Skip to main content

ไม่ต้องการมีบุตร

คอลัมน์/ชุมชน

ไม่นานมานี้ ผมได้มีโอกาส "แชท" กับ "คุณยายยังสาว" คนหนึ่ง คืออายุแค่สี่สิบต้นๆ ก็มีหลานแล้ว ซึ่งเมื่อเทียบกับหลายๆ คนที่ผมรู้จัก ก็ถือว่าหายากเพราะอายุขนาดนี้ ผมเห็นยังไม่แต่งงานเสียมากกว่า


 


เธอบอกผมว่า ทุกวันนี้เธอมีความสุขมากเพราะเธอเพิ่งจะมีหลานคนแรก เธอเป็นคนที่รักเด็กอยู่แล้ว จึงดีใจเป็นที่สุดที่ได้เลี้ยงหลานของตัวเอง เท่าที่ได้พูดคุยกัน ดูเหมือนเธอจะมีความสุขกับการเป็นคุณยายยังสาว มากกว่าจะห่วงความสาวของตัวเอง ทำให้ผมพลอยตั้งสมมติฐานเล่นๆ (แบบสอดรู้สอดเห็น) ไปด้วยว่า ที่ลูกของเธอแต่งงานเร็วและมีหลานให้เธอเร็วๆ เพราะเธอสนับสนุนด้วยหรือเปล่าหนอ?


 


เมื่อเธอถามผมถึงความคิดเรื่องการมีครอบครัว ผมก็ตอบไปตามตรง คือผมแต่งงานแล้ว แต่ผมไม่ต้องการมีลูก และการที่ผมตอบไปอย่างนั้น ผมก็เลยได้เห็นอะไรบางอย่างในวุฒิภาวะของเธอ นั่นคือเธอกระแนะกระแหน (อย่างชัดเจนและหลายครั้ง) ว่า ผมเป็นพวก "ไม่รักเด็ก" ซึ่งผมก็บอกไปตามตรงว่า มันคนละประเด็นกัน ผมรักเด็กนะครับ แม้จะไม่ถึงขนาดต้องไปสมัครเป็นครูอนุบาลก็ตาม แต่นั่นก็ไม่เกี่ยวกับเรื่องไม่ต้องการมีลูกแต่อย่างใด ผมไม่ต้องการมีลูก เพราะผมยังไม่พร้อมที่จะมี และยังไม่รู้จะพร้อมเมื่อไร การวางแผนครอบครัวเขาก็บอกอยู่แล้วว่า "ชีวิตเป็นสุข มีลูกเมื่อพร้อม" เมื่อผมยังไม่พร้อม ก็ไม่มีดีกว่า


 


อธิบายขนาดนั้น เธอก็ยังจะไม่ยอมรับท่าเดียว เธอบอกว่าคนเกลียดเด็กเท่านั่นแหละที่แต่งงานแล้วไม่ต้องการมีลูก เพราะการมีลูกคือทุกสิ่งทุกอย่างของการมีครอบครัว แต่งงานแล้วไม่มีลูกจะแต่งไปทำไม ลำบากแค่ไหน เพื่อลูกแล้วพ่อแม่ก็ทำได้ทุกอย่าง  คนโบราณเขามีแต่จะให้มีลูกเต็มบ้านมีหลานเต็มเมือง คนที่ไม่ยอมมีลูกคือคนเห็นแก่ตัว ฯลฯ  ผมคิดว่าเถียงกันไปก็ไม่ประเทืองปัญญา เลยขอบ้ายบายไปคุยกับคนอื่นดีกว่า


 


เถียงกับคนประเภทที่มีปัญหาเรื่อง "การแยกแยะ" มันไม่จบไม่สิ้นหรอกครับ ถ้าเราไม่รับฟังกัน รังแต่จะยึดตัวเองเป็นหลัก ไม่ว่าจะคุยกันแบบไหนก็ไร้ประโยชน์  ถึงแม้จะเป็น "คุณยาย" แล้วก็เถอะ ถ้ายังเถียงหัวชนฝาว่า คนที่แต่งงานกันต้องมีลูก คนที่แต่งงานแล้วไม่มีลูกเป็นเรื่องผิดปกติ ตั้งตนเป็นผู้พิพากษาศาลครอบครัวแบบนี้ ผมก็ต้องขอลา


