Skip to main content

คิดถึงลูก : ตอนไปเรียน

คอลัมน์/ชุมชน

หมื่อ ฮา ลอ บุ หมื่อ เก่อ ลอ หนื่อ                 หมื่อ อะ ข่อ แฮ แชะ ธ่อ เก่อ ปรือ


โหม่ ดอ ป่า โอะ แว เต่อ หมื่อ บ่า                 เซ่อ ยือ บะ โพ หมื่อ เดาะ โพ ควา แหม่ ที โพ ยวา


            โพ หมื่อ เออ โพ ควา เออ               เส่ ญา เน ดะ โหม่ ป่า แอะ นา


            หมื่อ หล่า ต่า อา                           เลอ เนอ พอ โข่   มา เส่อ ปวา ปว่า


            ตือ เนอ โพล่ ถ่อ โหม่ ป่า               โอะ ค๊อ กว่า หล่า เนอ แกละ


                                     


ยามสุริยา ใกล้พ้นขอบฟ้า                           ฝากเพียงแสงทองส่องเพื่ออำลา


ลูกรักจากบ้าน คิดถึงห่วงหา             จากไปเนิ่นนาน บ้านดอยอ้างว้างเหลือความทรงจำ


โอ้ลูกรัก เจ้าจะรู้ไหม                     ลูกคือดวงใจ คือแรงแห่งกาย


            คือแรงแห่งใจ                              หวังยังอีกไกล เจ้าจงอุตส่าห์


            สู้และฝ่าฟันให้ถึงจุดหมาย               ปลายทางแห่งฝัน


 


(ตอนที่ 1 เพลงคิดถึงลูก: คำร้อง/ทำนอง/ ขับร้อง : พนา  พัฒนาไพรวัลย์  อัลบั้ม: เพลงนกเขาป่า )


 


 




 


เขาจะร้องเพลงนี้ทุกครั้งที่เขามีโอกาสได้ร้องเพลง  โดยเฉพาะเวลามีคนมาเยี่ยมเขาและขอฟังเสียงเพลงและเรื่องราวจากเขาที่บ้าน  เขาจะร้องเพลงนี้อย่างมีอารมณ์  เหมือนเขามีความหลังลึกซึ้งที่มีความหมายกับบทเพลงนี้


 


"พาตี่(ลุง) คิดอย่างไรที่แต่งเพลงนี้?" ผู้มาเยือนถาม


"พาตี่มีลูกอยู่ 4 คน ตอนนี้ไปเรียนในเชียงใหม่ทุกคน ทุกเช้าทุกเย็นพาตี่ต้องกินข้าวกับแม่ของลูกเพียงสองคน นานๆเข้าพาตี่รู้สึกว่าลูกมันหายไปไหน พอตั้งตัวได้  ออ ลูกไปเรียนหนังสือ ซึ่งมันก็เป็นสิ่งที่ดี แต่บางทีพ่อแม่ก็อดที่จะคิดถึงไม่ได้  ก็เลยเขียนเพลงนี้เพื่อร้องคลายความคิดถึงและกระตุ้นให้ลูกตั้งใจเรียนให้จบอย่างที่ตั้งใจ  แต่ยิ่งร้องยิ่งคิดถึงนะ" เขาอธิบายที่มาของเพลง


 


ไม่แน่ใจว่าเขาโชคดีหรือโชคร้ายที่ลูกสี่คนของเขาตัดสินใจมุ่งหน้าเข้าสู่โรงเรียนทุกคน ทำให้เขาต้องรับภาระในการส่งลูกเรียนทั้งสี่คนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ทั้งๆ ที่เขานำเสนอทางเลือกให้ลูกทั้งสี่คือ


"ใครที่จะเอาดีทางด้านเรียนก็เรียนไป   ส่วนใครที่ไม่อยากเรียนก็ทำนาและเอาแปลงที่นาไป" เขาบอกแก่ลูกเขา


 


แต่ลูกทั้งสี่คนของเขาเลือกทั้งจะเรียนและจะเอาแปลงนาด้วย  ซึ่งเขายินยอมที่จะให้ลูกของเขาเลือกที่จะคิดและทำตามที่ใจลูกอยาก


 


"เขาอยากเรียนก็ต้องส่งเขาเรียน   พาตี่เห็นว่าการเรียนก็เป็นสิ่งที่ดีถ้าเรียนแล้วเอาสิ่งที่เรียนไปใช้เลี้ยงชีพได้ ถ้าให้เรียนคนหนึ่งและไม่ให้เรียนคนหนึ่ง เดี๋ยวเขาจะว่าเราลำเอียง แต่พาตี่ดีใจอย่างหนึ่งที่ทุกยังให้ความสำคัญกับผืนนาที่ซึ่งให้กำเนิดข้าวอยู่   เพราะคนเรียนจบสูงขนาดไหนก็ต้องกินข้าวทุกคน   เป็นหมอ เป็นครู เป็นช่างคอมพิวเตอร์ก็ต้องกินข้าวนะ" เขาพูดถึงลูกของเขา


 


"ส่งลูกเรียนพร้อมกันสี่คนนี้ พาตี่ไปขอทุนจากที่ไหนบ้างมั้ย?" ผู้มาเยือนถาม


"ในฐานะที่พาตี่เป็นข้าราชการเขาก็ช่วยเหลือเรื่องค่าเทอมบ้าง เฉพาะค่าหน่วยกิจนะ อย่างอื่นต้องออกเอง ลูกพาตี่เขาก็อยากขอทุน   แต่พาตี่บอกเขาว่า    ถ้าพ่อยังสู้ไหว   พ่อก็จะใช้ความสามารถของตนเองส่งลูกเอง อาจจะขาดสนบ้าง   บางครั้งก็ต้องยืมเงินของคนอื่นบ้าง   ก็ต้องทำอย่างนั้นลูกจะได้รู้ด้วยว่าพ่อแม่ลำบากแค่ไหนในการที่ต้องส่งลูกเรียน   ลูกจะได้เอาจริงกับการเรียน" เขาตอบผู้มาเยือน


