Skip to main content

เขียนฝันด้วยชีวิต : ชีวิตที่ถูกเขียนด้วยฝัน

คอลัมน์/ชุมชน

มีวรรณกรรมไทยไม่กี่เล่ม ที่อ่านแล้วจะได้รับแรงดลใจใหม่ ๆ อันกระตุ้นเร้าให้อยากลงมือทำอะไรสักอย่างหรือทำให้ความฝันในวันเก่าหวนกลับคืนมา   นวนิยายที่มีเค้าโครงมาจากชีวประวัติเรื่องนี้ของ "ประชาคม  ลุนาชัย"  คือหนึ่งในวรรณกรรมจำนวนน้อยที่มีคุณสมบัติดังว่า (สำหรับผม)  


นวนิยาย "เขียนฝันด้วยชีวิต" ของ "ประชาคม ลุนาชัย" เต็มเปี่ยมไปด้วยแรงดลใจสำหรับคนที่คิดจะก้าวเดินไปบนเส้นทางวรรณกรรมซึ่งขรุขระคดเคี้ยว หรือสำหรับใครก็ตามที่คิดจะไต่ฝันของตัวเองไปให้ถึงที่สุดเท่าที่กำลังใจและกำลังแรงจะพาไปถึงได้ 


เนื้อหาของนวนิยายดูเหมือนว่ามันจะเป็น "เรื่องเล่าแห่งความโชคร้าย" ของตัวละคร "ผม" ทุกบททุกตอนมีแต่ความล้มเหลว ผิดหวัง สูญเสีย ไม่ว่า "ผม" จะหยิบจับงานอะไรก็ผิดพลาดไปหมดทั้งที่เกิดจากการกระทำของตนเองและการกระทำของโชคชะตา


แต่ผู้เขียนก็สามารถเล่าความขมขื่น รันทดออกมาได้อย่างงดงาม เลือกเล่าเฉพาะบท เฉพาะตอนที่ควรจะเล่า สิ่งที่เล่าไม่ได้ก็ปล่อยให้ผู้อ่านจินตนาการไปเอง หรือสิ่งที่เล่าได้แต่ไม่น่าสนใจหรือผู้อ่านไม่อยากรับรู้ ผู้แต่งก็รู้ว่าไม่จำเป็นต้องเล่าและไม่ควรจะเล่ามันออกมา   ไม่มีการฟูมฟายคร่ำครวญตัดพ้อต่อว่าโชคชะตาเหมือนคนอ่อนแอ ไม่มีการโอ้อวดหลงตนจนน่าหมั่นไส้ หรือไม่มีการแสร้งถ่อมตนจนเกินงาม ทุกอย่างถูกเล่าออกมาอย่างพอดี กระชับ ไม่เยิ่นเย้อ ยืดยาด


อ่านแล้วรู้สึกประทับในหัวใจเป็นอันมากตอนที่ "ผม" พูดถึง "ฟืม" เด็กน้อยที่จากบ้านมาทำสวนอยู่ที่กาญจนบุรีด้วยกัน


"กินข้าวมื้อเย็นเสร็จ ฟืมไม่นั่งดูโทรทัศน์ทั้งที่เขาติดละครหลังข่าว เปิดมุ้งเข้านอน คืนหนึ่งผมนึกว่าเขาหลับไปแล้ว เสียงครางฮือ ๆ ปลุกผมลุกขึ้น จากแสงไฟที่ส่องกระทบ ผมเห็นนัยน์ตาของเขาแดงก่ำ สองข้างแก้มเปียกชื้น


"คิดถึงบ้านหรือฟืม" ผมกระซิบถาม 
ฟืมส่ายหน้าช้า ๆ น้ำตายังไหลไม่หยุด ผมเข้าใจความรู้สึกของเขาดี "เจ็บเนื้อปวดตัวละสิ เป็นลูกจ้างเขาก็อย่างนี้แหละนะ อยู่ที่บ้านเรายังไม่เคยทำงานหนักขนาดนี้"
 "ผมไม่ไหวแล้วพี่" ฟืมคร่ำครวญ "งานมันหนักเกินไป"
 "ข้าก็ไม่อยากอยู่ที่นี่เหมือนกัน" ผมว่า "อยากหนีไปตั้งแต่มาถึงวันแรก แต่ทำไงได้ เราไม่มีเงินติดตัวสักบาทเดียว จะกลับกรุงเทพ ฯ ก็ไม่มีค่ารถ เอ็งทนไปอีกสักพัก ถ้าไม่ไหวจริง ๆ ก็ขอเขาไปดี ๆ เขาคงให้ค่ารถหรอก" (หน้า 181)


