Skip to main content

หรือเวทีนี้ผู้ชายไม่สน?

คอลัมน์/ชุมชน

นั่งคิดและตั้งข้อสังเกตอยู่ว่า ทำไมการประกวด "อแคเดมี แฟนเทเชีย" ทั้ง 3 ซีซั่นจึงมีแต่ผู้ชายได้รางวัลชนะเลิศทั้ง 3 ครั้ง ทั้งๆ ที่ในแต่ละซีซั่นนั้นก็มีผู้หญิงที่ร้องเพลงดีกว่าผู้ชายที่ได้รางวัลเสียอีก


 


แล้วพลันมาตั้งข้อสังเกตเลยเถิดไปถึงอีกเรื่องหนึ่งว่า ทำไมกลุ่มต่อต้านทักษิณ ไม่ว่าจะกลุ่มพันธมิตรสนธิ หรือกลุ่มอื่นๆ อีกหลายกลุ่มที่เกิดขึ้นมาในระยะหลังๆ ที่ปรากฏตัวในที่สาธารณะจึงมีแต่ผู้หญิงและผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่


 


คิดๆ ดูแล้วสองเรื่องนี้ดูเหมือนจะเป็นคนละเรื่องกันอย่างสิ้นเชิง แต่ลองมาทบทวนอีกทีก็คิดว่ามันก็มีความเกี่ยวโยงกันอยู่ไม่ใช่น้อยเช่นกัน แต่กระนั้นก็ไม่อยากจะนั่งคิดไปเองคนเดียว จึงขอโอกาสนำเสนอสมมติฐานเพื่อลองมาแลกเปลี่ยนกันดูสักเล็กน้อย


 


สำหรับประเด็นแรก คือ ถ้าไม่นับข่าวลือเรื่องคะแนนจัดตั้ง หรือว่าทางผู้จัดวางตัวเอาไว้แล้ว คำตอบที่ได้รับจากคนหลายคนในเรื่องที่ว่าทำไมจึงมีแต่ผู้ชายได้รางวัล ก็คือ "ก็นี่เป็นการประกวดที่ตัดสินจากผลโหวต แล้วคนที่โหวตส่วนใหญ่ก็เป็นวัยรุ่นผู้หญิง จึงเป็นธรรมดาว่าผู้ชายจะได้"  และหากมีคนจะถามต่อว่า แล้วทำไมผู้หญิงถึงไม่ยอมโหวตให้ผู้หญิงด้วยกัน  คำตอบของคนธรรมดาสามัญก็คงจะอยู่ที่ว่าก็นี่เป็นการโหวตให้คนที่เราชื่นชอบ เมื่อมีคำตอบว่ามีผู้หญิงโหวตเยอะก็จึงทำให้ผู้ชายได้คะแนนเยอะนั่นเอง ที่สำคัญการชื่นชอบใครสักคนนั้นอาจจะไม่ต้องเกี่ยวกับความสามารถใดๆ ก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่มีรูปร่างหน้าตาดีและมีความขี้อ้อนพอสมควร รับรองคะแนนตรึม!


 


จริงๆ แล้ว การโหวตนั้นหากเทียบง่ายๆ ก็เป็นอารมณ์คล้ายเหล่าแม่ยกนั่นเอง แต่เป็นแม่ยกยุคไฮเทค ไม่ใช้พวงมาลัยแต่ใช้คะแนนโหวต ความเสน่หาจึงไม่จำเป็นต้องมีเหตุผล แต่จะทุ่มกายทุ่มใจให้เต็มที่ ด้วยการกระหน่ำโหวตให้แทน


 


ก่อนที่จะพูดกันต่อไปว่า เรื่องนี้เป็นจริงหรือไม่ ต้องขอออกตัวไว้ก่อนว่า คนที่ต้องการฟังเพลงดีๆ และโหวตให้กับคนที่เสียงดีโดยไม่ได้คิดว่าจะเป็นแฟนคลับใครโดยเฉพาะนั้นคงมี แต่คงสู้กระแสแฟนคลับที่กระหน่ำโหวตไม่ได้ จึงทำให้ความสามารถที่แท้จริงของผู้เข้าแข่งขันนั้นดูไร้ความสำคัญไป


