Skip to main content

โรงเรียนสัตว์:นิทานเตือนสติสำหรับนักการศึกษา

คอลัมน์/ชุมชน

เปลี่ยนรัฐบาลใหม่ทั้งทีขอเขียนเรื่องการศึกษาเสียหน่อย ผมมี 2 เรื่องที่จะเล่า เรื่องแรกเป็นนิทานส่วนเรื่องที่สองเป็นเรื่องจริงครับ ไม่ต้องถามก็รู้ว่าเราชอบฟังนิทานก่อน


นิทานเรื่องนี้เขียนโดย George H. Reavis ซึ่งผมจะถอดความและใส่ไข่บ้างแล้วนำมาต่อดังนี้


กาลครั้งหนึ่ง พวกเหล่าสัตว์ทั้งหลายได้ตัดสินใจร่วมกันว่า "เพื่อที่จะให้พวกเราเหล่าสัตว์ทั้งหลายสามารถติดตามทันกับโลกใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ เราควรจะต้องจัดการให้มีโรงเรียนขึ้นมา ถึงเวลาต้องพัฒนาแล้ว"


เพื่อความรวดเร็ว พวกเขาจึงได้ลอกหลักสูตรมาจากสำนักแห่งหนึ่งซึ่งประกอบด้วย 4 วิชา คือ วิ่ง ปีนต้นไม้ ว่ายน้ำและบิน คณะกรรมการโรงเรียนก็อนุมัติในทันที


และเพื่อให้ง่ายต่อการบริหารหลักสูตร พวกเขาจึงตั้งกติกาว่า "สัตว์ทุกตัวต้องลงทะเบียนเรียนทั้งสี่วิชานี้เหมือนกันหมด สัตว์ตัวใดต้องการความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษก็ค่อยไปศึกษาระดับปริญญาในมหาวิทยาลัยก็แล้วกัน"


นักเรียนทั้งหมดมี 5 ท่าน คือ เป็ด กระต่าย กระรอก นกอินทรีย์ และปลาไหล แต่มีตัวละครเพิ่มอีก 1 ตัว คือหนู


นักเรียนเป็ดซึ่งมีความสามารถสูงมากในด้านว่ายน้ำ และจริง ๆ แล้วเขามีความสามารถมากกว่าครูผู้สอนเสียอีก แต่ด้วยความที่จ้าวเป็ดน้อยกลัวจะสอบตกในวิชาการวิ่งเป็ด จึงต้องอยู่ตอนเย็นหลังเลิกเรียนเพื่อเรียนพิเศษเพิ่มเติม เธอต้องฝึกวิ่งอย่างหนักจน "พายตีน" ฉีกขาด


ในที่สุดนักเรียนเป็ดผู้น่าสงสารก็สอบวิชาว่ายน้ำศาสตร์ได้เกรดเพียงแค่ผ่านหรือได้ระดับซีเท่านั้น ส่วนผลการเรียนวิชาอื่น ๆ ปรากฏว่า เป็ดได้เพียงเกรดซีในวิชาการบินและปีนต้นไม้ ส่วนวิชาการวิ่งเธอได้เกรดดีลบ เพราะว่าเท้าของเป็ดน้อยผู้น่าสงสารเต็มไปด้วยแผลเหวอะหวะ


กระต่ายซึ่งมีความสามารถในการวิ่งสูงกว่าเพื่อน ๆ ในชั้นเรียน แต่กระต่ายก็ต้อง "ประสาทกิน" เพราะวิชาว่ายน้ำแย่งเวลาไปเกือบหมด


เจ้ากระรอกน้อยซึ่งเป็นเลิศในวิชาปีนต้นไม้ก็ต้องมาเซ็งอย่างสุด ๆ กับเงื่อนไขของครูที่ว่า "คุณจะต้องบินจากพื้นดินข้างล่างขึ้นสู่ข้างบน" กระรอกน้อยก็ขอร้องว่า "ครูครับผมขอบินจากที่สูงคือจากยอดไม้ลงไปสู่พื้นดินซึ่งผมถนัด" แต่คุณครูบอกว่า "ทำไม่ได้เพราะผิดระเบียบ"


ในที่สุดกระรอกก็ต้องออกแรงมากในการบินจนเกิดอาการปวดขา จึงได้เกรดซีในวิชาปีนต้นไม้และได้เกรดดีในวิชาวิ่งและวิชาการบิน


ส่วนนกอินทรีย์ซึ่งเป็นเด็กมีปัญหาและถูกกวดขันให้อยู่ในวินัยอย่างเข้มงวดในวิชาปีนต้นไม้


