Skip to main content

เพื่อน และ หุ้นส่วน

คอลัมน์/ชุมชน

โดยส่วนตัวแล้ว ผมเชื่อว่า ครอบครัวและสิ่งแวดล้อมที่เราเติบโตมา มีส่วนสำคัญมากในเรื่องของการเรียนรู้ และการสั่งสมประสบการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยเด็ก หลายสิ่งหลายอย่างมันจะฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกและกลายเป็นพื้นฐานความคิด พฤติกรรม ซึ่งแน่นอนว่า มีผลต่อการดำรงชีวิตของเราเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ด้วย


 


อย่างผมเอง เติบโตมาจากสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยหนังสือ ผมก็ได้ความรู้และการรักการอ่านมาตั้งแต่เด็ก การค้าขายเล็กๆ น้อยๆ ก็ทำให้ผมพอจะรู้จักค้าขายบ้าง แต่เนื่องจากครอบครัวผมเป็นครอบครัวครู จึงได้รับการสั่งสอนเรื่องการอ่าน การเขียน มากกว่าเรื่องการค้า ขณะที่เพื่อนบางคนซึ่งที่บ้านเป็นร้านค้าแล้วต้องช่วยพ่อแม่ขายของ เขาอาจจะไม่รู้เรื่องการอ่านการเขียนมากเท่าผม แต่เรื่อง ขาดทุน กำไร สินค้า ที่นอกจากประสบการณ์ตรงแล้ว เขาย่อมต้องได้รับการสั่งสอนจากพ่อแม่ซึ่งหมายความว่า เรื่องการค้านั้น เขาย่อมต้องรู้มากกว่าผมแน่นอน


 


ในวัยเด็ก เราไม่ได้คิดอะไรกันมากหรอกครับ สนุกไปวันๆ แต่เมื่อมาเรียนมหาวิทยาลัย ได้คบหากับเพื่อนที่มีพื้นเพแตกต่างกันมากๆ ก็ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ความต่างกันหลายอย่าง


 


ผมมีเพื่อน 2-3 คน ที่ช่วยครอบครัวค้าขายมาตั้งแต่เด็ก บางคนที่บ้านทำการค้าโดยตรง บางคนที่บ้านทำเป็นอาชีพเสริม บางคนเคยช่วยที่บ้านดูแลเรื่องสินค้าเข้า-ออกด้วยซ้ำไป


 


ผมมารู้ว่าใครมองเรื่อง "ค้าขาย" แค่ไหนและแบบไหน ก็ตอนที่ผมกับเพื่อนๆ ได้ร่วมลงหุ้นกันขายเบียร์กระป๋องในงานเทศกาลดนตรีของมหาวิทยาลัยที่เพื่อนเรียน


 


จำได้ว่าคราวนั้นเรามีหุ้นกันประมาณสิบหุ้น แต่มีคนลงหุ้นกันอยู่ 6-7 คน ก็แบ่งกันคนละ 1-2 หุ้น


งานนั้นเราสนุกกันมาก เพราะคนซื้อมันก็เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ คนกันเองทั้งนั้น แถมเพื่อนแต่ละคนมันก็มี "มุก" ในการขายของกันไปคนละแบบ บางคน (เช่นผม) ก็ขายแบบปกติ บางคนก็ร้องขายเหมือนขายกางเกงยีนส์ที่สวนจตุจักร ขณะที่บางคนมันมีลูกล่อลูกชนเยอะ ทำเป็นถือกระป๋องเบียร์ไปชวนคนนู้นดื่มคนนี้ดื่ม พอเขาเริ่มติดลม ก็พาเขามาซื้อร้านตัวเอง (มันบอกว่าเป็นวิธี "ขุดบ่อล่อปลา")


 


