Skip to main content

เครือข่ายลีซู สู่วิถีอนุรักษ์วัฒนธรรม

คอลัมน์/ชุมชน

วงเต้นรำของชาวลีซูถึง ๓๐๐ คน ในชุดประจำเผ่าสีสดใส มีผู้เป่าแคนน้ำเต้าลีซูอยู่กลางวง เป็นภาพงดงามที่ใครได้เห็นก็ประทับใจในมรดกทางวัฒนธรรมอันโดดเด่น คือการต้อนรับสู่พิธีเปิดประชุมเครือข่ายลีซูจังหวัดเชียงราย ครั้งที่ ๓ โดยนายอุดม  พัวสกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายและหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ที่บ้านใกล้ฟ้า มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) บนดอยแม่สลอง เมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๔๙


 



 


เครือข่ายลีซูจังหวัดเชียงราย ประชุมใหญ่มา ๒ ครั้งแล้ว โดยมีกระบวนการประชุมย่อย ๑๕ หมู่บ้านอย่างต่อเนื่อง ใช้งบของจังหวัดผ่านสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดเชียงราย (พมจ.) วัตถุประสงค์ของการจัดประชุมเครือข่ายลีซู ครั้งที่ ๓ เพื่อสรุปสภาพปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยมุ่งสู่แนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง การอนุรักษ์ป่า ดิน และน้ำ


 


นายสุพจน์  หลี่จา ผู้ได้รับเลือกให้เป็นประธานเครือข่ายลีซูจังหวัดเชียงราย ได้รายงานต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายว่า เครือข่ายลีซูประเทศไทย ได้เริ่มมาตั้งแต่ ๒๕๓๘ เริ่มประชุมเครือข่ายที่เชียงราย ครั้งแรกเมื่อต้นปี ๒๕๔๙ สรุปผลจากกระบวนการประชุมทั้งหมดพบว่าปัญหาหลักของชาวลีซู คือ การไม่มีสถานะบุคคลทางกฎหมายที่ถูกต้อง ถือบัตรสีฟ้า (บัตรบุคคลบนพื้นที่สูง) บัตรเขียวขอบแดง (บัตรสำรวจชุมชนบนพื้นที่สูง) เกิดปัญหาถูกตำรวจที่ด่านจับฟ้องศาล ถูกปรับเงิน เช่น กรณี ชาวบ้านโละป่าตุ้ม ตำบลดอยลาน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ทั้ง ๆ ที่รัฐบาลได้ประกาศยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสิทธิสถานะบุคคลเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๔๘ แต่การดำเนินการตามยุทธศาสตร์เร่งรัดสำรวจและเร่งรัดกำหนดสถานะ ซึ่ง ครม. มีมติย้ำและเร่งรัดการปฏิบัติตามแผนฯ ดังกล่าวอีกครั้งเมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๙ ยังไม่เกิดผล เพราะกำลังบุคลากรของแต่ละอำเภอมีน้อย และมิได้รับการสนับสนุนงบประมาณให้สมกับเป็นยุทธศาสตร์ใหม่ที่สร้างความหวังในการคุ้มครองสิทธิแก่ผู้ด้อยโอกาส


 


ขาดการมีส่วนร่วมในการปกครองท้องถิ่น หลายหมู่บ้านยังต้องอยู่ภายใต้การปกครองของบ้านอื่น เช่นหมู่บ้านสามกุลา อำเภอเวียงป่าเป้า ตั้งถิ่นมา ๕๒ ปีแล้ว มีคุณสมบัติครบพอที่จะแยกเป็นหมู่บ้านทางการได้ แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติ หมู่บ้านเวียงกลาง ปุยคำ และโละป่าตุ้ม อำเภอเมือง มีประชากรที่มีสัญชาติไทยน้อยราย จึงอยู่ใต้การปกครองของหมู่บ้านคนพื้นราบ เมื่อมีการจัดสรรงบพัฒนาหมู่บ้าน ไม่ได้รับจัดสรร หรือได้น้อย


 


