Skip to main content

"คำขอโทษ" ที่ผามออีแดง กับ "รอยแค้น" ที่ถูกจารึก

คอลัมน์/ชุมชน

ช่วงหลายปีที่ผ่านมาผมมีโอกาสสัญจรไปตามตะเข็บแนวชายแดนไทยแทบทุกด้าน ทั้งในฐานะนักข่าว และในฐานะนักท่องเที่ยว


 


ทุกครั้ง คำถามที่คนร่วมทริปมักจะกล่าวขึ้นมาบ่อยๆ จะเป็นคำถามประเภท "ฝั่งนั้นเคยเป็นของเราใช่ไหม" และ "ถ้าเราไม่โดนฝรั่งมาล่าอาณานิคมป่านนี้ประเทศคงใหญ่โตมโหฬารไปแล้ว" ฯลฯ และ ฯลฯ


 


ผมพบว่าคำถามนี้ เกิดบ่อยในหมู่คนไทยที่ไปเที่ยวตามจังหวัดริมโขง และระบาดหนักยิ่งในกลุ่มที่ไปเยี่ยมเยือนเขาพระวิหารที่จังหวัดศรีษะเกษ (แน่นอน อาจจะรวมไปถึงนครวัดในประเทศกัมพูชาด้วย)


 


ผมไม่รู้จะว่ายังไงเมื่อได้ยินคำกล่าวเช่นนี้ และได้แต่บ่นพึมพำกับตัวเองว่าถึงยุคนี้ พอศอนี้ ประวัติศาสตร์ชาตินิยมยังยึดกุมจิตใจของคนไทยเอาไว้อย่างเหนียวแน่นอีกหรือ


และคราหนึ่งก็ประวัติศาสตร์ชาตินิยมเช่นนี้แหละถึงกับทำให้ผมรู้สึกผิด…


เพราะการเรียนการสอนในอดีตได้ฝังมันเอาไว้ในสายเลือดของผมโดยไม่รู้ตัวเช่นกัน


 


1


 



 


สิงหาคม 2549 เขาพระวิหาร


 


บรรยากาศของเส้นทางสู่ภาพแกะสลักริมหน้าผามออีแดงเงียบสงัดด้วยอยู่นอกฤดูกาลท่องเที่ยวทำเอา สติสตังผมที่กำลังคุมร่างกายให้ก้าวเท้าช้าๆ ลงไปตามขั้นบันไดยาวเหยียดมีอาการเสียวหลังวาบเป็นระยะๆ


 


เพราะแม้เส้นทางจะดูมั่นคง แต่ข้างซ้ายคือกำแพงผาขอบที่ราบสูงโคราชซึ่งภาษาเขมรเรียกว่า "แขมร์เลอ" นั้นตั้งตระหง่านสูงชั้น ขณะที่ข้างขวาคือ "แขมร์กรอม" (ที่ราบต่ำเขมร) ที่ทอดตัวอยู่ต่ำลงไปหลายร้อยเมตรจนเกิดเหวลึก นั่นเอง--ที่ทำเอาบางช่วงผมขาสั่นเพราะลมกรรโชกแรงขึ้นมาจากเบื้องล่างเป็นระยะๆ


 


ปรากฏการณ์ธรรมชาติเมื่อหลายร้อยล้านปีก่อนที่ทำให้แผ่นดินอีสานยกตัวขึ้นนั้น ได้ให้กำเนิดเทือกเขา "พนมดงรัก" หรือ "พนมดงเร็ก" ขึ้น ทั้งยังสร้างหน้าผาสูงชันยาวเหยียดซึ่งปัจจุบันทอดตัวยาวจากตะวันตกสู่ตะวันออกจนกลายเป็นเขตพรมแดนระหว่างไทย-กัมพูชา ซึ่งมีความยาวนับพันกิโลเมตร


 


ในอดีตกว่าพันปีก่อนที่เทือกเขานี้เอง บรรพชนชาวเขมรซึ่งเลื่อมใสในองค์พระศิวะหรือลัทธิไศวะนิกายของศาสนาฮินดู มีมานะบากบั่นขน อิฐ หิน และเครื่องมือแกะสลักขึ้นไปทำงานบนยอดผาสูง 657 เมตรนานนับปี


 


