Skip to main content

ผู้ชายอ่อนหวาน

คอลัมน์/ชุมชน

หลายปีที่ผ่านมานี้  ฉันมีโอกาสทำอบรมให้นักศึกษาอยู่บ้าง  สิ่งหนึ่งที่สังเกตว่าเพิ่มพูนมากขึ้นเรื่อย ๆ คือการล้อกะเทย หรือแม้แต่ผู้ชายที่ท่าทางเหมือนผู้หญิง  ทั้ง ๆ ที่เจ้าตัวเองไม่ได้บอกเลยว่าเขาเป็นกะเทย หรือชอบเพศใด  ก็ไม่เว้นจะถูกล้อเลียนไปด้วย 


 


สองอาทิตย์ที่ผ่านมา ฉันทำอบรมให้นักศึกษาสองครั้ง สองกลุ่ม  ข้อสังเกตของฉันก็ยังเหมือนเดิม   แต่มีอีกสิ่งที่สังเกตเพิ่มขึ้นคือ  นักศึกษาผู้หญิงบางคนดูจะกังวลกับการหาแฟนผู้ชายมาก เพราะว่าเดี๋ยวนี้ "มีพวกแอบเยอะเหลือเกิน  ผู้ชายแท้ๆ หายาก"   


 


ในการอบรมของอาทิตย์ที่แล้ว  มีน้องผู้ชายคนหนึ่ง หน้าตาใส  ท่าทางสุภาพอ่อนโยนเอามาก ๆ  ฉันขอเรียกน้องคนนี้ว่าโดมแล้วกัน  นิสัยที่น่ารักทำให้ฉันประทับใจเขาตั้งแต่แรกเจอ  โดมชอบเข้ามาเล่าเรื่องสนุกๆ ให้ฉันฟัง  อย่างเช่น  ทำไมเขาจึงเลือกเข้าชมรมศาสนามากกว่าจะไปเข้าชมรมรำไทย  ทั้งๆ ที่เขาชอบรำไทยมาก  สครับหน้าแบบไหนใช้ดีบ้าง เคล็ดลับการทำอาหารชนิดต่างๆ  ประวัติการดูแลผิวหน้าของเขา  หรือเวลาไปเที่ยวเราจะมีวิธีแก้ท้องผูกอย่างไร  


 


ดูๆ แล้วน้องคนนี้เป็นคนที่ขวนขวายหาความรู้และการดูแลตัวเองอยู่เสมอ  เขายังเป็นคนที่ดูแลคนอื่นๆ อีกด้วย  ฉันเห็นเขาวิ่งฝ่าฝนไปตามเพื่อนๆ มากินข้าว  บางทีเวลาฉันกินข้าวอยู่เขาก็จะโผล่มาข้างๆ พร้อมกับยื่นกระดาษทิชชูสีชมพูให้ฉันไว้เช็ดปาก  แล้วก็เล่าที่มาที่ไปของกระดาษสีชมพูที่ไม่มีขายตามท้องตลาดอีกแล้ว 


 


แต่ผู้ชายที่อ่อนหวาน อ่อนโยน ชอบรำไทย และยังดูแลผิวหน้าอย่างดีเช่นนี้  ไม่ใช่ผู้ชายที่เข้าอยู่ในกรอบความเป็นชายที่สังคมปัจจุบันกำหนด  โดมจึงตกเป็นเป้าของการล้อกะเทยไปโดยปริยาย


 


ครั้งนี้  เสียงล้อกะเทยยังคงมีเข้ามาเป็นระยะๆ บางครั้งเสียงล้อพุ่งตรงไปที่โดมอย่างตั้งใจ  โดมถูกเพื่อนผู้ชายล้อว่าไม่ใช่ผู้ชาย  ท่าทางโดมดูจะไม่พอใจไม่น้อย  อีกครั้งที่ฉันเห็นคือ ในวงกินข้าว  เพื่อนผู้หญิงอีกคนพูดถึงความกลัวผู้ชายเป็นเกย์ของเธอ  เธอมองไปที่โดมแล้วพูดคำว่า "เกย์" ดังๆ ใส่หน้าเขา  โดมแสดงออกชัดเจนว่าไม่พอใจกับคำพูดนี้  ฉันเห็นใจเขาจริง ๆ  แล้วก็คิดว่าจะพูดอะไรกับน้องผู้หญิงคนนี้ดี  ฉันรู้ว่าเธอไม่ได้ตั้งใจจะทำร้ายโดม  แต่ใครๆ ก็ล้อเกย์กันทั้งนั้น  เธอคงไม่เห็นว่ามันเป็นเรื่องแปลก  หรือไม่คิดว่ามันจะทำร้ายใคร


 


แล้วโอกาสก็เป็นของฉัน  น้องผู้หญิงคนนี้หันมาพูดกับฉันว่า  "พี่ หนูเคยพยายามจะเปลี่ยนเกย์คนหนึ่งให้เป็นผู้ชาย" 


