Skip to main content

จากสายน้ำวางที่วางตัวสู่ชีวิตอันยั่งยืน

คอลัมน์/ชุมชน

ธารรพี ชมพูพร/ เรื่อง


วัชระ สุขปาน/รูปประกอบ


 


 


                              


 


เวิ้งอ่าวของลุ่มน้ำวาง ดินแดนต่อเนื่องไปทางทิศตะวันตกของอำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่  ถึงตำบลบ้านกาด อำเภอแม่วาง  ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทำสวนลำไย ทำนาข้าว พื้นที่ราบกว้างใหญ่ ที่นี่ยังเป็นแหล่งปลูกหอมแดง หอมหัวใหญ่ ที่ป้อนผลผลิตมหาศาล สู่ตลาดภาคเหนือและตลาดภาคกลาง ก่อนถูกกระจายไปเลี้ยงคนทั่วประเทศ โดยมีสายน้ำแม่วางไหลหล่อเลี้ยงทั้งลุ่มน้ำ


 


เดินทางเลียบน้ำแม่วางขึ้นไป ระหว่างอ่าวภูเขา ตามถนนสายแม่วาง – บ้านแม่แฮเหนือ กิโลเมตรที่ 16-31เราก็จะได้พบกับสายน้ำ แม่วิน ที่บ้านสบวิน ห้วยโป่ง บ้านแม่มูต บ้านแม่สะป๊อก ซึ่งในปัจจุบัน ธุรกิจขี่ช้าง ล่องแพ เดินป่า กำลังบูมขึ้นเรื่อยๆ เฉลี่ยนักท่องเที่ยวประมาณ 500 คน  ต่อวัน ผ่านขึ้นไปบริเวณต้นน้ำหรือลุ่มน้ำวางตอนบน เป็นหมู่บ้านของพี่น้องชนเผ่า ประกอบด้วย พี่น้องชนเผ่าม้ง และปกาเกอญอ จำนวน 16 หมู่บ้าน แยกเป็น 46 หย่อมบ้าน


 


พะตี่จอนิ  โอ่โดเชา ปราชญ์ชาวบ้านลุ่มน้ำวาง และอดีตสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเล่าว่า  ในสมัยก่อนเมื่อประมาณ 200 กว่าปี  ปู่ย่าตายายเล่าให้ฟังว่า ตั้งแต่ตำบลแม่วิน ที่น้ำแม่วินไหลผ่านตรงนั้น เรียกว่าบ้านสบวิน เป็นถิ่นอาศัยของคนเมืองพื้นราบ พูดภาษาคำเมือง คนล๊วะ คนญางหรือชาวปกากะญอ ต่อมาพี่น้องชาวล๊วะก็เริ่มขยาย บางส่วนผสมกลมกลืนกับคนเมืองพื้นราบ และมีล๊วอีกกลุ่มหนึ่ง ที่อพยบขึ้นไปบนดอยสูง ตามหลักฐานที่ปรากฏวัดเก่า และกระดูกของบรรพชนชาวล๊วะหลายแห่ง หลังจากนั้นชาวญาง หรือปกาญอก็เข้ามาอยู่ต่อ และมีความผูกพันกันเหนียวแน่นกับพี่น้องทุกกลุ่มชาติพันธุ์ในลุ่มน้ำวาง  ระหว่างคนพื้นราบกับบนดอยก็ดี ช่วงที่มีการทำนามีการยืมวัว ยืมควายกันไถนา ควายบนดอยตัวใหญ่ ขยันและแข็งแรง เป็นที่ร่ำลือ ต่อมาก็มีการสืบเสาะหา บอกต่อกันไป  พ่ออุ่น ศรีวิชัย  ปราชญ์ผู้รู้แห่งสภาวัฒนธรรมอำเภอแม่วาง เป็นคนหนึ่งที่ได้พึ่งพา พบปะกับพี่น้องบนดอยมาตลอดเล่าว่า


 


"ไปพักค้างคืนกันได้ เป็นพี่น้องกัน สมัยก่อนต้องเดินเท้าอย่างเดียว พี่น้องบนดอยมาซื้อของในเมืองก็แวะหากัน คนเมืองพื้นราบก็ไปหาเห็ด หน่อไม้บนดอยทุกปี คุ้นหน้าคุ้นตากันดี"


 


ปัจจุบันชาวบ้านในลุ่มน้ำวางมีการรวมตัวก่อรูปเป็นเครือข่ายลุ่มน้ำอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากการใช้ทรัพยากรร่วมกันเช่น  หาของป่า ขุดหน่อไม้ และใช้สายน้ำเดียวกัน


 


