Skip to main content

คนดัง

คอลัมน์/ชุมชน


เมื่อคืนพฤหัสบดีที่ผ่านมาได้ดูรายการทีวีที่มีการนำเอาคนไทยที่มีความสามารถสูงด้านดนตรีท่านหนึ่งมาให้สัมภาษณ์ถึงที่มาที่ไปทำอย่างไรจึงกลายเป็น "คนดังระดับโลก" ต้องขอบอกก่อนว่า ดูรายการนี้อย่างไม่ตั้งใจนักเพราะอ่านงานบางอย่างอยู่ด้วย แล้วก็ไม่ได้เห็นว่าเป็นเรื่องน่าสนใจนักทั้งที่คนในกระแสหลักต่างพากันชื่นชม แต่ผู้เขียนมองว่า ไม่แปลก ดวงบวกขยัน และพื้นฐานสิ่งแวดล้อมในชีวิตทำให้สำเร็จได้ ซึ่งนับว่าดีกว่าไม่สำเร็จ


 


อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ามีคนแบบนี้อีกไม่น้อยที่อาจเก่งกว่านี้ ดังกว่านี้ในที่อื่น หรือมีคุณประโยชน์ต่อสังคมมากกว่านี้ แต่ไม่ดัง ไม่สามารถมาออกทีวีหรือไม่ได้คิดที่จะดัง แล้วจะต้องมาออกพื้นที่สาธารณะเพื่อประชาสัมพันธ์ตนเอง


 


สมัยก่อนที่ผู้เขียนยังไม่มายืนจุดนี้ (ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าจุดนี้ตนเองดังแต่อย่างใด) หลายหนที่ผู้เขียนมักสวนออกมากลางปล้องเวลาคนรอบข้างหรือเพื่อนฝูงพูดถึงอภินิหารของคนดัง ผู้เขียนจะพูดว่า "แล้วไง? เขาวิเศษอะไรกันนักหนา" ผู้เขียนก็จะโดนค้อนแล้วก็โดนด่าว่า "ขี้อิจฉา" ทั้งที่ในใจไม่ได้มีอะไรเลย เพียงแต่รำคาญ "มุมมอง"ของสังคมกระแสหลักด้านนี้ ซึ่งมาจากพื้นฐานของความไม่พยายามหาข้อเท็จจริงต่างๆของผู้คนในกระแสหลักที่ "เฮไหน เฮนั่น" มากจนเกินไป


 


จวบจนวันนี้ผู้เขียนแทบจะเลิกถาม ยกเว้นบางครั้งที่ผู้เขียนเห็นว่ามากเกินไป จึงถามลองเชิงออกไปบ้างว่า "เคยคิดบ้างมั้ยว่า ทำไมคนดังจึงทำตัวเป็นข่าวแบบนี้?" เกือบทั้งร้อยตอบไม่ได้ แต่บางคนเฉไฉตอบว่า "ก็เค้าอยากให้เป็นบุคคลตัวอย่าง" ผู้เขียน จึงถามต่อว่า "แล้วตัวคุณเองเป็นตัวอย่างให้ตัวคุณเองไม่ได้หรือ ถึงต้องเอาคนอื่นมาเป็นแบบอย่าง?" บ้างก็โกรธผู้เขียนไปเลย แถมอาจด่าต่อว่า "เธอน่ะ อีโก้จัด" บ้างก็บอกย้ำว่า "มีให้ดูก็ดู" ล้วนเป็นคำตอบที่ทำให้เห็นว่า อิทธิพลของความเป็นคนดังในสังคม ผ่านกระบวนการสื่อสารสาธารณะ (ผ่านสื่อมวลชนและ/หรือกระบวนการอื่นๆเช่นการนัดชุมนุม การสอนหนังสือ การเป็นองค์ปาฐก การกระจายข่าวอื่น) มีผลต่อการสร้าง"ตัวตน"ของคนในสังคม ทำให้คนไทยหลายคนไม่สามารถสร้างได้ด้วยตัวเอง ต้องพึ่งสิ่งที่โดนยัดเยียดให้และไม่ได้ตั้งคำถามเรื่อง "คุณภาพ" อนิจจาเหมือน "ตัวเป็นไท แต่ใจเป็นทาส" ฉันใดฉันนั้น