ขาดที่ดินทำกิน หมู่บ้านที่อยู่บนดอยถูกจำกัดโดยมาตรการอนุรักษ์ เจ้าหน้าที่ขยายพื้นที่ปลูกป่า ส่วนหมู่บ้านที่ย้ายจากบนดอยมาอยู่ในเขตอำเภอเมือง คือ เวียงกลาง ปุยคำ โละป่าตุ้ม เดิมอาศัยที่ทำกินของคนพื้นราบ โดยขอเช่า แต่ปีนี้เจ้าของที่ ปลูกยางพาราเต็มหมดแล้ว เมื่อยางโต จะปลูกข้าว ข้าวโพดไม่ได้


 


ปัญหาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมประเพณีถูกกระแสโลกาภิวัตน์ดูดกลืน เพราะถูกอิทธิพลของยุคบริโภคนิยมโหมกระหน่ำ เครือข่ายลีซูจึงมุ่งรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ อาหาร ความเคารพธรรมชาติ พันธุ์พืชพื้นเมือง ดนตรีบทเพลง การเต้นรำ บทสวดในพิธีกรรมต่าง ๆ การแต่งกาย เพื่อสืบทอดให้ดำรงอยู่กับยุคสมัยอย่างเหมาะสม


 


ปัญหาการคมนาคม  หลายหมู่บ้านอยู่ไกลจากเมือง มีเพียงทางลำลองเป็นดิน ฤดูฝนเดินทางยากมาก แม้รถขับเคลื่อนสี่ล้อก็เข้าไม่ได้ เมื่อเจ็บป่วยต้องไปโรงพยาบาล หรือการขายพืชผลสู่ตลาด จึงมีอุปสรรคมาก เช่น บ้านดอยช้าง อำเภอแม่สรวย บ้านสามกุลา อำเภอเวียง    ป่าเป้า บ้านปุยคำ อำเภอเมือง เป็นต้น


 



 


ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายนายอุดม  พัวสกุล ได้กล่าวเปิดงานแสดงความชื่นชมในการรวมตัวกันของเครือข่ายลีซู ขอให้ทุกคนตระหนักว่าเรามีบุญที่อยู่ภายใต้พระบารมีของพระเจ้าอยู่หัวผู้ทรงงานเพื่อประชาชนโดยไม่เคยหยุด ตลอดเวลา ๖๐ ปี ขอให้กตัญญูต่อในหลวง กตัญญูต่อแผ่นดิน ปัญหาทุกอย่างขอให้ร่วมมือร่วมใจกันแก้ ยึดธรรมะที่พระพยอมเทศน์ว่า "ปัญหามีทางออก" มิใช่ "ทุกทางออกมีปัญหา" ยึดเหตุผลและข้อกฎหมาย โดยไม่ใช้อารมณ์


 


เมื่อได้เข้าไปดูสภาพหมู่บ้านลีซูที่มีปัญหา ในวันที่ ๑๑ – ๑๒ สิงหาคม ๒๕๔๙ ก็ได้เห็นความเป็นจริงชัดขึ้น


 


ที่บ้านสามกุลา ตำบลเวียง อำเภอเวียงป่าเป้า  ท่านนายอำเภอได้มอบให้ปลัดอาวุโส นายอนันต์  กมลธาริน นำหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ หน่วยพัฒนาสังคม (ประชาสงเคราะห์เดิม) และสาธารณสุขอำเภอ เข้าไปรับฟังปัญหาเพื่อหาทางแก้ไข โดยนายนิคม สวัสดิชัยกุล ประธานเครือข่ายลีซูประเทศไทยขับรถ 4 WD  พาเข้าหมู่บ้าน


 


ทางเข้าหมู่บ้านแยกจากถนนสายเวียงป่าเป้าไปอำเภอพร้าว จ.เชียงใหม่ เป็นดินลูกรัง ประมาณ ๑๖ กิโลเมตร ทางเป็นร่องน้ำลึก ขับรถยากมาก ถึงต้องใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อ ที่หมู่บ้านนี้ผู้หญิงและเด็กนุ่งชุดลีซูกันทุกคน เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของชาวลีซูที่นี่


 


วันนี้คนส่วนใหญ่ในหมู่บ้านไม่ไปไร่ เพื่ออยู่ร่วมการประชุมด้วยใจจดจ่อ  บางคนร่วมคณะนั่งรถไปที่ป่าต้นน้ำ ซึ่งเป็นปัญหาระหว่างสองหมู่บ้าน