 


ผมคิดว่าเรื่องความต้องการมีลูกหรือไม่ต้องการมีลูก เป็นความแตกต่างที่เราน่าจะยอมรับกันได้แล้ว มี หรือไม่มี มันก็แล้วแต่การตัดสินของคนทั้งคู่ เขาจะสุขไม่สุข เราก็ไม่ได้ไปเกี่ยวอะไรกับเขา บางคนอยากมีลูกเป็นโหล เขามีปัญญาเลี้ยงก็เรื่องของเขา บางคน (เช่นผม) ไม่ต้องการจะมีลูก ผมก็มีความสุขดี ไม่ได้ทุรนทุรายต้องขอลูกใครมาเลี้ยงซะหน่อย


 


อันที่จริง ผมก็พอจะเข้าใจความคิดของคุณยายยังสาวท่านนี้ เพราะความคิดเรื่องการไม่ต้องการมีลูกสำหรับคนอายุขนาดนั้น (บางคน) มันเป็นเรื่องที่เขาไม่สามารถทำความเข้าใจได้ สิบปีที่แล้วหากใครแต่งงานแล้วพูดอย่างนี้ มีหวังโดนมองแปลกๆ และอาจโดนครหาว่า ฝ่ายชายไร้น้ำยา หรือฝ่ายหญิงมีปัญหา แต่ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ผมได้รับทราบความเห็นของคู่แต่งงาน ทั้งที่มีชื่อเสียง และที่เป็นคนเดินดินกินข้าวแกงทั่วไป จำนวนไม่น้อยที่แสดงเจตจำนงอย่างชัดเจนว่า ไม่ต้องการมีลูก


 


ถ้าจะยึดตามหลักธรรมชาติที่ว่า สิ่งมีชีวิตต้องมีการสืบพันธุ์ ไม่ว่าจะพืช สัตว์ หรือมนุษย์ ล้วนต้องการสืบเผ่าพันธุ์ มีลูกมีหลาน มีเชื้อสายของตัวเองสืบต่อไปในอนาคต อันนั้นผมก็ไม่เถียงหรอกครับ แต่มนุษย์เราไม่ได้มีชีวิตอยู่ด้วยสัญชาติญาณเพียงอย่างเดียวนี่นา อะไรหลายๆ อย่างในสังคมมันบีบให้มนุษย์ต้องเก็บ ต้องกด ต้องซ่อน ต้องเลือกเฟ้น การแสดงออกถึงสัญชาติญาณของตนเอง


 


ถ้าการแต่งงานและมีลูก เป็นเรื่องปกติของคนเรา เป็นบรรทัดฐานของสังคม เป็นเป้าหมายของชีวิตที่ผาสุกที่เรียกกันว่า "การสร้างครอบครัว" การตัดสินใจจะไม่มีลูก ก็น่าจะเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนบรรทัดฐานของสังคม ไม่ปฏิบัติตามครรลองของคนแต่งงาน และไม่เดินไปตามเป้าหมายที่สังคมกำหนดให้ (คือการมีผู้สืบสกุล)


 


จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เวลาที่ใครถามผมถึงเรื่องครอบครัวผมก็จะตอบตามตรงคือ ผมแต่งงานแล้วและไม่ต้องการมีลูก และดูเหมือนว่าใน 10 คนจะมีสัก 1-2 คนเท่านั้นที่ไม่ถามคำถามประเภท "ทำไมล่ะ? มีน้องตัวเล็กๆ น่ารักดีออก" หรืออะไรทำนองนี้ และเชื่อหรือไม่ว่า คนส่วนใหญ่ที่ไม่เข้าใจก็มักจะไม่สนใจที่จะทำความเข้าใจกับเหตุผลของการไม่ต้องการมีลูกเสียด้วย


 