 


กลับมาที่ประเด็นที่ว่าผู้หญิงโหวตเยอะกว่านั้น หากเป็นจริงก็สงสัยต่อไปอีกว่า ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น  มีผู้ชายโหวตบ้างไหม ถ้ามี ผู้ชายส่วนใหญ่จะโหวตให้กับผู้หญิงหรือไม่  คำตอบคือ ก็ไม่แน่เสมอไป  


 


ยกตัวอย่างกรณีที่จะปั้นคนให้ดัง  ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชายนั้นมีปัจจัยหลายอย่าง แต่เท่าที่ดูผู้ชายนั้นจะ "เกิด" ในเวทีสาธารณะได้ง่ายกว่าผู้หญิง ดังนั้น ในการประกวดต่างๆ หากจะเลือกคนมาปั้นให้ดังก็จะเลือกผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และเหตุที่เลือกอย่างนี้ก็เพราะว่าผู้คนในสังคมไทย (หรืออาจจะสังคมอื่นด้วย)  พร้อมที่จะเปิดใจรับผู้ชายได้ง่ายกว่าผู้หญิง รวมทั้งพร้อมที่จะอภัยให้กับผู้ชายได้ง่ายกว่าผู้หญิง


 


เปรียบเทียบกับเอเอฟ 2  อ๊อฟ กับพัดชา ซึ่งใครๆ ก็รู้ก็เห็นว่าพัดชานั้นร้องเพลงดีกว่า แต่ผู้คนกลับโหวตให้อ๊อฟ เพราะเหตุผลว่า พัดชามีอะไรที่เพียบพร้อมเกินไป หรือพัดชามั่นใจเกินไป  "คนไทย" รับไม่ค่อยได้กับคนที่มั่นใจเกินไป  ขณะที่อ๊อฟดูน่ารักและอ้อนเก่งกว่า ซึ่งเข้าตาแม่ยก


 


ผู้หญิงค่อนข้างจะวางตัวได้ยาก และต้องใช้เวลามากกว่าที่จะทำให้คนยอมรับ  สำหรับการเป็นนักแสดง หากแสดงออกน้อยไปก็จะถูกกล่าวหาว่าไม่เชื่อมั่นในตัวเอง แต่ถ้ามากไปก็จะแปลว่า ก๋ากั่นเกินงาม หรือแม้จะทำให้รู้สึกพอดีๆ ก็อาจจะถูกหาว่า fake หรือแสร้งทำไปอีก อย่างกรณีน้องเพชร ในเอเอฟ 3 ที่ร้องเพลงได้ดีที่สุด แต่กลับต้องออกไปตั้งแต่ช่วงแรกๆ ซึ่งก็มีหลายคนแสดงความเห็นว่า อาจเป็นเพราะว่าน้องเขามั่นใจเกินไป  แตกต่างจากผู้ชาย ที่หากมั่นใจมากๆ ก็ถือว่า "แมน" และมีบุคลิกความเป็นผู้นำ แต่หากทำท่าเคอะๆ เขินๆ ก็ดูว่าซื่อๆ น่ารักดี


 


ลักษณะดังกล่าวนี้ไม่ใช่เป็นเฉพาะงานบันเทิงเท่านั้น แม้ในทางการเมืองก็เช่นกัน ไม่ว่าจะฝ่ายไหนจะสังเกตเห็นว่า เวลาที่สนธิพูดบนเวทีด้วยถ้อยคำที่ค่อนข้างหยาบ และในบางคำก็เป็นการเหยียดหยามผู้หญิงอยู่ด้วยนั้น แต่คนส่วนใหญ่ก็ให้อภัย ถือว่าเป็นความ "มันส์" หรือได้อารมณ์ ปรบมือเชียร์กันไป แต่หากถ้อยคำเหล่านี้ (ของสนธิ) ออกจากผู้หญิง ซึ่งแม้จะเป็นฝ่ายเดียวกับสนธิ เช่น อัญชลี ไพรีรัก หรือ สโรชา ผู้คนคงจะกล่าวหากันทันทีว่าผู้หญิงพวกนี้ " หยาบ" และสามารถเสื่อมศรัทธาในผู้หญิงเหล่านี้ได้ทันที หรืออย่างน้อยคนก็จะรู้สึกหมั่นไส้ขึ้นได้โดยง่าย


