Skip to main content

‘วรรณกรรม’ กับคนรุ่นใหม่

คอลัมน์/ชุมชน

ไม่นานมานี้ ผมได้มีโอกาสรู้จักกับน้องๆ กลุ่มหนึ่ง ที่มาช่วยกันทำงานข่าวในลักษณะ "สติงเกอร์" หรือผู้สื่อข่าวส่วนภูมิภาค ภายใต้การนำของผู้สื่อข่าวเว็บไซต์ประชาไทประจำภาคเหนือหรือคุณ "ภู เชียงดาว" นั่นเองครับ


 


น้องๆ กลุ่มนี้ เป็น "คนรุ่นใหม่" คือเพิ่งจะเรียนจบและทำงานได้ไม่นาน แต่ละคนก็ทำงานเขียนกันมาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว พวกเขาทำจุลสาร ทำสิ่งพิมพ์ สร้างสรรค์งานเขียนร่วมกัน ตามรูปแบบของคนชอบคิดชอบเขียน ที่มักจะรวมกลุ่มกันผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ออกมา แต่เมื่อมาทำงานในเชิงข่าว ก็จำเป็นต้องมีการปรับวิธีคิดและวิธีการทำงานบางอย่าง เพื่อที่จะทำงานเป็นกระบวนเดียวกันได้


 


น้องๆ เขาผลิตงานได้สม่ำเสมอครับ เป็นรายงานข่าวบ้าง บทสัมภาษณ์บ้าง บทวิเคราะห์บ้าง ต่างจากผมที่ยังไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เพราะห่างงานข่าวมานาน เลยไม่ค่อยจะ "เข้ามือ" เหมือนเดิมแล้ว


 


ได้เห็นได้คุยกับน้องๆ กลุ่มนี้ ก็ให้คิดถึงตัวผมเองในอดีตสมัยยังเป็นนักศึกษา ซึ่งก็คงมีพื้นฐานไม่ต่างจากคนชอบอ่านชอบเขียนคนอื่นๆ เท่าไร คืออ่านหนังสือเยอะ เขียนนู่นเขียนนี่ไว้แยะ ได้ลงจุลสารของชมรมบ้าง ขององค์กรนักศึกษาบ้าง บางทีก็รู้สึกแปลกแยก บางทีก็รู้สึกสับสน ไม่รู้ว่าความชอบอ่านชอบเขียนมันจะนำไปสู่อะไร


 


จำได้ว่าตอนที่ผมเรียนจบแล้ว และไปติดต่อเรื่องขอทรานสคริปสมัครงาน แวะไปที่คณะ ได้เจอกับอาจารย์ที่ปรึกษา ท่านถามผมว่า กำลังทำอะไรอยู่ ผมตอบไปว่า "กำลังเขียนหนังสืออยู่ครับ" ท่านไม่ได้ซักถามต่อว่าเขียนอะไรแต่ก็ให้กำลังใจว่า ให้พยายามต่อไป


 


พอมาคิดย้อนดูแล้ว ก็รู้สึกเขินๆ อยู่เหมือนกัน ผมไม่รู้ว่าตัวเองพูดอย่างนั้นออกไปได้อย่างไร ทั้งที่ยังไม่ได้เขียนอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน บางทีอาจจะเป็นเพราะในตอนนั้น ผมยังไม่มีเป้าหมายอื่นๆ มีแต่ความอยากลึกๆ ในใจที่บอกว่า "จะเป็นนักเขียน" โดยที่ไม่รู้เหนือรู้ใต้ใดๆ เลยว่า ต้องทำอย่างไรถึงจะได้เป็นนักเขียน


 


แค่เขียนไปเรื่อยๆ อย่างนี้น่ะหรือ? คงไม่ใช่มั้ง...


