Skip to main content

อยู่ตามความจำเป็นพื้นฐาน

คอลัมน์/ชุมชน

ตั้งแต่ย้ายกลับมาที่เมืองไทย ผู้เขียนต้องใช้จ่ายเรื่องบ้านช่องไปไม่น้อย เช่น ติดม่านใหม่ ติดแอร์ใหม่ ถ้วยชามใหม่ เครื่องใช้ในครัวเรือนอื่นๆ ใหม่ การกลับมาถาวรคราวนี้ จึงมีการยกเครื่องอยู่หลายส่วน และทำให้เกิดการตัดสินใจว่าจะมีการใช้จ่ายอย่างไร  ทั้งที่ผู้เขียนก็กลับมาเมืองไทยทุกปีและมีการซื้อและปรับปรุงบ้านเป็นประจำที่กลับมา


 


เพราะในชีวิตที่ย้ายบ้านหลายหนในสหรัฐฯ ทำให้ผู้เขียนติดนิสัยที่พยายามมีของติดตัวให้น้อยที่สุด จากตอนเป็นนักเรียนอยู่หอพัก ก็มีของมากไม่ได้เนื่องจากห้องเล็กและไม่มีที่เก็บของ สัมภาระเลยไม่มีมากมาย พอมาอยู่ไทยมีบ้านที่แม่ให้มาทั้งหลังพร้อมที่ดินเกือบ 80 ตารางวา จึงมีของในบ้านมากขึ้น กระนั้นก็นับว่าไม่มีของมากมาย อีกทั้งเป็นคนขยันทิ้งอย่างที่สุด อะไรไม่จำเป็นผู้เขียนจะทิ้ง ไม่เก็บ จะมีก็แต่ของกินของใช้ยังชีพเท่านั้นที่ซื้อประจำเนื่องจากไม่กินข้าวนอกบ้าน  และมักใช้เวลาอยู่บ้านไม่ก็ที่ทำงาน การออกไปไหนๆ ถ้าไม่ใช่งานจำเป็นก็จะไม่ไป ชีวิตจึงไม่ได้มีการสะสมมากนัก เพราะมองว่ารกและไม่สะอาดตา


 


อย่างไรก็ตาม เมื่อไปเยี่ยมบ้านเพื่อนหรือคนที่รู้จัก ก็มักรู้สึกตัวทันทีว่า บ้านผู้เขียนนี่ไม่มีอะไรเอาเลยจริงๆ นอกจากหนังสือและของยังชีพ ตอนนี้ยิ่งสะสมหนังสือน้อยลง เพราะสามารถหาได้บนเน็ตหรือสื่ออื่น นอกจากนี้ก็มีพวกเครื่องใช้สำนักงานที่ต้องมีให้ครบ ไม่ว่าที่บ้านหรือที่ทำงาน แต่ก็ไม่เรียกว่ามากเลย เพราะไม่ได้มีราคาแพง อีกทั้งที่บ้านก็ไม่ได้มีเครื่องเสียง หรือทีวีใหญ่ๆ แบบที่เรียกว่า Entertainment Center เพราะไม่ชอบ ทีวีที่ดูก็ขนาด 19 นิ้ว คอมพิวเตอร์มีไว้พิมพ์งานและอ่านเน็ต  ตรวจอีเมล์ ชุดรับแขกก็เก่า นี่ยังไม่ได้ซ่อมที่ขาดเลย กะว่าว่างๆ ก่อนเพราะว่าบ้านมีไว้อยู่ ไม่ได้ไว้รับแขก ห้องนอนก็เรียบง่าย มีที่นอนที่ดีหน่อย นอกนั้นมีแต่หนังสืออ่าน กับไฟหัวนอน และมีโทรศัพท์บ้านสองเบอร์ มือถือสองเบอร์ รถหนึ่งคัน


 


หันไปมองคนรอบข้าง ผู้เขียนยอมรับว่าชีวิตผู้เขียนสามารถเรียกได้ว่า Minimalist ได้ในระดับหนึ่ง เพราะอะไรที่ไม่จำเป็นในสายตาผู้เขียน จะโดนตัดดอกจากรายชื่อทันที ซึ่งหมายถึงว่าอยู่แบบมีสัมภาระให้น้อยที่สุดเพราะว่าการสะสมของเป็นเรื่องที่น่าอึดอัดที่สุด ในรถของผู้เขียนจะโล่ง มีของติดรถไม่มาก เช่น ร่ม และกระดาษเช็ดหน้า เรียกว่าไม่รก ผู้เขียนยอมรับว่าตั้งแต่เกิดมานี่ ย้ายบ้านหรือถิ่นฐานมาทุกห้าหรือหกปี ทำให้ไม่ชอบสะสมซึ่งกลายเป็นเรื่องดีที่ทำให้ไม่อยากได้ ไม่อยากมี แล้วไม่อยากสะสม 