ฉันรีบคว้าโอกาสนี้  "ถ้าเขาเป็นเกย์จริง  เราก็คงจะเปลี่ยนเขาไม่ได้หรอก" 


น้องผู้ชายที่มาจากคณะแพทย์เสริมว่า  "อาจารย์ผมบอกว่าถ้าเปลี่ยนได้ก็แสดงว่าเขาเป็นไบ" 


โอ....สวรรค์  ขอบพระคุณอาจารย์คณะแพทย์มาก  "อือม์ ใช่  คนบางคนก็รักได้แต่คนต่างเพศ  บางคนก็รักได้ทั้งสองเพศ  แต่บางคนก็รักได้เฉพาะเพศเดียวกัน" 


น้องผู้หญิงทำท่าอึ้งกับคำพูดของฉัน 


โดมรีบพูดขึ้นว่า  "มันอยู่ที่สมดุลของแต่ละคนใช่ไหมพี่" แล้วฉันก็เห็นเขายิ้มกว้าง  


 


ใช่แล้ว  สมดุลของเราแต่ละคน  ที่จะรักเพศไหนชอบเพศไหน  แล้วเรื่องการล้อกะเทยนี่ก็อาจจะขึ้นอยู่กับสมดุลด้วยเช่นกัน  และนี่คงเป็นสมดุลที่สังคมเป็นผู้หล่อหลอมเรามา 


 


ฉันสังเกตเห็นว่าในกลุ่มนักศึกษาที่เป็นผู้ชายส่วนใหญ่  อย่างกลุ่มเด็กวิศวะ  เสียงล้อตุ๊ดเกลียดกะเทยจะมีมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ  ฉันเข้าใจว่าเสียงล้อนี้อาจจะมาจากความอึดอัดที่เห็นความอ่อนหวานอ่อนโยนในตัวผู้ชายด้วยกัน  อาจจะเป็นการไม่เคยได้รับการสอนให้ทะนุถนอมความอ่อนหวานอ่อนโยนในตัวเอง  เพราะผู้ชายถูกสอนมาให้เป็นแมน  และต้องแสดงออกแต่ความเป็นแมนเท่านั้น  ส่วนความอ่อนหวานอ่อนโยนนั้นเป็นเรื่องเฉพาะของผู้หญิง  ที่ผู้ชายไม่สมควรมี   สมดุลภายในจึงเหวี่ยงไปทางชายเสียสุดโต่ง 


 


อาจจะเป็นความกลัวความเป็นผู้หญิงของสังคมชายเป็นใหญ่  เพราะความเป็นผู้หญิงถูกวัดคุณค่าให้ต่ำกว่าความเป็นผู้ชาย  ดังนั้นผู้ชายจึงต้องทำตัวให้เหนือกว่าด้วยการประกาศตนเป็นเขตปลอดคุณสมบัติความเป็นหญิงเข้าไว้  ผู้ชายใดที่บังอาจก้าวข้ามไปในเขตที่ถูกจำกัดให้เป็นของผู้หญิงเท่านั้น  สมควรถูกตราหน้าว่าเป็นกะเทย 


 


สิ่งที่โดมเจอ  อาจจะเป็นการลงโทษจากสังคม  เพื่อว่าเขาจะได้เปลี่ยนพฤติกรรมตัวเอง  แล้วกลับเข้ามาอยู่ในเขตกักกันของผู้ชาย  ส่วนน้องผู้หญิงก็ถูกสอนให้รับผู้ชายที่อยู่นอกเขตกักกันนี้ไม่ได้เช่นกัน  โดยใช้ตรรกะที่ว่าถ้ามีคนพวกนี้อยู่  เธอจะไม่สามารถหาแฟนที่เป็น "ชายแท้ ๆ" ได้  คำขู่เช่นนี้น่ากลัวมากสำหรับวัยรุ่นสมัยนี้  เธอจึงต้องล้อโดม  เพื่อไล่ให้เขากลับไปอยู่ในเขตผู้ชายแท้  ประชากรของผู้ที่จะเป็นแฟนเธอได้จึงจะไม่ลดลง


 


ภาวะที่จำกัดกักกันความเป็นชายเช่นนี้แหละที่ฉันคิดว่าเสียสมดุล


 


ฉันคิดถึงภาพ ๆ หนึ่งในหนังสือเรื่องอวสานสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสยาม  ภาพนี้ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2469  เป็นภาพขบวนฟ้อนของเจ้าผู้ครองเมืองแห่งอาณาจักรล้านนา  เพื่อต้อนรับการเสด็จเยือนเชียงใหม่ของรัชกาลที่ 7 และพระนางเจ้ารำไพพรรณี นี่เป็นการเสด็จเยือนครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของพระมหากษัตริย์และพระราชินีจากกรุงเทพ  


 


