Skip to main content

แนวโน้มปัญหาพลังงานของไทยในอีก ๔ ปีข้างหน้า ตอนจบ

คอลัมน์/ชุมชน
















































































































๓. ปัญหาที่เกิดจากการดำเนินการของรัฐที่ "ดูดี" ในระดับยุทธศาสตร์ แต่ …

ในหัวข้อที่ผ่านมา ผมได้กล่าวถึงว่านโยบายด้านพลังงานของรัฐไทย พยายามจะปกปิด "ปัญหามลพิษและปัญหาโลกร้อน" มาตลอด เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ "แย่มาก" จะไม่กล่าวถึงอีกแล้ว ในหัวข้อนี้ผมจะกล่าวถึงเรื่องที่ "ดูดี" แต่แย่มากในทางปฏิบัติ ดังต่อไปนี้



๑. ยุทธศาสตร์ลดค่าความยืดหยุ่น(Energy Elasticity) จาก ๑.๔ ต่อ ๑ ในปัจจุบันให้เหลือ ๑ ต่อ ๑ ในปี ๒๕๕๐ เรื่องนี้เป็นไปได้ยาก หากไม่สร้างทางรถไฟเพิ่มเติม ไม่สร้างระบบขนส่งมวลชนในหัวเมืองใหญ่ ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ผมไม่เคยเห็นในแผนปฏิบัติการที่ไหน ในขณะที่ธุรกิจการประกอบรถยนต์ รถกระบะซึ่งเป็นกิจการของครอบครัวนักการเมืองคนสำคัญกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วมาก


๒. ยุทธศาสตร์การพัฒนาพลังงานหมุนเวียน โดยให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนจากร้อยละ ๐.๕ ในปัจจุบันเป็น ร้อยละ ๘ ในปี ๒๕๕๔ ผมเห็นว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่ค่อนข้างสับสน
 

เพราะจากตัวเลขในเอกสารที่อ้างแล้วถึงแล้วใน (๑) พบว่า มูลค่าของพลังงานหมุนเวียนในปี ๒๕๔๕ คิดเป็น ๙% (หรือ ๗๐,๕๕๗ ล้านบาท) ของมูลค่าพลังงานทั้งหมดที่คนไทยใช้ ซึ่งได้เกิน ๘% ไปเรียบร้อยแล้ว ผมรู้สึกสับสนกับตัวเลขเหล่านี้

 

อย่างไรก็ตาม หากเราจัดเป็นหมวดหมู่จากข้อมูลนี้ พบว่า เป็นค่าใช้จ่ายด้านน้ำมัน ไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม คิดเป็นเปอร์เซ็นต์เท่ากับ ๕๖%, ๓๒%, ๒% ตามลำดับ

 
การบริโภคน้ำมันเป็นสิ่งที่กระจายโดยธรรมชาติและมีขนาดใหญ่ถึง ๕๖% จึงยากที่จะจัดการ แต่กิจการไฟฟ้าเป็นกิจการที่รวมศูนย์โดยธรรมชาติ จึงง่ายที่จะจัดการ และเห็นผลเป็นกอบเป็นกำ

กลุ่มประเทศสหภาพยุโรปจึงมุ่งเป้าไปที่กิจการไฟฟ้า โดยกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ว่า "จะผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนให้ได้ ๒๐% ภายในปี ๒๐๒๐"


เมื่อกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนแบบนี้ จึงง่ายที่จะวัดผล ในขณะที่ของประเทศไทย การตั้งเป้าหมายก็สับสนเสียแล้ว

 

๓. การจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) ซึ่งมักจะเป็นแผนระยะยาว ๑๐ ถึง ๑๕ ปี ไม่เคยเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม หลักการสำคัญที่ใช้ในการจัดทำแผนก็คือ นำค่าความยืดหยุ่นด้านพลังงาน มาคูณด้วยอัตราการขยายตัวของจีดีพี คำตอบที่ได้เป็นอัตราการขยายตัวของการใช้พลังงานไฟฟ้า โดยที่
 

๓.๑. ไม่นำปัจจัยการอิ่มตัว (ซึ่งอาจหมายถึง แหล่งน้ำจืด การเพิ่มของประชากร เป็นต้น) มาพิจารณา

 

๓.๒. ไม่ดูการขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ยในช่วงที่ผ่านมา เช่น ในแผน PDP ๒๐๐๔ ยึดว่าอัตราการเพิ่มของจีดีพีประมาณ ๖.๕% แต่ในความเป็นจริง ในช่วง ๑๐ ปีและ ๑๕ ปีที่ผ่านมา อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยแค่เพียง ๓.๖% และ ๕.๖% ตามลำดับเท่านั้น จากทางเลือกหนึ่งในการปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ  โดย วิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ  สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพียงปีแรกของการพยากรณ์ เราก็พบว่าอัตราการเติบโตปี ๒๕๔๗ ก็ไม่น่าจะถึง ๖.๐%

 