เพื่อสร้าง "เขาพระวิหาร"


 


เทวาลัยแห่งพระเจ้าที่อาจารย์ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เอตทัคคะด้านประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึงกับชมว่า "เป็นประหนึ่งเพชรยอดมงกุฏของสถาปัตยกรรมเขมรประดับเหนือพนมดงเร็ก การจัดวางแผนผังของปราสาทสมบูรณ์ที่สุด ไม่ว่าจะเทียบกับปราสาทพนมรุ้ง พิมาย หรือแม้แต่นครวัด นครธมเอง"


 


แต่ครานี้ผมไม่ได้มุ่งหน้าขึ้นสู่ปราสาทเขาพระวิหารด้วยมีเวลาไม่พอ จึงพยายามเก็บรายละเอียดสถานที่ต่างๆ บริเวณตะเข็บชายแดนที่ตนเองยังไม่เคยสัมผัสเท่าที่ทำได้


 


นึกถึงภาพสลักที่ริมหน้าผาซึ่งในชีวิตนี้ยังไม่เคยไปชมสักครั้ง จึงกลายเป็นที่มาของการเดินเลาะเลียบหน้าผาลงไปสัมผัสกับความหวาดเสียวเล็กๆ …


 


ที่สุดทาง ประตูเหล็กอันหนึ่งขวางไว้จนไม่สามารถไปสัมผัสภาพแกะสลักตามคติฮินดูได้อย่างใกล้ชิด แต่ที่ประตูซึ่งส่วนหนึ่งทำด้วยตาข่ายเหล็กนั้น มีช่องว่างที่เหมือนกับจงใจเจาะไว้ให้ถ่ายภาพได้โดยไม่มีอะไรกีดขวาง


 


ผมยกกล้องแล้วสอดเลนส์เข้าไปตามช่องทางนั้น แล้วกดชัตเตอร์โดยไม่คิดอะไรมากมาย ก่อนหันหลังกลับไปตามเส้นทางเดิมโดยพยายามไม่มองที่ "แขมร์เลอ" เพื่อระงับความเสียว แต่ถึงจุดหนึ่งก็อดมองทิวทัศน์ของที่ราบต่ำเขมรซึ่งเต็มไปด้วยป่าเขียวขจีได้ ในที่สุดก็มองๆ และมอง จนความรู้สึกนั้นหายไป


 


แต่ความรู้สึกภายในเอ่อล้นขึ้นมาแทน คืออึ้งในความมานะบากบั่นของบรรพชนขอมที่มีศรัทธาจนบากบั่นเสี่ยงตายขึ้นมาแกะสลักรูปอันงดงามเอาไว้ในบริเวณหน้าผาสูงชันและสร้างปราสาทอันวิจิตรโอฬารเอาไว้ให้โลกตกตะลึง กับอีกความรู้สึกหนึ่งคือ เพื่อนบ้านเราใกล้อยู่แค่จมูกเท่านี้เอง ด้วยเส้นสมมติบนแผนที่ที่ใช้หน้าผานี้แบ่งเขตของสองรัฐประชาชาติสมัยใหม่


 


เส้นเขตแดนนี้เองทำให้ครั้งหนึ่งไทยกับเขมรเกือบรบกัน จนกลายเป็นรอยแผลแห่งประวัติศาสตร์มาจนถึงทุกวันนี้


 


เป็นที่มาของคำถามอมตะ "ทำไมเขาพระวิหารจึงไม่เป็นของไทย"


 


2


 


พุทธศักราช  2502…


 


บรรยากาศเมืองไทยภายใต้ยุคจอมเผด็จการสฤษดิ์ ธนะรัชต์ คึกคักด้วยกำลังมีการเรี่ยไรเงินคนไทยคนละ 1 บาท เป็นค่าจ้างทีมทนายความที่เชื่อมือได้มากที่สุดของประเทศซึ่งนำโดย ม...เสนีย์ ปราโมช เพื่อเดินทางไปสู้คดีกับกัมพูชาที่นำเรื่องไปฟ้องศาลโลกที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ว่าเขาพระวิหารเป็นของตน


 


แต่ 3 ปีต่อมา ศาลโลกก็ตัดสินให้เขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา จนเกิดการเดินขบวนประท้วงกันวุ่นวายในกรุงเทพฯ