การใช้ภาษาของคุณประชาคม สละสลวยและมีพัฒนาการอย่างน่าชมเชย  เล่มก่อน ๆ หน้านี้ยังคิดอยู่ว่าการใช้สำนวนภาษาของประชาคมนั้น "เชย" แต่พอมาถึงเล่มนี้แล้วไม่ "เชย" เลย


 "ผมข้ามรั้วเหล็กไปนั่งลงบนพื้นหญ้าในสวนหย่อม มองดูผู้คนหลั่งไหลออกจากสถานี ทุกครั้งที่เสียงหวูดเสียงระฆังแว่วเข้าหู ผมนึกถึงขบวนรถไฟสายยาวที่แล่นขึ้นเหนือล่องใต้ คงจะมีสักครั้งในชีวิตที่ผมจะได้เดินทางไกลแบบนั้นบ้าง"   (หน้า 33, พิมพ์ครั้งแรก)


อ่านท่อนนี้แล้วก็ทำให้ความฝันบรรเจิดเพริดแพร้วขึ้นมาอีกหน ผมเคยคิดเหมือนกับ "ผม" ว่าสักวันหนึ่งจะต้องเดินทางไกลไปกับรถไฟให้ได้ ซึ่งมาถึงตอนนี้ผมก็เดินทางไกลไปกับรถไฟจนเบื่อแล้ว แต่ความฝันเมื่อครั้งก่อนที่อยากจะเดินทางไกลกับรถไฟนั้นนึกถึงทีไรก็รู้สึกรื่นรมย์นัก


กลวิธีการเขียนของคุณประชาคมก็แสนจะธรรมดา ไม่มีความซับซ้อนซ่อนเงื่อนให้ต้องตีความ เป็นงานเขียนที่เน้นเนื้อหามากกว่ารูปแบบ ผู้เขียนเล่าเรื่องไปตามลำดับเวลาซึ่งท้ายสุดบทเริ่มต้นกับตอนจบก็จะมาบรรจบกันคือตัวละคร "ผม" ก้าวเดินไปบนทางของสวนอักษรอันเป็นโลกที่ "ผม" ใฝ่ฝันถึงมาตลอด (อย่างไรก็ตาม การก้าวเข้าสู่การเป็นนักเขียนนั้นอาจเป็นจุดจบของความทุกข์ทนที่ผ่านมา แต่มันก็ยังมีอุปสรรคอีกมากรอคอยอยู่)


แต่สิ่งที่ทำให้มีปัญหาอยู่บ้าง ก็คืออ่านแล้วพาลคิดไปว่า "ผม" ก็คือคุณ "ประชาคม ลุนาชัย" ไปเสียทุกทีและเมื่อคิดไปว่า "ผม"  คือคุณประชาคม ลุนาชัย  ก็เลยคิดต่อไปอีกว่า "นี่เป็นเรื่องจริง" ทั้งที่จริง ๆ แล้วไม่ใช่ นี่เป็นเพียงนิยายซึ่งไม่เกี่ยวกับว่าจริงหรือเท็จ ไม่มีใครรู้หรอกว่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ถูกเล่าออกมาจะเป็นเรื่องแต่งหรือเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตของคุณประชาคม-แต่นี่ไม่ใช่ประเด็น-เพราะตัวอักษรและภาษาไม่ได้สะท้อนโลกของความจริงอย่างที่มันเป็น- เพียงแต่พออ่านแล้วก็นึกถึงคุณประชาคม ลุนาชัย เพราะก็เคยพบเจออยู่  


อีกอย่างหนึ่งที่อยากตั้งข้อสังเกตก็คือ คนเราเมื่อประสบความสำเร็จแล้ว จะเขียนอะไรออกมาก็ได้ จะเล่ายังไงก็ได้เพราะความสำเร็จในปัจจุบันช่วยให้การเล่าถึงความล้มเหลวในอดีตไม่ใช่เรื่องที่น่าเจ็บปวดจนเล่าไม่ได้ จากจุดยืนปัจจุบันของคนที่ประสบความสำเร็จ การเล่าถึงความล้มเหลวในอดีตจะช่วยตอกย้ำถึงความสำเร็จของปัจจุบัน แล้วพอเล่าออกมามันก็ได้รับความสนใจ เพราะมีคนอยากฟัง ซึ่งย่อมต่างไปแน่ ๆ จากจุดยืนของคนที่ล้มเหลวตลอดชีวิต จะเล่าอย่างไรมันก็เจ็บปวด เป็นเรื่องเล่าไร้ค่าที่คนอื่นก็ไม่อยากรับรู้ด้วย 