ระหว่างการเดินทางของสายน้ำเหนือระดับน้ำทะเล 700 เมตรขึ้นไป มีเหมืองฝายชุมชนปกาเกอญอกั้นอยู่ 11 ลูก และมีชุมชนพื้นราบ รอรับน้ำมากกว่า 65 ชุมชน ลำห้วยกว่า100 สาย ที่เป็นสาขาของน้ำวาง ประกอบด้วย น้ำขุนป๋วย น้ำแม่วางขวา น้ำแม่วางซ้าย น้ำแม่สะป๊อก น้ำแม่เตียน น้ำแม่มูต  น้ำแม่วินไหลลงน้ำสบวางอำเภอสันป่าตองหลลงแม่น้ำปิงที่บ้านสบขาน ตำบลสองแคว เขตท้องที่ กิ่งอำเภอดอยหล่อ สิ่งเหล่านี้บ่งบอกได้ว่า ผู้คนแถบนี้ได้ผ่านประวัติศาสตร์ชุมชนลุ่มน้ำร่วมกันมาอย่างยาวนาน


 


กิจกรรมในลุ่มน้ำ


ปัจจุบันมีโครงการฟื้นฟูความสัมพันธ์ของการเป็นพี่เป็นน้อง เป็นเสี่ยว หรือความเป็นเพื่อนกัน  ความรู้สึกของการเป็นคนท้องถิ่นร่วมกัน เพื่อรับรู้สถานการณ์ในลุ่มน้ำวางตอนบน และตอนล่าง กิจกรรมการรื้อฟื้นประเพณีดั้งเดิม โดยมีคนเชื่อม 3 ระดับ อาทิ กลุ่มคนเฒ่า คนแก่ พ่อบ้าน แม่บ้าน พ่อครู แม่ครู กลุ่มเยาวชน โดยใช้ความรู้ ประสบการณ์ ประเพณีพิธีกรรมในท้องถิ่นเป็นเครื่องมือดั้งเดิมที่เคยใช้ต่อกันมา  นอกจากนั้นยังมีเวทีพบปะกันพาคนข้างบน- ล่าง พื้นราบศึกษาดูงาน พยามให้กลไกท้องถิ่นทำงาขับเคลื่อนไปอย่างช้า เช่น พระ คริสต์จักร  ครู โรงเรียน เครือข่าย สภาวัฒนธรรม ข้าราชการ และองค์กรสถาบันต่างๆจะมาร่วมงานกิจกรรมกันอย่างต่อเนื่องเช่น งานทำบุญ บวชป่า เลี้ยงผี  สืบชะตาแม่น้ำ ประเพณีกินข้าวก๋ำ ค่ายเยาวชน งานสัญจร  โดยมี สถาบันส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นองค์กรภาคเอกชนที่ช่วยประสานงานหนุนเสริมกิจกรรม


 


การต่อสู้เรื่องสิทธิชุมชน


ลุ่มน้ำวางตอนบนซึ่งมีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาสูง ปัจจุบันอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วางและเขตอุทยานแห่งชาติออบขาน มีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากมาย ที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการ กับธุรกิจการท่องเที่ยวและมีความสวยงาม อีกทั้งยังเป็นสถานที่อยู่อาศัยของชาวบ้านและที่ทำมาหากินดั้งเดิม


 


พะตีจอนิ  โอ่โดเชา เล่าว่า "ชาวบ้านในเขตต้นน้ำ เริ่มลุกขึ้นมาคุยกันถึงเรื่องสถานการณ์ของชุมชนตั้งแต่ปี 2532 ต่อมาเมื่อปี 2540 ชาวบ้านในเขตลุ่มน้ำวางตอนบน จำนวน  46 หย่อมบ้าน เข้าร่วมชุมนุมต่อสู้เรียกร้องต่อรัฐบาลกรณีป่าไม้ที่ดิน การประกาศเขตป่าทับที่ทำกิน  หลังจากที่ต่อสู้มาแล้วรวมถึงวันนี้ย่างเข้าสู่ปีที่ 14 แล้ว  ทั้งยื่น 50,000 รายชื่อ ตามกติกาการเมือง รัธรรมนูญฉบับใหม่สนอต่อรัฐสภา แต่ยังไม่มีความคืบหน้า  แถมพวกเรายังได้วีรบุรุษ ที่ต่อสู้เพื่อคนอยู่กับป่า อย่าง พะตี่ปูนุ  ดอกจิมู ที่เดินทางกลับมาจากชุมนุมรียกร้องหน้าทำเนียบ เกิดการน้อยใจอย่างมากที่ทางการไม่แก้ไขปัญหาให้เป็นธรรม แถมยังมีแผนอบพยบชาวบ้านที่อยู่ในเขตลุ่มน้ำชั้น 1A ออกมาให้หมดด้วย พะตี่ปูนุจึงตัดสินใจกระโดรถไฟ เสียชีวิตที่จังหวัดลำปาง  นักต่อสู้ท่านนี้ก็เป็นคนลุ่มน้ำวางบ้านเรา "