 


วันนี้ หากใครก็ตามที่ไปถามสังคมไทยในเรื่องดังกล่าว ก็อาจโดนตีตราว่า "ขี้อิจฉา" ได้ ทั้งที่อาจเป็นไปได้ว่าหลายคนที่โดนอุปโลกน์ว่าเป็น"คนดัง" หรือเป็น "ศรีสังคม"นั่นล้วนจอมปลอม เพราะ สิ่งที่ผู้คนในสังคมเห็นล้วนเป็นการสร้างฉาก สร้างภาพ เกินจริง แต่ก็แปลกที่สังคมกระแสหลักชอบเหลือเกินกับภาพพวกนี้ และไม่ต้องการรู้มากกว่านี้ บ้างเคยบอกด้วยซ้ำว่า "ขอมีความสุขกับมายาลวง" จะดีกว่าที่จะมาเจอ "ความจริงที่โหดร้าย" เรียกว่า "กูจะเป็นแบบนี้ มีอะไรมั้ย"


 


สมัยที่ผู้เขียนทำงานเกี่ยวกับวงการบันเทิง ผู้เขียนได้เรียนรู้บทเรียนที่จำมาจนถึงวันนี้เกี่ยวกับคนในวงการบันเทิงและหนังสือพิมพ์ นั่นก็คือ "ความจริงแท้หาได้ยาก" เรื่องการอิจฉาริษยา ใส่ร้ายนินทา การหักหลัง การโกหก ไม่ใช่เรื่องแปลก เมื่อโตขึ้นมาอีกก็พบว่าเรื่องแบบนี้เป็นทุกวงการ ไม่จำกัดว่าจะเป็นในระดับใด มีการศึกษาหรือไม่ หรือยากดีมีจน เป็นหมดทุกวงการ เพียงแต่ว่าจะเอาตัวรอดกันอย่างไรเท่านั้น สาเหตุหนึ่งมาจาก "ขี้อิจฉา" หรือการที่ทนเห็นคนดีกว่าไม่ได้ หลายคนอิจฉาแล้วทำร้ายซึ่งๆหน้า หลายๆคนอิจฉาแต่แทงข้างหลัง และหลายๆคนอิจฉาไปได้เรื่อยๆ และพยายามยุให้คนอื่นๆ อิจฉาคนที่ดีกว่า


 


ผู้เขียนจึงตั้งข้อสังเกตว่าที่ "อิจฉา"นั้น น่าจะเป็นเพราะว่า การขาดการไตร่ตรองในการรับสาร ตีความสาร และพิจารณาสาร ว่า มีความถูกต้องจริงเท็จแค่ไหน นอกจากนี้ กรอบในสังคมกระแสหลักเองก็ไม่ได้เอื้อให้คนตั้งคำถามไปเรื่อยๆ เพื่อให้เห็นความจริงแท้ได้ เพราะหากถามมากๆ ก็อาจโดนตีตราว่า อิจฉา" จึงกลายเป็น "วงจรอุบาทว์" ไม่จบสิ้น การที่จะเปิดโลกแห่งความจริงจึงไม่มี


 