 


จนวันหนึ่งจับพลัดจับผลูมาทำงานข่าว ซึ่งแม้จะใช้ทักษะในการเขียนเช่นเดียวกับวรรณกรรม แต่งานข่าวก็คืองานข่าว เป็นการรายงานข้อเท็จจริง มิใช่เรื่องแต่ง แม้ในช่วงแรกๆ ที่ทำงานข่าว ผมจะยังเขียนเรื่องสั้น บทกวีอยู่บ้าง แต่เมื่อทำงานไประยะหนึ่ง ผมกลับเริ่มเห็นว่า "วรรณกรรม" คงไม่ใช่คำตอบสุดท้ายสำหรับผม


 


ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของฝีมือซึ่งผมประเมินตัวเองได้เลยว่า ยังไม่ดีพอ รวมทั้ง เป้าหมายในเรื่องของการดำรงชีพ ที่ริบหรี่เลือนราง เพราะรู้ๆ กันอยู่ว่า นักเขียนไทย ที่ดำรงชีพอยู่ได้ด้วยวรรณกรรมจริงๆ นั้น มีอยู่ไม่มากนัก ทั้งส่วนใหญ่ก็เป็นคนที่สร้างงานมานานกว่า 10 ปีด้วย


 


ถ้ามุ่งมั่นที่จะเดินบนเส้นทางนักเขียน ผมอาจต้องทำตัวประหนึ่งนักบวช คือกินง่าย อยู่ง่าย ไม่ยึดติดกับวัตถุ ขยันคิด ขยันเขียน และต้องอดทนอดกลั้นต่อสภาพ "นักเขียนไส้แห้ง" ที่แม้ว่าจะมีสมองของปัญญาชน แต่มีกระเพาะของยาจก ซึ่งสารภาพตามตรงว่า "ผมไม่สามารถทำได้" ประกอบกับในเวลาต่อมา ผมพบว่าผมถนัดและฝักใฝ่การเขียนงานในรูปแบบอื่นมากกว่า


 


ฉะนั้น เมื่อถึงจุดหนึ่ง ผมจึงตัดสินใจว่าสำหรับผมแล้วการสร้างงานวรรณกรรม  จะเป็นงานศิลปะส่วนตัวที่ผมจะไม่เอามาเกี่ยวข้องกับการดำรงชีพ พูดง่ายๆ คือว่าผมไม่คิดจะดำรงชีพด้วยการสร้างงานวรรณกรรม


 


เรื่องมันเกิดขึ้น เพราะก่อนจะเขียนคอลัมน์ตอนที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้เพียงไม่กี่วัน ผมได้เจอกับน้องๆ กลุ่มที่ผมแนะนำข้างต้นอีกครั้ง น้องคนหนึ่งถามผมว่า ผมเขียนเรื่องสั้นส่งประกวดรางวัล "พานแว่นฟ้า" หรือเปล่า ผมปฏิเสธไป และด้วยอะไรก็ไม่ทราบได้ ผมเลยพรั่งพรูความเห็นเกี่ยวกับการเขียนงานเพื่อส่งประกวด และเรื่องของ "นักเขียนรุ่นใหม่" ไปเสียยืดยาว และหลังจากพูดไปเยอะแล้ว เลยคิดว่า เอาเรื่องนี้มาพูดกันสักทีก็ดีเหมือนกัน


 


บอกเสียก่อนว่า ผมไม่ได้ต่อต้านการประกวดนะครับ ผมคิดว่าดีเสียด้วยซ้ำที่มีเวทีให้มีการประกวดกันเยอะๆ แวดวงวรรณกรรมมันจะได้คึกคัก มีคนเข้ามาช่วยกันอ่าน ช่วยกันเขียนมากขึ้น ผู้ที่ได้รับรางวัลก็จะได้ภาคภูมิใจ และมีกำลังใจทำงานต่อไป 


 


แต่คำถามก็คือว่า การมุ่งเขียนงานเพื่อส่งเข้าประกวดนั้น แท้จริงแล้วคุณได้สร้างสรรค์งานอย่างอิสระแค่ไหน? เพราะแน่นอนว่า แต่ละรางวัลย่อมมีกฎเกณฑ์ มี "โจทย์" ที่ตั้งไว้ แถมยังมี "คณะกรรมการ" ที่นักเขียนอาจต้องคอยเดาใจอีกว่า จะต้องสร้างงานแบบไหนถึงจะถูกใจกรรมการ?