พองานเลิก ปรากฎว่า เราขายเบียร์ได้หลายถาด แต่ปันผลกันแล้วก็ได้หุ้นละไม่กี่สิบบาท เพราะส่วนที่ซื้อมาเพื่อดื่มเองก็ไม่ใช่น้อย จะว่าขายเอามันก็ได้ พอขายเสร็จแล้วจะแบ่งเงินกัน ปรากฎว่าหุ้นส่วนคนหนึ่งซึ่งเป็นรุ่นพี่ ไม่ได้อยู่ด้วย อันที่จริงคนอื่นๆ (รวมทั้งผม) ก็บอกให้แบ่งกันเลย แต่หุ้นส่วนคนหนึ่ง (ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ที่สุด) บอกว่า มาให้ครบก่อนดีกว่า จะได้ไม่มีปัญหาทีหลัง ก็เลยต้องไปตามกันมาให้ครบ แล้วค่อยแบ่งเงินกัน


 


อันที่จริงเงินแค่ไม่สิบกี่ร้อยบาท บางคนรวมทั้งผมในตอนนั้นก็คิดว่า ไม่น่าจะต้องยุ่งยาก แต่หลังจากงานนั้น ผมได้เรียนรู้ในภายหลังว่า ถ้าหากเราแบ่งเงินกันก่อนโดยไม่รอหุ้นส่วนอีกคน ซึ่งค่อนข้างจะซีเรียสกับเรื่องธุรกิจ เราก็อาจจะมีปัญหากันได้ เพราะนี่คือการทำ "การค้า" ไม่ใช่การเล่นขายของ 


 


สำหรับคนที่มาจากครอบครัวที่ไม่ได้ทำมาค้าขายอย่างผมนั้น การลงหุ้นร่วมกันทำธุรกิจ ถือเป็นการ "เรียนรู้ใหม่" เลยทีเดียว ในตอนนั้นผมคิดว่า การลงหุ้นขายของกับเพื่อนนี่ "มัน" ดีแฮะ ได้สนุกกับเพื่อนๆ แล้วยังได้เงินด้วย (คาดว่าถ้าตอนนั้นเจ๊งก็อาจจะไม่ค่อยสนุกเท่าไร)


 


ประสบการณ์การลงหุ้นกับเพื่อนทำธุรกิจอะไรสักอย่างร่วมกันนี้ ผมคิดว่าหลายๆ คนก็น่าจะเคยได้ลองทำกันมาบ้างแล้ว ไม่ว่าจะระดับแผงลอย หุ้นละร้อยแบบผม หรือระดับเปิดร้าน หุ้นละหลายหมื่น  ซึ่งแม้ขนาดของธุรกิจจะต่างกันลิบลิ่ว แต่เรื่องของประสบการณ์ที่ได้รับนั้น บางทีอาจไม่ต่างกันสักเท่าไร


 


คำถามมีอยู่ว่า เหตุจูงใจของการชวนเพื่อนทำธุรกิจด้วยกันนั้น เป็นเรื่องของความต้องการทำธุรกิจ หรือ เป็นเรื่องของมิตรภาพ?


 


สำหรับคนที่ไม่ใช่คนทำการค้าโดยตรง เรียกว่าพวก "สมัครเล่น" อย่างเราๆ ท่านๆ การชวนเพื่อนมาทำธุรกิจร่วมกันนั้น น่าจะเกิดขึ้นเพราะเหตุหลังมากกว่าเหตุแรก  ทำไมน่ะหรือ? ก็อย่างที่ผมเล่าให้ฟังเรื่องลงหุ้นขายเบียร์นั่นละครับ มันเกิดขึ้นเพราะอยากสนุก มากกว่าเกิดขึ้นเพราะอยากได้กำไร คือ โอเคล่ะ เราก็ไม่อยากขาดทุน แต่เราไม่ได้ซีเรียสกับมันมากนัก พูดง่ายๆ ว่าเราลงหุ้นค้าขายกับเพื่อน เพราะเราจะได้มี "กิจกรรมบางอย่าง" ทำร่วมกับเพื่อนนั่นเอง


 