 


อ่านถึงตรงนี้ ร้อยทั้งร้อย ผมเชื่อว่าเลือดรักชาติไทยของคนอ่านบางคนพุ่งปรี๊ด และพร้อมเผากรุงพนมเปญทันที


 


แต่ช้าก่อน…ถ้าค้นย้อนกลับไปมากกว่านั้นจะพบว่าในอดีตหนึ่งพันปีก่อนซึ่งเป็นช่วงที่ปราสาทเขาพระวิหารถูกสร้างขึ้น ยุคนั้นดินแดนอุษาคเนย์ไม่มีรัฐไทย รัฐลาว หรือรัฐเขมร อันเป็นรัฐสมัยใหม่ที่มีขอบเขตอำนาจอธิปไตยชัดเจนเหมือนที่รู้จักกันแบบทุกวันนี้


 


หากแต่เป็นยุคสมัยของอาณาจักรที่ภาษาวิชาการเรียกว่า "รัฐจารีต" เกิดขึ้นกระจัดกระจายทั่วไป และในดินแดนแถบอินโดจีน รัฐที่มีอิทธิพลมากที่สุดในขณะนั้นก็คือ "ขอม" ซึ่งแผ่อำนาจปกครองกินส่วนที่เป็นแผ่นดินใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกือบทั้งหมด (ไม่นับพุกามและมอญ ที่มีอำนาจอยู่ในลุ่มน้ำอิระวดี)


 


และชนชั้นนำของรัฐขอมนี้เอง ที่นักวิชาการประวัติศาสตร์หลายท่านเชื่อว่าได้รับอิทธิพลจากพ่อค้าอินเดียที่เข้ามาค้าขายจนเปลี่ยนจากนับถือศาสนาพื้นเมืองไปถือศาสนาฮินดูซึ่งขณะนั้นแบ่งได้เป็น ๒ นิกายใหญ่ๆ คือ "ไศวะนิกาย" ซึ่งเคารพและยกย่องพระศิวะเป็นเทพเจ้าสูงสุด กับ "ไวษณพนิกาย" ที่นับถือพระนารายณ์เป็นเทพเจ้าสูงสุด โดยกษัตริย์ขอมแต่ละองค์ก็จะนับถือนิกายต่างๆ กันไป


 


เกิดคำว่า "นาค" อันหมายถึงชนพื้นเมือง และตำนานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเล่าขานสืบทอดมาตั้งแต่บัดนั้น


 


จากจารึกบนกรอบประตูทางเข้าปราสาทเขาพระวิหาร ทำให้นักวิชาการเชื่อว่าปราสาทแห่งนี้สร้างในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 (..1545-1593) และได้รับการดูแลโดย "ทิวากรบัณฑิต" พราหมณ์ของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 กษัตริย์องค์ต่อมาผู้ทรงสร้างนครวัด


 


โดย "ทิวากรบัณฑิต" จะทำหน้าที่ต่างพระเนตรพระกรรณคอยดูแลชุมชน "กุรุเกษตร" ซึ่งอยู่รอบๆ คอยส่งเสบียงกรังและปฏิบัติบูชาเทพเจ้าซึ่งสถิตย์อยู่บนยอด "ผาเป้ยตาดี" แห่งนี้


 


กาลเวลาผ่านไป อาณาจักรขอมเสื่อมอำนาจลง กรุงศรีอยุธยาซึ่งชาวสยามกลุ่มหนึ่งสถาปนาขึ้นในที่ราบลุ่มเจ้าพระยาทวีกำลังขึ้นจนยกกองทัพมาตีเมืองพระนครของขอมแตกในสมัยของสมเด็จเจ้าสามพระยา (ปี พ..1974)


 


ตามประเพณีสงคราม สยามทำลายเมืองพระนครของขอมเสียย่อยยับ ขนข้าวของและผู้คนกลับไปจำนวนมาก โดยเฉพาะพราหมณ์ ช่างฝีมือ และวัตถุจำพวกรูปปั้นที่ตั้งอยู่ตามปราสาทต่างๆ


 


จนเป็นต้นกำเนิดความเข้มแข็งเรื่อง "ลัทธิเทวราชา" ที่เปรียบกษัตริย์เป็นสมมติเทพรวมถึงพิธีกรรมและราชาศัพท์ที่รับเข้ามาใช้ในราชสำนักอยุธยา


