Skip to main content

"สิทธิเด็ก" ในมุมภูมิปัญญาชุมชน

คอลัมน์/ชุมชน

-1-


ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของกระแสโลก การปะทะทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย การแข่งขันในโลกยุคอุตสาหกรรม ทุนนิยม สังคมได้เผชิญกับปัญหาต่างๆ มากมาย แต่สำหรับการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือสิทธิเด็ก ก็ยังคงมีปรากฎให้เห็นได้ตามข่าวทางหนังสือพิมพ์ หรือ โทรทัศน์ อยู่ร่ำไป


 


พ่อข่มขืนลูก นักศึกษาสาวถูกลวนลาม พระกระทำอนาจารต่อเด็ก วัยรุ่นหญิงถูกหลอกไปข่มขืน นักเรียนถูกครูใช้รองเท้าตบหน้า ฯลฯ สารพัดข่าวสาร ปรากฏการณ์ในสังคมที่เกิดขึ้น และยิ่งทวีความรุนแรงเรื่อยๆ ขณะที่เกิดภาพการละเมิดสิทธิเด็ก ในอีกด้านหนึ่งก็มีความพยายามขององค์กรต่างๆ ที่ทำงานปกป้องคุ้มครองเด็ก ให้เด็กได้รับความปลอดภัย มีสวัสดิภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี


 


การทำงานขององค์กรด้านสิทธิเด็ก มีหลายพื้นที่ ทั้งในพื้นที่เมืองใหญ่ ในชนบท และทำกับหลายกลุ่มเด็ก เช่น เด็กในชุมชน เด็กไร้บ้าน เด็กที่ถูกข่มขืน เด็กกำพร้า ฯลฯ มีความแตกต่างกันไป ตามบริบทชุมชนของแต่ละที่ ทว่า ในบทความนี้ผมคงจะกล่าวถึงกลุ่มหรือองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิเด็กในชุมชนชนบท เพื่อจะได้ง่ายต่อการมองเรื่องสิทธิเด็กในแง่มุมภูมิปัญญาชุมชน


 


-2-


เท่าที่จำได้ ผมเริ่มทำกิจกรรมทางสังคมในประเด็นเรื่องสิทธิเด็ก โดยทำกิจกรรมเป็นอาสาสมัครพิทักษ์สิทธิเด็กของศูนย์เพื่อน้องหญิง จ.เชียงราย โดยงานที่ได้ดำเนินการนั้น มีประเด็นสิทธิเด็กเป็นเรื่องหลัก และมีกระบวนการในการเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจเรื่องสิทธิเด็กให้กับเด็กๆ ในชุมชน ผ่านการจัดค่าย อบรม และสื่อละคร เพื่อให้เด็กๆ ตระหนักในสิทธิที่ตนจะได้รับและเท่าทันต่อการถูกละเมิดสิทธิในรูปแบบต่างๆ


 


ตอนนั้น เมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา เรื่องการละเมิดสิทธิการค้าประเวณีหรือที่เรียกว่า "ตกเขียว" มีมากในชุมชน เด็กหญิงบางคนเมื่อเรียนจบชั้น ป.6 ต้องถูกส่งไปทำงานต่างจังหวัด โดยที่พ่อแม่ไม่ได้ตระหนักในเรื่องสิทธิของบุตรหลานเลย ศูนย์เพื่อน้องหญิงจึงก่อตั้งขึ้นจากเยาวชนในชุมชนและทำงานด้านสิทธิเด็กนับแต่นั้นมาเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว


 


เนื้อหาการทำงานเรื่องสิทธิเด็ก ส่วนมากเป็นเนื้อหาจาก "อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก" ซึ่งเป็นสนธิสัญญาระดับนานาชาติ ที่ประเทศไทยได้ไปลงนามเป็นภาคีเมื่อปี 2535 และมีผลให้ประเทศไทยต้องดำเนินการปกป้องคุ้มครองสิทธิเด็กตามอนุสัญญาดังกล่าว โดยสรุป มี 4 ข้อพื้นฐาน ได้แก่ (1) สิทธิในการอยู่รอด อาทิ การเกิด การมีสัญชาติ ได้รับอาหาร โภชนาการต่างๆ  (2) สิทธิในการปกป้องคุ้มครอง คือเด็กต้องได้รับการคุ้มครองจากการถูกละเมิด กระทำชำเรา อนาจารต่างๆ และรวมถึงการทำร้ายร่างกายด้วย (3) สิทธิในการพัฒนา คือ เด็กต้องได้รับการศึกษา ได้เรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ต่อสติปัญญาของตน และ (4)  สิทธิในการมีส่วนร่วม คือเด็กต้องมีส่วนร่วมในการคิด ตัดสินใจและทำกิจกรรมกับชุมชน ครอบครัว หรือกลุ่มทางสังคมต่างๆ


 


เนื้อหาจากอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กนี้ ได้แปลงไปสู่รูปแบบกิจกรรมที่หลากหลาย แต่ว่าที่กล่าวมาทั้ง 4  ข้อพื้นฐานนั้น ยังมีรายละเอียดอีกมากที่ไม่ได้ขยายความ เพราะมีประเด็นที่อยากบอกเล่าในที่นี้คือ การทำงานในชุมชนโดยการนำเข้าข้อมูลจากภายนอกเข้ามานั้นจะสอดคล้องกับสภาพชุมชนนั้นหรือไม่ กล่าวคือ การทำงานในชุมชนเรื่องสิทธิเด็กโดยการนำเอาเนื้อหาจากอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กเข้ามาสื่อสารให้ความรู้กับคนในชุมชน ซึ่งดูเหมือนว่า พอทำไปจริงๆ แล้วบางเรื่องถือเป็นเรื่องที่ใหม่ต่อชุมชนที่ อาจทำให้ชาวบ้านเข้าใจยาก หรือบางเรื่องเด็กไม่รู้ว่าในชุมชนมีภูมิปัญญาอะไรบ้างที่จะปกป้องสิทธิของตน คนทำงานด้านนี้จะยังใช้ข้อมูลจากอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กกระนั้นหรือ?