จากข้อ ๓.๑ และ ๓.๒ ทำให้ผลการพยากรณ์ที่ "คนไทยทำเอง" มากกว่าที่ชาวต่างชาติพยากรณ์ให้กับคนทั้งโลกเยอะเลย การใช้ไฟฟ้าของคนทั้งโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น ๒ เท่าในเวลา ๔๗ ปี แต่การใช้ไฟฟ้าของไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น ๒.๖ เท่าในเวลาเพียง ๑๕ ปี เท่านั้น จาก

 

๔. นโยบาย RPS ที่กำหนดผู้ผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานฟอสซิล จะต้องสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจำนวน ๕% น่าจะทำให้ผู้ประกอบการด้วยพลังงานหมุนเวียนต้องซื้อโควต้าจากผู้ประกอบการจากฟอสซิล การผูกขาดจึงดำรงอยู่ต่อไป ผิดหลักธรรมชาติของการกระจายตัวของพลังงานหมุนเวียน

 

สิ่งที่รัฐบาลน่าจะทำคือการออกกฎหมายที่เรียกว่า อี.เอฟ.แอล. (electricity feed in law) ซึ่งเป็นที่นิยมในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ก็คือ อนุญาตให้ใครก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นบริษัท หรือเจ้าของบ้านแต่ละหลังสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนเพื่อ

 

ป้อนเข้าไปในระบบสายส่งไฟฟ้าได้เลย ทั้งนี้โดยกำหนดราคาที่แน่นอนเพื่อให้กิจการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นได้ เช่น รับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากเซลล์แสงอาทิตย์ หรือลม ในราคาที่แพงถึง ๒-๓ เท่าของที่ผลิตจากฟอสซิล เป็นต้น


น่าเสียดายที่ภาครัฐไทยรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนโดยยึดเอาความสม่ำเสมอเป็นเกณฑ์ อ้างแล้วใน (๒)ซึ่งไม่มีพลังงานหมุนเวียนที่ไหนในโลกจะสม่ำเสมอได้ ถ้าคิดแบบนี้ส่งเสริมไปก็ไม่เป็นผล


 

๕. นโยบายการลด peak จากบทความของผมเอง   โครงการลดความต้องการไฟฟ้าสูงสุด : นโยบายดี แต่ทำไม่ดี!  มติชน โดย ประสาท  มีแต้ม  ๑ พ.ย. ๔๗ พบว่า ถ้า กฟผ. รับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนที่มีเครื่องปั่นไฟฟ้าสำรองของตนเองอยู่แล้ว เช่น โรงพยาบาลทุกโรง ในช่วง peak ในราคาหน่วยละ ๒๑ บาท (แทนที่จะเป็น ๕ บาทตามแผนของ กฟผ.-ในขณะที่ราคาไฟฟ้าหน่วยละ ๒.๖๐ บาท) กฟผ.ก็ยังสามารถประหยัดเงินได้ถึงปีละ ๑ พันล้านบาทเมื่อเทียบกับการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมาเอง

 

แต่สิ่งที่ กฟผ. ทำคือการไปจ่ายค่าพร้อมจ่ายให้เอกชน ทั้ง ๆ ที่เอกชนเขา "ต้องพร้อม" อยู่แล้ว ไม่อย่างนั้นจะเรียกว่า "สำรองฉุกเฉิน" ได้หรือ นับว่าประหลาดมาก!

 
๖. ค่าไม่ใช้ก็ต้องจ่าย กรณีโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย นับตั้งแต่ กรกฎาคม ๒๕๔๑ จนถึง กันยายน ๒๕๔๗ คิดเป็นสัดส่วนถึง ๓๘% ของที่ได้ระบุไว้ในสัญญา ประสาท  มีแต้ม  http://www.prachathai.com/columnist/page14.8.html  ขณะนี้ก็ยังต้องเสียค่า"ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย" อยู่ทุกวัน มูลค่าของเงินจำนวนนี้ก็เป็นภาระของผู้บริโภค



ขณะเดียวกัน ค่าไม่ใช้ก็ต้องจ่ายจากโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซียก็ได้เริ่มขึ้นแล้วนับจากวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๔๘ (หลังจากที่ได้เลื่อนมาเมื่อ ๕ ปีที่แล้ว) ภาระนี้ตกอยู่ที่ผู้บริโภค

 

๗. เมื่อประมาณปี ๒๕๓๘ สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงของกิจการไฟฟ้าในประเทศไทย ๕๐% มาจากก๊าซธรรมชาติ รองผู้ว่า กฟผ. ในขณะนั้น (ต่อมาได้เป็นผู้ว่า) บอกว่า กฟผ. จะไม่เพิ่มสัดส่วนก๊าซธรรมชาติให้มากไปกว่าจากนี้อีกแล้ว เพราะจะทำให้เกิดความเสี่ยงเรื่องราคา แต่ในสมัยที่ท่านเป็นผู้ว่า กฟผ. สัดส่วนนี้ได้เพิ่มขึ้นเป็นถึง ๗๕%
 
