Skip to main content

ท้องในวัยเรียน

คอลัมน์/ชุมชน

ค่ำวันหนึ่ง หลังการอบรมเรื่องศูนย์บริการที่เป็นมิตรสำหรับวัยรุ่นในชุมชนเสร็จลง ผมได้มีโอกาสพูดคุย สนทนาแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ เยาวชนที่ทำกิจกรรมด้านเอดส์และเพศศึกษาประมาณ 5 คน และได้แลกเปลี่ยนถึงสถานการณ์วัยรุ่นในชุมชนของแต่ละที่ว่าเป็นอย่างไรบ้าง  


 


คนที่คุยในวงส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น 18–21 ปี จึงทำให้บรรยากาศการพูดคุยเป็นกันเอง และคุยอย่างตรงไปตรงมา
           


"ส่วนมากเพื่อนที่เข้ามาปรึกษา จะมีเรื่องท้องเยอะมาก" น้องผู้หญิงคนหนึ่งเอ่ยขึ้นมา พร้อมกับเล่าต่อว่า เธอทำงานในชุมชนและรวมกลุ่มจัดกิจกรรมให้คำปรึกษาเพื่อนๆวัยรุ่น โดยเธอเป็นที่ไว้ใจของกลุ่มเพื่อน และเมื่อเพื่อนมีปัญหาก็จะมาปรึกษาที่เธอ หรือหากต้องการถุงยางอนามัย เธอก็จะมีให้กับเพื่อนๆ


 


หญิงสาวเล่าต่อว่า ในชุมชนที่เธอทำกิจกรรมและชุมชนอื่นๆ ที่มีโอกาสได้สัมผัสการทำงานของเยาวชนที่ต่างๆ พบว่าวัยรุ่นผู้หญิงอายุประมาณ 16–20 ปี ท้องมากขึ้น และหลายคนที่กำลังอยู่ในช่วงเรียนหนังสือก็ตัดสินใจทำแท้ง เพราะหากโรงเรียนรู้จะถูกไล่ออกจากโรงเรียนทันที


 


"ไม่รู้ว่าโรงเรียนมีกฎในเรื่องนี้หรือเปล่า แต่ถ้าครูรู้ว่าเด็กท้องก็จะไล่ออกจากโรงเรียนเลย" เธอย้ำ


 


ขณะที่ เพื่อนผู้ชายอีกคนเสริมขึ้นมาว่า "บ่อยครั้งที่รู้ว่าเพื่อนๆ ต้องตั้งท้องตอนเรียนอยู่ และต้องแก้ปัญหาด้วยการทำแท้ง เพราะถ้าไม่ทำ พ่อแม่อาจรู้ หรือไม่ก็อาจจะถูกไล่ออกจากโรงเรียน เราเลยต้องบอกกับเพื่อนๆ ให้ใช้ถุงยางอนามัยมากขึ้น ไม่งั้นก็จะท้อง และต้องทำแท้ง หรือไม่ก็ถูกไล่ออกจากโรงเรียน เหมือนอย่างที่คนอื่นเป็นกัน"


 


วงสนทนาเริ่มมีคนสนใจมากขึ้น เมื่อพี่ผู้หญิงอีกคนเข้ามาร่วมวง "เพื่อนพี่คนหนึ่ง โทรมาเล่าว่าท้องกับแฟน แต่ไม่รู้จะทำยังไงเพราะผู้ชายไม่รับผิดชอบ และไม่อยากเอาลูกออก แต่ก็กลัวพ่อกับแม่ที่บ้านรู้ เพราะเธอไปเรียนต่างจังหวัด หลังจากนั้นพี่ก็ไม่ได้ติดต่อเพื่อนอีกเลย จนมารู้เมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมาว่าเธอแขวนคอตายแล้ว"


 


ฟังจบ ทุกคนต่างร้อง "อู้วว์" บางคนมีแววตาสงสารเกิดขึ้น บางคนทำหน้าหมอง เมื่อพี่ผู้หญิงเล่าเรื่องเพื่อนของเขา พอมาถึงตรงนี้ หลายคนก็แย่งกันพูดต่ออีกต่างๆ นานา


 


ในความคิดของผมขณะนั้น มีภาพที่ซับซ้อนเกิดขึ้นในหัว ทั้งสัมพันธภาพระหว่างคู่ คือ ชายและหญิงที่มีเพศสัมพันธ์กันแล้วเกิดท้องขึ้นมา ผมคิดว่าเพื่อนที่ท้องคงจะเข้าไม่ถึงอุปกรณ์ป้องกัน เช่น ถุงยางอนามัย หรืออาจไม่รู้ถึงผลกระทบที่จะตามมาหลังจากการมีเพศสัมพันธ์ และรวมไปถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น


