Skip to main content

ไร่แม่ฟ้าหลวง : ไร่แห่งความศรัทธา ความรัก และความงาม

คอลัมน์/ชุมชน

"เหนือสุดในสยาม ชายแดนสามแผ่นดิน ถิ่นวัฒนธรรมล้านนา ล้ำค่าพระธาตุดอยตุง" นี่คือคำขวัญของจังหวัดเชียงราย ซึ่งทำให้คนต่างถิ่นใฝ่ฝันจะได้มาเยือนสักครั้งหนึ่ง เชียงรายเป็นดินแดนแห่งวัฒนธรรมล้านนา มีโบราณสถาน โบราณวัตถุ มีสถานที่ท่องเที่ยวทั้งทางธรรมชาติ ทางวัฒนธรรม และทางสถาปัตยกรรม อันมีความงดงามแตกต่างกันไป


 


แหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อของจังหวัดเชียงรายที่มีนักท่องเที่ยวมาเยือน คือ พระธาตุดอยตุง พระธาตุจอมกิตติ พระธาตุผาเงา ภูชี้ฟ้า วัดร่องขุ่น  น้ำตกขุนกรณ์  ไร่แม่ฟ้าหลวง และสถานที่ท่องเที่ยวในอำเภอต่าง ๆ ของจังหวัดเชียงราย ทั้ง ๑๖ อำเภอกับ ๒ กิ่งอำเภอ  ซึ่งอาจไม่ได้เอ่ยถึงทั้งหมด ณ ที่นี้


 



 


ไร่แม่ฟ้าหลวงเป็นหนึ่งในจำนวนสถานที่ท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อของจังหวัดเชียงราย ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านป่างิ้ว ตำบลรอบเวียง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๗  มีพื้นที่ทั้งหมด ๑๕๐ ไร่ ผู้อ่านหลายท่านคงมีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมมาแล้ว


 


เมื่อวันเสาร์ที่ ๒ กันยายน ๒๕๔๙ มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา ได้จัดกิจกรรมร่วมกับชุมชนรอบวัดในอำเภอเมืองเชียงรายขึ้นอีกครั้ง ใช้ชื่อกิจกรรมว่า โครงการเสวนารอบวัด เพื่อเสริมสร้างความตระหนักในพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมล้านนา กิจกรรมดังกล่าวได้รับงบประมาณบูรณาการจังหวัดเชียงราย รับผิดชอบโดยสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงราย


 


ชุมชนที่เข้าร่วมกิจกรรมได้แก่ ชุมชนป่างิ้ว ชุมชนฮ่องลี่ ชุมชนวัดพระแก้ว และชุมชนเกาะลอย มีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ถึง ๒๐๐ คน ทั้งผู้สูงอายุ วัยกลางคน วัยรุ่น และวัยเด็ก  แม้จะมีความแตกต่างระหว่างวัย แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการศึกษาหาความรู้  กลับสร้างโอกาสที่ดีให้ผู้ใหญ่กับเด็กได้ใกล้ชิดกัน  มีเวลาทำกิจกรรมร่วมกัน สร้างความรักความผูกพันให้คนในครอบครัว


 


บรรยากาศช่วงเช้าที่หน้าไร่แม่ฟ้าหลวง เต็มไปด้วยผู้คนที่พากันสวมใส่เสื้อสีเหลือง มาพร้อมกันตรงตามเวลาที่นัดหมายหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส


 


คณะศึกษาดูงานได้เดินชมทัศนียภาพในไร่แม่ฟ้าหลวง ซึ่งเต็มไปด้วยพันธุ์ไม้และดอกไม้นานาชนิด บางชนิดอาจไม่เคยพบเห็นที่ไหนมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นไม้ใหญ่ที่แสดงถึงอายุการเพาะปลูก ว่าต้องใช้เวลาในการเจริญเติบโตหลายสิบปี ทั้งที่ปลูกในพื้นที่ไร่ตั้งแต่ต้นและที่ย้ายจากพื้นที่อื่นมาปลูกต่อในไร่ เพื่ออนุรักษ์ไว้