ขั้นตอนของการ "สร้างครอบครัว" ตามปกติแล้ว เมื่อคนเราจะแต่งงานกัน หรือแต่งงานกันใหม่ๆ ก็ต้องมีการวางแผนกันว่า เรามีเป้าหมายอย่างไร แล้วจะทำอย่างไรถึงจะไปให้ถึง เราจะมีลูกกันกี่คน อยากจะมีผู้หญิงหรือผู้ชาย ถ้ามีแล้วใครจะเลี้ยง ใครจะเป็นคนทำงาน ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลที่เป็นสาเหตุใหญ่ที่ต้องคิดกันมากขนาดนั้นก็คือ "เพื่อลูก" นั่นแหละครับ ยิ่งลูกเยอะก็ยิ่งต้องขยัน ยิ่งต้องคิดมาก ยิ่งต้องอดทนมาก


 


ก่อนที่ผมจะตัดสินใจจะไม่มีลูกนั้น ผมถามตัวเองอย่างตรงไปตรงมาว่า ผมจะแน่ใจได้แค่ไหนว่า สามารถเลี้ยงลูกให้เติบโตขึ้นมาให้ "เลวน้อยที่สุด" ในสังคมยุคปัจจุบัน? ยุคที่นั่งหน้าคอมพ์ก็ดูหนังโป๊ข้ามทวีปผ่านอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ยุคที่ลูกของผมอาจจะ "แชท" กับใครสักคนเพื่อแลกเบอร์กันแล้วก็นัดเจอกัน แล้วไปทำอะไรกันต่อก็ไม่รู้ และยุคที่เด็กๆ เชื่อเพื่อนมากกว่าพ่อแม่ ดูโทรทัศน์มากกว่าอ่านหนังสือ และอยากมีเพศสัมพันธ์กันตั้งแต่อายุ 12-13 ?


 


คิดถึงขนาดนี้ ผมเป็นพวก paranoid หรือเปล่า? อาจใช่ก็ได้ แต่ถามว่า ไม่มีลูกแล้วผมมีความสุขหรือไม่? ผมตอบได้เลยว่า "มี"  ทุกวันนี้ผมก็อยู่กับภรรยาและมีความสุขเป็นปกติดี ไม่ได้รู้สึกเหงาแต่อย่างใด อาจจะด้วยวัยที่ยังทำงานกันทั้งคู่ เลยไม่ค่อยจะมีเวลาเหงาสักเท่าไร ส่วนอนาคตนั้นยังไม่รู้ อาจจะเหงาหรืออาจจะไม่ เพื่อนบางคนที่รู้ว่าผมไม่ต้องการมีลูก เขาถามว่า แล้วตอนแก่ไปไม่กลัวจะอยู่คนเดียว หรือไม่มีคนเลี้ยงหรอกหรือ? ผมเลยย้อนถามเขากลับไปว่า แล้วทุกวันนี้เขาได้เลี้ยงพ่อแม่เขาบ้างหรือเปล่า? แล้วเขาคิดว่าถ้าเขามีลูกแล้วลูกจะเลี้ยงเขาหรือเปล่า?


 


เราหวังอะไรกับเด็กๆ ของเราในอนาคตกันบ้างครับ หวังให้เขาเป็นเด็กดี และโตขึ้นเป็นคนดี หวังให้เขาเลี้ยงดูเราเมื่อเราแก่ชรา หวังให้เขามีหลานตัวเล็กๆ ให้เราได้ชื่นชม หรือหวังแค่ให้เขาเอาตัวรอดในสังคมเส็งเคร็งนี้ไปได้ หรือว่า "ถูก" หมดทุกข้อ? ก็แล้วตัวเรา หรือคนรอบตัวเรา เป็น "ตัวอย่าง" ให้กับเด็กๆ ของเรากันมากน้อยแค่ไหนล่ะครับ?