ถ้าจะค้าขายกันแบบเอามัน ไม่คิดมาก แบบที่พวกผมลงหุ้นขายเบียร์กันสนุกๆ ขายเบียร์ไม่หมด เราก็กินเอง มันก็คงจะไม่มีปัญหาใดๆ แต่ก็อย่างที่บอกไปแล้ว เราตกลงกันร่วมหุ้นเพื่อทำการค้า ไม่ได้มาเล่นขายของ เพื่อนที่มาลงหุ้นกับเรา ไม่ได้คิดเหมือนกันทุกคน (ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรจะเป็นเพราะถ้าคิดเหมือนกันหมดร้านอาจจะไปไม่รอด)  ดังนั้น ปัญหาใหญ่ของการทำธุรกิจร่วมกับเพื่อน ก็มักจะหนีสาเหตุเดียวกันไม่ค่อยพ้น นั่นคือเรื่องของเส้นแบ่งระหว่าง "เพื่อน" กับ "หุ้นส่วน" 


 


ถ้าพูดตามประสาชาวบ้านก็คือ "เพื่อนส่วนเพื่อน ขายส่วนขาย" แต่ในความเป็นจริง ด้วยความเป็นเพื่อน หลายๆ เรื่อง และหลายๆ ครั้ง ก็ไม่อยากจะขัดใจกัน บางเรื่องเกรงใจกัน บางเรื่องก็ไม่กล้าพูดกันให้เคลียร์ สุดท้ายเมื่อเกิดปัญหาขึ้น ก็กลายเป็นเรื่องบาดหมางใจกันไป


 


ผมคิดว่า เราทุกคนต้องมีสักครั้งหนึ่ง ที่เคยฝันจะมีกิจการเล็กๆ เป็นของตัวเอง อาจจะเป็นร้านอาหาร ร้านเหล้า ร้านกาแฟ ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านเสื้อผ้า ฯลฯ บางคนก็กำลังทำ บางคนก็ได้ทำไปแล้ว และบางคนก็ยังอยู่ระหว่างการคิดจะทำ สิ่งที่ผมอยากจะบอกคือ ถ้าไม่เคยทำก็ลองดูเถอะครับ เพราะหลายสิ่งหลายอย่าง มันสอนกันด้วยปากไม่ได้ ถึงคนอื่นบอกมันก็ไม่ซึ้ง มันต้องได้รู้เองเจอเอง แล้วจะ "ซึ้งตรึงใจไปตลอดชีวิต" ถ้ากิจการไปได้สวย ก็เป็นเรื่องที่ดี ถ้ากิจการย่ำแย่ ก็ถือว่า "ซื้อประสบการณ์" เป็นบททดสอบใจขั้นแรก


 


เคยมีคนบอกผมว่า กิจการที่เปิดใหม่ และเจ้าของเป็นพวก "มือใหม่"  9 จาก 10 แห่ง จะมีโอกาสปิดตัวลงภายในปีแรก ฟังแล้วน่ากลัวนะครับ แต่ผมคิดว่ามีส่วนถูก ถ้าใครว่างๆ ก็ลองสังเกตดูร้านแถวบ้านก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ร้านเสื้อผ้า ร้านตัดผม หรือร้านอะไรก็แล้วแต่ ถ้าร้านไหนเปิดใหม่และเจ้าของเป็น "มือใหม่" แล้วสามารถยืนหยัดอยู่ได้เกิน 1 ปี ถือว่า "สอบผ่าน"


 


แล้วเชื่อหรือไม่ว่า ร้านที่ "รอด" ส่วนใหญ่จะเป็นร้านประเภทเจ้าของคนเดียว หรือสามี-ภรรยา ช่วยกันทำ ส่วนร้านประเภทลงหุ้นกันทำนั้น มักจะปิดตัวไปก่อน โดยที่ ร้านที่หุ้นส่วนเยอะๆ มักจะปิดตัวเร็วกว่าร้านที่หุ้นส่วนน้อยๆ เสียด้วย


 


