Skip to main content

เสรีภาพอยู่ที่ไหน

คอลัมน์/ชุมชน

หนึ่งในประเด็นร้อนตอนนี้บนเว็บประชาไทคือเรื่องของ "เสรีภาพ" ในการแสดงออกซึ่งยังเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทยแล้วกระฉอกออกมาสู่เว็บตรงนี้ เนื่องจาก "ประชาไท" ใจกว้างในการที่จะยอมให้ผู้อ่านหรือผู้เข้ามาเยี่ยมได้ให้ทัศนะของตนเอง จะเป็นลักษณะ "บ้วนทิ้ง" หรือไม่ ก็ตามแต่ หากสิ่งที่เกิดตามมาคือความอลวน ความขัดแย้ง และความคิดใหม่ๆ ที่แตกต่าง ที่เข้าท่าบ้างและไม่เข้าท่าบ้าง (อันนี้ขอพูดในฐานะที่เป็นคนอ่าน) สิ่งที่น่าสนใจกว่านั้นคือ แสดงให้เห็นถึงมารยาทและความเข้าใจในเรื่องของ "เสรีภาพในการแสดงออก" ที่ขาดๆ เกินๆ


 


ผู้เขียนได้คุยกับเจ้าหน้าที่ของ "ประชาไท" ว่า อยากเขียนเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องสำคัญของความเป็นประชาธิปไตยที่หลายคนเรียกร้องและอยากได้ ถ้าจะมองให้ชัดเจนลงไปอีก ต้องยอมรับว่า "ประชาธิปไตย"เป็นเรื่องทางตะวันตกที่เราเอาเข้ามา แต่ลืมมองว่า "วัฒนธรรม" ของไทยเรา ไม่ได้เอื้อแต่อย่างใด ดังนั้นเมื่อคนมองว่าทำไมมันยังไม่มีประชาธิปไตย ก็ต้องตอบว่าตราบใดที่ความเป็นไทยที่ชนชั้นปกครองมานิยามคำนี้แบบที่เห็นๆ ก็คงไม่มี "ประชาธิปไตย" อย่างที่ตะวันตกเป็น นอกจากจะเป็นแบบขาดๆเกินๆ แบบไทยๆ อันนี้ต้องถามกันเองว่าอยากได้แบบไหนกันแน่ด้วย


 


อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนไม่ใช่ "นักรัฐศาสตร์" หรือ "นักนิติศาสตร์" แต่เป็น "นักการสื่อสาร" จึงใช้มุมมองที่ตนเองถนัดเข้ามาจับ แต่ไม่ได้บอกว่าจะให้คำตอบที่ถูกที่สุด เพียงแต่ว่าจะไม่ทำอะไรในสิ่งที่ตนเองไม่ถนัดหรือไม่รู้ เพราะไม่ต้องการแสดงความเป็น "ทุย" ออกมาโดยไม่จำเป็น อันจะเป็นเหตุให้ผู้คนมาอดสูและพาลจะอดสูตนเองในที่สุดด้วยเช่นกัน


 


ประเด็นแรกที่ขอกล่าวคือ เรื่องเสรีภาพในการแสดงออกทั่วไป ถ้าเราจะเชื่อในความเป็นประชาธิปไตยแล้ว เราเชื่อว่า ทุกคนมีสิทธิในการแสดงออก ตราบใดที่สิทธิดังกล่าวจะไม่ไปทับสิทธิของคนอื่น ดังนั้น การ "เซ็นเซ่อร์"  จึงเป็นเรื่องที่ไม่พึงกระทำ แม้กระทั่งจะมาอ้างว่า "เพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวม" เพราะเป็นแค่ว่าทะลวงๆ กลวงๆ ที่ชนชั้นปกครองมักชอบนำมาใช้เพื่อ "ควบคุม" และไม่ให้เกิดการต่อต้านและฝืนอำนาจอันไม่ชอบธรรมของตน  ทั้งที่คำว่า "เพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวม" คือการที่ทำให้คนรู้จักเสรีภาพและสิทธิของตน ซึ่งจะทำให้แต่ละคนเองมีสำนึกที่จะทำให้เกิด "ประโยชน์สุขของส่วนรวม" ต่อไปเป็นลำดับๆ ต่อเนื่องอยู่แล้ว


 


สหรัฐฯ ถือเป็นประเทศที่มี "เสรีภาพ" เรื่องนี้เป็นอย่างมาก ถือเป็นแม่แบบในเรื่อง "ประชาธิปไตย" ได้ในระดับหนึ่ง มีกฎหมายหลักในรัฐธรรมนูญที่เรียกว่า The First Amendment[1] มีใจความเป็นภาษาอังกฤษดังนี้


              


Congress shall make no law respecting an establishment of religion, or prohibiting the free exercise thereof; or abridging the freedom of speech, or of the press; or the right of the people peaceably to assemble, and to petition the Government for a redress of grievances.   


