Skip to main content

"ขุดสระเอื้ออาทร" VS "รองน้ำฝนจากหลังคาบ้าน" : อย่างไหนดีกว่า?

คอลัมน์/ชุมชน

ปีนี้อากาศแล้งและร้อนรุนแรงมากกว่าปกติและครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่าถูกซ้ำเติมจากปรากฏการณ์แอลนิโญ่ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค (ขอย้ำว่าเป็นน้ำกิน-น้ำใช้-ไม่ใช่เพื่อการเกษตร) รัฐบาลชุดใหม่จึงมีโครงการขุดสระขนาดเล็กจำนวน 3 แสนบ่อภายในเวลา 3 ปี (2548-2550) และมีแนวโน้มว่าท่านนายกฯ ทักษิณจะสั่งให้ขยายเพิ่มเป็น 1 ล้านบ่อ


บทความนี้ ผมจะวิเคราะห์ให้เห็นว่า "โครงการขุดสระเอื้ออาทร" จะมีปัญหาและไม่ได้ผลตามวัตถุประสงค์ที่อ้างไว้ ในที่สุดจะกลายเป็น "สระเก็บลม" ไม่ใช่สระเก็บน้ำ และเพื่อไม่ให้ท่านนายกฯ ทักษิณกล่าวหาว่า "พวกมันเอาแต่ด่า ไม่เห็นมีข้อเสนอแนะ" ผมจะเสนอทางเลือกคือ "การจัดการรองน้ำฝนจากหลังคาอย่างเป็นระบบ" แถมมีรูปมาให้ดูด้วยเพราะทำได้ผลดีมาแล้ว


ขอวิจารณ์โครงการสระเอื้ออาทรก่อนครับ ข้อมูลทั้งหมดมาจากมติชนรายวัน (3 มีนาคม หน้าที่ 20)


สระที่จะขุดนี้มีขนาดเพียง 1,260 ลูกบาศก์เมตรโดยจะขุดในไร่นาของชาวบ้าน ค่าใช้จ่ายในการขุดส่วนหนึ่งรัฐเป็นผู้ออกให้บ่อละ 4,800 บาท นอกจากนี้ยังมีค่าย้ายเครื่องจักรบ่อละ 2,500 บาท รวมค่าใช้จ่ายบ่อละ 7,300 บาท รวมทั้งโครงการอยู่ในวงเงิน 2,694 ล้านบาท โดยให้เจ้าของที่ดินออกค่าน้ำมันบ่อละ 2,500 บาทซึ่งส่วนหลังสุดนี้ไม่นับรวมในงบประมาณของโครงการ


ผมมีคำถาม 3 ข้อที่สงสัยคือ
1. สระนี้จะมีความสามารถเก็บน้ำไว้ในสระได้หรือ เพราะด้วยขนาดสระเพียงเท่านี้ก็น่าจะมีความกว้าง ยาว ลึก ประมาณ 10x30x4 เมตร ด้วยความลึกเพียง 4 เมตรกว่าๆ เท่านั้น สภาพของดินก้นบ่อคงจะมีรูพรุนทำให้น้ำในสระไหลซึมลงใต้ดินได้มาก ครั้นจะขุดให้ลึกกว่านี้ก็ทำไม่ได้เพราะดินบริเวณปากบ่อจะพังลงมาได้ง่าย ปัญหานี้ชาวบ้านในอีสานเคยแก้โดยการเลี้ยงเป็ดในบ่อเป็นการชั่วคราว เพื่อให้ขี้เป็ดและตะใคร่น้ำมาเคลือบก้นบ่อเพื่อกันน้ำซึมได้บ้างแต่ก็ได้ไม่มากนัก


2. โดยปกติ สระน้ำที่คนขุดในนาจะแตกต่างจากหนองน้ำหรือคลองตามธรรมชาติตรงที่ว่า หนองน้ำและคลองจะอยู่ในที่ลุ่ม ทำให้น้ำฝนจากผิวดินในบริเวณใกล้เคียงสามารถไหลบ่าลงไปได้ แต่สระน้ำที่คนขุดขึ้นจะไม่เป็นเช่นนั้น เพราะคันดินขอบสระจะมีระดับสูงกว่าผิวดินบริเวณข้าง ๆ ครั้นจะขนดินที่ขุดขึ้นมาได้ออกไปทิ้งในที่ไกล ๆ ต้นทุนก็จะสูงขึ้น


ดังนั้น น้ำฝนที่จะไหลลงไปในสระได้จึงเป็นน้ำฝนที่ตกมาจากฟากฟ้าโดยตรงเพียงอย่างเดียว ไม่ใช่น้ำที่ไหลไปบนผิวดิน (run-off water) เหมือนคลองและหนองน้ำตามธรรมชาติ


ในพื้นที่ภาคใต้ ฝนที่ตกมาโดยตรงเฉลี่ยปีละประมาณ 1.7 เมตร แต่ก็ระเหยกลับขึ้นฟ้าไปประมาณ 0.7 เมตร ในที่สุดก็จะเหลือน้ำไว้ให้คนใช้ในช่วงหน้าแล้งได้อย่างมากเพียง 1 เมตรเท่านั้น นี่ยังไม่ได้หักส่วนที่น้ำต้องไหลซึมลงไปใต้ดินอีก และน้ำระเหยไปกับพืชน้ำในสระ ยิ่งฝนทิ้งช่วงนานการระเหยและการไหลซึมลงดินก็ยิ่งมากขึ้น