 


"ลำบากอย่างนี้ทำไมไม่ให้ลูกขอทุนการศึกษาจากที่อื่น เพราะเท่าที่รู้มาองค์กรการกุศลต่างๆเขาก็มีทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนชาวเขา ไม่ใช่เหรอครับ?" ผู้มาเยือนถามต่อ


 


"คือพาตี่รู้สึกว่ายังมีคนที่ลำบากกว่าพาตี่ที่ต้องการความช่วยเหลือ    ในส่วนของพาตี่เท่าที่ช่วยเหลือตนเองได้พาตี่ต้องช่วยเหลือตนเองก่อนที่จะไปขอคนอื่น   ถ้าเกิดพาตี่ให้ลูกพาตี่ไปขอทุน พาตี่รู้สึกเหมือนพาตี่ไปตัดหรือแย่งโอกาสของคนที่ลำบากกว่าพาตี่ที่ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ ไป   พาตี่ว่าต้องคิดเผื่อคนอื่นด้วยนะ ไม่อย่างนั้นความเหลื่อมล้ำในสังคมจะสูงขึ้นทันที" เขาตอบพร้อมกับยื่นถ้วยน้ำชาให้ผู้มาเยือน


 


" พาตี่หวังอะไรในตัวลูกบ้าง? "


"ตัวพาตี่เองไม่ได้หวังที่จะพึ่งพาลูกนะ   พาตี่ดูแลตัวเองเอาตัวรอดได้   ถ้าลูกสามารถหาเลี้ยงชีพของตนเองได้อย่างพอเพียงพาตี่ก็พอใจแล้ว   แต่สิ่งที่พาตี่หวังคือหวังให้เขาอย่าไปทำความเดือดร้อนให้กับสังคมและหากเขามีศักยภาพที่จะช่วยเหลือคนอื่น ช่วยเหลือชุมชน สังคมโดยเฉพาะชนเผ่าให้เขาช่วยได้ให้ช่วยทันที่ เพราะการช่วยเหลือบางทีรอช้าไม่ได้นะ"  เขาตอบ


 


ภายใต้การหมุนเปลี่ยนของยุคสมัย สังคมชนเผ่าเองมิอาจนิ่งเฉยหรือหยุดนิ่งต่อการเปลี่ยนแปลงได้  การปะทะสังสรรค์กับสังคมภายนอกเกิดขึ้นและทวีความเข้มข้นขึ้นทุกขณะ  จนชุมชนชนเผ่าหลายแห่งต้องพึ่งพาภายนอกมากกว่าพึ่งตนเองทั้งการอุปโภค บริโภคปัจจัยต่างๆ ทั้งทางด้านอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค รวมไปถึงสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ


 


สังคมชนเผ่าเหมือนตกอยู่ในสภาวะสงคราม  ที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด   ความอยู่รอดทางวัฒนธรรม ความอยู่รอดทางวิถีชีวิต  หลายชุมชนจับอาวุธทางภูมิปัญญาเพื่อลุกขึ้นมาต่อสู้ในการยืนหยัดบนวิถีการผลิตแบบเดิมที่มองว่ามีความยั่งยืนกว่าวิถีการผลิตแบบใหม่ที่เขามา  โดยการพยายามแสวงหาพื้นที่ทางสังคมในการแสดงความเป็นตัวตนออกมาผ่านทางความคิดและการปฏิบัติทั้งทางตรงอย่างเปิดเผยและทางอ้อมอย่างซ่อนเร้น 


 


เขาสรุปสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างง่ายๆ ว่า "เวลาและโลกมันหมุน  หมุนไปหมุนมาก็กลับมาที่เดิม สิ่งเก่ากลายเป็นสิ่งใหม่ สิ่งใหม่กลายเป็นสิ่งเก่า คนรุ่นหนึ่งไปรุ่นหนึ่งมา  คนรุ่นหนึ่งมารุ่นหนึ่งไป ของใหม่ใช่ว่าจะดีหมด ของเก่าใช่ว่าจะเสียหมด  ที่สำคัญคือเมื่อเวลาโลกหมุนกลับมาสู่ที่ตำแหน่งเดิม ทุกอย่างจะกลับสู่ตำแหน่งเดิมอย่างไร?  เมื่อคนรุ่นหนึ่งกลับมาสู่ที่เดิมทุกอย่างจะกลับสู่ที่เดิมได้อย่างไร? เป็นสิ่งที่คนยุคนี้ต้องคำนึง"


 


"แล้วตอนนี้ลูกๆ เป็นไงบ้างล่ะ?"  ผู้มาเยือนวกกลับมาถามเรื่องลูก


"ตอนนี้มันเรียนจบปริญญาตรีหมดแล้ว  ต่างคนต่างไปทำงานคนละที่  บนดอยท่ามกลางชนเผ่าบ้าง ในเมืองบ้าง พาตี่ก็ยังอยู่ท่ามกลางสงครามแห่งความคิดถึง  ความคิดถึงลูกไง!!!"


 


"เอ๊ะ!....ตกลงส่งลูกเรียนหนังสือนี่ดีหรือไม่ดี?"  ผู้มาเยือนถามเขาอีกครั้ง


"นั่นสิ …พาตี่ก็ยังคิดสงสัยอยู่เหมือนกันนะ?????????????" เขาตอบพร้อมเสียงหัวเราะดังลั่นบ้าน