ฉันเห็นครั้งแรกแล้วไม่เชื่อสายตาตัวเอง  ต้องดูภาพและอ่านคำบรรยายอีกครั้ง  แต่ละท่านที่กำลังฟ้อนรำอย่างสง่างามนั้นเป็นเจ้าเมืองจริง ๆ  หรือนี่  ความอ่อนช้อยงดงามเหล่านี้สามารถปรากฏในตัวเจ้าเมืองได้หรือ  แล้วนี่เป็นงานพิธีต้อนรับกษัตริย์และราชินี  ขบวนฟ้อนนี้ต้องถือว่าเป็นพิธีที่ศักดิ์สิทธิ์  มีคุณค่า  หรือมีเกียรติยศอย่างสูง  ในชีวิตฉันเคยเห็นแต่การต้อนรับผู้นำประเทศด้วยขบวนแถวทหารพกอาวุธที่แสดงความแข็งแกร่ง  คิดภาพไม่ออกเลยว่า  ในปัจจุบันจะมีผู้นำประเทศไหนที่จะฟ้อนรับผู้นำอีกประเทศหนึ่ง  อย่างอ่อนช้อย  สง่างาม  และทรงเกียรติเช่นในภาพนั้น


 


ฉันคิดถึงภาพของครูโนราจากทางใต้ที่เพื่อนถ่ายรูปมาให้ดู  ความอ่อนช้อย  งดงาม  แต่เปี่ยมไปด้วยพลัง  ทำให้ครูดูเป็นดั่งเทพที่ลงมาร่ายรำให้มนุษย์ตะลึง  แล้วยังเสียงร้องพากย์หนังตะลุงของพี่นายหนังชาวเพชรบุรีอีกเล่า  อ่อนหวานเสียจนฉันคิดว่าจอหนังตะลุงนั้นเป็นแดนสวรรค์


 


ฉันยังคิดถึงภาพของพระพักตร์พระพุทธรูปสมัยสุโขทัย  ซึ่งมีท่านผู้หนึ่ง (ขอโทษด้วยจำไม่ได้แล้วว่าใคร) นำไปเปรียบเทียบกับหน้าของผู้หญิงสุโขทัย  แล้วปรากฏว่าคล้ายคลึงกันมาก  อาจารย์ทางธรรมที่เป็นผู้หญิงท่านหนึ่ง  เคยบอกฉันว่า  เวลาที่เห็นการปฏิบัติของพระในพุทธศาสนาแล้ว  เข้าใจว่านี่เป็นการบ่มเพาะผู้ชายให้มีคุณลักษณะของความเป็นหญิง  ไม่ว่าจะเป็นกิริยาที่สำรวม  การมีความเมตตากรุณา  หรือแม้แต่การได้อยู่ใกล้ ๆ กับพระพุทธรูปที่อ่อนโยนและสงบนิ่ง 


 


ถ้าอธิบายตามอาจารย์ธรรมะท่านนี้  คงพูดได้ว่าวัฒนธรรมและศาสนาเช่นที่ว่านี้  ทำให้ผู้ชายได้เข้าไปสัมผัสและบ่มเพาะความเป็นหญิงของตัวเอง  เพื่อให้เกิดสมดุลหญิง-ชายขึ้นภายใน  คล้าย ๆ กับหลักหยิน-หยาง  หรือหลักแอนนิมา-แอนนิมัส ของคาร์ล จุง


 


ถ้าให้แฟนฉันอธิบาย  เธอก็จะบอกว่า  อย่าลืมนะว่าในแต่ละวัฒนธรรม  ความเป็นหญิงและความเป็นชายไม่จำเป็นจะต้องมีรูปแบบที่เหมือนกันทุกอย่าง  การที่ผู้ชายฟ้อนรำนั่นอาจจะแสดงความเป็นชายของเขาก็ได้  คุณสมบัติเหล่านี้มันไม่จำกัดหรอกว่าเป็นของผู้หญิงหรือผู้ชาย   


 


ฉันเองเห็นด้วยกับทั้งคำอธิบายทั้งสองอย่าง  และคิดว่าโดมคงจะมีความสุขมากกว่า  ในโลกที่เขาฟ้อนรำได้อย่างภาคภูมิ  หรือในโลกที่เขาสามารถแสดงความอ่อนหวาน  อ่อนโยนต่อตัวเองและผู้อื่นได้อย่างเต็มที่  โดยปราศจากเสียงล้อเลียน  ไม่ว่าเขาจะรักเพศไหนหรือเป็นกะเทยหรือไม่ก็ตาม


 


แต่ในโลกใบนี้  ฉันคิดว่า  การที่โดมสามารถยืนหยัดท่ามกลางเสียงล้อเลียนของเพื่อน ๆ มาได้  โดยยังคงความสดใส  และความห่วงใยเพื่อน ๆ ที่ล้อเขา  เท่านี้ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าภายใต้ความอ่อนหวานภายนอก  ข้างในเขานั้นแข็งแกร่งและมั่นคงเพียงใด