Skip to main content

ถามหา "นโยบายพลังงาน" จาก ๔ พรรคการเมือง

คอลัมน์/ชุมชน

ผู้ที่สนใจการเมืองจำนวนไม่น้อยถูกทำให้มี "ความรู้สึก" ว่า นับตั้งแต่การเลือกตั้งใหญ่ครั้งที่ผ่านมา (๒๕๔๔) จนถึงการเลือกตั้ง ๒๕๔๘ นี้ พรรคการเมืองไทยมีการแข่งขันกันในเชิงนโยบายมากขึ้น


แต่น่าเสียดาย ที่ผมจะเรียนต่อท่านว่า "ความรู้สึก" ที่กล่าวมาแล้วนั้นเป็นเพียงภาพมายาที่พรรคการเมืองได้สร้างขึ้นมา แต่ในความเป็นจริงแล้วหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ ผมมีเหตุผลประกอบครับ


เรื่องพลังงานเป็นเรื่องที่ใหญ่โตมาก เพราะในปี ๒๕๔๗ ที่ผ่านมาคนไทยใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ถึงประมาณ ๑ ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น ๑๕% ของรายได้ประชาชาติเลยที่เดียว นักวิชาการที่ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด (อาจารย์เดชรัตน์ สุขกำเนิด) ได้รวบรวมข้อมูลพบว่า เฉพาะบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพียงอย่างเดียวที่เกี่ยวข้องกับพลังงานมีกำไรในปีที่ผ่านมาถึงประมาณ ๑ แสนล้านบาท ถ้านับรวมบริษัทที่อยู่นอกตลาด เช่น บริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย บริษัทเอสโซ่ บริษัทคาลเท็กซ์ และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยด้วยแล้ว กำไรน่าจะสูงถึง ๑ แสน ๕ หมื่นล้านบาท ซึ่งนับว่าเป็นกำไรที่สูงมาก


ไม่ว่าจะเป็น นโยบาย "๓๐ บาทรักษาทุกโรค" หรือ "คนจนรักษาฟรี" ก็มีมูลค่าเพียงไม่เกิน ๙ หมื่นล้านบาทต่อปีเท่านั้น หรือต่อให้ยกเอางบประมาณของกระทรวงที่ใหญ่ที่สุด (ซึ่งน่าจะเป็นกระทรวงศึกษาธิการ) ก็มีขนาดเพียงประมาณ ๒ แสนล้านบาทเท่านั้น เทียบกันไม่ได้เลยกับขนาดของธุรกิจพลังงาน


ผมคิดว่ากิจการพลังงานเป็นธุรกิจที่น่าจะใหญ่ที่สุดในประเทศ เกี่ยวข้องกับคนไทยทุกคน เกี่ยวพันถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังวิกฤตทุกภาคส่วนทั้งระดับประเทศและระดับโลก ก่อปัญหาโลกร้อนซึ่งมีความน่ากลัวมากขึ้นทุกปี


ในช่วง ๒๐๐ ปีมานี้ (๑๗๕๐ ถึง ๑๙๗๒) ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (ซึ่งเกิดจากการใช้พลังงานและทำให้โลกร้อนขึ้น) ได้เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยปีละ ๐.๐๖% แต่ในช่วง ๑๐ ปีสุดท้ายกลับเพิ่มสูงขึ้นถึงปีละ ๐.๔% หรือเพิ่มขึ้น ๗ เท่าตัว


ปัจจุบัน จำนวนคนที่เสียชีวิตจากภัยธรรมชาติมีสูงถึง ๔ เท่าของภัยจากสงครามและการจราจร (จากหนังสือเงินตราแห่งอนาคต สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา ๒๕๔๗) นี่ขนาดไม่ได้นับกรณีสึนามิที่ผ่านมา


ถ้าชาวโลกไม่ช่วยกันลดการปล่อยก๊าซที่ทำให้โลกร้อนซึ่งส่วนใหญ่มาจากกิจการพลังงาน ทางบริษัทซีจีเอ็นยู ซึ่งเป็นบริษัทประกันภัยที่ใหญ่ที่สุดของอังกฤษ ได้คาดว่า ในปี ค.ศ.๒๐๖๕ ค่าชดเชยความเสียหายที่เกิดจากภัยธรรมชาติจะสูงกว่าการผลิตสินค้าของโลก


แม้ว่าเรื่องพลังงานเป็นปัญหาใหญ่ทั้งเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่สัมพันธ์กับชีวิตคนไทยทุกคนดังที่กล่าวแล้ว แต่ปรากฎว่ามีเพียงพรรคการเมืองเดียวในบรรดาพรรคใหญ่สี่พรรคที่ได้ยกประเด็นนี้มาเป็นนโยบาย


พรรคที่ว่านี้ คือ พรรคมหาชน ส่วนพรรคไทยรักไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคชาติไทย ไม่ได้เขียนแยกออกมาให้ชัดเจน เมื่อผมตามไล่ดูอย่างผ่าน ๆ ไปในหัวข้อที่เรื่องนี้น่าจะปรากฎอยู่ เช่น นโยบายเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ และอุตสาหกรรม ก็ไม่พบ


อย่างไรก็ตาม พรรคมหาชนเอง แม้ได้เขียนไว้อย่างครอบคลุมประเด็นดีพอสมควร แต่ก็ขาดเป้าหมายที่ชัดเจนและตรวจสอบได้ ประเด็นที่ว่าพอสรุปได้ว่า