 


เพราะไปๆ มาๆ ดูเหมือนว่า การเขียนงานเพื่อส่งเข้าประกวดนั้น เป็นได้ทั้งการส่งเสริมให้สร้างงานเขียน และ "การสร้างกรอบเพื่อจำกัดความคิดสร้างสรรค์"


 


ลองกลับไปดูปัญหาข้อพิพาทเรื่องรางวัลพานแว่นฟ้าเมื่อครั้งที่ผ่านมาก็ได้ การที่กรรมการบางท่าน ที่เป็นนักการเมือง ไม่เห็นด้วยกับเรื่องสั้นบางเรื่องที่ให้นักการเมืองพูด "มึง-กู" ก็บ่งบอกอยู่แล้วว่า เวทีประกวดเขามี "กรอบการวัดผล" กันแบบไหน


 


รางวัลอื่นๆ ก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหา เมื่อไม่นานมานี้ก็มี ก็มีรางวัลวรรณกรรมอันหนึ่งที่ทำเอาคนฮือฮากันไปทั่ว เพราะประกาศผลว่า "ไม่มีผู้เหมาะสมจะได้รับรางวัลชนะเลิศ" ซึ่งก็ชวนให้สงสัยว่า คนที่ส่งงานเข้าประกวดไม่มีใครเข้าท่าสักคนเลยหรือ?


 


รางวัลใหญ่อย่างซีไรต์เองก็เถอะครับ มีเรื่องให้ฮือฮากันได้ทุกปี ไล่ตั้งแต่กรรมการที่บางปีก็ไม่รู้เป็นใครมาจากไหน มาจนถึงหนังสือที่เข้ารอบ ที่ชวนให้วิจารณ์กันได้มันปาก ทั้งเรื่องวงในเรื่องวงนอก ก็ลือกันไปลือกันมา แล้วสุดท้าย เอาเข้าจริงๆ การได้ซีไรต์ก็คือการได้ "พะยี่ห้อ" ที่หน้าปกหนังสือเพื่อให้ "ขาย" ได้มากขึ้น (ซึ่งอันที่จริง รางวัลอื่นๆ ก็ใช้วิธีนี้เหมือนกัน เพียงแต่ไม่ดึงดูดเท่ายี่ห้อซีไรต์)


 


อย่างที่บอก ผมไม่ได้ต่อต้านการประกวด แต่ผมไม่เชื่อในรางวัลวรรณกรรมแม้แต่รางวัลเดียวในประเทศไทย เพราะแม้แต่ยี่ห้อที่ไว้ใจได้ในอดีตอย่างซีไรต์ ในปีหลังๆ นี่ก็เริ่มจะไม่ค่อยน่าไว้ใจแล้ว ยิ่งไม่ต้องพูดถึงมาตรฐานของรางวัลอื่นๆ ที่ยังไม่ปรากฎว่าได้ "คัดสรรงานที่มีคุณภาพ" จริงๆ ออกมาให้เห็น งานวรรณกรรมที่ "พะยี่ห้อ" รางวัลที่มีมากมายบนแผงหนังสือทุกวันนี้ เราๆ ท่านๆ ลองหยิบอ่านก็น่าจะประเมินคุณภาพกันได้ ชอบ-ไม่ชอบอย่างไร ก็เป็นเรื่องของรสนิยมที่ไม่จำเป็นต้องตรงกัน


 


ถ้างานคุณดีจริง ต่อให้ไม่มีรางวัลใดๆ การันตีบนหน้าปก งานคุณก็ย่อมขายได้ (มีตัวอย่างมากมายบนแผงหนังสือ) ตรงกันข้าม ถ้างานคุณไม่ดีจริง ต่อให้มีรางวัลยาวเป็นหางว่าว ก็เท่านั้นเอง


 


นั่นเป็นประเด็นแรกที่ผมคุยกับน้องๆ ซึ่งอาจจะวิพากษ์กันแรงไปหน่อย เพราะคิดว่าน้องบางคนอาจจะมีเป้าหมายอยู่ที่การส่งงานเข้าประกวดในบางเวที แต่ก็ถือว่า ความคิดใครความคิดมันก็แล้วกันนะครับ ผมเองก็ไม่ใช่พวก "กูรู" (และไม่เคยคิดจะเป็น)  ความคิดผมก็ใช่ว่าจะถูก ความคิดน้องก็ใช่ว่าจะผิด คิดในแง่ดี ได้ท้าทายตัวเองด้วยการผลิตงานตามโจทย์ ก็เป็นการฝึกฝนอย่างหนึ่งเหมือนกัน แต่ถึงไม่ส่งประกวด คุณก็ได้ฝึกฝนตนเองเช่นกัน ไม่ใช่หรือ?