 


ด้วยประเด็นที่กล่าวข้างต้น กลุ่มเยาวชนที่ทำงานด้านสิทธิเด็กบางกลุ่มได้มีการทบทวนการทำงานและเริ่มหาแนวทางกระบวนการทำงานด้านสิทธิเด็กในชุมชนแบบใหม่ โดยจะดำเนินการรวบรวมภูมิปัญญาของคนในชุมชนต่อเรื่องการปกป้องคุ้มครองสิทธิของเด็กเพื่อมาวางกรอบและกำหนดเนื้อหาในการทำกิจกรรมต่อในชุมชน


 


-3-


ในเรื่องนี้ หากเป็นในเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ อาจทำได้ยากที่จะสืบหาภูมิปัญญาในเรื่องสิทธิเด็ก หรือแม้แต่เมืองใหญ่บางจังหวัดตามภูมิภาคต่างๆ ก็อาจสืบหาภูมิปัญญาได้ยากเช่นกัน เพราะปัจจุบันเมืองใหญ่ต่างๆ นั้นเราจะพบว่า ครอบครัวมีความออกห่างจากชุมชนเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นครอบครัวที่ไม่ได้อยู่ในชุมชน ไม่ได้มีอาชีพเกษตรกรเหมือนชนบทนอกเมือง ขนบหรือวัฒนธรรม ภูมิปัญญาจึงอาจจะเสาะหาได้ยาก


 


ขณะที่บรรยากาศของชุมชนในชนบท แม้ว่าจะมีการขยายตัวของความเจริญต่างๆ เข้าไป จนทำให้ชาวบ้านหลายคนต้องเปลี่ยนอาชีพหลักจากเกษตรกรเป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรมและนำไปสู่ภาวะครอบครัวเดี่ยวเหมือนอย่างในเมืองใหญ่ แต่ก็ยังไม่ยากที่จะสืบสานภูมิปัญญาในเรื่องสิทธิเด็ก เนื่องเพราะในชุมชนชนบทชาวบ้านยังมีระบบความเชื่อต่างๆ ที่ดูแลปกป้องเด็กได้ เช่น ระบบผีปู่ย่า ระบบผิดผี การดูเมื่อดูยาม การเรียกขวัญ เป็นต้น (อันนี้เฉพาะทางภาคเหนือนะครับ ผมคิดว่าภาคอื่นๆ คงจะมีภูมิปัญญาทำนองนี้อยู่เหมือนกัน)


 


ดังนั้น การทำงานด้านสิทธิเด็กขององค์กรที่ทำงานในท้องถิ่นชนบท จึงมีโอกาสที่จะค้นเคาะ เสาะหา ภูมิปัญญาในการปกป้องคุ้มครองสิทธิเด็กของคนในชุมชน ได้มากกว่าองค์กรที่งานด้านสิทธิเด็กที่อยู่ในเมืองใหญ่


 


-4-


กล่าวโดยสรุปก่อนจบบทความนี้ จะพบว่าการทำงานด้านสิทธิเด็ก นอกจากเราจะนำเข้าความรู้เรื่องสิทธิจากสากลมาใช้แล้ว ภูมิปัญญาของคนในชุมชนท้องถิ่นนั้นๆ ถือเป็นองค์ความรู้สำคัญอย่างยิ่ง ที่กลุ่มหรือองค์กรด้านสิทธิเด็ก ควรจะเริ่มทำ เพราะอย่างน้อยก็ทำให้เราได้รับรู้และเข้าใจในภูมิปัญญาของชุมชน (ซึ่งในที่นี้ยังไม่ได้ให้ภาพมากนัก แต่ขออนุญาตนำเสนอในวาระต่อไปนะครับ) ที่เราอาศัยอยู่ และยังสามารถนำมาจัดทำเป็นหลักสูตร หรือเนื้อหาในการทำงานในด้านสิทธิเด็กได้อีกทาง


 


นอกจากนั้นยังถือเป็นการทำให้คนในชุมชนตระหนักในความเป็นเจ้าเข้าเจ้าขององค์ความรู้ที่มีอยู่ในชุมชนของตนและยังจะทำให้ได้ร่วมกันเฝ้าระวังปัญหาการละเมิดสิทธิเด็กในชุมชนอย่างจริงจังอีกด้วย


 


ดังนี้แล้ว การผสมผสานเนื้อหาเรื่องการคุ้มครองเด็กจากอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก กับภูมิปัญญาของคนในชุมชนเรื่องการปกป้องคุ้มครองเด็ก นับว่าเป็นการผสมผสานองค์ความรู้เพื่อคนในชุมชนที่จะร่วมกันปกป้องและคุ้มครองสิทธิของเด็ก จากเนื้อหาที่ผสมผสานที่อาจกล่าวได้ว่า "ใหม่ก็เอา เก่าก็ไม่ทิ้ง"