 



 


แม้ระยะทางจากหน้าประตูทางเข้า จนถึงสิ่งก่อสร้างที่มีความสำคัญของคนล้านนา อันได้แก่หอคำนั้น  จะเป็นระยะทางเดินเท้าที่ไกลพอสมควร แต่ด้วยความเพลิดเพลินกับการชมธรรมชาติโดยรอบ ทำให้คณะศึกษาดูงานไม่มีอาการเหนื่อย มีรอยยิ้มบนใบหน้าแทบทุกคน เป็นการเรียนรู้ร่วมกันในบรรยากาศสบาย ๆของครอบครัว


 


ณ บริเวณหน้าหอคำ เจ้าหน้าที่ของไร่บรรยายประวัติความเป็นมาของการก่อตั้งหอคำ ซึ่งในหอคำจะมีผู้บรรยายให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยวที่เข้าชมเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยบรรยายได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ


 



 


ครูแดงได้ชวนทุกคนไปสักการะพระรูปปั้นของสมเด็จย่า เพื่อแสดงความกตัญญูต่อพระองค์ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ทุกคนจึงได้ถวายบังคมแสดงความจงรักภักดีแก่สมเด็จย่า ผู้ปกครองที่มากับบุตรหลานได้ช่วยสอนวิธีการถวายบังคมให้ด้วย เป็นภาพงดงามท่ามกลางแสงแดดอ่อนยามสาย


 


เสร็จจากสักการะสมเด็จย่าแล้ว คณะของเราจึงเข้าไปในหอคำ ซึ่งมีชื่อเต็มว่า  หอคำแม่ฟ้าหลวง เป็นเครื่องไหว้สาแม่ฟ้าหลวงในวโรกาสที่พระองค์ท่านทรงเจริญพระชนมายุครบ ๘๔ พรรษา สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๐ หอคำหลวง เป็นผลงานแห่งความรักความศรัทธาของบุคคลหลายฝ่าย ซึ่งพยายามสร้างที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม อันเป็นการเจริญตามรอยพระยุคลบาทของพระองค์ท่าน


 


สถาปนิกของหอคำมีทั้งหมด ๔ ท่าน คือ คุณทรงศักดิ์ ทวีเจริญ คุณครองศักดิ์  จุฬามรกต  คุณเผ่า สุวรรณศักดิ์ศรี และคุณธีรพล นิยม โดยมีวิศวกร คือ คุณมนัส รัตนสัจธรรมและคุณจรูญ กมลรัตน์  ควบคุมการก่อสร้างโดยนายช่างชลประทาน ใช้ช่างพื้นบ้านจากจังหวัดเชียงราย และแพร่ ช่างแกะสลักจากจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน


 


หอคำมีโครงสร้างและวัสดุที่ใช้อย่างล้านนาไทย คือ แบบหลังคาได้ความบันดาลใจจากวัดในจังหวัดลำปาง ตัวอาคารสอบเข้าเหมือนลักษณะเรือนล้านนาอย่างโบราณ  ลวดลายประดับได้จากจังหวัดอุตรดิตถ์  โครงสร้างของหอคำสร้างด้วยไม้สักทั้งหมด ส่วนพื้นสร้างจากไม้ชนิดต่าง ๆ ถึง ๑๐ ชนิด ใช้ไม้ของบ้านเก่าของคนล้านนาถึง ๓๒ หลัง จากจังหวัดเชียงรายและจังหวัดพะเยา


 


