Skip to main content

พระปริญญา ผู้ใช้จันทน์ผารักษาป่า รักษาธรรม

คอลัมน์/ชุมชน

วัดป่าชุมชน ตำบลเขาน้อย อำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี ผู้ใดได้เข้าไปจะประทับใจในความร่มรื่น เย็นสบายของป่าใหญ่ที่อยู่ล้อมรอบวัด โดยมีจันทน์ผาเป็นไม้เด่นที่มองเห็นอยู่ทั่วไป ยิ่งเมื่อได้กราบนมัสการสนทนาธรรมกับท่านเจ้าอาวาส คือ พระปริญญา สุปริญโญ ก็จะศรัทธา  ปิติในวัตรปฏิบัติของท่าน ทั้งศีล สมาธิ ปัญญา พร้อมกับได้สัมผัสถึงความสะอาด มีระเบียบทั่วทุกหนทุกแห่งของวัด ไม่เว้นแม้แต่ห้องสุขา


 



พระปริญญา ผู้ใช้จันทน์ผารักษาป่า


 


เป็นบุญของดิฉันและกรรมการคัดเลือกรางวัลลูกโลกสีเขียว อีก ๓ คน คือ คุณอุดม  วิเศษสาธร อดีตผู้อำนวยการโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติของ ปตท. รศ.ดร.บุญยงค์ เกศเทศ นักมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และพ่อเล็ก  กุดวงค์แก้ว ปราชญ์ชาวบ้านแห่งอำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร  ที่ได้ไปศึกษาผลงานของพระอาจารย์ปริญญา  (จากการเสนอผลงานของนายบุญมี  สรรพคุณ นักวิชาการป่าไม้ ๗ หัวหน้าศูนย์ศึกษาและพัฒนาวนศาสตร์ชุมชนที่ ๑ (สระบุรี) ) เมื่อวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๔๙


 


เวลาเกือบ ๓ ชั่วโมง ในวัดป่าชุมชน  พระอาจารย์ปริญญาได้เปิดใจ  เปิดสมอง ของดิฉัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการฟื้นสภาพป่าต้นน้ำ ซึ่งเป็นรอยต่อของจังหวัดสระบุรี  ลพบุรี และนครราชสีมา ซึ่งมีปัญหาความเสื่อมโทรม และไฟไหม้ทุกปี จนตาน้ำซับที่มีอยู่เดิม แห้งไปทุกที ชาวบ้านเดือดร้อน ไม่มีน้ำกิน น้ำใช้ และน้ำทำการเกษตร


 


พระอาจารย์ปริญญา เคยรับราชการสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาก่อน แล้วลาออกมาบวช เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๑ เพื่อเป็นกุศลบุญให้พ่อซึ่งป่วยหนัก  ท่านปฏิบัติกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น โดยอยู่ในถ้ำหลายเดือน ก่อนที่ชาวบ้านจะไปนิมนต์ให้มาอยู่ที่นี่


 


ท่านเริ่มงานอนุรักษ์โดยทำงาน ๒ ส่วน ส่วนแรก คือ ประสานและทำความเข้าใจกับทุกฝ่าย ทั้งชาวบ้าน ผู้นำชุมชน องค์กรปกครองท้องถิ่น คือ ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิก อบต. นายก อบต. และหน่วยงานราชการทุกฝ่าย


 


ส่วนที่สอง คือ  การศึกษาข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับพื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ สภาพป่า ตาน้ำซับที่มีอยู่ ที่แห้งไปแล้ว พันธุ์ไม้ในป่า สัตว์ป่าที่ยังมีอยู่ และที่หายากใกล้สูญพันธุ์


 


เมื่อได้ข้อมูลชัดเจนแล้ว ท่านเริ่มฟื้นสภาพป่า โดยปลูกพืช ๓ ประเภท คือ พืชที่รักษาระบบนิเวศ พืชที่สัตว์กินได้  เพื่อเรียกสัตว์คืนสู่ป่า และพืชที่คนกินได้ เพื่อเป็นแหล่งอาหารของชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงกับวัด


 


พืชที่รักษาระบบนิเวศ พระอาจารย์ปริญญาใช้ต้นจันทน์ผา ท่านพบว่าในป่าแห่งนี้มีพันธุ์ไม้ตระกูลจันทน์ผา ๓ ชนิด ได้แก่ จันทน์หนู ซึ่งมีลักษณะเด่นคือ ขอบใบขาว แตกยอดได้ถึง ๓๐๐ ยอด ขึ้นไป แก่นเป็นยาอายุวัฒนะ แก้โรคหัวใจ จันทน์แดง ลำต้นหนอนไม่เจาะ ใบมีขนาดเล็กย้อยเป็นเกลียวสยายคล้ายเส้นผมคน กับจันทน์ผาหรือจันทน์ได ซึ่งคนทั่วไปรู้จักดี