 


ขอกลับมาที่ประเด็นว่า  ทำไมในการต่อสู้เรียกร้องเพื่อต่อต้านระบอบทักษิณนั้นภาพของคนที่มาชุมนุมจึงเป็นผู้หญิงส่วนใหญ่ ทั้งๆ ที่เชื่อแน่ว่ามีผู้ชายจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับระบอบทักษิณ ขณะที่ภาพผู้ชายจะอยู่ในส่วนที่เป็นแกนนำเท่านั้น อย่างไรก็ตาม แม้จะมีจำนวนผู้หญิงมาก แต่ผู้หญิงก็ไม่ใช่ผู้นำ  ผู้ชายแม้ออกมาน้อยแต่ยังอยู่หน้า  


 


หากมองประเด็นว่าการที่คนออกมาเพราะต้องการพื้นที่ในการแสดงจุดยืน แสดงพลัง หรือเป็นโอกาสได้พบปะคนที่คิดเห็นแบบเดียวกัน จะเป็นไปได้หรือไม่ว่า ผู้ชายที่ไม่เห็นด้วยกับทักษิณนั้นมีทางออกหรือมีพื้นที่ให้กับตัวเองแล้ว นั่นคือในเว็บบอร์ด


 


สังเกตเห็นว่าอัตราการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเว็บบอร์ดนั้นสูงขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะบอร์ดไหนก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งบอร์ดการเมือง ทั้งนี้ไม่ได้อ้างจากสถิติที่ไหน แต่จากการจับความที่เขียนแลกเปลี่ยนกันอยู่ในเว็บนั้นพบว่าเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง (เรื่องนี้หากนักวิชาการท่านใดอยากได้สถิติเอาก็คงต้องทำวิจัยเอาเอง)  


 


ดูจากบอร์ดประชาไท หรือผู้จัดการก็ได้  มีการโต้ตอบกันอย่างดุเด็ดเผ็ดมัน หรือแม้กระทั่งบอร์ดเฉลิมไทยในพันทิป คนที่เข้ามาคุยส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ชาย เพียงแต่ไม่มีการโหวตให้ ดังนั้น ผู้ชายจึงไม่จำเป็นต้องปรากฏตัวเพราะมีพื้นที่ในการแสดงออกแล้ว


 


เป็นไปได้หรือไม่ว่า เนื่องจากหากผู้ชายออกมาแล้วก็ต้องแสดงบทบาทให้เป็นที่ประจักษ์ หรือบทบาทนำพอสมควร เช่นได้ออกมาอภิปรายบ้าง หรือเป็นแกนในการทำอะไรสักอย่างกับมวลชน เพราะถ้าออกมาเฉยๆ เป็นเพียงตัวประกอบตัวหนึ่ง คงอยากจะอยู่บ้าน "แช๊ต" ดีกว่า อย่างน้อยก็ได้แสดงความคิดเห็น หรืออีกประการหนึ่งก็คือ หรือผู้ชายจะยังไม่ออกมาสู้จนกว่าเรื่องนั้นๆ จะกระทบกับตนเองตรงๆ


 


ส่วนคำถามที่ว่า ทำไมถึงเห็นแต่ผู้หญิงออกมาต่อต้านซึ่งหมายถึงการออกมาเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง   เรื่องนี้ยังไม่ได้รับคำตอบ "เจ๋งๆ" จากใคร จึงใคร่ขอตั้งสมมติฐานส่วนตัว ประการแรก เป็นไปได้หรือไม่ว่า เนื่องจากสังคมเปิดมากขึ้น ผู้หญิงมีอำนาจในการตัดสินใจได้เองมากขึ้น โอกาสของการปรากฏตัวของผู้หญิงจึงมีมากขึ้น ผู้หญิงจึงไม่จำเป็นที่จะต้องนั่งจับเจ่าอยู่กับบ้านอีกต่อไป จึงสามารถออกมาแสดงจุดยืนในสาธารณะได้มากขึ้น หรือแม้กระทั่งเรื่องของการโหวตคะแนนให้กับนักร้องที่ชื่นชอบ ก็อาจถือว่าเป็นอำนาจในการจับจ่ายและการตัดสินใจของผู้หญิงที่มีมากขึ้นนั่นเอง