ศิลปวัตถุที่นำมาแสดง คือ เครื่องสัตภัณฑ์และพระพุทธรูปไม้สักล้านนาไทย อันได้มาในช่วง พ.ศ. ๒๕๒๙ – ๒๕๓๐ ซึ่งประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ราคาที่ดินสูงขึ้น มีการขายที่ดินกันมาก ชาวบ้านมีฐานะดีขึ้น มีการปรับปรุงการไฟฟ้าและคมนาคม ชาวบ้านมีฐานะดีขึ้น วัดวาอารามเก่าแก่ถูกรื้อ สัตภัณฑ์หรือแท่นเชิงเทียนถูกยักย้ายถ่ายเทไปตามที่ต่าง ๆ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงเห็นว่าควรถนอมรักษาศิลปะวัตถุจึงได้ซื้อเครื่องสัตภัณฑ์มารวบรวมดูแลไว้ สัตภัณฑ์เป็นสิ่งหนึ่งที่มีประโยชน์ใช้สอย ช่วยให้เกิดความสว่าง ความสงบ ความสวยงามและความหวังมาหลายชั่วอายุคนในล้านนาไทย


 


ในหอคำมีพระพุทธรูปไม้สักองค์สำคัญ ซึ่งวัดแห่งหนึ่งในจังหวัดแพร่มอบให้เป็นสิริมงคล พระพุทธรูปนี้มีพระนามว่า "พระพร้าโต้" สร้างในปี ๒๒๓๖ กล่าวกันว่าสร้างขึ้นโดยใช้มีดขนาดใหญ่หนา พุทธลักษณะจึงปรากฏในลักษณะเข้มแข็ง บึกบึน และงามสง่า ตามความเชื่อหากใครมีอาการเจ็บปวดตามเนื้อตัว ถ้าได้สักการะและตั้งจิตอธิษฐาน  อาการเจ็บปวดจะทุเลาลง


 


เมื่อเราหันหน้าเข้าหาพระพร้าโต้ ด้านขวามือของเราจะเห็นพระพุทธรูปปางยืนประดิษฐานอยู่ เป็นศิลปะทางลาว ส่วนด้านซ้ายมือ มีพระพุทธรูปศิลปะแบบพม่า เมื่อมองภาพโดยรวมแล้ว สิ่งที่เห็นภายในหอคำเป็นของเก่าที่มาจากวัดต่าง ๆ ที่ถูกรื้อ ปัจจุบันหอคำจึงเป็นพิพิธภัณฑ์ของพื้นบ้าน น่าเสียดายที่ไม่สามารถถ่ายภาพบรรยากาศภายในหอคำมาให้ผู้อ่านได้ชมกัน เนื่องจากเป็นกฎที่ไร่แม่ฟ้าหลวงกำหนดไว้  จึงนำภาพโครงสร้างของหอคำ ซึ่งถ่ายจากด้านนอก มีลักษณะคล้ายแบบบ้านสมัยล้านนามาให้ชม


 


หลายคนในคณะให้ความสนใจกับของเก่าชนิดต่างๆ จึงได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้บรรยายเพื่อให้คลายความสงสัยเป็นระยะๆ เมื่อชมของเก่าทั่วหอคำแล้ว คณะได้เดินไปตามทางเดินที่ไร่จัดไว้เพื่อไปยังหอแก้ว มีบางกลุ่มยังประทับใจในความงามของหอคำ ขอถ่ายภาพเก็บไว้เป็นที่ระลึก แม้จะเป็นเพียงภาพที่ถ่ายคู่กับของเก่าที่อยู่ด้านล่างหอคำ  แต่ความงดงามในหอคำยังคงชัดเจนในความทรงจำ ถึงไม่มีภาพถ่ายไว้อวดใคร ๆ ก็ได้รู้ว่าข้างในนั้นมีสิ่งที่มีคุณค่าทางใจอยู่


 


ทางเดินจากหอคำไป หอแก้ว สามารถมองเห็นอาคารสถานที่ สิ่งก่อสร้างที่มีลักษณะอาคารเป็นแบบล้านนา เห็นต้นไม้ที่ดูแปลกตา ซึ่งเจ้าหน้าที่ของไร่แม่ฟ้าหลวงได้ทำป้ายชื่อต้นไม้ติดไว้ทุกชนิด


 