ดังนั้น ด้วยเหตุผลตามธรรมชาติและทางเศรษฐศาสตร์ที่ต้องกองดินไว้ใกล้ ๆ สระน้ำ ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว สระน้ำเอื้ออาทรนี้ก็จะไม่สามารถเก็บกับน้ำไว้ให้คนใช้ในหน้าแล้งได้ จะเก็บได้ก็แต่เพียงลมเท่านั้น


3. จากต้นทุนและขนาดของบ่อที่ได้กล่าวมาแล้ว เราคำนวณได้ว่า ค่าใช้จ่ายในการขุดดินเฉลี่ยลูกบาศก์เมตรละ 5.79 บาทเท่านั้น ผมเองเคยมีประสบการณ์ในการขุดนากุ้งเมื่อปีพ.ศ. 2535 พบว่าค่าขุดในตอนนั้นราคาลูกบาศก์เมตรละ 8.0 บาท ตอนนี้ราคาน้ำมันได้ขึ้นเป็นกว่าสองเท่าตัวแล้ว ผมสงสัยมากว่าบริษัทรับเหมาจะขุดได้อย่างไร


หนทางที่จะทำให้การว่าจ้างนี้เกิดขึ้นได้มี 3 อย่างคือ (1) ขุดดินน้อยกว่าที่กำหนด (ไม่ต้องกลัวคนตรวจสอบ) ซึ่งก็ยิ่งต้องเสี่ยงต่อการเก็บน้ำไม่ได้มากขึ้นไปอีก (2) ได้ประโยชน์จากค่าขนย้ายเครื่องจักรที่กำหนดว่าบ่อละ 2,500 บาท เพราะถ้าสระของชาวบ้านอยู่ห่างกันเพียง 4-500 เมตรค่าขนย้ายรถขุดแมกโฮครั้งละ 2,500 บาทก็ไม่ต้องใช้ เพราะสามารถขับรถขุดแมกโฮไปได้และไม่เสียเวลาด้วย และ (3) นำเอาค่าบริหารโครงการ (ไม่ใช่ค่าขุดดิน) ซึ่งสามารถคำนวณจากข้อมูลที่ให้มาได้ว่ามีอยู่ทั้งหมด 504 ล้านบาทมาชดเชย


นี่คือคำถามและข้อสังเกตของผม ต่อไปจะกล่าวถึงการรองน้ำฝนจากหลังคาบ้านครับ


ผมอยากจะให้ดูบ้านหลังที่อยู่ในรูปครับ บ้านนี้รองรับน้ำฝนจากหลังคา แล้วนำมาเก็บไว้ใต้ระเบียงบ้าน เป็นบ่อซีเมนต์ ฝาบนของบ่อใช้เป็นพื้นที่ใช้สอยของบ้านตามปกติ ไม่ทำให้เสียวิวทิวทัศน์ การก่อสร้างก็สะดวกเพราะใช้แผ่นซีเมนต์อัดแรงมาปูด้านบน ไม่ต้องทำนั่งร้านเหมือนแต่ก่อน ด้านข้างก่อด้วยอิฐ 2 ชั้นเสริมเหล็ก พื้นล่างใส่เหล็กและตอกเข็มเล็กน้อยและผสมน้ำยากันซึม



ขนาดของบ่อในบ้านหลังที่เห็นมีขนาดประมาณ 40 ลูกบาศก์เมตร งบก่อสร้างก็ไม่สูง ผมไม่ได้จดบันทึกไว้ แต่น่าจะไม่เกิน 3 หมื่นบาท ตลอดสิบกว่าปีมานี้บ้านหลังนี้ไม่เคยขาดน้ำกิน น้ำใช้ แม้จะผ่านวิกฤตแอลนิโญ่มาแล้วสองรอบ เป็นบ้านแม่ของผมเอง


ผมมีสูตรคำนวณให้เสร็จ ว่าฝนตกปีละเท่าใด หลังคาบ้านขนาดไหน บ่อควรจะมีปริมาตรเท่าใด ควรจะใช้น้ำวันละเท่าใด และเครื่องปั๊มน้ำขนาดกี่แรงม้า เคยเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์มติชนเมื่อสิบปีที่แล้ว แต่นักการเมืองไม่เคยสนใจ ในช่วงหลัง แม้หมู่บ้านนี้มีประปาหมู่บ้านแล้ว แต่บ้านหลังนี้ก็ไม่ยอมติดตั้ง


ผมคิดว่าวิธีการรองน้ำฝนจากหลังคาเป็นวิธีการที่ยั่งยืน แต่มีข้อควรระวัง 2 อย่างคือ หนึ่ง อย่าเอาบ่อนี้ไปผูกติดกับโครงสร้างบ้านเพราะถ้าบ้านเกิดร้าวขึ้นมาบ่อก็จะมีปัญหาตามไปด้วย สอง การใช้ตามต้องประหยัดและเคารพกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ เพราะจริง ๆ แล้วธรรมชาติอนุญาตให้เราใช้น้ำได้อย่างจำกัด ไม่ใช่อย่างตามใจตนเอง เมื่อไม่พอก็ไปดึงน้ำมาจากส่วนอื่นเหมือนที่ชาวเมืองนิยมทำกันแล้วสร้างปัญหาตามมามากมาย