 


ผมนึกถึงภาพนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการและอื่นๆ อีกมากมายที่ดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับเยาวชน ว่าองค์การเหล่านี้ตื่นตัวและตระหนักมากน้อยเพียงใดกับสถานการณ์วัยรุ่นในปัจจุบัน โดยเฉพาะเรื่องการ "ท้องในวัยเรียน" ของนักเรียนหลายคนที่ไม่มีทีท่าว่าจะลดลง แต่กลับมีเพิ่มขึ้นทุกเมื่อเชื่อวัน


 


ผมเห็นภาพที่สังคมไทยในวงกว้างกับการสื่อสารเรื่องเพศอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมานั้นถือว่ามีน้อยมาก  น้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกันอีก ซึ่งทำให้เด็กหลายคนเรียนรู้เรื่องเพศผ่านสื่อต่างๆ ทั้งคลิปวิดีโอ หนังสือการ์ตูน หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต แต่กลับไม่มีการสื่อสารเรื่องเพศอย่างถูกต้อง เช่น ที่ผู้ใหญ่พยายามบอกว่า เรื่องเพศไม่ใช่เรื่องที่เด็กควรรู้ เป็นเรื่องของผู้ใหญ่ อย่าแก่แดดแก่ลม ใคร่รู้เกินวัย


 


ผมนึกถึงภาพ โรงเรียนที่สอนหนังสือกันอยู่มากกว่า 900 แห่งทั่วประเทศนี้ ทราบว่ามีหลายโรงเรียนที่ยังไม่ได้สอนเรื่องเพศศึกษาอย่างจริงจัง แต่ในทางตรงกันข้ามก็มีอีกหลายโรงเรียนที่ได้ดำเนินการปรับการเรียนการสอนเรื่องเพศศึกษาอย่างเป็นกระบวนการ เช่น โครงการก้าวย่างอย่างเข้าใจ ที่มีการพัฒนาหลักสูตรเพศศึกษาแล้วนำไปปรับเป็นกระบวนการเรียนการสอนในโรงเรียนหลายร้อยโรง ซึ่งโครงการฯ ได้ร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการด้วย


 


คำถามที่เกิดขึ้น คือ ในเมื่อโรงเรียนรู้ว่าเด็กในโรงเรียนของตนมีเพศสัมพันธ์กันมากขึ้น ท้องมากขึ้น แต่ทำไมไม่ส่งเสียงหรือนำเสนอสภาพปัญหานี้ต่อกระทรวงศึกษาธิการที่เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบโรงเรียนต่างๆ อยู่ ขณะเดียวกันแล้วทำไมกระทรวงศึกษาธิการจึงไม่ประสานหรือผนวกเอาหลักสูตรเพศศึกษาที่ได้ร่วมกับองค์กรแพธ ภายใต้โครงการก้าวย่างอย่างเข้าใจ ไปขยายผลหรือถ่ายทอดต่อกับโรงเรียนทุกโรงที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงฯ  มัวไปทำอะไรอยู่หรือครับ


 


อีกภาพหนึ่งที่วาบขึ้นมาในความคิดของผมคือ เป็นไปได้หรือไม่ว่า นับจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบโรงเรียนจากโรงเรียนแยกเพศ คือ โรงเรียนหญิงล้วน โรงเรียนชายล้วน มาเป็นโรงเรียน "สห" คือหญิง ชายเรียนรวมกัน ซึ่งเด็กช่วงอายุ 12–15 ปีนั้นเป็นวัยที่มีความเปลี่ยนแปลงทางด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ เมื่อมาอยู่รวมกันอาจเกิดอารมณ์ความรู้สึกทางเพศกับเพศตรงข้ามได้ ขณะที่ข้อมูลที่ทำให้คิด วิเคราะห์ ไตร่ตรอง ในการจัดการความสัมพันธ์ทางเพศของตนกับเพศตรงข้ามก็ไม่ค่อยมี จึงทำให้วัยรุ่นชายหญิงมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน นำไปสู่การท้อง และทำแท้งในที่สุด


 