 


กระนั้น ผู้หญิงอยู่ในตำแหน่งที่สนับสนุนมาโดยตลอด ตั้งแต่การอยู่บ้านก็ต้องคอยสนับสนุนทั้งลูกและสามีเพื่อความมั่นคงของครอบครัว ผู้หญิงจะออกมาข้างนอกเมื่อถึงเวลาจำเป็น  ในอดีต เราจะเห็นว่าผู้หญิงจะเป็นฝ่ายเตรียมเสบียงเมื่อฝ่ายชายออกรบ ครั้นมีศึกมาประชิดตัว จึงต้องทั้งสนับสนุนและต่อสู้ด้วย ดังที่เราได้ยินวลี "เปลก็ไกว ดาบก็แกว่ง" นั่นเอง


 


ครั้นมาถึงวันนี้แม้บริบทของสังคมเปลี่ยนไปผู้หญิงมีโอกาสในการแสดงออกมากขึ้นก็จริง แต่ผู้หญิงก็ยังคงเล่นบทสนับสนุนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการเชียร์เรียลิตี้โชว์ ที่ใช้การโหวตผ่านโทรศัพท์เพื่อแสดงการสนับสนุน หรือการออกมาร่วมชุมนุม โดยที่ไม่ได้หวังว่าจะจะเป็นแกนนำ ยังหวังแค่เป็นผู้สนับสนุนอยู่เช่นเดิม ดังนั้น อาจเรียกได้ว่า เวทีในการสนับสนุนนั้นคงจะเป็นเวทีของผู้หญิงโดยแท้ และก็ไม่แน่ใจนักว่าผู้ชายนั้นจะเต็มใจอยู่บนเวทีนี้หรือไม่ 


 


พอพูดถึงประเด็นนี้แล้วก็นึกไปถึงการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น ที่มีการออกมารณรงค์ว่า ต้องการให้มีสัดส่วนผู้หญิงนั่งในรัฐสภามากขึ้นเพื่อผู้หญิงจะได้มีส่วนร่วมในการปกครองมากขึ้น ซึ่งก็ไม่แน่ใจนักว่า การจะมีผู้หญิงเข้าไปอยู่แถวหน้ากับผู้ชายนั้นจะเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด


 


เพราะที่สุดแล้ว แม้ว่าในทาง "หลักการ" สังคมไทยอาจจะให้สิทธิผู้หญิงเท่าเทียมกับผู้ชาย อาจจะยอมรับในความสามารถของผู้หญิงมากขึ้น และอาจยอมรับกันแล้วว่ามีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่เก่งกว่าผู้ชายด้วยซ้ำ แต่ครั้นจะเลือกมาให้เป็นตัวแทนหรือเป็นผู้นำ หลายคนก็กลับต้อง "คิดอีกที" ไม่ว่าจะเป็นผู้ชายที่ประกาศตัวว่าเป็นพวกหัวก้าวหน้า หรือแม้อต่ผู้หญิงเองก็ตาม  ไม่รู้ว่าจะมีสักกี่มากน้อยที่สนใจจะออกหน้าจริงๆ จังๆ  เกรงแต่ว่า ผู้หญิงจะอยู่ติดกับการเป็นผู้สนับสนุนที่ดีที่ถูกปลูกฝังมาเป็นเวลานานแล้วก็เป็นได้


 


สุดท้ายฝากข้อสังเกตเล็กน้อยว่า เบื้องหลังความสำเร็จของผู้ชายที่ได้ดีมีตำแหน่งใหญ่โต ล้วนแล้วแต่มาจาก ผ.บ.ท.บ. (ผู้บังคับบัญชาที่บ้าน) ทั้งนั้น ซึ่งผู้หญิงเองก็แอบภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่นี้เสียด้วยสิ!