Skip to main content

เวียนว่ายอยู่ในหัว

คอลัมน์/ชุมชน

Reginald A. Ray เขียน


วิจักขณ์ พานิช แปลและเรียบเรียง


 


การภาวนาในบริบทของสังคมยุควัตถุนิยม บริโภคนิยม มักจะหนีไม่พ้นการเผชิญหน้ากับปัญหาความไม่อยู่กับเนื้อกับตัวของผู้ปฏิบัติ บ่อยครั้งที่เรานั่งสมาธิโดยให้ความสนใจแต่เพียงส่วนคอขึ้นไป พักจิตให้ว่ายเวียนวนอยู่ในหัว ตัดขาดจากชีวิตส่วนอื่นๆ การภาวนาจึงกลับกลายเป็นหนทางแยกขาดออกจากการดำเนินชีวิตในแต่ละวันไปโดยปริยาย เราภาวนาด้วยความเชื่อที่ว่า การฝึกจิตในลักษณะนี้จะเป็นหนทางให้เราหลุดพ้นจากความทุกข์ ความเจ็บปวดทางกาย ความวุ่นวายโกลาหล หรือความไม่แน่นอนของชีวิต หารู้ไม่ว่าแท้จริงแล้ว นั่นมิใช่หัวใจแห่งการฝึกฝนตนเองที่แท้แต่อย่างใด เพราะวิถีแห่งการภาวนา คือหนทางที่จะนำเราไปสู่การมีสติอยู่กับเนื้อกับตัวทั่วทุกสรรพางค์ เปิดรับเรียนรู้ชีวิตในทุกธรรมสภาวะแห่งความเป็นมนุษย์ จนสามารถเผชิญทุกสัมผัสแห่งชีวิตด้วยความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง


 


คุณอาจจะค้านว่าพระพุทธองค์สอนธรรมะเพื่อเป้าหมายแห่งการพ้นทุกข์ไม่ใช่หรือ ซึ่งก็ถูกของคุณ แต่ปัญหาก็คือ ในโลกสมัยใหม่ผู้คนกำลังสับสนระหว่างเป้าหมายกับเส้นทางการปฏิบัติ เราปักใจตีความเอาคำสอนของพระพุทธองค์อย่างเป็นเป้าหมายตายตัว ผลก็คือ พอเราเอาเป้าหมายนั้นมาปฏิบัติ ในหัวกลับเต็มไปด้วยความฟุ้งซ่านที่จะหลุดพ้นท่าเดียว แต่ลึกๆ กลับไม่พบความเติบโตทางจิตวิญญาณจากภายในใดๆ เลย


 


แม้แต่เมื่อการภาวนาถูกใช้เพื่อฝึกจิตให้สงบ ซึ่งหากเรามีความชำนาญมากพอ ก็อาจจะค้นพบหนทางที่จะภาวนาแล้วหลีกหนีจากความทุกข์ที่รุมเร้า พักจิตไว้ในสมาธิขั้นใดขั้นหนึ่ง รับรู้ถึงความสุขสงบอันเป็นที่พึงใจ แต่หารู้ไม่ว่าสิ่งที่เราพยายามฝึกนั้น กลับไม่ใช่หัวใจของการภาวนาแต่อย่างใด เรายิ่งพยายามแยกชีวิตออกเป็นสองส่วน ชีวิตทางโลก กับชีวิตทางธรรม อันเป็นรูปแบบหนึ่งของทวินิยม (Dualism) ที่ยังห่างไกลจากความเต็มเปี่ยมสมบูรณ์ในศักยภาพความเป็นมนุษย์ในทางจิตวิญญาณที่แท้จริง