ขอพูดถึงตัวอย่างสมมติของเหตุการณ์ที่ใครก็ตามที่พยายามตั้งคำถาม อาจโดนตีตราจากสังคมว่า "ขี้อิจฉา" ได้ เช่น มีคนนิยมนักร้องรายหนึ่งที่ดังเหลือล้น และกลายเป็น "เศรษฐีข้ามคืน" ไปแล้วในวงการ เรื่องความสามารถเฉพาะตัวนั้นมีแน่ แต่ที่มากกว่านั้นคือสร้างภาพว่าตนเองเป็น "เอ็นเทอร์เทนเน่อร์" และ เป็น "ลูกที่ดี" เล่นเอาลูกชาวบ้านทั่วไป กลายเป็น "ลูกที่ชั่ว" ได้ ในพริบตา น่าสงสารที่บรรดา "มิตรรักแฟนเพลง"เหล่านั้นต้องตกเป็นเหยื่อการสร้างภาพ หากใครไปวิพากษ์วิจารณ์ศิลปินท่านนี้เข้า เช่น "รู้จักคนนี้ดีแล้วเหรอ สรุปได้ไงว่าเค้าดีจริง" ก็แทบจะเกิดเป็นศึกได้ทันที เป็นไปได้ว่าเมื่อเวลาผ่านไปสังคมได้รู้เบื้องลึกเบื้องหลังของคนนี้มากขึ้นก็อาจทำให้ความนิยมเสื่อมลง แต่กว่าจะรู้ก็เสียตังค์ให้คนผู้นี้ไปกี่เท่าไรแล้ว


 


ตัวอย่างต่อมาเป็นเรื่องที่ผู้เขียนเจอตรงๆ คือ มีคนดังคนหนึ่ง (เสียชีวิตไปแล้ว) ที่เคยทำงานด้วยกันหลายหนในอดีต  โดยผู้เขียนเป็นลูกน้องและให้ความนับถือตามที่พึงมีต่อหัวหน้างาน แต่ด้วยผู้เขียนไม่ได้มีคุณสมบัติเป็น "คนดัง" หรือ "ไฮโซ" ตามแบบที่พี่ผู้นี้คิดไว้เมื่อแรกรู้จัก ทำให้หลายหนหลายครั้งขณะที่คบกันผู้เขียนได้ยินคำกระแนะกระแหนจากปากของพี่ผู้นี้ เช่น "พี่จำไม่ได้แล้วล่ะว่าน้องทำงานที่ไหนตอนนี้ เปลี่ยนงานบ่อยเหลือเกิน" ทั้งที่ก่อนหน้านั้นเคยบอกทำนองว่า "ก็ดีนี่ ได้เปลี่ยนงานบ่อยๆ น่าท้าทาย" แล้ววันหนึ่งตอนที่ผู้เขียนบอกว่าจะไปเรียนต่อ เธอบอกว่า "ไปเรียนทำไม ไม่คุ้มหรอก เพราะได้มาแล้วก็ทำอะไรไม่ได้มาก" ทั้งที่เธอเองเป็นบุคคลที่มีวุฒิการศึกษาในระดับสูง ตอนนั้นหาคนเปรียบได้ยาก ทำให้รู้สึกว่าเป็นวาจาที่เชือดเฉือนเป็นที่สุด ทั้งที่ผู้เขียนได้เคยบอกก่อนแล้วว่า ที่เรียนเพราะอยากรู้มากขึ้นและที่บ้านพอส่งได้ 


 


ผู้เขียนไม่ได้โต้ตอบแต่เพียงแต่เก็บไปคิดว่าทำไมต้อง "ชักกะได" หนีแบบนี้ เมื่อผู้เขียนจบกลับมาและได้เจอกันอีกครั้งหนึ่ง ผู้เขียนได้เข้าไปทักทายตามประสารุ่นน้องที่ดี แต่พี่ผู้นี้ก็รับไหว้อย่างเสียไม่ได้ ผู้เขียนไม่ถือเอาเป็นอารมณ์แต่อย่างใด เพราะรู้ว่าพี่คนนี้มีนิสัยแบบนี้มานาน หากไม่มีประโยชน์ จะไม่คบ แต่ภาพข้างนอกหวานจี๊ดจ๊าด แต่มีอะไรเบื้องหน้าเบื้องหลังมากมาย โดยเฉพาะความทะเยอทะยานที่สูงส่ง อีกทั้งไม่มีความจริงใจ


 