ครูบอกว่า "เธอต้องปีนจากตำแหน่งนี้ไปสู่อีกตำแหน่งหนึ่งที่ฉันกำหนดให้" เจ้านกอินทรีย์รู้สึกอึดอัดมากจึงดื้อแพ่งที่จะใช้วิธีการของตนเองพร้อมบอกกับคุณครูว่า "หนูสามารถออกจากจุดนี้ไปยังจุดที่คุณครูกำหนดได้อย่างรวดเร็วและเร็วกว่าใคร ๆ ในปฐพีนี้ แต่ขอไปโดยวิธีบิน ขอไม่ปีนได้ไหม" ในที่สุดครูก็ไม่ยอมและให้นกอินทรีย์สอบตก


เมื่อวันสิ้นสุดการศึกษามาถึง ทางโรงเรียนจัดพิธีคล้าย ๆ กับเด็กอนุบาลรับปริญญาในเมืองไทย ปลาไหลพิการได้รับเลือกให้เป็นประธานรุ่น ประธานซึ่งสามารถสอบผ่านได้ทุกวิชา คือ ว่ายน้ำได้ดีกว่าใคร ๆ วิ่งก็ได้ ปีนต้นไม้และบินได้เล็กน้อยก็ได้เกรดเฉลี่ยสูงที่สุดในชั้น จนได้รับเกียรติให้เป็นตัวแทนนักเรียนเพื่อกล่าวขอบคุณในงานเลี้ยงอำลาโรงเรียน


ยังมีอีกเหตุการณ์หนึ่งที่น่าสนใจคือ วันหนึ่งแม่หนู (หนูจริง ๆ มีสี่ขามีหางด้วย-ไม่ใช่สาว ๆ ที่แทนตนเองว่าหนู) ได้มาติดต่อกับโรงเรียนเพื่อขอให้ทางโรงเรียนนี้เปิดสอนวิชาขุดดินและการหลบซ่อนตัวให้กับลูกของตน แต่ทางโรงเรียนไม่ยอมเปิดสอน ในที่สุดแม่หนูก็ต้องส่งลูก ๆ ของตนไปเรียนโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง ในที่สุดลูกหนูตนนี้ก็สำเร็จการศึกษาและกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญสาขานี้ในเวลาต่อมา


นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ระบบการศึกษามีความสามารถในการทำลายศักยภาพของนักเรียนได้อย่างยอดเยี่ยม แทนที่การศึกษาจะช่วยค้นหาศักยภาพของผู้เรียนแล้วพัฒนาให้สูงขึ้น


คราวนี้มาถึงเรื่องที่สองซึ่งเป็นเรื่องจริงบ้าง คือคำถามของ "น้องแทน" เด็กชายวัยซุกซนที่เพิ่งจะมีอายุครบ 3 ขวบในปลายเดือนนี้


ในช่วงสัปดาห์แรก "น้องแทน" ไปโรงเรียนด้วยความเต็มใจ เธอเรียนรู้ทั้งจากเพื่อนและจากของเล่นในโรงเรียนได้อย่างรวดเร็ว


"น้องแทน" เป็นเด็กที่ฉลาดมาก ความสามารถพิเศษของน้องแทนที่ผมสังเกตได้ คือการรู้จักจัดหมวดหมู่ของสิ่งของได้อย่างดีมาก เธอสามารถจัดหมวดหมู่ของสัตว์สี่ขา สองขาได้อย่างไม่ผิดพลาด ถ้าพูดให้เป็นคณิตศาสตร์หน่อยก็คือว่าน้องแทนเรียนรู้เรื่องเซต (set) ได้โดยธรรมชาติหรือโดยญาณหยั่งรู้ (intuition) ที่ธรรมชาติประทานให้อยู่ในตัวเธอเองแล้ว


เธอชอบตั้งคำถามมาก ถ้านับจำนวนคำถามกันแล้วในช่วงเวลาที่เท่ากันเธอมีคำถามมากกว่านักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยเสียอีก


วันหนึ่งซึ่งเป็นเพียงช่วงสัปดาห์ที่สองในชีวิตนักเรียนของเธอเท่านั้น น้องแทนได้ตั้งคำถามที่แหลมคมมากว่า
"แม่ แม่ ทำไมต้องไปบ่อยนักละโรงเรียน"


ไม่มีใครตอบคำถามของน้องแทน แต่ผมคิดใคร่ครวญแล้วก็เกิดความคิดว่า ไม่ต้องตอบคำถามหรอกอีกหน่อยระบบการศึกษาก็จะทำให้น้องแทนเป็นเหมือนผู้ใหญ่ทั่วไปอย่างเรา ๆ เองแหละครับ


จบครับ