(๑) จะส่งเสริมการค้นคว้าวิจัยพลังงานทดแทนควบคู่ไปกับการสร้างจิตสำนึกสาธารณะ (๒) จะส่งเสริมให้พลเมืองเข้าใจถึงสถานการณ์ด้านการพลังงานและใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด (๓) จะพัฒนารูปแบบที่เป็นทั้งมาตรการในการให้การศึกษาและรูปแบบของกิจกรรมที่กระตุ้นความร่วมมือสร้างจิตสำนึกใหม่ทางสังคม (๔) การใช้มาตรการทางภาษีเพื่อให้เกิดประสิทธิผลในการพัฒนาการบริหารจัดการพลังงานทั้งระบบอย่างเป็นจริง


ในความเห็นของผมที่ได้ติดตามเรื่องพลังงานมาพอสมควร พบว่าในบรรดาพลังงานทดแทน หรือ "พลังงานหมุนเวียน" ซึ่งหมายถึงพลังงานที่ใช้แล้วไม่มีวันหมด เช่น พลังงานแสงแดด พลังงานลม พลังงานชีวมวล เป็นต้น หลายเรื่องไม่จำเป็นต้องวิจัยและพัฒนาอีกแล้ว (ผมหมายถึงในขณะนี้เท่านั้น ไม่ใช่ตลอดไป)


แต่สิ่งที่ประเทศไทยกำลังขาดแคลนอย่างมากคือการส่งเสริมให้ปฏิบัติได้จริง และขาดกฎหมายรองรับที่จำเป็นต่อการเกิดของพลังงานหมุนเวียน


ด้วยเนื้อที่อันจำกัด ผมขอกล่าวเพียงสั้น ๆ ย่อ ๆ ให้ท่านได้เห็นภาพบางอย่าง คือ เมื่อปี ๒๕๔๖ ประเทศเดนมาร์ก สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจากกังหันลมได้ถึง ๖ พันล้านหน่วยหรือประมาณ ๖% ของกระแสไฟฟ้าที่คนไทยใช้ทั้งประเทศ ถ้าเราตีค่าพลังงานไฟฟ้าดังกล่าวมาเป็นราคาในบ้านเรา (หน่วยละ ๒.๖๐ บาท) ก็จะมีมูลค่าถึง ๑ หมื่น ๕ พันล้านบาท


ถ้าคิดในเชิงสิ่งแวดล้อม พบว่า กังหันลมขนาดใหญ่พอสมควรเพียงตัวเดียวสามารถลดการใช้ถ่านหิน (ตลอด ๒๐ ปีของอายุกังหันลม) ได้เท่ากับตึก ๑๐ ชั้นขนาด ๗๐ คูณ ๗๐ เมตร ถึง ๒ ตึก ถ่านหินจำนวนนี้ได้สร้างคาร์บอนไดออกไซด์และก่อปัญหาให้กับทั้งชาวบ้านที่อยู่รอบ ๆ โรงไฟฟ้าและชาวโลกจำนวนมาก


ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้เซลล์แสงอาทิตย์ที่ใช้นาโนเทคโนโลยี ที่ใช้งานสะดวกราวกับคลี่เสื่อน้ำมันออกมาตากแดด และมีราคาถูกลงกว่าเดิม ๔ ถึง ๖ เท่าตัว จะออกมาตีตลาดโลก


เทคโนโลยีเหล่านี้แทบจะไม่ต้องทำการวิจงวิจัยอะไรมากมายอีกแล้ว ไม่ใช่ผมจะปฏิเสธงานวิจัย แต่ที่ต้องการคือความจริงใจในการลดปัญหาที่กล่าวมาแล้ว


สำหรับประเด็นกฎหมาย เรื่องนี้สำคัญมากครับ ในกลุ่มประเทศยุโรปซึ่งผู้คนเขาตื่นตัวกับสิ่งแวดล้อมมาก เขาจึงตราเป็นกฎหมายเพื่อให้ธุรกิจพลังงานหมุนเวียนเกิดขึ้นได้จริง


เขาเรียกกฎหมายนี้ว่า "อีเอฟเอล" (Electricity Feed in Law) หลักการสำคัญคือ บริษัทไฟฟ้าจะรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน (ซึ่งยังมีสัดส่วนในตลาดน้อย) จากชาวบ้านธรรมดาในราคาที่สูงกว่าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงที่ก่อมลพิษ (ซึ่งมีสัดส่วนในตลาดมาก) เมื่อนำมาเฉลี่ยราคารวมก็ไม่ได้ทำให้ราคาไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างรู้สึกได้


ในช่วง ๕ ปีแรก เขาจะรับซื้อในราคาแพงสักหน่อย เพื่อให้กิจการเกิดขึ้นได้ หลังจากนั้นราคารับซื้อก็จะค่อย ๆ ลดลงมา บริเวณใดที่มีลมแรงเขาก็จะรับซื้อในราคาที่ถูกกว่าบริเวณที่มีลมแรงน้อยกว่า


ด้วยกฎหมายแบบนี้เท่านั้น การส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนจึงจะเกิดเป็นจริงได้ นอกจากนี้แล้วเป็นการมายาหรือสร้างภาพเท่านั้นเอง


ถ้าเปรียบการเขียนนโยบาย เป็นการส่งข้อสอบ พบว่า ๓ พรรคส่งกระดาษเปล่า คือไม่เขียนอะไรเลย ส่วนพรรคมหาชนถึงเขียนมาบ้างก็ยังสอบตกแต่ไม่ถึงกับติดอีครับ


เพราะไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน ในขณะที่กลุ่มประเทศสหภาพยุโรปเขามีเป้าหมายชัดเจนว่าในปี ๒๐๒๐ เขาจะใช้กังหันลมผลิตไฟฟ้าให้ได้ถึง ๒๐% ของไฟฟ้าทั้งหมด


นี่คือความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างเขากับเราครับ