ก่อนถึงหอแก้ว คณะได้แวะชมร้านจำหน่ายของที่ระลึก ซึ่งมีของระลึกประเภทงานฝีมือต่างๆ วางขายอยู่ อาทิ กระเป๋าถือของผู้หญิง  เสื้อผ้าทอ หมวก และอื่นๆ มากมาย ซึ่งรายได้จากการขายของทั้งหมดนำเข้ามูลนิธิแม่ฟ้าหลวง สินค้าทุกชนิดจึงมีป้ายมูลนิธิฯ ติดไว้


 


เมื่อมาถึงหอแก้วก็ให้ทุกคนได้พักผ่อนตามอัธยาศัย กลุ่มผู้ใหญ่นั่งพูดคุยกันระหว่างชุมชน เนื่องจากได้รู้จักและทำกิจกรรมร่วมกันมาแล้วหลายครั้ง ตามที่เคยนำเสนอในครั้งก่อน ในระหว่างที่พักผ่อนมีเจ้าหน้าที่หญิงของไร่มาบริการน้ำฝรั่งแช่เย็น ดื่มแล้วได้กลิ่นของลูกฝรั่งกับมะนาว หอมชื่นใจ รสไม่หวานจนเกินไป บางคนติดใจขอดื่มต่ออีกแก้ว เป็นการสร้างนิสัยให้หันมาดื่มน้ำผลไม้ที่มีในธรรมชาติตามฤดูกาลของท้องถิ่น ซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการ ดีกว่ากินน้ำอัดลม ซึ่งมีสารพิษมากมาย เช่น สารฟอกขาว  สารกันบูด น้ำตาล ทั้งยังเป็นการส่งเสริมภูมิปัญญา และสร้างงานให้ท้องถิ่นด้วย


 


หลังจากที่ได้พักผ่อนกันทั่วหน้าแล้ว คณะได้เข้าไปศึกษาดูงาน ณ หอแก้ว ซึ่งเป็นอาคารสถาปัตยกรรมล้านนาแบบประยุกต์ขนาดใหญ่ สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๔ ซึ่งตัวอาคารแบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนแรกเป็นที่ทำกิจกรรม เช่น การประชุมสัมมนา จัดเลี้ยง ฯลฯ มีระเบียงยื่นลงไปในสระน้ำขนาดใหญ่  เหมาะแก่การสังสรรค์อันรื่นรมย์และปลอดโปร่งใจ ส่วนที่สองเป็นพื้นที่จัดนิทรรศการ ซึ่งในวันที่คณะเข้าไปชมหอแก้วนั้น มีนิทรรศการเรื่อง "ไม้สัก" กับนิทรรศการเรื่อง "หอคำในอาณาจักรล้านนา"


 


นิทรรศการไม้สัก แสดงถึงวิถีแห่งไม้สัก ทั้งในด้านพฤกษศาสตร์ และความงาม ไม้สักเป็นไม้ที่มีคุณค่าในเขตร้อนชื้น ไม้สักในภาคเหนือของไทยจึงมีคุณภาพดีแห่งหนึ่งในโลก


 


ในห้องแสดงนิทรรศการไม้สัก ได้แสดงเครื่องใช้ของคนล้านนาเดิม เช่น อุปกรณ์ทำนา คือ คราด คันไถ เครื่องบดดิน ไม้คานแบกข้าว ทุกชนิดทำจากไม้สัก โดยได้รับความสนใจจากกลุ่มคนเฒ่าคนแก่อย่างยิ่ง อาจเป็นเพราะถวิลหาอดีตที่เคยได้เห็นหรือเคยใช้ของเหล่านี้ก็เป็นได้


 



 


นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์ทอผ้า ข้าวของเครื่องใช้ในครัว เช่น ขันโตก ครกกั๊วะข้าว (ภาชนะเกลี่ยข้าวเหนียวที่สุกใหม่ๆ)  เครื่องดนตรี เช่น ระนาด ซึง และกลองสิ้งหม้อง


 