 


บนเนินเขาสูงสุดที่มองเห็นทะเลภูเขาที่ราบ ของอำเภอเวียงป่าเป้าและอำเภอพร้าวอย่างสวยงาม ทางขึ้นเนินเขาเป็นดงดอกนางแย้มที่จะบานต้นฤดูหนาว สลับกับดอกเทียนป่าสีส้มสด เมฆลอยมาเป็นสาย ดั่งม่านไหม พริ้วผ่าน อากาศเย็นสบาย เป็นบรรยากาศที่ชวนให้ใจสดชื่น ผู้นำและชาวบ้านต้องการรักษาพื้นที่ที่เป็นป่าต้นน้ำลำธาร และเป็นป่าที่บูชาเทพประจำหมู่บ้าน  ไม่ต้องการให้มีกิจกรรมท่องเที่ยวที่ทำลายธรรมชาติ ดั่งที่หมู่บ้านหลักใช้งบ SML เอารถไถมาตัดทางขึ้นยอดดอย ทำให้แหล่งต้นน้ำกิน น้ำใช้ถูกทำลาย น้ำขุ่น กินไม่ได้


 


ขากลับพวกเราเดินลงจากยอดดอยสู่หมู่บ้าน เพราะทางรถไกลกว่าทางลัดและทางลื่นอันตราย เดินดีกว่า จึงพากันเดินฝ่าดงกล้วยป่า และไม้ป่านานาชนิด ทางลงชันมาก แต่บรรยากาศร่มรื่นดี แค่ครึ่งชั่วโมงก็มาถึงหมู่บ้าน


 


ปลัดอาวุโสและคณะรับปากกับชาวบ้านว่าจะนำปัญหาไปแก้ไข ทั้งเรื่องขอแยกเป็นหมู่บ้านทางการ ซึ่งกรมการปกครองได้รับข้อเสนอจากทั่วประเทศ จำนวนมากในแต่ละปี จึงต้องจัดลำดับความสำคัญและความจำเป็นเร่งด่วน ส่วนเรื่องการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำนั้นจะสั่งการให้หมู่บ้านหลักคือมูเซอแม่ปูนหลวง เลิกเอาวัวมาเลี้ยง ทำให้ขี้วัวลงมาปนเปื้อนน้ำดื่ม และกันพื้นที่เพื่อปลูกป่าฟื้นสภาพต้นน้ำ


 


วันแม่แห่งชาติ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๔๙ ชาวลีซูบ้านเวียงกลาง หมู่ที่ ๒๑ ตำบลแม่ข้าวต้ม จัดพิธีปลูกป่าเทิดพระเกียรติ เชิญดิฉันเป็นประธานพิธีเปิด  เวลา ๐๙.๐๐ น. โดยคุณสุพจน์  หลี่จา ประธานเครือข่ายลีซูเชียงราย  นายชัชวาล หลี่ยา เป็นผู้ประสานงานตลอดวัน


 


นายกิตติศักดิ์   แสนเหลียว  อายุ ๒๖ ปี เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ได้นำดิฉันขึ้นไปบนเนินเขาที่จะปลูกป่าเนื้อที่ ๑๐ ไร่ วัยรุ่นหญิงชายแต่งชุดลีซูสีสดใส เต็มยศ รอต้อนรับอยู่สองข้างทาง ดูแล้วประทับใจ ดิฉันและนายชัชวาล  หลี่ยา เจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา ได้แนะนำความสำคัญของกล้าไม้ที่นำมาปลูกในวันนี้ ซึ่งคุณสามารถ สุมโนจิตราภรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมป่าไม้ที่ ๔ เชียงราย ได้กรุณาจัดให้จำนวน ๔,๐๐๐ ต้น


 


คุณสามารถ ได้แนะนำตั้งแต่ปีที่แล้วว่าไม้ยางนามีความสำคัญมากต่อสังคมไทยมายาวนาน พระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระเทพรัตนฯ ทรงส่งเสริมให้คนไทยปลูกเพื่อให้เป็นมรดกทางธรรมชาติ โดยนิตยสารหมอชาวบ้านฉบับเดือนสิงหาคม ๒๕๔๙ ได้ลง เรื่อง "ไม้ยางนา:ต้นไม้ทรงปลูก" เป็นเรื่องหลักจากหน้าปก