 


พูดง่ายๆ คือ การที่จะถือ (หรือไม่ถือ) ศาสนา  การที่จะพูด การที่จะกระจายข่าวของสื่อมวลชน การที่จะชุมนุมอย่างสันติ การที่จะร้องเรียนเพื่อความยุติธรรมต่อรัฐบาล ถือเป็นสิทธิที่รัฐจะละเมิดมิได้ (คือละเมิดโดยผ่านการออกกฎหมายที่จะไม่ยอมให้เกิดเสรีภาพในเรื่องที่กล่าวมาแล้ว) และถือเป็นเรื่องของการพิทักษ์สิทธิของปวงชนโดยเฉพาะ


 


ประเด็นที่สอง ผู้เขียนขอมองไปยังเรื่องของ "เสรีภาพในการสื่อสาร" อันเป็นเรื่องที่วงการการสื่อสารหรือนิเทศศาสตร์ให้ความสนใจโดยตรง (แต่ก็แปลกที่ว่า คนที่ศึกษาเรื่องนี้โดยตรงที่ผู้เขียนพบเจอและทำงานด้วยหลายคนในสหรัฐฯ เป็นพวกบุคคลมีปัญหา ไปที่ไหนก็วงแตก เรียกร้องเอาแต่ประโยชน์ส่วนตน จนคนเอือมระอากันไปหมด) ในเมืองไทยนั้น "วาทวิทยา" เป็นสาขาวิชาที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อย่างเลี่ยงไม่ได้ และ จะมองคลุมไปทั้งหมด ไม่ว่าบริบทใดก็ตาม ส่วน"สื่อสารมวลชน" ก็เช่นเดียวกัน แต่เน้นในบริบทของการใช้สื่อมวลชน


 


นับแต่อดีตของมนุษย์ มนุษย์มีการเข่นฆ่าและทำลายล้างกันมาในยุคไหนต่อไหน คนที่ขัดแย้งกับฝ่ายที่มีกำลังเหนือกว่าหรือกำลังมากกว่า มักโดนเพ่งเล็งและอาจโดนเก็บแบบเปิดเผยและไม่เปิดเผย จนมีคนเรียกกันว่า "โอษฐภัย" หากเกิดในผู้ที่อยู่ในอำนาจ ผู้มีอำนาจนั้นก็จะเสื่อมถอยอำนาจจากพิษของปากตนเอง จึงเกิดเป็นสำนวนอีกว่า "พูดดีเป็นศรีแก่ตัว พูดชั่วอัปราชัย" นอกจากนี้ หลายคนได้ดิบได้ดีในการงานก็เพราะลมปาก และหลายคนต้องหนีหัวซุกหัวซุนเพราะไปหักหน้า มีอาการ "ปากสุนัข" กับผู้มีอำนาจ ทั้งๆ ที่ผู้มีอำนาจนั้นอาจจะเลวสุดๆ ก็ตาม


 


ดังนั้น กฎหมายดังกล่าวของสหรัฐฯ จึงเป็นการที่จะปกป้องพลเมืองของเค้าว่าจะไม่มีอันตรายจากการพูด แต่ในความเป็นจริงหลายๆ หนก็ไม่ได้มีการปกป้องที่แท้จริง แต่ยังดีกว่าหลายประเทศที่ไม่เคยแม้แต่จะคิด อาจมีแค่ติดไว้โก้ๆ เหมือนป้ายชื่อเภสัชกรในร้านขายยาทั่วไปของไทย


 