 


ตอนนี้ก็คิดในใจอีกว่า ถ้ามีเงินสักสิบล้านจะถอยบ้านใหม่สักที ชอบบ้านที่ไม่ไกลเมือง และไม่มีคนพลุกพล่าน หลังไม่ต้องใหญ่ เพราะทำสะอาดเองไม่ไหว ที่อยากย้ายเพราะไม่ชอบนิสัยเพื่อนบ้านคนไทยชนชั้นกลางที่เห็นแก่ตัวชอบเอารถมาจอดบนถนนหลวงทั้งที่ที่บ้านมีที่ แต่กลับไปต่อเติมจนไม่มีที่จอดรถ แล้วมาเบียดเบียนสังคม เข้าออกในซอยยากเย็นกว่าที่ควรจะเป็น แบบนี้ก็เรียกว่าไม่รู้จักพอ แต่เอาเปรียบชาวบ้าน


 


คำว่า Minimalist[1] แปลง่ายๆว่า มีอะไรให้น้อยที่สุด ในมุมมองทางการออกแบบบ้านหรือตกแต่งภายใน จะเน้นเครื่องเรือนที่ไม่หรูหรามากชิ้น หากเน้นน้อยชิ้นเรียบง่ายแต่ใช้ประโยชน์ได้คุ้มค่า ทางภาษาคือการใช้ภาษาที่ใช้เครื่องมือทางภาษาหรือคำน้อยที่สุด แต่ได้ใจความชัดเจนครอบคลุม ทางศาสนาคือการอยู่อย่างเท่าที่จำเป็นเพื่อให้เกิดความเจริญทางจิตวิญญาณ ให้หลุดพ้นจากการพันธนาการทางโลกียะ มีศัพท์ที่ใช้ในด้านนี้ออกไปอีกว่าเป็น Asceticism[2] เหมือนที่ศาสนาพุทธบังคับให้บรรพชิตเองเป็นคนที่ไม่มีสมบัติของตนเองจนเป็น "ภิกขาจาร" คือร้องขอจากชาวบ้าน หรือให้ฆราวาสไม่มีความกระหายอยากได้จนเกินไป แต่เน้นว่าหากจะหลุดพ้นไม่ว่าใครก็ตามต้องตัดจากการเป็นเจ้าของต่างๆ ดังนั้น อยู่แบบพระคือการเป็น Minimalist แบบง่ายๆ ที่คนไทยอาจพอเห็นได้ชัดเจน


 


อย่างไรก็ตาม เรากำลังพูดถึงการอยู่กินอย่างพอเหมาะเพื่อให้มีการตอบสนองความจำเป็นพื้นฐานของคนทั่วไป อย่างไรก็ตามแต่ละคนมีความต้องการพื้นฐานที่อาจแตกต่างกันได้บ้าง เช่นบางคนต้องอยู่ห้องแอร์เนื่องจากสภาวะทางร่างกายที่ไม่สามารถอยู่ได้ในอากาศร้อน (เช่นผู้เขียนเป็นต้น ที่มีปัญหามากในเมืองไทยตอนร้อนๆ อยู่ในห้องทำงานหรือห้องนอนจะต้องเปิดแอร์แบบกระหน่ำเพราะต้องเย็นตลอด ทนร้อนไม่ได้เอาเลย พาลจะตายเอา อย่างไรก็ตาม ที่เคยอยู่ในอเมริกาก็หนาวมากไป) ดังนั้น ความต้องการพื้นฐานแต่ละคนจะต่างกัน ไม่ได้ต้องบังคับให้ทุกคนต้องเหมือนกันหมด


 