 


ดิฉันจึงชี้แจงให้ชาวลีซูตั้งใจปลูกไม้ยางนา ซึ่งขอมาได้ ๔๐๐ ต้น เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล โดยให้ปลูกใต้ร่มเงาของต้นไม้อื่น เพราะระยะแรกไม้ยางนาต้องการร่มเงาจึงจะเติบโตได้ดี หรือจะปลูกในพื้นที่ริมน้ำ ที่สูงไม่เกิน ๗๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเลก็เหมาะสม


 


ไม้อื่น ๆ ที่ปลูกในวันนี้มี ๒ ประเภทได้แก่ ไม้เนื้อแข็ง คือ ไม้มะค่า กับต้นไม้ดอกและไม้โตเร็ว คือ ต้นเสี้ยวป่า ต้นแคแสด ต้นคูน (ราชพฤกษ์) ต้นพญาสัตบรรณ


 


ชาวบ้านกระจายกันไปปลูกป่าในพื้นที่จนเสร็จ แบกก๋วย (ตะกร้าสาน) ใส่หลัง หยาดเหงื่อพราวเต็มหน้า แต่ก็ไม่ย่อท้อ เสร็จแล้วกลับมานั่งในเต็นท์เพื่อพักผ่อน ได้เต้นรำร่วมกันอย่างสนุกสนาน แล้วจึงมานั่งคุยกันในหมู่บ้านถึงปัญหาและแนวทางแก้ไข คือ เรื่องคนไม่มีสัญชาติไทย ไม่มีที่ทำกิน เพราะเจ้าของที่ดินที่เคยให้ใช้ปลูกข้าว ข้าวโพดและพืชอื่น ๆ ปลูกยางพาราหมดแล้ว


 


 



 


เสร็จจากบ้านเวียงกลาง คุณสุพจน์กับคุณชัชวาลพาไปบ้านปุยคำ ที่ตำบลป่าอ้อดอนชัย อำเภอแม่ลาว อยู่ใกล้ดอยปุย ซึ่งอยู่ใกล้เขตอุทยานแห่งชาติแม่ปืม โดยผู้ใหญ่บ้านทางการเป็นชาวบีซู ซึ่งอยู่มานับร้อยปี มาร่วมประชุมด้วย


 


ชาวบ้านปุยคำเล่าว่าปัญหาหลักคือ ไม่มีที่ทำกิน เพราะเพิ่งแยกบ้านจากโละป่าตุ้ม มาอยู่ที่นี่ได้ ๔ – ๕ ปี เป็นพื้นที่ในเขต สปก.อยากให้ สปก.จัดสรรที่ทำกินให้ พร้อมทั้งขอให้ปรับปรุงถนน และต่อสายไฟฟ้าไปให้หมู่บ้านมูเซอ ลีซอ ที่เป็นคริสต์ที่อยู่ใกล้หมู่บ้านด้วย


 


อาหารกลางวันที่ชาวบ้านจัดให้คือ ต้มยอดฟักทองใส่เนื้อหมู และผัดแตงกวาดอยใส่หมูกับพริก เป็นอาหารพื้นบ้าน กินกับข้าวไร่ของลีซูที่รสอร่อยมาก


 


บ้านสุดท้ายที่ดิฉันไปเยี่ยมในวันนี้ คือ บ้านโละป่าตุ้ม ตำบลดอยลาน อำเภอ เมืองเชียงราย ซึ่งย้ายมาจากบ้านหัวแม่คำติดชายแดนไทย – พม่า ที่อำเภอแม่ฟ้าหลวง เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๖ ขณะนี้มี ๓๘ หลังคาเรือน ประชากร ๑๙๑ คน ปัญหาหลัก คือ ไม่มีสัญชาติไทย ไม่มีที่ทำกิน เพราะที่ดินที่เคยอาศัยคนพื้นราบปลูกข้าว เดี๋ยวนี้เขาปลูกยางพาราหมดแล้ว อีก ๒-๓ ปีก็จะไม่มีที่ปลูกข้าว ข้าวโพด หรือ พืชอื่น ๆ อีก


 