 


อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องของ "นักเขียนรุ่นใหม่" รุ่นใหม่ในที่นี้ ผมขอนิยามว่า เพิ่งเขียนงานมาได้ไม่เกินห้าปีก็แล้วกัน เพราะในช่วงเวลานี้ถือว่ากำลังมีความฝันเจิดจรัส แม้ว่าอาจจะยังไม่แน่ใจว่าชอบเขียนงานแนวไหน หรือยังไม่พอใจในฝีมือของตัวเองก็ตาม


 


ผมมาสังเกตว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คนรุ่นใหม่ที่อยากเป็นนักเขียนสามารถแบ่งอย่างหยาบๆ ออกได้เป็น 2 จำพวก พวกแรกคือพวกอยากเป็น "นักเขียน" แต่ไม่อยาก "เขียน" พูดง่ายๆ ว่าเขาปรารถนาสถานภาพนักเขียน แต่ไม่ต้องการสร้างงานเขียน หรือสร้างก็ไม่จริงจัง มีเรื่องสั้นลงหนังสือสักเล่ม หรือทำหนังสือทำมือสักเล่ม ก็พร้อมจะยืดอกเป็น "นักเขียน" ได้ทันที (ง่ายดีจัง) พวกนี้คงไม่ต้องอธิบายมากนะครับ คนที่อยาก "มีชื่อ" เร็วๆ และสร้างชื่อด้วยวิธีนี้ ย่อมไม่ยั่งยืนอยู่แล้ว


 


อีกพวกหนึ่งคือ พยายามสร้างงาน และเผยแพร่ด้วยวิธีต่างๆ ซึ่งเทคโนโลยีในยุคปัจจุบันได้เอื้ออำนวยให้มีช่องทาง และมีความสะดวกสบายมากมาย เช่น ทำนิตยสารทำมือ หรือ เขียนงานเผยแพร่ลง "อินเตอร์เน็ต" ซึ่งอย่างหลังนี่เป็นที่นิยมกันมากเพราะคุณแค่เขียนงานแล้วไปโพสต์ ไม่ต้องวุ่นวายกับการหาทุน,การพิมพ์ และการเผยแพร่ แถมถ้า "เรตติ้งดี" มีคนมาอ่านเยอะ(ไม่ว่ามันจะเยอะเพราะโพสต์เองหรือด้วยวิธีใดก็แล้วแต่) ก็มีสิทธิ์ได้รับการตีพิมพ์ เพราะงานวรรณกรรมบนอินเตอร์เน็ตนั้นมี "กลุ่มลูกค้า" อยู่แล้ว ก็คือกลุ่มคนอ่าน คนเขียนวรรณกรรมบนอินเตอร์เน็ตนั่นเอง


 


ส่วนประเภทแรกคือทำนิตยสารจุลสารกันเองนี่ อาจจะลำบากหน่อย แต่ถ้าเทียบประสบการณ์แล้ว ถ้าคุณสร้างงานประเภทนี้ได้และมีคุณภาพดีพอ คุณก็จะมี "เครดิต" ที่มีประโยชน์ต่อการสร้างงาน และสมัครงาน ในวันข้างหน้า


 


สำหรับ คนที่ได้มีโอกาสรวมเล่ม มีชื่อเสียงพอสมควร อาจจะจากรางวัลจำนวนมากที่ได้รับ หรือยอดจำหน่ายที่ค่อนข้างดี (อันหลังนี้ค่อนข้างหายาก) ก็จะกลายเป็น "นักเขียนรุ่นใหม่" ที่ยังต้องเพียรพยามสร้างงานดีๆ เพื่อให้ได้ยอดขาย "ดีๆ" และเพื่อให้ได้รางวัล "ดีๆ" ต่อไปอีก


