Skip to main content

เมืองไทยของเรา

คอลัมน์/ชุมชน

เมืองไทยของเราอยู่ในบรรยากาศนิ่งๆ เฉยๆ แม้ว่าจะไม่มีรัฐบาลปกครองบ้างเมืองมาหลายเดือนแล้วก็ตาม ทุกคนยังก้มหน้าทำมาหากินกันไปตามแต่สภาพของตน ขณะที่ธรรมชาติก็ไม่ปรานีใครหรือหยุดดำเนินการ ยังคงเดินหน้าไปตามเดิม


 


ปีนี้ภัยธรรมชาติเกิดขึ้นหลายจุด สร้างความเสียหายอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เริ่มเข้าสู่หน้าฝน เริ่มแต่โคลนถล่ม น้ำท่วมที่อุตรดิตถุ์  ไล่ไปชุมพร กลับมาน่าน เชียงใหม่ ลำพูน และสุโขทัย ที่เจอน้ำท่วมแบบฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินถล่ม ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ในบางพื้นที่ของเชียงใหม่และลำพูน ซึ่งน้ำไม่เคยท่วมมาหลายปีก็เจอวิกฤติเมื่อฝนตกหนักเพียงวันหรือสองวัน น้ำก็หลากไหลบ่ามาอย่างท่วมท้น


 


การช่วยเหลือเบื้องต้นเกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่กันเอง เนื่องจากเป็นภารกิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่งต้องดำเนินการ ขึ้นอยู่กับว่า อบต.ไหนหรือเทศบาลไหน มีความพร้อม มีความคล่องตัว และการจัดเตรียมแผนป้องกันและบรรเทาไว้ดีเพียงใด นับว่าเป็นโอกาสหนึ่งที่ประชาชนจะได้รับรู้และพิสูจน์การทำงานของผู้บริหารท้องถิ่นได้  สำหรับภาพรวมของเมืองไทย การเตรียมการป้องกันและรองรับภัยพิบัติยังคงเป็นหน้าที่ของรัฐส่วนกลาง ที่ยังไม่มีการเลือกตั้งใหม่ ยังคงเป็นรัฐบาลรักษาการที่ทำงานกันอยู่ 


 


แล้วหากมีการเลือกตั้งใหม่ เมืองไทยของเราจะเข้าสู่ยุคอยู่เย็นเป็นสุขได้หรือไม่ น่าเป็นคำถามที่หลายคนมีอยู่ในใจเวลานี้ว่าจะไปเลือกตั้งดีไหม หากไม่ไปก็ต้องมีเหตุผลเพียงพอว่าจะร่วมรับสภาพชะตากรรมบ้านเมือง หากตัดสินใจไปเลือกแน่ จะเลือกใครดี ซึ่งมีให้เลือกไม่มากนัก คนเดิมๆ หน้าตาเดิมๆ ที่เคยบริหารมาก่อน หรือคนเดิมๆ หน้าเดิมๆ ที่ออกมาหาเสียงแล้ว เสนอโฆษณาประชาสัมพันธ์ตนเองทางโทรทัศน์และหน้าหนังสือพิมพ์ไปแล้ว  


 


หากตั้งอยู่บนความเชื่อว่าทุกคนพูดจริง ทำจริง  ไม่ว่าใครก็ตามหากเมื่อได้เข้ามาบริหารประเทศแล้วสามารถดำเนินการตามนโยบายที่หาเสียงไว้ทันที  ย่อมจะทำให้คนไทยและเมืองไทยอยู่เย็นเป็นสุขขึ้นได้บ้าง เช่น คนทุกคนได้รับหลักประกันรักษาฟรี  เด็กทุกคนได้รับหลักประกันได้เรียนฟรี  ไม่มีเก็บค่าใช้จ่ายใดๆ เพิ่มเติมอีก แรงงานทุกคนได้ขึ้นค่าแรง  ชาวนาไม่มีหนี้สิน มีทุนทำมาหากิน เด็กไทยมีไอคิวสูงขึ้น วัยรุ่นไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ตระหนักเรื่องสิทธิและปกป้องคุ้มครองสิทธิ สถานภาพหญิงชายไม่เหลื่อมล้ำ  ช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยลดน้อยลง สภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยให้มีสุขภาวะดี  เหล่านี้เป็นความหวังจะได้เห็นเมืองไทยแฮปปี้กันเร็ววันหลังการเลือกตั้ง


 