 


ผมตั้งคำถามมากมายก่อนที่ผมจะตัดสินใจไม่มีลูก บางคำถามผมตอบได้ แต่ส่วนใหญ่ผมตอบไม่ได้ ถ้าเอาตัวเองเป็นตัวตั้ง ผมรู้สึกว่า การมีลูกเป็นการ "เห็นแก่ตัว" เสียด้วยซ้ำไป เพราะผมหวังจะให้ลูกเป็นอย่างที่ผมต้องการ ทั้งๆ ที่ผมเองก็ไม่ใช่ลูกที่ดีของพ่อแม่สักเท่าไร


 


ถึงแม้จะยังไม่มีลูก แต่ผมก็พอจะเข้าใจความรู้สึกของคนเป็นพ่อเป็นแม่ คือคนที่มีลูก เวลามันสุขมันก็ "สู้ขสุข" แต่เวลาเป็นทุกข์มันก็ "ทู้กทุกข์" คนเป็นพ่อเป็นแม่ไม่สามารถจะทำอารมณ์ให้เป็นกลางได้เลย เพราะชีวิตจิตใจครึ่งหนึ่งมันไปอยู่ที่ลูกหมดแล้ว  ลูกเป็นคนดีพ่อแม่ก็ภูมิใจคุยอวดได้เจ็ดย่านน้ำ  ลูกเป็นคนเลว หรือเหลวแหลกเสียผู้เสียคน พ่อแม่ก็ช้ำในบอกใครไม่ได้ กลายเป็นทุกข์เสียยิ่งกว่าลูก


 


ใครที่อยากจะมีลูก ก็ต้องยอมรับความรู้สึกแบบ "สุดโต่ง" นี้ให้ได้ คือสุขก็สุขสุดๆ แต่พอทุกข์ก็ทุกข์สุดๆ เหมือนกัน ผมเองยังทำใจยอมรับอะไรแบบนี้ไม่ค่อยได้ เห็นคนอื่นเขาทุกข์เพราะลูกแล้วมันรู้สึกว่า แย่เหลือเกิน แย่แบบไม่รู้จะแก้ยังไงด้วย ทำใจลำบากครับ


 


เหนือสิ่งอื่นใด ปัจจัยสำคัญที่สุดสำหรับความพร้อมในการมีลูกในยุคปัจจุบัน ผมคิดว่าหนีไม่พ้นเรื่องของ "เงิน"  ถ้าเป็นสมัยก่อนคงไม่ต้องคิดมาก ลูกเกิดมาก็ไปเรียกหมอตำแย ค่าจ้างไม่แพง บางทีก็ให้เป็นข้าวของ โตมาก็วิ่งเล่นตามท้องไร่ท้องนา เข้าโรงเรียนวัด หรืออะไรทำนองนี้


 


แต่ตอนนี้แค่จะคลอดลูกก็ต้องเตรียมเงินอย่างน้อยๆ ก็ 10,000-20,000 บาท สำหรับการฝากครรภ์และทำคลอด (ซึ่งส่วนใหญ่จะผ่ามากกว่าคลอดตามธรรมชาติ) เมื่อคลอดมาแล้วก็ต้องเตรียมค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนไว้เลยไม่ต่ำกว่า 2,000-3,000 บาท เป็นค่านม ค่าผ้าอ้อม ค่าเสื้อผ้า ค่ายา ค่าหมอ ฯลฯ


 


พอจะเข้าโรงเรียนก็ต้องคิดหนักอีก จะพาไปเข้าโรงเรียนทั่วไปก็เกรงว่าสภาพแวดล้อมมันจะทำให้ลูกไม่พัฒนาเท่าที่ควร ก็ต้องเลือกที่มีชื่อเสียงหน่อย ค่าเล่าเรียนก็ราวๆ 20,000-30,000 บาทต่อปี (บางที่ก็ต่อเทอม) เด็กยิ่งโตก็ยิ่งต้องใช้เงิน แถมข้าวของสมัยนี้ก็แพงเหลือใจ ให้น้อยหรือไม่ให้เลย ลูกก็จะมีปัญหาเข้ากับเพื่อนไม่ได้ ก็ต้อง (กัดฟัน) ควักเงินให้มันไป


 


เฮ้อ...การเป็นพ่อแม่คนสมัยนี้มันไม่ง่ายเลยนะครับ


 