 


เมื่อประมาณสิบกว่าปีที่แล้ว มีกลุ่ม "นักเขียนรุ่นใหม่" ที่มีผลงานรวมเล่ม จากสำนักพิมพ์ที่เคยยิ่งใหญ่แห่งหนึ่ง จำนวนนับสิบคน เวลาผ่านมาหลายปี บ้างก็ยังสร้างงานอย่างสม่ำเสมอ บ้างก็เงียบหายไป และเมื่อประมาณเจ็ดแปดปีที่แล้ว ตอนที่กระแสหนังสือทำมือกำลังบูม ก็มีกลุ่ม "นักเขียนหนังสือทำมือ" เกิดขึ้นมาอีกหลายกลุ่ม เวลาผ่านมาอีกหลายปี บางคนก็ยังพอจะมีงานให้เห็นประปราย แต่ส่วนใหญ่ไม่ปรากฏผลงานให้เห็นอีกเลย


 


ผมได้มีโอกาสอ่านบทสัมภาษณ์และฟังจากปากของนักเขียนบางคน จากทั้งสองกลุ่มที่ว่า ซึ่งพูดถึงช่วงเวลาที่ต้องการ "สร้างชื่อ" ในทัศนะที่เหมือนกันอย่างไม่น่าเชื่อ


 


เขา (หรือเธอ) บอกว่า เมื่อย้อนกลับไปมองช่วงเวลาที่กำลังต้องการอยากจะมีชื่อนั้น รู้สึกว่าเป็นความคิดที่ "เด็กๆ" เหลือเกิน เพราะเมื่อย้อนกลับไปอ่านงานของตัวเองในช่วงนั้นแล้ว มันให้ความรู้สึกที่ "แย่" มากกว่า "ดี" 


 


ผมเชื่อว่า งานวรรณกรรมที่ดี ไม่เกี่ยวกับ "อายุ" หรอกครับ แต่เกี่ยวกับว่าคุณ"จริง" กับสิ่งที่คุณเขียนแค่ไหน ถ้าคุณไม่สามารถทำให้คนอ่านเชื่อได้ว่า คุณเข้าใจมันจริงๆ รู้สึกกับมันจริงๆ จนกระทั่งถ่ายทอดผ่านตัวหนังสือมาสู่คนอ่านให้ "อิน" ไปกับคุณได้แล้ว ต่อให้คุณพยายามประดิดประดอยแค่ไหน มันก็ไม่สามารถเป็นงานเขียนที่จับใจคนอ่านได้


 


นักเขียนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อย พยายามเขียนในสิ่งที่เขาจินตนาการเอาเองว่ามันน่าจะเป็นอย่างนั้น มันควรจะเป็นอย่างนี้ โดยหลงลืมไปว่า จินตนาการก็มีพื้นฐานอยู่บนความเป็นจริง ต่อให้คุณเขียนเรื่องแฟนตาซี มันก็ยังต้องมี "ความจริงบางอย่าง" แฝงอยู่ในความเป็นแฟนตาซีนั้น หรือถ้าคุณจะเขียนแนวสัจนิยม มันก็มี "ความจริงของสังคม" ซึ่งถ้าคุณไม่เข้าใจคุณก็เขียนไม่ได้


 


งานเขียนดีๆ ไม่ได้ถูกสร้างง่ายๆ นักเขียนที่มีงานเป็น "อมตะ" จึงมีเพียงน้อยนิด แต่นักเขียนประเภท "กระดาษเปื้อนหมึก" กลับมีมากมาย


 


ผมก็อยากจะบอกน้องๆ "คนรุ่นใหม่" ที่พยายามสร้างงานเขียน เช่นเดียวกับที่ผมเคยได้รับการสั่งสอนมาจากผู้ใหญ่ที่เคารพหลายท่าน คือ ไม่จำเป็นต้องไปขยัน "สร้างชื่อ" รีบไขว่คว้าหาความสำเร็จอยากเป็น "somebody" กันเร็วๆ


 


ขอให้ขยัน "สร้างงาน" ก่อนเถอะ เดี๋ยว "ชื่อ" มันจะตามมาเอง