ส่วนที่สองนิทรรศการภาพถ่ายหอคำ เป็นภาพหอคำและวิถีชีวิตในคุ้มหลวงของล้านนาโบราณ ซึ่งขนบธรรมเนียมในอดีต ถือว่าหอคำเป็นศูนย์กลางการเมืองการปกครองที่สำคัญ เป็นไปตามความเชื่อหลักศาสนา โหราศาสตร์ และมีความสำคัญต่อสังคม ภาพที่จัดแสดงจึงปรากฏความเจริญของสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากการเมืองตลอดเวลา


 


นิทรรศการเริ่มต้นด้วยรูปแบบโครงสร้างของหอคำที่ได้รับอิทธิพลศิลปะพม่า ภาพหมู่พระมหามณเฑียรแห่งเมืองมัณฑเลย์  ภาพถ่ายหอคำในภาคเหนือของไทย คือ หอคำเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่และน่าน รวมทั้งหอคำในลาว คือ หลวงพระบางและเมืองสิง ปิดท้ายด้วยภาพหอคำในเชียงตุง ยองห้วย และแสนหวี ในรัฐฉาน ประเทศพม่า ซึ่งหอคำแต่ละแห่งจะมีลักษณะคล้ายกันบ้าง ต่างกันออกไปบ้าง ตามแบบการสร้างและผู้ก่อสร้าง


 


เมื่อชมนิทรรศการที่หอแก้วครบแล้ว ก็ถึงเวลาทานอาหารกลางวัน ทุกคนรับประทานอาหารร่วมกัน ที่ห้องซึ่งมีบรรยากาศโล่ง โปร่ง  ลมพัดโชยตลอดเวลา เมื่ออิ่มหนำสำราญและเต็มจึงแยกย้ายกันกลับ


 



 


กราบขอบพระคุณอาจารย์นคร  พงษ์น้อย  ในนามของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ที่กรุณาให้โอกาสในการพาคนในชุมชนรอบวัด เข้าไปทัศนศึกษาดูงานในไร่แม่ฟ้าหลวง และขอบคุณเจ้าหน้าที่ไร่แม่ฟ้าหลวงที่ให้ข้อมูลประกอบการเขียน รวมทั้งน้ำใจไมตรีในการต้อนรับอย่างอบอุ่น ดูแลเป็นอย่างดี รวมทั้งจัดดอกไม้นานาชนิดรวมกันในถาดรองใบเดียวอย่างสวยงาม มองผิวเผินเหมือนดอกไม้ประดิษฐ์ จึงห้ามใจไม่ไหวขอพิสูจน์ว่าเป็นดอกไม้จริงหรือไม่ จนได้คำตอบว่านั่นคือดอกไม้จริงทั้งหมด  โดยอาจารย์นครได้กรุณามอบถาดดอกไม้นี้ให้เป็นของขวัญแก่มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา


 


ขอขอบคุณอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายวรเกียรติ  สมสร้อย (สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดเชียงราย คนปัจจุบัน) ที่กรุณาจัดงบประมาณสนับสนุนโครงการนี้ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (โดยคุณพนพ สัตโยภาส) ผู้รับผิดชอบโครงการ มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) ผู้ปฏิบัติงาน และผู้นำทั้ง ๔ ชุมชน ผู้ประสานงานอย่างดีเยี่ยม ที่มีส่วนช่วยให้เกิดโครงการที่สร้างสรรค์ สนับสนุนให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรม สร้างความรัก ความสามัคคีในครอบครัว ในหมู่คณะ สร้างความภูมิใจในอัตลักษณ์ของล้านนา ลดความรู้สึกโดดเดี่ยว ท้อแท้ สับสนในภาวะเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองไทยในปัจจุบัน


 


ขอให้มีงบประมาณสนับสนุนกิจกรรมแห่งความรัก ความดีงาม เช่นนี้อย่างต่อเนื่องนะคะ ผู้ที่สนใจจะเข้าชมไร่แม่ฟ้าหลวง ที่บ้านป่างิ้ว ตำบลรอบเวียง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ติดต่อซื้อบัตรเข้าชมได้ที่ ๐-๕๓๖๐-๑๐๑๓


 


ผ่องพรรณ ตันกุละ บันทึก


ภาพประกอบโดยมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา