Skip to main content

เอดส์ไดอารี่: เมื่อคนชั้นกลาง "ป่วย"

คอลัมน์/ชุมชน

เอดส์ไดอารี่เป็นบันทึกที่โด่งดังเป็นพลุแตกในโลกไซเบอร์สเปซ แล้วพอกลายมาเป็นหนังสือเล่มซึ่งออกมาถึง 4 เล่มด้วยกันก็ได้รับการต้อนรับอย่างกว้างขวาง จำนวนพิมพ์และจำนวนเล่มเป็นสิ่งที่รับประกันถึงความนิยมชมชอบที่มีต่อหนังสือชุดนี้ได้เป็นอย่างดี


 


ผู้อ่านที่อ่านหนังสือชุดนี้ นอกจากจะเป็นผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีเหมือนๆ กับตัวผู้เขียนก็คือคุณ "แก้ว" เองแล้ว ก็เชื่อได้ว่าผู้อ่านจำนวนมาก ซึ่งคงจะเป็นคนส่วนใหญ่ด้วยซ้ำน่าจะเป็นคนธรรมดา "ที่ไม่ได้มีเชื้อเอชไอวีอยู่ในตัว"


 


ดังนั้น คำถามที่น่าสนใจก็คือไฉนคนที่ไม่ติดเชื้อเอชไอวีจึงสนใจติดตามอ่านหนังสือชุดนี้กันจนกลายเป็นปรากฏการณ์


 


คำตอบที่มีอยู่ในใจชวนให้นึกถึงบทละครโศกนาฏกรรมของกรีก ที่ได้รับความนิยมจากคนดูอย่างกว้างขวาง ความหายนะของตัวละครในบทละครโศกนาฏกรรมนั้นเป็นที่สะทกสะท้อนใจ และสร้างความประทับใจแก่คนดูจนยากที่จะลืมเลือนตัวละครตัวนั้นๆ ได้ลง


 


แล้วทำไมเล่าคนดูโศกนาฏกรรมกรีก จึงมีอารมณ์ร่วมไปกับหายนะกรรมของตัวละครที่มักเกิดขึ้นจากโชคชะตาที่ควบคุมไม่ได้ ทำไมคนดูจึงรู้สึก "สงสาร" และเกิดความรู้สึก "กลัว" ทั้งๆ ที่รู้ว่ามันเป็นเพียงแค่บทละครเท่านั้น


 


คำตอบอย่างหนึ่งก็คือแม้มันจะเพียงบทละครโศกนาฏกรรม แต่คนดูก็ยังเกิดความกังวลและเกิดความกลัว-กลัวว่าไม่วันใดก็วันหนึ่งเคราะห์กรรมซึ่งได้เกิดขึ้นแก่ตัวละครนั้นอาจเกิดขึ้นกับตัวเองเมื่อไหร่ก็ได้ เพราะมันเป็นเรื่องของชะตากรรม เป็นเรื่องของความพึงใจและไม่พึงใจของเทพเจ้าที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของมนุษย์และเป็นเรื่องที่ยากจะคาดเดา


 


ในทำนองเดียวกันกับเอดส์ไดอารี่ 1-2-3-4 แม้ว่าการติดเชื้อเอชไอวีไม่ได้ขึ้นอยู่กับชะตากรรมที่อยู่นอกเหนือการควบคุม แต่มันก็เป็นประสบการณ์ที่คนอ่านและคนเขียนสามารถมีร่วมกันได้ (เช่นเดียวกับที่ตัวละครในโศกนาฏกรรมกรีกกับผู้ชมจะมีร่วมกันได้) คือมันช่างเป็นเหตุการณ์ที่ใกล้ตัว (คนอ่าน) มากเหลือเกิน วันใดวันหนึ่งมันอาจเกิดขึ้นกับคนใกล้ชิดหรือเกิดขึ้นกับตัวเองก็ได้ (หรือถึงแม้ไม่เกิดขึ้นมันก็ยังวนเวียนใกล้ตัวอยู่ดี)


 


ผู้อ่านเอดส์ไดอารี่กับผู้เขียนหนังสือชุดนี้มีประสบการณ์หลายๆ อย่างร่วมกัน ใช้ชีวิตอยู่ในบริบทเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการศึกษา การกิน การเที่ยว การใช้เทคโนโลยี หรือแม้กระทั่งภาษาพูดแบบคนรุ่นใหม่ พูดง่ายๆ ก็คือสังกัดอยู่ในชนชั้นเดียวกัน คือเป็นคนชั้นกลางที่มีการศึกษา ที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี (โลกไซเบอร์สเปซ) ที่มีกำลังซื้อหนังสือซึ่งราคาขายไม่น้อยและที่มีความสุขกับการอ่าน


 


ผู้เขียนเอดส์ไดอารี่ในฐานะคนชั้นกลางจึงมองโรคเอดส์ โลกที่ตนเองอาศัยอยู่ และชีวิตที่มีเชื้อเอชไอวีอยู่ในตัวด้วยสายตาของคนชั้นกลางซึ่งมองโลกในแง่ดี มีความสุขกับแง่มุมเล็กๆ ของชีวิต ท่องเที่ยวหาความสุข  โรแมนติก ฯลฯ


 


ในเล่มที่ 3 ของหนังสือชุดนี้ ผู้เขียนได้สร้างภาพลักษณ์ของความโรแมนติกที่อยู่ในใจมานานให้กลายมาเป็นความจริงโดยการเดินทางไปเป็นครูอาสาที่จังหวัดเชียงรายสอนเด็กนักเรียนชาวเขา


 


"เราเป็นคนช่างฝัน มีความฝันมากมายที่อยากจะทำก่อนตาย เราโชคดีที่ยังมีโอกาสทำให้ความฝันหลาย ๆ อย่างเป็นจริงขึ้นมา "ครูดอย" คืออีกหนึ่งความฝันที่แอบอยู่ในใจตั้งแต่วัยเด็กตอนได้ดูหนังเรื่องครูบ้านนอกกับคนภูเขา" หน้า 244


 


นอกจากการทำตามความฝันหรืออีกนัยหนึ่ง คือการบริโภคความฝันของคนชั้นกลางแล้ว ผู้เขียนไดอารี่ยังใช้ชีวิตไปตามบรรทัดฐานของชนชั้นกลาง ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางท่องเที่ยวต่างจังหวัด ในขณะที่แฟนของเธอซึ่งเป็นคนนำเชื้อมาให้ ไม่รู้จักการเดินทางท่องเที่ยว การไปต่างจังหวัดของแฟนของเธอก็คือการกลับบ้านเท่านั้นเอง


 


จะพบว่าการท่องเที่ยวกับการกินเป็นกิจกรรมสองประการที่ควบคู่กันไป ซึ่งพบบ่อยมากในไดอารี่ทั้งที่ไปแบบประชุมสัมมนาเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อ และที่ไปเที่ยวกันเอง ตลอดจนไปเยี่ยมผู้ติดเชื้อตามที่ต่าง ๆ อ่านไปแล้วก็รู้สึกว่าผู้เขียนสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้ แม้ว่าจะมีเชื้อโรคอยู่ในตัวก็ตาม


 


จะว่าไป หนังสือบันทึก หรือคำบอกเล่าเกี่ยวกับการติดเชื้อเอดส์หลายๆ เล่มที่บรรดาผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้เขียนขึ้นนั้น  ผู้ติดเชื้อไม่อาจใช้ชีวิตอย่างที่ผู้เขียนเอดส์ไดอารี่ทำได้ ทั้งนี้ก็เพราะว่าหลายคนที่ติดเชื้อเป็นคนระดับล่างที่ต้องทำมาหากินและมีภาระรับผิดชอบมากมายแม้ว่าตนเองจะติดเชื้ออยู่ก็ตาม ในขณะที่ผู้เขียนเอดส์ไดอารี่ไม่ต้องทำงานอะไรเลย ดังนั้น จึงอาจสรุปเบื้องต้นได้ว่าเอดส์ไดอารี่ได้สร้างภาพลักษณ์แบบฉบับขึ้นมาสำหรับคนติดเชื้อเอดส์ภายใต้บริบทของสังคมวัฒนธรรมที่ผู้เขียนใช้ชีวิตอยู่


 


สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งสำหรับเอดส์ไดอารี่ทั้ง 4 เล่มก็คือการเล่ากับการไม่เล่า สิ่งที่ผู้เขียนเล่าออกมาคือสิ่งที่ผู้เขียนคัดสรรเรียบร้อยแล้ว แต่สิ่งที่ยังไม่ได้เล่าล่ะ มีอะไรที่ยังถูกปิดบังหรือถูกกลบเกลื่อนไว้บ้างหรือไม่  ?


 


เอดส์ไดอารี่เล่าในสิ่งที่ผู้อ่านรับได้ มองหาแง่มุมที่ดีๆ ในการเล่าเพราะผู้เขียนก็รู้ดีว่าถ้าหากว่าเล่าถึงความทุกข์รันทด ความขมขื่นของตัวเองก็เชื่อได้ว่าจะไม่มีใครอยากฟังเรื่องเล่าของเธอ นอกจากนั้นแล้วเป็นไปได้หรือไม่ว่าการเล่าถึงความสุขสนุกหรรษานั้นคือการกลบเกลื่อนความเจ็บช้ำ การตกเป็นเหยื่อ และความโชคร้ายเอาไว้