูดง่ายๆ ว่า "อายครูไม่รู้วิชา" แล้วครูอย่างผู้เขียนก็พยายามช่วยแก้ อนิจจาบางคนทนไม่ได้ที่จะโดนแก้ เรื่องนี้เล่าให้ท่านผู้ใหญ่ฟังตอนนั้น ท่านบอกว่าต้องทำใจ หลายคนที่เป็นแบบนั้นเรียกว่า "ชาล้นถ้วย" เป็นคนที่มาเรียนเพราะว่าอยากลองของ อยากพิสูจน์ว่าตนเองแน่ แต่ไม่เปิดโอกาสตนเองให้ได้พบสิ่งที่แตกต่าง พูดง่ายๆ ใช้โอกาสไม่เป็น


 


ผู้เขียนสอนด้วยความอึดอัดแต่ต้องอดทน ยอมรับว่าไม่ชอบนัก แต่ต้องอดทนสอนจนจบ ตอนท้ายของคอร์ส นักศึกษาคนหนึ่งเขียนโน้ตพร้อมเทียนหอมที่จุดได้ให้ผู้เขียนมีเนื้อหาทำนองว่า "หนูดีใจที่ได้อาจารย์มาสอนหนู หนูได้อะไรจากอาจารย์มาก ไม่ใช่แค่ภาษาอังกฤษ แต่เป็นแนวคิดที่ทำให้หนูได้มองโลกได้ต่างออกไป อาจารย์เป็นครูที่ดีที่สุดในชีวิตของหนู" ตอนนั้นผู้เขียนปลื้มมากแต่ก็ยังอยู่ในมู้ดที่เบื่อเมืองไทยเหลือเกิน อีกทั้งยังเด็กจึงอยากไปสอนที่อเมริกา ไม่คิดสนใจจะสอนในไทยแม้ว่าจะมีคนหลายคนที่สอนได้และอยากให้เราสอนจริงๆ


 


ผู้เขียนได้กลับมาที่เมืองไทยอีกครั้ง แล้วก็ต้องสอนวิชาเดิมๆ อะไรที่คล้ายๆ กับของเดิม ใจนั้นมองว่านี่คือหน้าที่ที่ต้องทำตามที่ได้รับมอบหมายมา และเป็นเรื่องที่ต้องบริการสังคม อยากให้สังคมดีขึ้นเท่าที่จะเป็นไปได้ ไม่ได้รัก ไม่ได้มี passion แต่มองเป็นหน้าที่ที่ต้องทำเท่านั้น แต่ที่ลึกกว่านั้นคือคนเราต้องช่วยกัน อันนี้คือเบื้องลึกของความรู้สึกขณะนี้


 


เป็นที่น่าประหลาดใจที่ได้มาเจอกับนักศึกษาที่ได้ให้เทียนหอมคนนั้นในคอร์สนี้  ผู้เขียนดีใจที่ได้พบอีก บอกกับเธอว่าถ้าวันนี้ต่างกับวันนั้น อย่าแปลกใจ การสอนของผู้เขียนอาจดีขึ้นหรือเลวลงก็ได้ เธอบอกว่าเธอเชื่อว่าต้องดีกว่าเดิม  เอาเป็นว่าจนวันสุดท้ายของการเรียนดูเธอมีความสุขมาก อันนี้ผู้เขียนก็สบายใจ แต่สิ่งที่เธอบอกกับผู้เขียนคือ "อาจารย์อย่าทิ้งพวกเราไปเมืองนอกอีก เมืองไทยต้องการอาจารย์" ผู้เขียนสะดุดคิด แต่ก็พูดติดตลกออกไปว่า "ถึงอยากก็คงไปไม่ได้ เพราะ ปะป๊า หม่าม้า อยู่ที่นี่ ต้องเป็นชวนป๋วยฯ" ในใจลึกๆ พาลคิดถึงเรื่องโอกาสในชีวิตของคนแต่ละคนทันที