 



ต้นจันทน์ผา


 


ท่านพบว่าพันธุ์ไม้ตระกูลจันทน์ผา ทั้ง ๓ ชนิดนี้ สามารถดูดซับน้ำได้ดี และเก็บความชื้นไว้ได้มากที่ลำต้นและใบที่มีลักษณะอวบน้ำ ท่านจึงขยายพันธุ์ แล้วนำไปปลูกกระจายในจุดต่าง ๆ หลายพันต้นทั่วป่า คู่กับไม้ประดู่  ไม้มะค่า


 


ภูเขาแห่งนี้เป็นภูเขาหิน มีต้นจันทน์ผาขนาดใหญ่อยู่มาก ในอดีตชาวบ้านมักลักลอบขุดต้นจันทน์ผาเหล่านี้ไปขาย ได้ราคาดีต้นละนับหมื่นบาท


 


วิธีแก้คือ พระอาจารย์ปริญญาศึกษาวิธีขยายพันธุ์จันทน์หนู จันทน์ได จันทน์แดง แล้วเพาะจากเมล็ด แจกกล้าให้ชาวบ้านเอาไปปลูก  สร้างรายได้ครอบครัวละ ๖,๐๐๐ – ๑๐,๐๐๐ บาทต่อปี ทำให้ชาวบ้านมีฐานะดีขึ้น ครอบครัวมั่นคงขึ้น ปัญหายาเสพติดและการลักลอบขุดต้นไม้จากป่าค่อยๆ ลดลง


 


พื้นที่สัตว์กินได้ เช่น ต้นไทรย้อย  มะขามเทศ  ซึ่งนก  กระรอก กระแต  ลิง ชะมด ชอบกินมาก


พืชที่คนกินได้และสมุนไพร  เช่น ขี้เหล็กบ้าน  ฝรั่ง น้อยหน่า กะทกรกป่า ซึ่งขึ้นเอง และต้นมะซาง เป็นต้น ต้นกระถินยักษ์ ท่านปลูกเป็นแนวกันไฟป่า ซึ่งได้ผลดีมาก


 


นอกจากต้นไม้ใหญ่แล้ว ท่านยังปลูกไม้ระดับล่าง โดยศึกษาว่ามีต้นอะไรอยู่ในป่าบ้าง นำมาขยายพันธุ์ แล้วปลูกกระจายตามจุดต่าง ๆ ทั่วป่า ซึ่งเห็นผลว่าไม้ระดับล่าง ทำให้ผิวดิน หิน ทราย ชุ่มชื้น รวมทั้ง ไม้อิงอาศัย ที่ปล่อยให้เลื้อยพันต้นไม้หลัก ก็ช่วยให้ป่ามีความชุ่มชื้นเพิ่มขึ้น


 


สิบกว่าปีของการทำความเพียรทางกรรมฐาน ควบคู่กับความเพียรฟื้นฟูสภาพป่าและตาน้ำซับ โดยไม่รับกิจนิมนต์นอกวัดเลย ป่าและตาน้ำซับรอบวัดป่าชุมชนจึงฟื้นสภาพให้เห็นชัดเจน ความเย็นชุ่มชื้นมีมากขึ้น จนขณะนี้อุณหภูมิในป่าต่ำกว่าอุณหภูมิข้างนอกถึง ๓ OC ซึ่งท่านตั้งเป้าว่าอีก ๕ ปี อุณหภูมิยิ่งจะลดลงอีก ๑ OC จนลดลงได้ถึง ๕ OC ในอีก ๑๐ ปีข้างหน้า


 


สัตว์ป่ากลับมาอาศัยในป่านี้มากขึ้น ทั้งไก่ป่า ลิงหางสั้น หมาจิ้งจอก เลียงผา หมี งูชนิดต่าง ๆ พังพอน พระปริญญาจึงสร้างสระน้ำให้สัตว์มากิน โดยศึกษาโครงสร้างดินและทางไหลของน้ำ ใช้แผ่นพลาสติกชนิดหนาปูรองพื้นสระ จึงเก็บน้ำได้ดี  ปลูกบัวและพืชน้ำอื่น ๆ ปล่อยปลาให้มาอยู่อย่างเป็นธรรมชาติ


 


ป่ารอบวัดป่าชุมชนจึงเป็นระบบนิเวศที่สมบูรณ์ เหมาะแก่การอยู่ของสรรพสัตว์ และเหมาะต่อการเจริญกรรมฐานของพระสงฆ์สายวัดป่า


 