แต่ว่าคงเป็นความเพ้อฝันเกินไป คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่าจะไปเลือกใคร อยากอยู่แบบนิ่งๆ เฉยๆ  มากกว่า  ไม่แน่ใจว่าการเลือกตั้งเป็นทางออกเดียวหรือไม่ในการสร้างสังคมอยู่ดีมีสุข เมื่อเลือกผู้แทนแล้วก็ปล่อยให้ผู้แทนเขาว่ากันไป เราก็อยู่นิ่งๆ เฉยๆ เหมือนเดิม แล้วสังคมจะดีขึ้น หากมันจะไม่ดีก็ยอมรับได้ว่ามันมีอุปสรรคมากมายที่รัฐไม่อาจทำได้ เช่น นโยบายที่เชื่อมโยงกับต่างประเทศ การต้องอาศัยเทคโนโลยี การต้องอาศัยเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ  ต้องยอมโอนอ่อนในบางเรื่อง การเปิดตลาดเสรี การเสนอสินค้าเกษตรราคาถูก การเสนอแรงงานราคาถูกให้นักลงทุนต่างชาติ การเอื้อประโยชน์ด้วยกฎหมาย กฎระเบียบ ที่แก้ไขให้สะดวกสบายที่สุดสำหรับบริษัทต่างชาติ การเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้อง ที่เป็นฐานเสียง ฐานคะแนน การใช้เงินจำนวนมหาศาลอุ้มหนี้สินให้เกษตรกร และครู และอื่นๆ  จนต้องอ้างว่าไม่มีเงินพอเพียงสร้างสวัสดิการรักษาให้มีคุณภาพและครอบคลุม ไม่มีเงินพอจะรับประกันการศึกษาฟรี ที่สำคัญไม่อาจขึ้นค่าแรงได้  ดูๆ มันก็จะวนเวียนกันไปมาเช่นนี้ แล้วการเลือกตั้งจะมีคุณค่าอย่างไร


 


หรือประชาชนต้องคิดใหม่ว่า การเลือกตั้งผู้แทน เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการจัดการบริหารสังคมไทยให้อยู่ดีมีสุข สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือการเมืองภาคประชาชน ที่เคลื่อนไหวนอกรัฐสภา (ไม่ใช่นอกกฎเกณฑ์)  เพราะประเทศไทยเป็นของทุกคน และภาคประชาสังคมมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนสังคม ไม่ใช่ให้เพียงผู้นำหรือตัวแทนที่เลือกตั้งทำกันคนเดียว พรรคเดียว 


 


ฉะนั้น จะมีเลือกตั้งเมื่อไร ใครจะเป็น กกต. ก็คงต้องรอดูกันต่อไป จะออกไปเลือกตั้งหรือไม่ หรือจะไปใช้สิทธิแต่งดออกเสียง (โนโหวต) ก็ไม่ว่ากัน แต่ขอเชิญชวนให้ลองหันหน้ามองรอบตัว แล้วเริ่มต้นพูดคุยสนทนากันว่า เราต้องการชีวิตแบบไหน ต้องการสังคมไทยแบบใด แล้วเราจะมีส่วนร่วมในการติดตามกำกับและดำเนินการให้เกิดความอยู่เย็นเป็นสุขในสังคมอย่างไร  เริ่มจากตัวเอง คนรอบข้างที่คิดเหมือนกัน เริ่มจากระบบการปกครองใกล้ตัวคือ อบจ. อบต. เทศบาล ต้องช่วยกันติดตาม หนุนเสริม กระตุ้น ให้มีการดำเนินงานที่เอื้อประโยชน์ต่อคนในพื้นที่ของตน


 


ขณะเดียวกันก็ต้องให้การศึกษาเรียนรู้ด้วยกันเองว่า การเลือกตั้งไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของการบริหารประเทศ ประชาชนมีสิทธิรวมตัวกันเพื่อเสนอนโยบายเพื่อสาธารณะ การติดตามตรวจสอบการดำเนินงานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และรัฐบาล  รวมถึงกลไกของรัฐคือหน่วยงานและข้าราชการทั้งหลายเป็นหน้าที่ของประชาสังคม  สิ่งที่ต้องดำเนินการให้เป็นรูปธรรมอย่างแรกๆ ก็คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือการทบทวนรัฐธรรมนูญ ต้องมีตัวแทนประชาสังคมเข้าร่วมด้วย ไม่ใช่เอาเฉพาะนักการเมือง ข้าราชการ นักวิชาการ หรือศาล เท่านั้น ควรเปิดให้ตัวแทนพลังประชาสังคมกลุ่มต่างๆ ได้เข้าร่วมด้วย ซึ่งนั่นจึงเป็นภารกิจที่เราและเพื่อนพ้องน้องพี่ของเราต้องเตรียมตัวให้พร้อมจะเข้าร่วม  นอกเหนือไปจากเตรียมตัวไปเลือกตั้ง