 


แน่นอนอีกเช่นกัน ที่แบบเรียนประวัติศาสตร์ไทยจงใจเอ่ยข้ามเรื่องนี้ไปดื้อๆ


 


หลังจากนั้นเขมรก็กลายเป็นประเทศสองฝั่งฟ้า คือส่งดอกไม้เงินดอกไม้ทองให้ทั้งอยุธยาและเวียดนามซึ่งเป็นอาณาจักรใหญ่ด้านตะวันตกและตะวันออกที่บีบเขมรเอาไว้เหมือนกับแซนด์วิช


 


วัดกันด้วยศูนย์อำนาจในขณะนั้น บางคราปราสาทนี้จึงอาจอยู่ในอำนาจ เป็นของสยาม และในบางคราก็กลับไปเป็นของเขมร แล้วแต่ว่าช่วงเวลานั้นอำนาจของอยุธยาจะเข้มแข็งแค่ไหน


 


จนถึง ร..112 หรือปี 2449 สยามต้องยกดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงรวมถึงเขมรให้เป็นดินแดนในอารักขาของฝรั่งเศส ครานั้นเองที่เป็นช่วงเวลาซึ่งรัฐสมัยใหม่กำลังก่อตัวขึ้นอย่างช้าๆ จากการเข้ามาขีดเส้นพรมแดนของฝรั่งชาติต่างๆ ด้วยการล่าอาณานิคม


 


คราวนั้นสำนักข้าหลวงใหญ่ของฝรั่งเศสได้ทำแผนที่ฉบับหนึ่งส่งให้สยามดู โดยขีดเส้นพรมแดนทางเหนือของกัมพูชาให้เทือกเขาพนมดงรักเป็นกำแพงกั้น


 


แต่…เมื่อลากเส้นมาจนถึงเขาพระวิหาร ฝรั่งเศสก็ขีดเส้นขึ้นมาบนเขาแล้วเอาปราสาทแห่งนี้เข้าไปอยู่ในเขตเขมรโดยใช้ลำธารเล็กๆ ที่อยู่ลึกเข้ามาชื่อว่า "มาตาเรีย" แบ่งพรมแดน แต่จงใจละเลยการใช้ "สันปันน้ำ" ของภูเขาแบ่งพรมแดนเช่นเดียวกับมาตรฐานสากล


 


สยามในขณะนั้นไม่สามารถทำอะไรได้ก็ต้องเซ็นยอมรับ


 


..2472 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จตรวจวัตถุโบราณในเขตมณฑลนครราชสีมา ได้ขึ้นไปชมเขาพระวิหารโดยมีเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสมาตั้งแถวต้อนรับอย่างเป็นทางการที่ทางขึ้น (และภาพนี้เองได้กลายเป็นหลักฐานสำคัญที่ทำให้ฝรั่งเศสอ้างว่าไทยยอมรับว่าเขาพระวิหารอยู่ในอาณานิคมของฝรั่งเศส จึงไม่ทักท้วงที่มีคนออกมาต้อนรับ)


 


กาลเวลาผ่านไป เขาพระวิหารโดนยื้อแย่งไปมาจากผลของสงครามอีกหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นสงครามอินโดจีนสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ไทยรบกับฝรั่งเศสจนได้ดินแดนคืนจากการไกล่เกลี่ยของญี่ปุ่นขณะที่ฝรั่งเศสยุ่งกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ในทวีปยุโรป หรือในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่ไทยจำต้องคืนดินแดนทั้งหมดเพื่อไม่ให้ประเทศของตนเองตกเป็นผู้แพ้สงคราม


 


แต่โดยทางพฤตินัย หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมาก็มีกองทหารไทยและเสาธงชาติไทยปักอยู่บนหน้าผาเป้ยตาดีหรือเขาพระวิหารมาโดยตลอดหลังจากหมดสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา


 


จนเรื่องขึ้นสู่ศาลโลก และหลักฐานในอดีตได้ถูกหยิบยกมาใช้จนทำให้ไทยแพ้คดีไปในที่สุด


 


3


 


44 ปีต่อมา…


 