เราถูกปลูกฝังให้เชื่อกันว่า ถ้าคิดจะทำอะไรนั้น "หลายหัวดีกว่าหัวเดียว" แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า จะต้องเป็นอย่างนั้นทุกๆ เรื่องนี่ครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำการค้าด้วยแล้ว ผมไม่ปฏิเสธว่าการลงหุ้นกับเพื่อน เป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับการกระจายความเสี่ยง แต่ในแง่ของการจัดการแล้ว หากไม่มีการวางระเบียบหรือข้อตกลงที่ชัดเจนและครอบคลุมพอ สักวันหนึ่งมันต้องเกิดปัญหาจากความเห็นที่แตกต่างของหุ้นส่วนเอง และอันที่จริง ต่อให้มีการวางระเบียบหรือข้อตกลงที่ชัดเจนและครอบคลุมที่สุดแล้ว ความเห็นที่ต่างกัน มันยังก็ทำให้เกิดปัญหาได้อยู่ดี (แต่อย่างหลังนี่ ยังมีระเบียบหรือข้อตกลงให้ยึดได้)


 


เมื่อไม่นานมานี้ ผมเพิ่งจะได้ข่าวว่าเพื่อนกลุ่มหนึ่งซึ่งไปร่วมหุ้นกันเปิดร้านอินเตอร์เน็ต ก็มีอันต้องแยกทางกันแล้ว เพราะมีหุ้นส่วนคนหนึ่งรู้สึกว่า เขาทำงานหนักอยู่คนเดียว ซึ่งสุดท้าย หุ้นส่วนคนอื่นๆ ก็ต้องไปหาเงินมาให้เขาแทนส่วนที่เขาลงหุ้นไป (เพราะเงินที่ร่วมกันลงทุนมันกลายเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ไปแล้ว จะเอาไปขายรึก็คงจะไม่เข้าท่าแน่)


 


ถ้าว่ากันตามหลักการแล้ว การลงทุนร่วมกันมันก็ควรจะมีข้อตกลงว่า จะเอาหุ้นคืนได้เมื่อไร และเท่าไร ผมไม่ทราบว่าก่อนลงทุนร่วมกัน เพื่อนผมกลุ่มนี้มันได้ตกลงกันแบบนี้ไว้หรือเปล่า แต่ผมคิดว่า ถึงจะตกลงกันไว้ มันก็คงไม่มีประโยชน์ ต่อให้เป็นลายลักษณ์อักษรด้วยเอ้า เพราะความเป็น "เพื่อน" กันนั่นไงครับ ยังไงก็ต้องรักษาความเป็นเพื่อนไว้ แม้จะต้องดิ้นรนหาเงินมาใช้หนี้ที่ยืมมาเพื่อจ่ายให้เพื่อนก็ตาม แบบนี้คือเลือกเพื่อน แต่ธุรกิจแย่ ขณะที่อีกหลายๆ ร้านที่ผมเคยเห็น คือเลือกเอาธุรกิจไว้ แต่ตัดเพื่อนทิ้งไปเลย คือถ้าเกิดกรณีเดียวกันนี้ เขาก็อาจจะบอกว่า "นายเอาหุ้นของนายไป แล้วก็ทิ้งความเป็นเพื่อนของเราไว้ตรงนี้ก็แล้วกัน"


 


หลายปีมาแล้ว ผมเคยลงหุ้นกับเพื่อนคนหนึ่งเปิดร้านอาหารด้วยกัน ไม่ใช่ร้านใหญ่โตอะไรนัก มีอาหารตามสั่ง มีเหล้า เบียร์ กับแกล้มขาย เปิดสายๆ ปิดเที่ยงคืน ตอนกลางวันไม่ค่อยมีลูกค้า ผมก็นอนอ่านหนังสือไป กลางคืนมีคนกินเหล้าก็ไม่ค่อยเหงา แต่ก็มีหลายๆ คืนที่นั่งตบยุงกันจนปิดร้าน แรกๆ ก็ดูเหมือนน่าจะไปได้สวย แต่ไปๆ มาๆ ดูเหมือนว่า ผมคงจะเรียนรู้การทำการค้ามาน้อยไปหน่อย เพราะในที่สุด มันก็มีปัญหาจนได้


