Skip to main content

Time to Deliver?

คอลัมน์/ชุมชน

 "Time to Deliver" คือ ประเด็นหลักในงานเอดส์โลกครั้งที่ ๑๖ เมื่อวันที่ ๑๒ – ๑๘ สิงหาคม ที่ผ่านมา ณ เมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา ปรากฏว่า อาคาร Metro Toronto Convention Center (MTCC) คลาคล่ำไปด้วยคนทำงานเอดส์ จากนานาประเทศกว่าสามหมื่นคน


 


ประเด็นที่ต้องการให้ "ทั่วถึง" ที่พูดกันมากในงานนี้  หลักๆ เป็นเรื่องของการรักษา เช่น เรื่องการพัฒนายาต้านไวรัสและการกระจายยาต้านไวรัสให้ครอบคลุมผู้ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ ส่วนในเรื่องของการป้องกันนั้น กล่าวถึงเรื่องสิทธิทางเพศ ทางเลือกประเทศไทย แม้ว่าจะเป็นเพียงประเทศเล็กๆ และกำลังพัฒนา แต่ในการทำงานเรื่องเอชไอวีเอดส์ ต้องบอกเลยว่ามีหลายเรื่องที่เราเองก็ทำและ "ส่งออก" ได้ไม่น้อยหน้าใคร...


 


เช่น การที่เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ได้รับรางวัลริบบิ้นแดง (Red Ribbon Award) ในสาขาการจัดให้มีการเข้าถึงการรักษาพยาบาลและสนับสนุนผู้ติดเชื้อฯ ซึ่งเป็นเพียง ๑ ใน ๕ รางวัลจากการคัดเลือกองค์กรที่เสนอผลงานกว่า ๕๐๐ องค์กรทั่วโลก และรางวัลอีก ๔ สาขา คือ


 


หนึ่ง สาขาการต่อสู้กับปัญหาการเลือกปฏิบัติและการรังเกียจ ได้แก่ The All Ukrainian Network of People Living with HIV/AIDS จากประเทศยูเครน


 


สอง สาขาการต่อสู้กับปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศที่มีผลต่อการแพร่กระจายการติดเชื้อฯ ได้แก่ The Girl Child Network จากประเทศซิมบับเว่


 


สาม สาขาสนับสนุนโครงการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ ได้แก่ Durjoy Nari Shongo จากประเทศบังคลาเทศ


 


และสี่ สาขาให้การสนับสนุนเด็กกำพร้าที่ติดเชื้อฯและเด็กด้อยโอกาสอื่นๆ ได้แก่ Mboole Rural Development จากประเทศแซมเบีย


 


ทั้งนี้ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย (The Thai Network of People Living with HIV/AIDS (TNP+) ได้ดำเนินโครงการและกิจกรรมที่สำคัญกับชีวิตของเพื่อนผู้ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ในประเทศไทยอย่างมาก เช่น การผลักดันการให้ยาต้านไวรัสครอบคลุมอยู่ในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งทำให้ผู้ติดเชื้อฯ จำนวน ๘๐,๐๐๐ คนทั่วประเทศได้รับยาต้านไวรัส


 


การริเริ่มโครงการศูนย์องค์รวม (The Comprehensive Continuum of Care – CCC) ซึ่งมีทั้งสิ้น ๑๘๔ กลุ่ม ที่สนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้ติดเชื้อฯ เป็นผู้ให้บริการร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลต่างๆ


 


เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ยังได้ดำเนินกิจกรรมรณรงค์อื่นๆ ที่คนทั่วไปมักจะรู้จักตามข่าวต่างๆ นั่นคือ การติดตามและคัดค้านการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีระดับทวิภาคี ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ (เอฟทีเอ ไทย-สหรัฐฯ) การต่อสู้ทางศาลกับบริษัท บริสตอล ไมเยอร์ สวิปปส์ (BMS) ให้ถอนสิทธิบัตรยาดีดีไอ (ddI) และล่าสุด คือการกดดันให้บริษัทแกล็กโซ สมิทธ์ ไคลน์ ถอนคำขอสิทธิบัตรยาคอมบิด ที่ไม่มีการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น เป็นต้น


และนอกจากนี้ ในบริเวณงานที่จัดเป็นหมู่บ้านโลก (Global Village) ซึ่งมีซุ้มเครือข่ายต่างๆ หลายร้อยซุ้มจากทั่วโลก ที่ได้มีการจัดกิจกรรมให้คนดูได้มีส่วนร่วมนั้น ปรากฏว่า เจ้าหญิง Mette – Marit แห่งประเทศนอรเวย์ ได้เสด็จมาเยือนซุ้มเครือข่ายศาสนา (Multi faith Networking) ซึ่งมีพระภิกษุชาวไทย ได้แก่ พระครูธนวัฒน์ วรรณาลัย เจ้าอาวาสวัดหัวริน จังหวัดเชียงใหม่และพระภิกขุสุธีโร ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในการเผยแผ่พุทธศาสนาและการทำสมาธิวิปัสนาที่ samma patipadaram monastery (The international meditation center) ณ ประเทศนิวซีแลนด์ เป็นตัวแทนในการสนทนาธรรม


 



 



 



 


บทบาทศาสนาต่างๆ หรือพระสงฆ์ในการทำงานเรื่องเอดส์ในประเทศไทยเองก็น่าสนใจ เช่น กรณีที่พระครูธนวัฒน์เล่าว่า "พระสงฆ์ต้องปรับบทบาทตัวเองในการทำงานเชิงรุกกับชุมชนให้มากขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ชาวบ้านและผู้ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเข้าใจ แทนที่พระสงฆ์จะนั่งรอให้ผู้ที่มีความทุกข์ใจเข้ามาปรึกษาที่วัด" ทั้งนี้ พระครูธนวัฒน์ได้ให้การสนับสนุนและส่งเสริมกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ในชุมชนตำบลหัวริน ดำเนินกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น การทำงานเยี่ยมบ้าน การส่งเสริมอาชีพ การให้ทุนสำหรับเด็กที่ได้รับผลกระทบต่อการติดเชื้อ และการทำงานรณรงค์ป้องกันและการอยู่ร่วมกันในชุมชน เป็นต้น


 


ในสถานการณ์การทำงานเอดส์ ๒๐ กว่าปีที่ผ่านมา ทั้งผู้ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์  และพระภิกษุสงฆ์ท่านได้ใช้เวลาในการส่งต่อ (Time to deliver) ในด้านองค์ความรู้และการทำงานเพื่อส่งเสริมประชาชนให้มีเพศสัมพันธ์ที่รับผิดชอบและปลอดภัย การทำความเข้าใจเพื่อสร้างการยอมรับและอยู่ร่วมกันระหว่างผู้ติดเชื้อและผู้ไม่ติดเชื้อ ตลอดจนการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อผู้ป่วยเอดส์...


 



 


แล้วคุณล่ะ...เมื่อถึงเวลานี้ ส่งต่อเรื่องเอดส์กันอย่างไร...?