Skip to main content

เก๊าะซารี : มิตรภาพและความตาย

คอลัมน์/ชุมชน

นี่เป็นชื่อหนังสือรวมเรื่องสั้นรางวัลนายอินทร์อะวอร์ดประจำปี พ.ศ.2549 ซึ่งเป็นรางวัลที่น่าจับตามองมากขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับคนในแวดวงวรรณกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่กำลังมองหาเวทีแจ้งเกิด


คุณวัชระ  สัจจะสารสิน  ซึ่งเข้ารอบสุดท้ายรางวัลนายอินทร์อะวอร์ดประเภทเรื่องสั้นปีนี้ เป็นผู้ให้หนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มนี้แก่ผม จึงทำให้ผมได้มีโอกาสอ่าน หนังสือเล่มนี้ราคาขาย 345 บาท ตามปกติด้วยราคาที่แพงขนาดนี้ผมคงจะไม่ซื้อ หรือถ้าจะซื้อก็คงจะคิดนานมากทีเดียว


ผมได้อ่านเรื่องสั้นเพียง 3 เรื่องเท่านั้นจากเรื่องสั้นทั้งหมด 25 เรื่อง คือเรื่อง "เก๊าะซารี:มิตรภาพและความตาย" ที่ได้รางวัลชนะเลิศของคุณปกาศิต แมนไทสงค์ เรื่องสั้นชื่อยาวเรื่อง "สายใยวันวาน วันนี้ โอ้ละหนอ… นัมเบอร์วัน" ของ "เด็กชายหมีฟู"  และเรื่องสั้น "ลั่นทมยามเช้า"  ของ "เจ้าชายน้อย"


นอกไปจากเรื่องที่ได้รางวัลชนะเลิศ ที่เลือกอ่านของ "เด็กชายหมีฟู" กับ "เจ้าชายน้อย" ก็เพราะว่าทั้ง 2 คนผ่านเข้ารอบสุดท้ายและได้รวมเล่มเป็นครั้งที่ 2 แล้วสำหรับรางวัลนี้ ตอนรวมเล่มครั้งแรกผมประทับใจกับเรื่องสั้นเรื่อง "ในแกงส้มปลามีโลกหนึ่งใบ"  ของ "เจ้าชายน้อย" มาก ซึ่งผมเห็นว่าควรจะได้รางวัลใดสักรางวัลหนึ่ง เช่นเดียวกับที่ชอบเรื่อง "วันที่เหมือนมีพ่อ"  ของ "เด็กชายหมีฟู" จึงตามอ่านเรื่องสั้นของนักเขียนทั้งสองเป็นลำดับแรก ๆ 


เรื่อง "ลั่นทมยามเช้า" ของ "เจ้าชายน้อย" นั้น บอกตามตรงว่าสู้เรื่องที่แล้วที่เขาเขียนไม่ได้ เรื่องที่แล้วลึกกว่า มีอะไรให้ขบคิดมากกว่า ทั้งยังไปไกลกว่ามากในแง่กลวิธีการเล่าเรื่อง  ส่วนเรื่องสั้นเรื่อง "ลั่นทมยามเช้า" เป็นเรื่องสั้นสัจนิยมธรรมดา เป็นเรื่องของคนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในเมืองแล้วถูกเอาเปรียบ  อ่านแล้วก็นึกถึงเรื่องสั้นสมัยช่อการะเกด


อย่างไรก็ตาม ต้องขอชมว่าลีลาการบรรยายของเจ้าชายน้อยและการสร้างบรรยากาศเหงาๆ งามๆ ช่วยให้เรื่องดีขึ้นมาก ส่วนของ "เด็กชายหมีฟู" นั้น ผมชอบเรื่องนี้มากกว่าเรื่องที่แล้ว เรื่องที่แล้วเลี่ยนไปหน่อย เรื่องนี้น่ารักกว่า   แสดงความน้อยใจต่อแม่ออกมาได้อย่างน่าชัง  ใช้ภาษาแบบเด็กรุ่นใหม่ อ่านไปยิ้มไป


หมีฟูเขียนว่า "เรื่องครูพักลักจำของแม่นี่ ผมว่าครูแต่ละคนที่ถูกแม่ "ลักจำ" ต้องหมดตัวกันเป็นแถวๆ แน่ เพราะแม่ลักได้สามารถมาก"  หน้า 18   แต่ไม่เข้าใจอยู่นิดหนึ่งว่า "เด็กชายหมีฟู" ใส่ฉากที่เพื่อนเสียชีวิตเข้ามาทำไม