ชาวบ้านมีอาชีพรับจ้างทั่วไป ทั้งไปทำงานก่อสร้างในเมือง ที่เจ้าของงานเอารถมารับ – ส่ง ถึงหมู่บ้าน ค่าแรงวันละ ๑๓๐ บาท หรือทำงานในพื้นที่เกษตรได้ค่าแรงวันละ ๑๒๐-๑๓๐ บาท แต่ถ้ารับจ้างพ่นยาฆ่าหญ้าในสวนยางพารา ได้เพิ่มเป็นวันละ ๒๕๐ บาท แต่รับภาระเสี่ยงภัยจากสารพิษเอง


 


ปัญหาร่วมของชาวลีซูที่ย้ายถิ่นฐานจากบนดอยมาอยู่ใกล้เมือง (เพราะอยู่บนดอยไม่ได้ ไม่มีที่ทำกิน ไม่มีอาชีพ การศึกษาของลูกหลานมีข้อจำกัด) คือ ต้องมาอยู่ภายใต้การปกครองของคนพื้นราบ ไม่มั่นคงในชีวิต ไม่แน่ใจว่าทางการจะอนุญาตให้อยู่ถาวรหรือไม่ ไม่มีสถานะบุคคลทางกฎหมาย เป็นพลเมืองชั้นสอง วิถีชีวิตถูกกลืน รับการพัฒนากระแสหลักได้ง่าย เช่น เปลี่ยนจากการเกษตรแบบยังชีพที่ปลูกข้าวไร่ ข้าวโพด เพื่อบริโภคและเลี้ยงสัตว์ โดยใช้พันธุ์ข้าวพื้นเมืองปลูกผสมกับพืชผักอื่น ๆ เช่น แตง ฟักทอง ฟักเขียว  ถั่วชนิดต่าง ๆ เผือก มัน พริก ทานตะวัน มาเป็นปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อการตลาด เช่น ข้าวโพด ที่ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์จากบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ไม่ทนต่อโรคและสภาพอากาศในพื้นที่ ต้องใช้สารเคมีเข้มข้นจากทั้งอิทธิพลการโฆษณา และการตลาดที่รุกคืบถึงหมู่บ้าน ทำให้ดินตาย มีสารพิษปนเปื้อนในดิน และในน้ำ ห่วงโซ่อาหารในธรรมชาติถูกตัดขาด  ชาวบ้านต้องทำงานหาเงินมาซื้ออาหาร แทนการพึ่งตนเองโดยปลูกพืชอาหารหรือหาจากป่า จากลำห้วย


 


ทั้ง ๓ หมู่บ้านรับแขกด้วยน้ำอัดลม น้ำแข็ง เบียร์ แทนการเลี้ยงน้ำชาที่ปลูกได้เอง ยังดีที่ลูกหลานภูมิใจในการเป่าแคนน้ำเต้า เล่นซึง ๓ สาย แต่งกายและเต้นรำแบบลีซู เด็กรุ่นใหม่เกือบทุกคนเป่าแคนน้ำเต้าได้ เด็กสาวแต่งชุดลีซูขี่มอเตอร์ไซค์ เป็นการปรับตัวเข้ากับยุคโลกาภิวัตน์อย่างพยายามรักษารากเหง้าและจิตวิญญาณของลีซูเอาไว้


 



 


ชีวิตของชาวลีซูยุคโลกาภิวัตน์ก็เช่นเดียวกับชนชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่อยู่ชายขอบแดน ชายขอบอำนาจของประเทศและเช่นเดียวกับชนบทที่มักถูกชักชวนให้วิ่งหนีรากเหง้าของตัวเองด้วยนโยบายเร่งความเจริญแบบวัตถุนิยมตามกระแสหลักของโลก ทำให้วัฒนธรรมและภาษาท้องถิ่นถูกกลืนหายไปอย่างรวดเร็ว 


 


ขอให้เครือข่ายลีซูเป็นแบบอย่างของนักสู้เพื่อจิตวิญญาณและวัฒนธรรมของตน ด้วยจิตใจที่แข็งแกร่งและด้วยปัญญา ขอให้ชนะอำนาจของวัตถุนิยม ด้วยความเข้าใจและสนับสนุนของคนในสังคมส่วนใหญ่ด้วยดีนะคะ