 


ผู้เขียนมองว่าผู้เขียนโชคดี เพราะผู้เขียนไม่ใช่คนเรียนเก่ง หากแต่พอขยันบ้างและมีโอกาสกว่าคนอื่นหลายล้านคนในสังคมไทย จึงได้ไปใช้ชีวิตอย่างมีแก่นสารในต่างประเทศ โชคดีที่ไม่ตายไปตอนเด็กๆ หรือวัยรุ่น โชคดีในหลายเรื่องในช่วงชีวิตที่ผ่านมา  โชคดีที่ไม่ใจแตกเสียคน โชคดีที่มีเพื่อนและผู้ใหญ่หลายท่านที่กรุณา  และโชคดีที่ครอบครัวไม่เลวจนเกินไป ความโชคดีเป็นเรื่องของการเสียสละของคนรอบข้างผู้เขียนด้วยส่วนหนึ่ง และเป็นเรื่องที่โครงสร้างสังคมเอื้อด้วยในระดับหนึ่ง ทำให้ได้ใช้ทรัพยากรในสังคมได้มากกว่าคนอื่นหรือมีต้นทุนที่ได้มานั้นสูงกว่าคนอื่นนั่นเอง


 


เสียดายที่ว่าหลายคนที่มีโอกาสไม่ได้คิดในจุดนี้เลย และผู้เขียนเองก็คงไปบีบคอคนเหล่านี้ให้มองในทางเดียวกับผู้เขียนไม่ได้ หลายคนดูเหมือนเสียสละแต่ก็ทำไปเพราะมีแรงจูงใจอื่นๆ เช่น ต้องการสร้างภาพ หรือบางคนต้องการสร้างบุญคุณที่จะให้ผู้อื่นทดแทนในอนาคต พูดง่ายๆ ว่ายิ่งมีโอกาสยิ่งคิดถึงตนเองก่อนอย่างที่ใครหลายๆ คนพูด หลายครั้งที่ผู้เขียนก็ตกอยู่ในวงจรนี้ ไม่ว่าจะเป็นคนที่รับโอกาสหรือให้โอกาส ถามตนเองหลายหนและบ่อยๆ ว่า "เราจะทำไปทำไม ในเมื่อไม่ได้อะไรเลย เสียเวลา เสียพลังงานเปล่าๆ"


 


แต่วันนี้ที่ได้ยินลูกศิษย์คนนี้พูด เป็นเหมือนสิ่งที่เตือนให้ผู้เขียนรู้ว่าผู้เขียนมีหน้าที่ที่ต้องทำและเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้ไม่ได้ถือว่าตนเก่งกว่าหรือเหนือกว่าผู้อื่น ไม่ใช่ "play God" "God send"หรือ "Condescending" แต่มองว่า "คนที่มีโอกาสมากกว่าต้องเสียสละมากกว่าคนที่ไม่มีโอกาสเท่า และต้องไม่คาดหวังผลตอบแทนจนเกินไปนัก"


 


ดังนั้น เรื่องของ "โอกาสแห่งชีวิต" จึงเป็นเรื่องที่ต้องมองให้ลึก หาก "โอกาส" ไม่มีการแบ่งปันอย่างชอบธรรม ปัญหาต่างๆ ก็คงไม่จบ ผู้ที่ด้อยโอกาสเองเมื่อพอมีโอกาสบ้างก็ไม่ควรที่จะฉกฉวยมากจนเกินไปนักหรือใช้ไปในทางที่ผิด ซึ่งก็เป็นสิ่งที่พึงสังวรอีกเช่นกัน


 


ผู้เขียนจะสำรวจตนเองต่อไป จะสร้างโอกาสให้ตนเองเพื่อพัฒนาตนเอง แล้วก็จะพยายามนึกถึงโอกาสของคนอื่นๆด้วยเช่นกัน อย่างนี้รึเปล่าที่เค้าเรียกกันว่า "สำนึก" ?