มาที่เรื่องสั้นที่ได้รางวัลรางวัลชนะเลิศ "เก๊าะซารี :มิตรภาพและความตาย" ผมอ่านเรื่องสั้นนี้จบแล้ว ก็ให้รู้สึกสงสัยกับดุลยพินิจของคณะกรรมการตัดสินที่ให้รางวัลชนะเลิศแก่เรื่องสั้นเรื่องนี้


อันที่จริงผมสงสัยดุลยพินิจของคณะกรรมการตัดสินรางวัลนี้มาตั้งแต่หนที่แล้ว ที่บอกว่าเรื่องสั้น  "เสียดายมือ" ของคุณ "อุรุดา  โควินท์" ที่ได้รองชนะเลิศนั้นเป็นเรื่องสั้นแนว "สตรีนิยม" ซึ่งผมมีโอกาสได้คุยกับเจ้าตัว คือคุณอุรุดา  โควินท์ ว่าเรื่องสั้นของเธอเป็นเรื่อง "สตรีนิยม"  ตรงไหน


เธอบอกว่าไม่ใช่เลย เรื่องของเธอไม่ใช่แนว "สตรีนิยม" หรืออย่างน้อยเธอก็ไม่ได้ตั้งใจให้เป็นอย่างนั้น เธอยังบอกอีกว่าเดี๋ยวนี้ใครเขียนเรื่องผู้หญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้หญิงเขียนเรื่องผู้หญิง ก็ถูกลากเข้ามาให้เป็นงานเขียนแนวสตรีนิยมหมดเลย


แน่นอนว่า ตัวผู้เขียน และผู้อ่าน และคณะกรรมการการตัดสินอาจตีความไปคนละทาง สองทางก็ได้ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร แต่พอไปอ่านคำนิยมชมเชยของคณะกรรมการที่มีต่อเรื่องสั้น  "เสียดายมือ" แล้วก็รู้สึกว่ามีความพยายามสุดชีวิตที่จะลากเรื่องสั้น "เสียดายมือ" ให้เป็นเรื่องสั้นแนวสตรีนิยม แต่ก็ไม่เห็นมีเหตุผลอะไรมารองรับ 


ผมคิดว่าแวดวงวรรณกรรม  นอกจากวิจารณ์งานเขียนแล้วน่าจะวิจารณ์ "คำตัดสิน" หรือคำประกาศเกียรติคุณของคณะกรรมการต่างๆ กันบ้าง หลายๆ รางวัลคณะกรรมการตัดสินสามารถตัดสินเรื่องนั้นเรื่องนี้ให้ได้รางวัลทั้งที่ยังไม่ได้อ่านครบทุกเรื่องด้วยซ้ำไป!


ไม่มีใครเถียงละครับว่าคำตัดสินของคณะกรรมการถือเป็นที่สุด และการวิจารณ์ก็ไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อประท้วงคำตัดสินหรือขอให้เปลี่ยนแปลงการตัดสิน แต่เป็นการแสดงทัศนะที่อาจเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็เท่านั้นเอง 


ส่วนในปี 2549 นี้ คำประกาศเกียรติคุณของเรื่องสั้น "เก๊าะซารี : มิตรภาพและความตาย" ที่ได้รางวัลชนะเลิศนั้นมีว่า


 "เก๊าะซารี : มิตรภาพและความตาย" สะท้อนให้เห็นชะตากรรมของสามัญชนที่ตกเป็นเหยื่อของสังคม…


แค่ประโยคแรกก็มีปัญหาแล้วครับ เพราะมันครอบคลุมเกินไป ยกระดับเกินไป คำว่า "ตกเป็นเหยื่อของสังคม" ได้ยินกันจนเฝือ เป็นสูตรสำเร็จมากเกินไป (ชวนให้นึกถึงไอ้ฟักในเรื่องคำพิพากษา) นึกอะไรไม่ออกก็ใช้คำว่า  "ตกเป็นเหยื่อของสังคม" เข้าไว้ก่อน เพราะยังไงก็ไม่ผิด!  