ในสมัยก่อน มีผู้คนกล่าวยกย่องบุคคลนี้ต่อหน้าผู้เขียน ผู้เขียนก็แย็บถามไปว่า รู้จักบุคคลนี้ดีแค่ไหน และเอาอะไรมาประเมินว่าดีหรือไม่ดี ผู้เขียนก็มักได้รับสายตาที่ขุ่นเขียว แล้วก็โดนตีตราทันทีว่า "ขี้อิจฉา" ทั้งที่ก็ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวโดยตรงกับพี่คนนี้แต่อย่างใด ไม่มี (ขัด) ผลประโยชน์ต่อกัน แต่ผู้เขียนเองก็เละไปแล้ว เพราะสังคมไทยไม่ต้องการให้มีการตั้งคำถามโดยเฉพาะ "คนดัง"ที่อุปโลกน์กันขึ้นมา



 


ภาพข้างหน้าของ "คนดัง" ที่สังคมยกย่องเป็นภาพที่สร้างขึ้นและใช้เป็นเครื่องมือในการโน้มน้าวให้คนทั่วไปนิยมชมชอบ ส่วนภาพข้างหลังนั้นคือภาพปริศนา อีกทั้งสังคมก็อยากให้เป็นปริศนาอยู่อย่างนั้น พร้อมทั้งกล่าวหาคนที่พยายามตั้งคำถามเรื่องภาพข้างหน้าว่าจริงหรือไม่จริงว่าเป็นผู้ไม่ประสงค์ดี การถามดังกล่าวถือเป็นการท้าทายกรอบความคิดที่สังคมกระแสหลักสร้างขึ้น ดังนั้นคนที่ถามเพื่อให้เกิดปัญญาอาจกลายเป็นคนเลว เป็นคนขี้อิจฉา เพราะสังคมแยกไม่ออก


 


ปรากฏการณ์ดังกล่าว อาจเรียกได้ว่า "ความตื้น" หรือ การที่ไม่สามารถแยกแยะข้อมูลข่าวสารได้ของคนในสังคม ซึ่งมีสาเหตุหนึ่งที่มาจากความไม่รู้ที่สังคมกระแสหลักป้อนให้กับสมาชิกในสังคม แล้วก็ให้หลงไปกับภาพเหล่านั้น ถือว่าเป็นเครื่องมือของชนชั้นปกครองที่จะใช้ควบคุมระบบความคิดของคนในสังคมเพื่อให้  "ปกครองง่ายๆ" เช่น ทำให้คนอยากเป็นคนดัง ทำให้คนนิยมคนดังและไหลไปกับคำพูดของคนดังได้ และชนชั้นปกครองก็ใช้คนดังเหล่านี้เป็นเครื่องมือสร้างคะแนนนิยม นอกจากนี้การหลงใหลได้ปลื้มคนดังก็ทำให้สังคมไม่ได้คิดอะไรมากนอกจากเรื่องคนดังเหล่านี้ ดูว่ามีการใช้ชีวิตอย่างไร จะได้เลียนแบบ แล้ววันหนึ่งตนเองก็อาจกลายมาเป็นคนดังได้ เพราะใช้ชีวิตเฉกเช่นกัน ทำให้เราเห็นกันบ่อยๆว่า คนชอบอวดกันว่าใช้ของอะไร กินอะไร เป็นการส่งเสริมวัตถุนิยมอย่างชัดเจนด้วย


 


อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนไม่คิดอิจฉาคนดังคนไหน (หรือคนไม่ดังด้วยก็เถอะ) เลย เพราะทุกวันนี้ ผู้เขียนไม่มีใครให้อิจฉานอกจากตนเอง เนื่องจากพอใจกับที่ตนเองเป็นอยู่ทุกวันนี้อย่างที่สุดแล้ว ทั้งนี้ ผู้เขียนไม่ต้อง "ผ่อนบ้าน ผ่อนเบ๊นซ์" ให้กลัวว่าวันใดดอกเบี้ยเงินกู้จะขึ้น  


 


ในที่สุด ก็มาเกี่ยวกับเรื่องทุนนิยมอย่างช่วยไม่ได้อีกแล้ว เฮ้อ