พระอาจารย์ปริญญาย้ำว่า ป่าเป็นฉนวนกั้นความร้อนที่ดีที่สุด หากทุกคนตระหนักถึงปัญหาภาวะโลกร้อน ต้องเร่งแก้ไข โดยการปลูกต้นไม้หลากหลายชนิด และรักษาความหลากหลายทางชีวภาพที่เป็นมรดกทางธรรมชาติที่มีอยู่แล้ว


 


ถนนซีเมนต์กว้างประมาณ ๑ เมตร ที่ทอดตัวอยู่ในป่ารอบวัด ทำหน้าที่เป็นแนวกันไฟและป้องกันงู สัตว์เลื้อยคลาน อย่างมีประสิทธิภาพ หลายคนที่ไม่เห็นด้วยกับถนนซีเมนต์ เมื่อฟังเหตุผลของท่านแล้ว ก็รับได้ ถนนขาวสะอาด เพราะถูกปัดกวาดอย่างดี จึงช่วยให้คนเดินในป่าได้อย่างมั่นใจว่าจะไม่เหยียบไปบนสัตว์เลื้อยคลานชนิดต่าง ๆ


 



 


หลังจากเดินศึกษาป่า  สระน้ำ แปลงเพาะจันทน์ผา เข้าใจแจ่มแจ้งแล้ว พระอาจารย์พาเดินกลับ เพื่อมาสนทนาธรรมต่อที่ศาลา ดวงจันทร์คืนเพ็ญ ๑๕ ค่ำ เริ่มขึ้นจากขอบฟ้า เป็นคืนแรกในรอบหลายเดือนที่ดิฉันเห็นท้องฟ้าแจ่มใส หลังจากเห็นแต่ฟ้าถูกปกคลุมด้วยพายุฝนมานาน


 


ผู้ใหญ่บ้านพาไปดูบริเวณที่ปฏิบัติธรรมของผู้หญิง เป็นรั้วสูงมิดชิด มีคุณป้าในชุดนุ่งห่มขาวมาเปิดประตูรับ  นำชมอาคารห้องพัก ห้องครัว ห้องน้ำ เส้นทางที่เดินจงกรม มุมนั่งสมาธิ ดูสงบ เหมาะแก่การเจริญกรรมฐาน มีกลุ่มสตรีนุ่งห่มขาว อยู่ ๕ – ๖ คนบอกดิฉันว่า ถ้ามีโอกาสเชิญมาปฏิบัติธรรมที่นี่


 


เทียนไข คือ ปัจจัยที่ให้แสงสว่างในวัดป่าชุมชน เป็นความสว่างที่ประหยัดและเรียบง่าย สมกับเป็นวัดเพื่อการเจริญไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา โดยไม่มีวัตถุปรุงแต่งที่โอ่อ่า  หรูหรา อันบิดเบือนไปจากแก่นธรรมของพระพุทธองค์


 


ห้องสุขาของวัดนี้ เป็นส้วมนั่งยอง ที่ขัดไว้ขาวสะอาด พื้นเป็นซีเมนต์ธรรมดา แต่ไม่มีกลิ่นรบกวนใจ เป็นห้องสุขาที่น่าใช้ น่าชื่นชม


 


ศาลาที่สนทนาธรรม เป็นพื้นกระเบื้องสีฟ้าอ่อน เสากลมสีขาว ดูสบายตา หาฝุ่นแม้แต่น้อยก็ไม่มี ดิฉันประทับใจในความสะอาด ความมีระเบียบทั่วบริเวณวัด จนอดใจไม่ได้ต้องเรียนถาม ได้คำตอบจากพระอาจารย์ว่า แนวปฏิบัติของพระกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น คือ ต้องสะอาด มีวินัย วางระบบเป็นสัดส่วน เพื่อเป็นแบบอย่างของญาติโยม ทำให้เกิดความศรัทธา


 


แผนในอนาคต พระอาจารย์ปริญญาตั้งใจจะปลูกต้นจันทน์ผา ๖,๐๘๐ ต้น บนภูเขาอีกลูกหนึ่งที่อยู่ใกล้วัด ในโอกาสปีมหามงคลของชาวไทย เพื่อรักษาน้ำซับไว้ให้ชุมชนรอบข้าง แก้ปัญหาความแห้งแล้ง กับสร้างเครือข่ายการอนุรักษ์ป่าร่วมกับชุมชนรอบภูเขา เพื่อให้น้ำและป่าคืนมาช่วยชีวิตคน


 


ป่าพรุซับจำปา คือ อีกงานหนึ่งที่ท่านเป็นห่วง อยากให้ทุกฝ่ายเร่งคืนความสมบูรณ์มาสู่ป่าพรุแห่งนี้ เพื่อเลี้ยงชาวบ้านนับพันครอบครัวให้มีน้ำกิน น้ำใช้ และน้ำเพื่อการเกษตร