"ชื่อเรื่อง" เก๊าะซารี : มิตรภาพและความตาย ก็ยิ่งใหญ่อลังการเกินไปครับ อ่านแล้วไม่เห็นรู้สึกซาบซึ้งอะไรกับมิตรภาพในวัยเด็กของตัวละคร อันที่จริงใช้คำว่า "มิตรภาพ" กับเด็กระดับประถมก็ดูมากเกินไปด้วยซ้ำ เพื่อนเล่นกันในวัยเด็กเขาไม่ใช้คำว่ามิตรภาพ


ตัวละครอย่าง "เก๊าะซารี" ในเรื่อง ตายไปเพราะเหตุบังเอิญหรือตายเพราะอคติก็ว่ากันไป แต่ไม่ใช่ตายเพราะมิตรภาพ ตามที่ชื่อเรื่องสั้นบอก


อันที่จริงเรื่องสั้นเรื่องนี้ไม่มีประเด็นให้วิจารณ์มากนัก ผมจึงต้องอ่านอย่างละเอียดเพื่อมองหาจุดที่จะใช้ในการวิจารณ์ แล้วสิ่งหนึ่งที่พบก็คือ การใช้คำ การใช้ภาษาของผู้เขียนซึ่งขาดความระมัดระวัง ขาดความประณีตและพิถีพิถัน


ผมพบว่า เรื่องสั้นที่ยาวเพียง 7 หน้า นี้ใช้คำว่า "กระทั่ง" ถึง 13 ครั้งด้วยกัน คือ "กระทั่งพึงใจ..." หน้า  249  "กระทั่งเห็นดีเห็นงาม..." หน้า 250  "กระทั่งแจ่มชัด…" หน้า 251  "กระทั่งผมกลายเป็นมนุษย์แปลกหน้า..."  หน้า 254  "กระทั่งบางประโยค..."  หน้า 254   "ตราบกระทั่งหลังเรียนจบ..." หน้า 254 "กระทั่งแยกไม่ออก.."   แล้วที่เด็ดก็คือประโยคนี้ครับ


"กระทั่งเชื่อหรือไม่ว่า..ข้าราชการคนนั้นที่ยืนคุยกับเขาในตลาดมิใช่ใครที่ไหน แต่เป็นผมเอง ผม... คนที่สนิทชิดเชื้อกับมันมาหลายสิบปี แทบไม่อยากเชื่อว่าอาภรณ์ที่ผมสวมใส่ภายใต้ตำแหน่งงานของรัฐจะกลายเป็นชนวนให้เพื่อนโดนตราหน้าว่า "ไส้ศึก!" กระทั่งกลายเป็นศพ..."


นอกจากใช้คำว่า "กระทั่ง" อย่างฟุ่มเฟือยแล้วลีลาภาษาก็คล้ายกับ "อาจารย์เสก" อย่างมาก (ต้องขออภัยที่เอ่ยชื่ออาจารย์) อ่านแล้วรู้สึกเอียน ๆ ลองดูประโยคนี้ครับ ประโยคขึ้นต้นของเรื่องสั้นเลย


"ผมพยายามผลักไสไล่ส่งความหลังนับครั้งไม่ถ้วน หลายเรื่องมักเป็นความเจ็บปวดรวดร้าวมากกว่าความทรงจำที่ดี ทว่าเรื่องราวหนหลังมักผสมปนเปทั้งดีและร้าย..."


ประโยคนี้นอกจากจะคล้ายกับ "อาจารย์เสก" แล้ว การใช้ภาษายังผิดหลักไวยากรณ์อีกต่างหาก "หลายเรื่องมักเป็นความเจ็บปวดร้าวมากกว่าความทรงจำที่ดี" ตรงนี้เข้าใจได้ครับ แต่ถัดมากลับใช้คำว่า "ทว่า" ซึ่งแสดงความขัดแย้งกับประโยคก่อนหน้า "ทว่าเรื่องราวหนหลังมักผสมปนเปทั้งดีและร้าย"  อันที่จริง ควรจะตัดคำว่า "ทว่า"  กับคำว่า "มัก" ออกไป หรือถ้าให้ดียิ่งขึ้นก็ตัด "ทว่าเรื่องราวหนหลังมักผสมปนเปทั้งดีและร้าย" ทิ้งไปได้เลย มีการใช้ภาษาหละหลวมแบบนี้ตลอดทั้งเรื่อง อ่านจบแล้วก็เลยงง ๆ กับคำตัดสินของคณะกรรมการ


ปล. ผมรู้จักกับคุณปกาศิต แมนไทสงค์ เป็นการส่วนตัว ความคิดเห็นสั้น ๆ ของผมนี้ถือเป็นบทสนทนาเพื่อความคึกคักของเรา