เคยมีคนรู้จักกันมาเยี่ยมบ้าน แล้วมองบ้านผู้เขียนว่า "โล่ง" ไปหมด หลายคนฉงนว่าทำไมเพราะคาดหวังว่าผู้เขียนน่าจะมีบ้านสวยๆ แต่งเริ่ดๆ หลายคนเปลี่ยนพฤติกรรมกับผู้เขียนไปเลย ทั้งที่เรื่องแต่งบ้านอะไรนี่เป็นรสนิยมส่วนบุคคล นอกจากนี้การที่บ้านโล่งๆ นี่ ทำความสะอาดง่ายเป็นที่สุด ยิ่งถ้าต้องทำความสะอาดเอง ขอบอกเลยว่าการที่บ้านโล่งๆ นี่แหละคือสวรรค์  แต่คนไทยชินกับเรื่องที่แต่งว่าเริ่ดอย่างในละคอนไทยที่ว่าบ้านตัวเอก หรือพวกด๊อกเตอร์ทั้งหลายนี่ต้องใหญ่แบบสามไร่ (จำได้ชัดในละครเรื่อง "เมียหลวง" ประมาณ 10 ปีที่ผ่านมาว่า ดร. ทั้งสองต้องขี่เบ๊นซ์ และมีบ้านแบบคฤหาสน์)


 


แต่ผู้เขียนนี้ต่างกับภาพดังกล่าวในสังคมไทย เพราะว่าถือว่าได้อยู่อย่างสมถะเมื่อเปรียบกับคนไทยทั่วไปที่มีเงินในกระเป๋า มีคนเคยบอกผู้เขียนว่า "หัดใช้เงินซะบ้าง" ผู้เขียนบอกว่าเงินน่ะใช้ตลอด เพียงแต่ว่าคนอื่นมองไม่เห็น แต่ไอ้ที่จะมาใช้สุรุ่ยสุร่ายนี่ไม่ได้ สิ่งที่ผู้เขียนแคร์ที่สุดคือ คนที่ทำงานให้ผู้เขียน ที่อยู่รอบข้าง จะต้องอยู่อย่างไม่เดือดร้อน ผู้เขียนบำเหน็จรางวัลอย่างเหมาะสม ไม่เคยหลอกใช้ใครฟรี แม่ของผู้เขียนบอกเสมอว่า "คนที่มาช่วยงานเราคือคนที่มีบุญคุณ" ผู้เขียนจึงเก็บเงินส่วนหนึ่งเพื่อการนี้ เพราะเราต้องพึ่งพาคนพวกนี้ แต่น่าอนาถที่สังคมไทยดูถูกและเอาเปรียบคนที่ทำงานให้ ในขณะเดียวกันหลายคนที่มาช่วยงานก็มักเล่นตัวเมื่อรู้ว่าเป็นที่ต้องการ ทุกอย่างเลยโอละพ่อ


 


เมื่อสัปดาห์ก่อนไปดูรถยนต์เพราะจะซื้อใหม่มาเพิ่มเนื่องจากที่บ้านมีรถเก่าต้องจำหน่ายทิ้ง แล้วต้องซื้อเข้ามาแทน ไปดูรถบางยี่ห้อที่ราคาโหดร้ายมาก ซึ่งดูสวยและมีของเล่นแยะจัด มานั่งถามกันว่า เราจะใช้ของเล่นพวกนั้นแค่ไหนกัน สุดท้ายเลยยังไม่ซื้อสักคัน ขอดูไปเรื่อยๆ แต่ยอมรับว่าเมืองไทยนั้นมีทางเลือกน้อยมากในตลาดรถ แต่เมื่อมองความจริงในสังคมไทยที่คนจนมากมาย ถือว่าเราสุดฟุ่มเฟือย และบริษัทรถเกือบทุกยี่ห้อ ค้ากำไรเกินควรทั้งนั้น


 


ดังนั้น อีกอันหนึ่งที่เป็นวาระแห่งชาติ คือเราจะทำอย่างไรให้คนไทยรู้จักคำว่า Minimalist และ Asceticism อย่างถูกต้อง เพราะคำว่า "พอเพียง" อาจไม่กระจ่างพอ  อีกทั้งต้องเจาะลงไปให้ชัดเจนด้วยว่า 1. คนรวยก็ควรมีสำนึกที่จะต้องทำหน้าที่ ไม่ใช่ดีแต่ตักตวง   2. คนจนก็ต้องพยายามที่จะให้ตนเองออกมาจากสภาวะความแร้นแค้นเองด้วย จะคอยหวังให้คนอื่นมาช่วยคงไม่ได้  3. สังคมอุดมคติที่ทุกคนรวยเท่ากันหมดคงไม่มี แต่อย่างน้อยควรจะมีความห่างระหว่างคนรวยคนจนให้น้อยที่สุด


 


การที่รู้จักตนเอง และความต้องการพื้นฐานของทุกฝ่ายน่าจะเป็นเรื่องที่คำนึงอยู่เสมอ  เพียงแต่ว่าเราจะช่วยกันจริงจังอย่างไรเท่านั้น