 



ป่าพรุซับจำปา


 


ความสำคัญระดับโลกของป่าพรุซับจำปา คือเป็นที่อยู่ของจำปีสิรินธร  ซึ่งถูกค้นพบเป็นแห่งแรกในโลก เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๒ โดย ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  มีจำนวนกว่า ๕๐๐ ต้น ในพื้นป่าพรุที่กว่า ๑๐๐ ไร่ จึงได้ขอพระราชทานพระนามสิรินธรมาตั้งชื่อเพื่อเป็นสิริมงคล


 



จำปีสิรินธร


 


หากป่าพรุซับจำปา ไม่ได้รับการฟื้นฟูสภาพโดยด่วน ป่าจำปีสิรินธรคงจะสูญหายไปในไม่ช้า ประชาชนก็จะเดือดร้อน เพราะขาดน้ำกินน้ำใช้


 


พระอาจารย์อยากเห็นประเทศไทยมีแผนพัฒนาระยะยาวถึง ๕๐ ปี เหมือนประเทศที่พัฒนาแล้ว มิใช่เป็นแค่แผนระยะสั้น ตามอายุของรัฐบาลที่เปลี่ยนไป เพื่อความต่อเนื่อง ยั่งยืน มีประสิทธิภาพ และเห็นผลชัดเจน โดยความเข้าใจและมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง


 


เมื่อกราบลาพระอาจารย์ในเวลาเกือบ ๒ ทุ่ม พระจันทร์สว่างกลางท้องฟ้า ใจของทุกคนได้อาบรดด้วยธรรมะกับธรรมชาติจนชุ่มเย็น สะอาด สว่าง สงบ เป็นคืนหนึ่งที่จิตประภัสสร สมกับที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์


 


ก่อนอาหารค่ำ คุณกานดิษฎ์  สิงหากัน ได้ฉายให้ดูภาพของจำปีสิรินธร ซึ่งมีกลีบดอกสีขาวอมเหลือง ปลายกลีบมน (ต่างจากจำปีบ้านที่ปลายกลีบแหลม) ลำต้นสูงถึง ๓๐ เมตร ต้องรอให้ดอกร่วงสู่โคนต้น จึงจะได้ชมเป็นขวัญตา (แต่ดอกในภาพที่ขึ้นไว้ เจ้าหน้าที่สอยลงมาเพื่อถ่ายภาพโดยเฉพาะ)


 


ภาพกลุ่มพืชในป่าพรุดงจำปี ดูน่าสนใจ มีทั้งกลุ่มค้อ และพืชอื่น ๆ ที่ดิฉันไม่รู้จัก อยากเห็นด้วยตา จะได้รู้คุณค่าของป่าพรุแห่งภาคกลาง ซึ่งมีเหลือน้อยมากในปัจจุบันทั้งคนไม่รู้คุณค่า ไม่รักษาไว้


 


หนึ่งวันที่ได้ไปศึกษาการรักษาป่าชุมชน กับกรรมการคัดเลือกรางวัลลูกโลกสีเขียว ได้เห็นต้นทุนทางธรรมชาติและวัฒนธรรมของภาคกลางที่ถูกมองข้าม เช่น กลุ่มป่าชุมชนบ้านหนองไม้แดง ตำบลนิคม อำเภอพยุหคีรี ได้พยายามรักษา ภูเขาที่มีหินสีชมพู ที่เกือบถูกสัมปทาน รักษาเขาถ้ำข่อยกับเขาถ้ำพระ มีค้างคาวหนูหลายล้านตัว และมีค้างคาวแม่ไก่ ค้างคาวบัว ค้างคาวหน้าหมา แต่การสัมปทานขี้ค้างคาว กลับเป็นประโยชน์ของคนภายนอก


 


เมืองไทยจะสมบูรณ์ งดงาม  สงบสุข  หากคนไทยทุกคน และทุกรัฐบาลจะเห็นคุณค่าและพิทักษ์รักษาต้นทุนทางธรรมชาติ ศาสนา และวัฒนธรรมที่เรามีอยู่ ไม่สายเกินไปที่จะร่วมมือร่วมใจกันตั้งแต่วันนี้นะคะ


 


*หมายเหตุ ชาวบ้านเรียกชื่อป่าซับจำปาเพราะเดิมเข้าใจว่าต้นจำปีสิรินธรคือต้นจำปา เนื่องจากเห็นดอกเมื่อร่วงแล้วกลีบสีเหลือง คล้ายดอกจำปา


 


ภาพประกอบ โดยคุณกานดิษฎ์  สิงหากัน  นักวิชาการป่าไม้ 5 หัวหน้าโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดลพบุรี กรมป่าไม้