 


"การต่อสู้เพื่อพระราชบัญญัติป่าชุมชน มันยาวนานมากและเราก็ต้องทำความเข้าใจกันกับสังคม กับเพื่อน พี่น้องในสังคม มันเหมือนกับเรื่องเล่าเรื่องหนึ่ง ของคนแม่วางที่มีหนุ่มคนเมืองพื้นราบ บ้านอยู่ที่บ้านแม่วินข้างล่าง ชื่ออ้ายคำกับหนุ่มปกาเกอญอที่บ้านอยู่บนดอยชื่อว่าอ้ายโอ ทั้งสองหลงรักหญิงสาวชาวดอยคนเดียวกัน


 


จะทำอย่างไรดี  เพราะอ้ายคำกับอ้ายโอก็เป็นเพื่อนรักกัน  ทั้งสองเลยมาหารือกันท่ามกลางสุรามิตรและหญิงสาวนางนั้น  สหายทั้งสองตั้งกติกาว่า  เราสองคนมาร้องเพลงแข่งขันกันใครร้องเพลงเกี้ยวพาราสีเก่งกว่า ก็จะได้หญิงงามนางนั้นไปเป็นคู่ครองเรือน  ฝ่ายอ้ายคำ ผู้มีดีกรีฐานะเป็นนักเลงกลอนพื้นเมืองแบบทางเหนืออยู่แล้ว อ้ายคำก็ร่ายเพลงไพเราะ  เสนาะหู บรรยายถึงธรรมชาติที่สวยงาม ป่าไม้  แม่น้ำ งดงามเหมือนหญิงสาวนางนี้  จบเพลงคราวนี้เป็นทีของอ้ายโอที่ไม่ค่อยรู้หนังสือ  เพราะไม่เคยเข้าเรียนในระบบ  เข้าเมืองหูตาก็ไม่ว่องไว


 


เคยไปซื้อปลาทูในตลาดสดครั้งหนึ่ง อ้ายโอถามแม่ค้าว่า  "ปลาทูนี่กิโลทำไม ? อันที่จริงเขาจะถามว่าปลาทูนี้กิโลละเท่าไหร่?"


 


อ้ายโออึดอัดลำบากใจ ที่ต้องมาต่อกรกับเพื่อนรักอย่างอ้ายคำ ไม่รู้ว่าจะร้องเพลงอย่างไร ก็คิดว่ามันเป็นเรื่องของเวรกรรม   ว่าแล้วอ้ายโอก็ขึ้นเพลงของเขามา


 


"อ้ายคำเหอ  อ้ายโอกับอ้ายคำปาโธ้ ไม่มึงก็กูปาโธ้  อ้ายโอกับอ้ายคำ ไม่กูก็มึงปาโธ้  อ้ายคำกับอ้ายโอ "


 


สิ้นเสียงเอื้อนเอ่ยพรรณนา เป็นอันว่า อ้ายโอ หนุ่มหน้ามนคนดอยได้หญิงงามนางนั้นไปครองเรือน เพราะความซื่อใส จริงใจ  อ้ายคำยินยอม และหญิงงามประจำดอยนางนั้นก็เห็นใจอ้ายโอ ไม่รู้ว่ามันจะร้องเพลงว่าอย่างไรดี ก็มีกันแค่สองคน ที่เป็นเพื่อนรักกันแล้วยังต้องตัดสินชัยชนะกัน


 


ก็เหมือนกับ พ..บ.ป่าชุมชนของเราที่เสนอไป แล้วมีกลุ่มต่างๆ ในสังคม มาคัดค้านไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาบางอย่าง ของพ.ร.บ.ป่าชุมชน ทั้งที่ต่างฝ่ายต่างหวังให้ป่าไม้เมืองไทยดำรงอยู่อย่างยั่งยืน เขาอาจไม่วางใจในแนวทางหรือวิธีการบางอย่างที่เราทำ แต่เราก็ต้องทำความเข้าใจ  นำภูมิปัญญา  ประเพณี องค์ความรู้ที่เรามี ดูแลจัดการทรัพยากรของเรา และของโลก ให้เขาเชื่อมั่นในตัวตนของเรา สุดท้ายเขาก็เห็นว่าเรายืนหยัดทำจริงและเข้ามาสนับสนุนกับเราอย่างเหนียวแน่นเอง"


 


พะตี่จอนิ โอ่โดเชา สรุปปิดท้ายเรื่องอย่างลงตัว.