 


ปัญหาทั้งหมดมันเกิดจากการไม่ "เคลียร์" กันตั้งแต่แรกนั่นละครับ ไม่ว่าจะเรื่องของ "ทุนตั้งต้น" หรือเรื่องของ "สายป่าน" ที่อาจต้องใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะอยู่ตัว  สุดท้ายร้านแรกในฝันของผมก็มีอายุเพียงแค่ 4 เดือน แถมกับประสบการณ์ชีวิตอีกกระบุงโกย ซึ่งหาซื้อที่ไหนไม่ได้เลยหากไม่ได้ลองมาทำร้านดูเอง


 


ส่วนเพื่อนคนนั้นของผมที่ทำร้านด้วยกัน ก็ยังคงเป็นเพื่อนกันอยู่ เพียงแต่ผมได้รู้จักเขามากขึ้น ได้เห็นเขาในหลายๆ มุมที่ผมไม่เคยเห็น เช่นเดียวกับที่เขาก็คงจะได้เห็นผมในหลายๆ แง่มุมที่เขาไม่เคยเห็นเหมือนกัน


 


สิ่งหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้ คือการ "ลงหุ้น" กัน ไม่ได้หมายถึงเงินเพียงอย่างเดียวนะครับ เงินเป็นตัวบอกว่าคุณมีสิทธิ์แค่ไหนในกิจการ และสิทธิ์แค่ไหนในกิจการ ก็หมายถึงการออกความคิด และอำนาจการตัดสินใจ คนลง 2 หุ้น ย่อมมีเสียงน้อยกว่าคนลง 5 หุ้น คนที่เป็น "หุ้นลม" ก็ย่อมจะมีสิทธิ์น้อยกว่าพวกหุ้นเงิน แต่ในความเป็น "เพื่อน" เรามักจะยืดหยุ่นได้มากกว่าเป็นธุรกิจเพียวๆ


 


เรื่องเพื่อนกับหุ้นส่วนนี้ อย่าว่าแต่สมัครเล่นอย่างเราๆ ท่านๆ เลยครับ ระดับมืออาชีพ ก็อาจมีปัญหาแบบเดียวกันนี้ได้เหมือนกัน


 


เพื่อนของผมคนหนึ่ง เป็นคนเก่ง ทำธุรกิจของตนเองควบคู่กับการทำงานประจำ เขาเป็นเจ้าของบริษัท 2 แห่งหลังจากทำงานได้ไม่กี่ปี ครั้งหนึ่ง เขาเคยบอกผมว่า ถ้าเขาจะลงทุนอะไรสักอย่างโดยที่ต้องมีหุ้นส่วน เขาจะพยายามไม่เอาเพื่อนมาเป็นหุ้นส่วนเด็ดขาด เพราะเมื่อเป็นเพื่อนแล้ว ก็ต้องมีการยืดหยุ่น หรือยอมกัน ซึ่งมักจะทำให้ธุรกิจมีปัญหา เขาบอกอีกว่า เขาขอ " เป็นหุ้นส่วนแล้วกลายมาเป็นเพื่อน" ดีกว่า "เป็นเพื่อนแล้วกลายมาเป็นหุ้นส่วน"


 


แต่สำหรับผมแล้ว หลังจากการทำร้านอาหารครั้งนั้นแล้ว ผมก็ตั้งใจว่า ต่อไปนี้ถ้าผมจะทำกิจการอะไรสักอย่าง ขอทำคนเดียวดีกว่าครับ จะรุ่ง หรือจะร่วง ก็อยู่ที่เรา ไม่ต้องไปโทษคนอื่น ไม่ต้องมานั่งเจ็บใจทีหลังว่า "โธ่เอ๋ย - เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด!"