ขนาดในสหรัฐฯ ที่ผ่านกระบวนการเติบโตพัฒนาทางประชาธิปไตยมามากขนาดนี้ ตายกันเป็นแถบๆ ในช่วงสองร้อยกว่าปีที่ตั้งเป็นประเทศมา  ความขัดแย้งของเขาก็มีมาตลอด ไม่ได้นิ่งๆ เพียงแต่ว่าเค้าแบ่งงานกันเป็น เค้าไม่ขี้เกียจ เค้าไม่มีความคิดว่า "คนมีบุญคือคนที่อยู่เฉยๆ แล้วมีกินมีใช้" แต่เค้ามีความคิดว่า "พระเจ้าจะช่วยคนที่ช่วยตนเองก่อน" อันเป็นจริยธรรมการทำงานที่มีในวัฒนธรรมของเค้า อันนี้ผู้เขียนเคยเขียนไว้แล้วตามลิงค์ข้างล่าง[2] ต้องยอมรับว่าเรื่องพฤติกรรมไม่งอมืองอตีนเป็นไปได้ดีกับประชาธิปไตย ไม่ใช่คอยให้คนมาช่วยหรือมาแจกความอาทร


 


ส่วนเรื่อง "เสรีภาพของสื่อมวลชน" ก็จะไปเพ่งเล็งในเรื่องของการหมิ่นประมาท หรือ defamation เสียมากกว่า เพราะสื่อเองนั้นได้รับการปกป้องอยู่ แต่หลายครั้งสื่อก็หลุดโลกไปได้ จริงๆไม่ใช่สื่อหรอก แต่คนทำสื่อนั่นต่างหาก อันนี้ให้คนที่ชำนาญด้านนี้โดยตรงมาพูดดีกว่าว่ามาตรฐานสื่อนั้นมีจริงแค่ไหน แล้วคนทำสื่อหลายคนที่มีปากกาในมือที่ดีจริงๆมีกี่คน (เอ๊ะ จริงใจเกินไปรึเปล่านี่)


 


ดังนั้น การมีเสรีภาพในด้านใดๆ ก็ตามมาจากพื้นฐานของความไม่ดูดาย ไม่คอยให้ฟ้ามาโปรย ไม่คอยให้ผู้นำมาให้ความหวัง แต่มาจากการที่ตระหนักในหน้าที่ของตนที่มีจิตอารยะหรือ จิตสาธารณะ Civic Mind เมื่อเป็นเช่นนี้ เสรีภาพต่างๆ จะก้าวเข้ามาเรื่อยๆ ความไม่โปร่งใส การหมกเม็ดก็จะเกิดได้ยาก เพราะมีกระบวนการตรวจสอบที่ดี และคนรุ่นใหม่ๆ จะได้เรียนรู้และพัฒนาต่อไป ไม่ใช่แบบที่เราเห็นอยู่ที่ว่าเด็กหรือคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ของเราไม่ได้เรื่อง ไอคิวต่ำเตี้ยทุกวัน (อันนี้คอลัมนิสต์เด็กๆ ของ "ประชาไท" ขอให้ใจกว้างด้วย ว่าผู้เขียนไม่ได้ด่าเด็กทั้งหมด) ว่าไปก็ต้องดูพ่อแม่ซึ่งเป็นคนรุ่นเดียวกับผู้เขียนทั้งนั้นด้วยที่ไม่รู้จักคิด


                                                                                                   


ผู้เขียนมองว่าปัญหาเรื่องเสรีภาพ ต้องแก้มากกว่าทางกฎหมายหรือการปกครอง แต่ต้องแก้ที่วัฒนธรรม มันอาจแก้ไม่ได้ในวันนี้ แต่ต้องค่อยๆแก้ ทุกคนต้องช่วยกัน ปัญหาคงมี การขัดแย้งก็มี แต่ต้องเรียนรู้ที่จะแก้ไข ด่ากันบ้าง หัวเราะกันบ้าง แต่ไม่ใช่แต่จะเอาชนะกัน พูดง่ายทำยากแต่ต้องทำ วันนี้ไม่ทันเห็น แต่วันหน้าต้องเห็น อย่าลืมว่าที่เรามีวันนี้เพราะคนรุ่นเก่าๆ ได้กรุยทางมาให้พวกเราเท่าที่เค้าจะทำได้ ถึงคราวของพวกเราที่ต้องทำบ้าง ไม่งั้นต่อไป ลูกหลานจะด่าว่า "ปู่ย่าตายายจัญไร" เพราะไม่ได้ให้อะไรกับสังคมต่อคนรุ่นต่อไปเลย