มีคนจำนวนมากที่ชีวิตมีแต่ความล้มเหลว และตายไปพร้อมกับความล้มเหลว - นี่ต่างหากที่เป็นเรื่องจริง คนที่ล้มเหลวเหล่านั้น ไม่ใช่ว่าไม่ต่อสู้ เพียงแต่เมื่อต่อสู้ไปถึงจุดหนึ่ง กำลังใจก็จะหมด มองไม่เห็นหนทางที่จะพาชีวิตไปหาสิ่งที่ดีกว่า  ตัวละครที่สู้จนประสบความสำเร็จแบบ "ผม" ในเรื่องนี้มีไม่มากนัก  


อย่างไรก็ตาม นี่เป็นงานเขียนที่คนสู้ชีวิตทุกคนควรจะได้อ่าน เพราะจะได้พบว่าความยากลำบากของ "ผม" นั้นมีมากมายเสียจนทำให้ความยากลำบากของตนเอง ของคนอื่นๆ  นั้นเป็นเรื่องเล็กน้อยไปเลย แล้ว "ผม" ก็ฝ่าฟันมันไปได้ทั้งที่ไม่มีใครเลยสักคนคอยให้กำลังใจ มีแต่ต้องให้กำลังใจตนเอง คอยปลุกปลอบใจและรักษาหล่อเลี้ยงความฝันด้วยตัวของตัวเองเท่านั้น   ญาติพี่น้องที่ต่างจังหวัดก็ไม่อาจรับรู้เลยว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง


ตอนที่สะเทือนใจอย่างมากก็คือตอนที่ "ผม" กลับบ้านเพื่อไปหาพ่อแม่ญาติพี่น้องหลังจากหายไปหลายปีโดยไม่มีข่าวคราว จนใครๆ ต่างพากันคิดตายไปแล้ว แต่แล้วเมื่อไปถึงท่ารถในตัวเมืองที่จะพาไปบ้านเกิดนั้น ได้พบกับเพื่อนบ้านคนหนึ่ง


 "มึงไม่ได้กลับบ้านกี่ปีแล้ว" แกจ้องผมและถาม
ปกติลุงห่มไม่ใช่คนช่างพูดคุย ใคร ๆ ต่างยกให้แกว่าเป็นคนเงียบที่สุดในหมู่บ้าน มีคนให้ฉายาแกว่า ตาห่มวาจาสัตย์ เนื่องจากแกพูดน้อยและไม่เคยพูดเท็จให้ใครจับได้
ถามแล้วแกจ้องหน้าผมรอคำตอบ ผมตอบไปว่า "เก้าปีกว่า"
 "ทำไมไม่ส่งข่าวคราวถึงบ้านบ้าง ทุกคนเป็นห่วง พี่สาวมึงเขียนจดหมายไปให้นักจัดรายการวิทยุประกาศหาตั้งหลายครั้ง ไม่เห็นมึงกลับมา ทุกคนก็คิดว่าตายไปแล้ว"


ผมฝืนยิ้ม "ลุงไม่เข้าใจหรอก"
 "กูเข้าใจได้ยังไง รู้ไหม พ่อมึงตายไปเมื่อห้าหกเดือนก่อนนี่เอง เขาเผากันเสร็จไปแล้ว เก็บไว้รอมึงไม่ไหว" ผมสำลักน้ำ วางขันลง เงยหน้าจ้องตาลุงห่ม "ลุงหลอกผมเล่น"
 "กูไม่รู้จะบอกมึงยังไงดี" หัวหงอก ๆ โคลงไปมา "เห็นหน้ามึงตอนแรกก็จำได้ คิดอยู่ว่าจะบอกเรื่องพ่อกับมึงยังไง"


ผมก้มหน้านิ่ง มือกำขอบโต๊ะ ลุงห่มเอื้อมมือมาตบหลัง "ไอ้แก่นมาเสียที่โรงพยาบาลยโส มันตกเกวียนช้ำใน ส่วนแม่มึง..."
ผมเงยหน้าขึ้น "แม่ผม..  ลุงบอกมาเลยว่าแม่ผมเป็นอะไร"
 "แม่มึง..." ลุงห่มเม้มปาก "ตายไปได้สี่ปีกว่าแล้วมั้ง"
ผมรู้สึกว่าโลกหมุนคว้าง เก้าอี้ที่ผมนั่งอยู่ละลายหายไป ผมผงะหงายไปด้านหลัง หล่นลงกระแทกพื้นซีเมนต์


นี่เป็นความรันทดเรื่องหนึ่งท่ามกลางความรันทดซึ่งมีอยู่ตลอดทั้งเล่มของ "ผม" แต่ก็เป็นความรันทดที่ถ่ายทอดออกมาอย่างงดงาม และไม่น่าแปลกใจเลยหากเล่มนี้จะเข้าป้ายคว้ารางวัลของโรงแรมโอเรียนเต็ล.