ผู้ที่ขุด "กับดัก" (conspiracy) นี้ให้ กฟผ. เดิน คือ ปตท. ซึ่งได้กำหนดอัตรากำไรจากค่าผ่านต่อไว้ที่ ๑๘-๑๙% ซึ่งสูงมาก ๆ แล้วผู้ที่ได้ประโยชน์ในกิจการของ ปตท.ได้โอนจากภาครัฐมาเป็นภาคเอกชนเรียบร้อยแล้ว
 
๘. การก่อสร้างโรงไฟฟ้าสงขลา ก็เป็นไปตามกับดับของ ปตท. ทั้ง ๆ ที่ภาคใต้มีไฟฟ้าสำรองถึง ๕๘-๖๑% โดยที่มีรายละเอียด คือ
 
๘.๑ เรื่องสายส่งเชื่อมไทย-มาเลเซีย ก่อนหน้านี้ ไทยกับมาเลเซียมีการปรับปรุงสายส่งเพื่อแลกกระแสไฟฟ้ากัน ทั้งนี้เพื่อการประหยัดไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าโดยฝ่ายไทยได้ลงทุนปรับปรุงสายส่งคิดเป็นมูลค่าหลายพันล้านบาท

แต่ในวันที่ ๖ พ.ค. ๒๕๔๗ ฝ่ายไทยตกลงจะรับซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซียฝ่ายเดียวในช่วง ๒๕๔๗-๒๕๕๐ ในราคาที่ค่อนข้างถูกคือหน่วยละ ๑.๔๔ บาท (ข่าวจากไทยโพสต์ ๗ พ.ค.๔๗)

๘.๒ ในแผนนี้ (หน้า ๕๕) ระบุว่า ภาคใต้มีกำลังผลิต (ในเดือนมีนาคม ๒๕๔๗) ถึง ๒,๐๒๐ เมกะวัตต์ คือ พลังน้ำ ๒ แห่งรวม ๓๑๒ เมกะวัตต์ กระบี่ ๓๔๐ เมกะวัตต์ สุราษฎร์ธานี ๒๔๔ เมกะวัตต์ ขนอมรวม ๘๒๔ เมกะวัตต์ และสายส่งมาเลเซีย ๓๐๐ เมกะวัตต์

๘.๓ ส่งมาจากภาคกลาง ๓๕๐ ถึง ๔๐๐ เมกะวัตต์ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้เป็นเรื่องของภาคใดพึ่งพิงภาคใด เพราะอยู่ในแผนการมานานแล้ว อาจจะมีการสูญเสียในสายไฟฟ้าบ้างเนื่องจากระยะทางไกล แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาสำคัญนัก

ดังนั้นเมื่อรวมรายการ (๘.๒) และ (๘.๓) เข้าด้วยกัน ภาคใต้มีความสามารถจะผลิตไฟฟ้าได้สูงถึง ๒,๓๗๐ ถึง ๒,๔๒๐ เมกะวัตต์ ในขณะที่ความต้องการสูงสุดของปี ๒๕๔๗ อยู่ที่ ๑,๕๐๐ เมกะวัตต์

นั่นคือ ในปี ๒๕๔๗ ภาคใต้จะมีไฟฟ้าสำรองอยู่ระหว่าง ๘๗๐ ถึง ๙๒๐ เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นร้อยละ ๕๘ ถึง ๖๑ ซึ่งสูงกว่าค่าที่ควรจะเป็นคือ ๑๕% อยู่หลายเท่าตัว


๘.๔ ขณะนี้ได้มีการปรับปรุงสายเชื่อมโยงบางสะพาน-สุราษฎร์ธานี (๒๓๐/๕๐๐ เควี) ซึ่งจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายน ปี ๒๕๔๙ ซึ่งจะให้ได้กำลังผลิตอีก ๘๕๐ เมกะวัตต์ นอกจากนี้ยังมีระยะที่ ๒ ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี ๒๕๕๕ อีก ๒,๐๐๐ เมกะวัตต์

 
๙. เทคโนโลยีใหม่ เรื่อง นาโนโซลาร์ อ่านรายละเอียดจาก พลังงานไฟฟ้าที่อาจกระเทือนตลาดโลก  ในประชาไท
 
๔. การเคลื่อนไหวภาคประชาชน
 
สิ่งที่ต้องช่วยกันขบคิดมี ๒ อย่างคือ

๔.๑ จากข้อมูลที่สับสน มาทำให้เป็นข่าวสาร เป็นความรู้ เป็นการสะสมความคิด และเป็นปัญญา (DIKCW-Hierachy)


เรื่องนี้ เอาเข้าจริงแล้วก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ที่จะทำได้ แต่ก็ไม่ยากจนเกินไป ถ้าจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เอื้อต่อกัน


ทำประเด็นให้ชัด ชี้ให้เห็นความผิดพลาดของภาครัฐ เสนอทางเลือกที่เป็นประโยชน์กับประชาชน ชี้ให้เห็นภัยพิบัติจากการใช้พลังงานอย่างที่มากเกินไป ดังที่กล่าวมาแล้ว

๔.๒ งานเครือข่าย ตามคำขวัญที่ว่า "Knowledge for People, Networks for Development" ได้ดังนี้แล้วน่าจะก้าวหน้าได้ ขอบคุณครับ