ผมยืนมองเสาธงที่ขาดกะรุ่งกะริ่งอยู่บนยอดผามออีแดง หลังกลับขึ้นมาจากการลงไปดูรูปแกะสลักที่ริมผาด้านล่าง มองไปที่เสาธง พลันสายตาก็ไปสะดุดเข้ากับป้ายๆ หนึ่งซึ่งถูกติดตั้งอยู่ที่ฐานเสา


 


บนป้ายนั้น จารึกถึงเหตุการณ์ที่ศาลโลกตัดสินให้เขาพระวิหารเป็นของกัมพูชาว่า หลังการตัดสินของศาลโลก ทหารไทยไม่ยอมชักธงลงจากยอดเสา หากแต่ "ยก" ลงมาจากหน้าผาเป้ยตาดีทั้งอย่างนั้น ก่อนนำมาตั้งไว้ที่หน้าผามออีแดงจนถึงทุกวันนี้ พร้อมกองกำลังทั้งหมดที่ถูกย้ายตามลงมา จากการนำของนายพลคนหนึ่งที่อยู่ในแก๊ง 3 เผด็จการ (ถนอม ประพาส ณรงค์) ที่โดนประชาชนโค่นล้มไปเมื่อปี 2516


 


ดั่งจะย้ำแค้นให้อนุชนรุ่นหลังได้รับทราบ…


 


อ่านแล้ว ผมงงว่ามีประโยชน์อันใด ที่นายพลคนนั้นจารึกวีรกรรมตัวเองไว้ให้คนรุ่นหลังทะเลาะกับเพื่อนบ้าน แทนที่จะสร้างความเข้าใจอันดีให้อนุชนด้วยการเขียนประวัติศาสตร์ "ทั้งหมด" บอกสิ่งที่เกิดขึ้นเอาไว้ที่นี่ (แถมอีกด้านของท่านนายพลผู้รักชาติคนนั้นก็เละไม่แพ้สิ่งที่เขาจารึกเอาไว้ จากการโกงบ้านกินเมืองไปมากมาย แต่ไม่ยักกะมีหนังสือหรือแบบเรียนของหน่วยราชการแห่งใดสนใจจารึกไว้แถมบางฉบับกลับเขียนยกย่องเสียด้วยซ้ำ เช่น สฤษดิ์ เป็นต้น)


 


จริงๆ หากมองประวัติศาสตร์ที่ผ่านมายาวนานนับพันปี ปราสาทเขาพระวิหารน่าจะเป็นสมบัติร่วมกันของชาวอุษาคเนย์ด้วยซ้ำ


 


4


 


"ทำไมเขาพระวิหารจึงไม่เป็นของไทย"


 


ย่ำค่ำวันนั้น ที่เชิงเสาธง ใครบางคนถามขึ้นอย่างไม่เข้าใจ เพราะทางขึ้นทั้งหมดนั้นก็อยู่ในฝั่งไทย นักท่องเที่ยวร้อยละ 99 ก็ขึ้นไปจากฝั่งไทยทั้งสิ้น


 


ด้วยความลืมตัว ผมหลุดออกไปว่า "มันมีเงื่อนงำเยอะ ตั้งแต่สมัยที่ฝรั่งเศสมาล่าอาณานิคม"


 


โดยไม่ได้มีการขยายความเพิ่มเติม และลืมไปว่า เพื่อนร่วมทางที่มาด้วยกันมีชาวฝรั่งเศสรวมอยู่ด้วย ทำให้ผมเกิดความรู้สึกผิดอย่างแรง…


 


จนขากลับ ผมมีโอกาสคุยกับเขาเรื่องนี้


"ผมรู้สึกละอายนะ ที่ในอดีตบรรพบุรุษได้มาทำอะไรแย่ๆ เอาไว้ในดินแดนแถบนี้มากมาย และผมเข้าใจดี แต่ประวัติศาสตร์มันก็เป็นแบบนี้ละ" เขาเอ่ย


"ผมเข้าใจ มันเป็นประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นมาแล้ว" ผมตอบ


"แต่ตอนนี้เราก็เป็นเพื่อนกันอยู่ และยืนร่วมกันอยู่นี่" ใครคนหนึ่งเอ่ยขึ้น


 


ลงจากเขาวันนั้น ผมรำพึงเบาๆ ว่า


"ผมขอโทษ"