หนึ่งในทางออกเบื้องต้นของปรากฏการณ์ "ท้องในวัยเรียน" คือ การนำเรื่อง "เพศศึกษา" ซึ่งหมายถึง เรื่องเพศที่รอบด้านทั้งเรื่องสรีระร่างกาย พัฒนาการและความเติบโตของร่างกาย ความรับผิดชอบทางเพศ พฤติกรรมทางเพศ อนามัยการเจริญพันธุ์ สังคมและวัฒนธรรม และเรื่องอื่นๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธรรมชาติและวิถีทางเพศของวัยรุ่นที่หลากหลายในปัจจุบันมาศึกษากันในโรงเรียน ซึ่งน่าจะช่วยลดอัตราการท้องในวัยเรียนของวัยรุ่นได้เป็นอย่างมาก  


 


แต่เมื่อย้อนกลับมาฟัง และพูดคุยในวงสนทนากับเพื่อนเยาวชนต่อ กลับพบว่ามีข้อเสนอที่มากกว่าการนำหลักสูตรเพศศึกษาเข้าในโรงเรียนที่ผมคิดไว้เสียด้วยซ้ำ


 


"เราต้องคิดทั้งการป้องกัน และการแก้ปัญหา ในเรื่องการป้องกันคิดว่าเรื่องหลักสูตรเพศศึกษามีส่วนสำคัญมากที่จะต้องดำเนินการอย่างเป็นจริง ส่วนการแก้ปัญหา คิดว่าโรงเรียนน่าจะมีระเบียบให้เด็กที่ท้องได้หยุดเรียนชั่วคราวเพื่อคลอดลูก แล้วหลังจากนั้นก็ค่อยมาเรียนใหม่ โดยไม่ต้องไล่ออก" น้องผู้หญิงคนหนึ่งเสนอ


 


"แต่ถ้าให้เด็กท้องแล้วมาเรียนต่อเดี๋ยวหลายคนก็เลียนแบบหรอก สู้เราเปิดให้มีการทำแท้งที่ถูกกฎหมายเลยไม่ดีกว่าเหรอ เพราะอย่างแรกคงเป็นไปไม่ได้ที่โรงเรียนจะให้เด็กท้องแล้วกลับมาเรียนใหม่ สู้ให้มีที่ทำแท้งถูกกฎหมายไปเลยน่าจะดี" เพื่อนผู้ชายอีกคนแลกเปลี่ยน


 


ขณะที่พี่ผู้หญิงรุ่นพี่กล่าวอย่างได้อารมณ์ "มันต้องทำหลายอย่างพร้อมกันนะ แต่เกิดเป็นวัยรุ่นทำไมปัญหามันเยอะจังเลย เมื่อไหร่จะได้โตขึ้นสักทีจะได้ไม่ต้องถูกผู้ใหญ่ว่า ทำอะไรก็ผิด มีเซ็กส์ ก็หาว่าเรามีก่อนวัย พอท้องก็ไล่ออก พอแท้งมาก็ไม่ยอมรับ เฮ้อ เครียดจัง"


 


มาถึงตรงนี้ บรรยากาศการสนทนาพูดคุยเรื่องท้องในวัยเรียน ยังเพิ่มรายละเอียดต่างๆ อีกมาก และขยายเนื้อเรื่องมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้วงสนทนาจากคนกลุ่มเล็กๆ แค่ไม่กี่คน กลับเรียกความสนใจจากเพื่อนคนอื่นๆ ที่อยู่นอกวงให้มาร่วมพูดคุย แลกเปลี่ยนกันอีกหลายคน


 


ก่อนที่บทสนทนาจะขยายเวลาเพิ่มขึ้นกว่านี้ ก็มีอีกหนึ่งเรื่องที่วาบขึ้นมาในความคิดของผม นั่นคือ "วัยรุ่น"  ที่ร่วมบรรยากาศการคุยเรื่องการท้องของวัยรุ่นวัยเรียนในยุคปัจจุบันนี้ ก็เป็นผลิตผลหนึ่งของวัยรุ่นที่อยู่ในวัยเรียนเมื่อยุคสมัยหลายสิบปีที่ผ่านมา เพียงแค่ว่าเมื่อก่อน คนสมัยนั้นไม่มีโอกาสทางการศึกษามากขึ้นเหมือนคนสมัยนี้ และคงจะไม่มีผู้ใหญ่ที่ลืมอดีตเมื่อครั้งตนเป็นวัยรุ่น แล้วมัวแต่มาจัดการกำกับเรื่องเพศของวัยรุ่นอีกยุคหนึ่ง เหมือนที่วัยรุ่นสมัยนี้พบเจออยู่อย่างเนืองๆ