ถ้าถามว่า แล้วผมคิดจะมีลูกบ้างมั้ย? อันนี้ก็ตอบได้เลยครับว่า "คิด" แต่ก็อย่างที่บอก คือขอให้มีพร้อมเสียก่อน พร้อมสำหรับผมคือ มีความมั่นคงในอาชีพการงาน และความมั่นคงในชีวิตระดับหนึ่ง อย่างน้อยๆ ต้องมีที่อยู่เป็นหลักเป็นแหล่ง ไม่ใช่เช่าเขาอยู่อย่างทุกวันนี้ ควรจะมีรถยนต์เล็กๆ ไม่ต้องใหม่มากก็ได้สักคัน เพราะมันคงลำบากแน่ๆ ถ้าต้องกระเตงกันไปทั้งครอบครัวด้วยรถมอเตอร์ไซค์เพียงคันเดียว และสุดท้ายคือควรจะมีเงินเก็บสักก้อนที่จะมั่นใจได้ว่า จะสามารถดูแลลูกได้อย่างไม่ขัดสน ทั้งหมดนี้ไม่รวมค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนนะครับ ซึ่งทั้งหมดถ้าคำนวณดูแล้ว คนประเภทที่ไม่มีพ่อเป็นรัฐมนตรีอย่างผม คงต้องเก็บเงินอีกหลายแสนเลยทีเดียว ซึ่งนั่นก็หมายความว่า ผมอาจจะพร้อมตามเงื่อนไขของผมตอนที่ผมหมดวัยที่ควรจะมีแล้วก็เป็นได้


 


บางคนอาจจะร้องว่า โอ้ย! คิดอะไรมากมายขนาดนั้น เด็กเกิดมาก็เลี้ยงกันไป เดี๋ยวก็มีหนทางเองนั่นแหละ อ้าว...ถ้าคุณจะทำกับลูกของคุณอย่างนั้น ก็เรื่องของคุณสิครับ ส่วนผมก็ขอมีลูกในแบบของผมก็แล้วกัน อย่างน้อยผมก็จะได้มั่นใจว่า ไม่ได้พาเขามาลำบาก


 


สมมติ ถ้าคุณเลือกเกิดได้ คุณอยากจะเกิดในครอบครัวแบบไหนครับ? ครอบครัวที่ไม่มีความพร้อมอะไร เด็กเกิดมาก็เลี้ยงกันไป โตขึ้นมันจะดีจะเลวก็เรื่องของมัน หรือครอบครัวที่แม้จะไม่รวย แต่ก็วางแผนให้คุณเติบโตอย่างมีคุณภาพพอสมควร?


 


สังคมทุกวันนี้มันแย่อยู่แล้ว เราก็ไม่ควรไปเพิ่มความแย่ให้มันด้วยการสร้าง "ประชากรแย่ๆ"  ใส่เข้าไปอีก เลี้ยงลูกให้ดีไม่ใช่ของง่าย ถ้าคิดว่า พร้อมและทำได้ก็ทำไปเลยครับ ลูกของคุณอาจจะเป็นคนที่ประเทศชาติรอคอย แต่ในทางกลับกัน ถ้าคิดว่าไม่พร้อมหรือถ้ามีก็กลัวจะเลี้ยงได้ไม่ดีก็อย่าไปมีมันเลยครับ


 


ชีวิตคู่ที่ไม่มีลูก ก็เป็นความสุขอีกแบบหนึ่ง อาจจะไม่เหมือนครอบครัวอื่น แต่ก็ใช่ว่าในสังคมไทยจะไม่มีตัวอย่างเลย เพียงแต่มีน้อยกว่าเท่านั้น บางครอบครัวแต่งงานมีลูกสองคนสามคนก็ยังเลิกกันได้ บางครอบครัวอยู่กันแค่สองคนตายายก็อยู่ด้วยกันจนแก่ตายกันไปข้าง


 


นิยามเรื่อง "ความสุขของชีวิตครอบครัว" เป็นเรื่องของใครของมัน ลอกเลียนกันไม่ได้จริงๆ ครับ