Skip to main content

เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงกับวิถีเพศวัยรุ่นที่เปลี่ยนไป

คอลัมน์/ชุมชน


 


บทความก่อนหน้านี้ เมื่อหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้เขียนถึงเรื่อง "เซ็กส์ที่ปลอดภัยในคลิปวิดีโอ" ซึ่งมีเนื้อความเพื่อต้องการให้มีการทำคลิปวิดีโอที่มีการสื่อสารถึงภาพคนที่มีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยและรับผิดชอบโดยการใช้ถุงยางอนามัย กระจายไปสู่วัยรุ่นให้มีความรู้ที่รอบด้านต่อการป้องกันเอดส์ เพราะอยากให้ผู้รับคลิปวิดีโอได้เข้าใจและรู้ถึงวิธีการป้องกันจากการตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจ, เอชไอวีเอดส์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต่างๆ


 


ภาครัฐ "รุก" ใช้เทคโนโลยี ทำความเข้าใจเรื่องเอดส์กับวัยรุ่น


 


เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ผมทราบข่าวว่า ทางหน่วยงานที่ดูแลเกี่ยวกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเอดส์ ซึ่งเป็นองค์กรของภาครัฐ นั่นคือ "กรมควบคุมโรค" กระทรวงสาธารณสุข จะมีการประกวดจัดทำสื่อรณรงค์การป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ผ่านโทรศัพท์มือถือ ผ่านสื่อต่างๆ ได้แก่ คลิปวิดีโอ วอลล์เปเปอร์ ริงโทน และคอลลิ่ง เมโลดี้


 


โดยการจัดทำสื่อนี้ ต้องเป็นการผลิตขึ้นใหม่ ไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของที่มีในระบบท้องตลาด โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่เน้นไปถึง "บรรดาวัยรุ่น" ซึ่งมีเนื้อหาประเด็นการป้องกัน ลดพฤติกรรมเสี่ยงเอดส์ คือ การรักนวลสงวนตัว – การรักเดียวใจเดียว – การใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์


 


หลังทราบเรื่องดังกล่าวนี้ ผมถึงกับตื่นเต้นขึ้นมาทันที ที่มีคนคิดที่จะสื่อสารเรื่องเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยผ่านสื่อเทคโนโลยีไร้สาย โดยเจาะมายังกลุ่มวัยรุ่น และที่สำคัญคือ คนที่คิดขึ้นมานี้ คือ กรมควบคุมโรค ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ซึ่งนั้นหมายความว่า ภาครัฐเริ่มเอาจริงเอาจังกับการสื่อสารเรื่องเอดส์และเพศศึกษากับวัยรุ่น โดยคำนึงถึงการเข้าถึงข้อมูลของวัยรุ่นท่ามกลางกระแสคลิปวิดีโอที่แพร่หลายในโลกที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน


 


ทว่าความพยายามครั้งนี้ของกรมควบคุมโรค ยังมีแง่มุม 2 อย่างหลักๆ ที่ผมอยากกล่าวถึง


 


มุมหนึ่ง เรื่องการสื่อสารเรื่องเพศที่เจาะเข้าถึงกลุ่มวัยรุ่น  


 


จากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ รายใหม่ที่มีการสะสมขึ้นในแต่ละปี พบว่า 1 ใน 4 ของผู้ติดเชื้อรายใหม่คือ กลุ่มอายุ 15 – 25 ปี นั้นคือ กลุ่มวัยรุ่นนั่นเอง ทั้งนี้ปัจจุบันพบว่าในเมืองไทย ได้เกิดปรากฏการณ์วัยรุ่นต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น การตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจ การยุติการตั้งครรภ์ก่อนคลอด (ทำแท้ง) การติดเชื้อเอชไอวีเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต่างๆ ซึ่งสถิติจากการวิจัยของหน่วยงานต่างๆ ก็บอกไว้อย่างเป็นที่ประจักษ์แล้ว


 


นอกจากนี้ ปัจจุบันความล้ำหน้าของเทคโนโลยี ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวัยรุ่น ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ อินเตอร์เน็ต สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็น "ของจำเป็น" สำหรับคนในยุคนี้ ที่แต่ละคนต้องมีใช้ โดยเฉพาะวัยรุ่นที่มีการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้มากขึ้น มีการส่งคลิปวิดีโอให้กัน โหลดริงโทนรอสายโทรศัพท์ เป็นต้น


 


ดังนั้น ความพยายามของกรมควบคุมโรคครั้งนี้ จึงถือได้ว่า เป็นความพยายามในการใช้สื่อไร้สายที่วัยรุ่นเข้าถึงในปัจจุบันมาเป็น "เครื่องมือ" และ "ช่องทาง" ในการสื่อสารและทำความเข้าใจกับวัยรุ่นในเรื่องเอดส์ และเพศศึกษา อย่างรู้ทันต่อความเปลี่ยนแปลง และสภาพความเป็นจริงของวิถีชีวิตทางเพศของวัยรุ่นในปัจจุบัน


 


มุมหนึ่ง เรื่องประเด็นและเนื้อหาในการประกวด


 


สำหรับประเด็นในการประกวดนี้ ทางกรมควบคุมโรค ได้กำหนดประเด็นสำหรับการประกวดไว้หลักๆ คือ "การป้องกันและลดพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอดส์" โดยมีหัวใจหลักอยู่ 3 ประเด็นคือ รักนวลสงวนตัว รักเดียวใจเดียว และการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์


 


สำหรับประเด็นหลักใหญ่คิดว่า เป็นหัวใจสำคัญและเป็นเป้าหมายที่มีทิศทางในตัว คือ การป้องกันและลดพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ แต่ทว่าในประเด็นปลีกย่อย มีมุมที่ต้องแลกเปลี่ยนกันอีกมาก


 


ในเรื่องการรักนวลสงวนตัว นั้นในความเข้าใจของสังคม ดูเหมือนจะเป็น "คำ" ที่พยายามจะสื่อไปยัง "ผู้หญิง" ว่า ผู้หญิงต้องรักนวลสงวนตัว ไม่มีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน ทว่าในความเป็นจริงแล้วประเด็นนี้ดูจะเป็นการสื่อสารที่ตีตรา ผู้หญิงที่มีมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงานว่าไม่รักนวลสงวนตัว และคงจะไม่ทันต่อยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก เพราะปัจจุบันเด็กวัยรุ่นต่างมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก ในวัยที่น้อยลงเรื่อยๆ และที่สำคัญ การรักนวลสงวนตัวนั้น ไม่ได้เป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้ลดโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีเอดส์


 


บางครั้งแล้วการที่ฝ่ายหญิงเป็นรักนวลสงวนตัวแต่สังคมไม่ได้สื่อสารกับผู้ชายให้รักนวลสงวนตัว จนในที่สุด คนที่มีเพศสัมพันธ์ตามขนบธรรมเนียม ประเพณี ของไทย และมีเพศสัมพันธ์หลังแต่งงานกับสามีของตน แต่ต้องได้รับเชื้อในที่สุด เรื่องการรักนวลสงวนตัวจึงเป็นการตีตราผู้หญิงมากเกินไป


 


หรือแม้แต่เรื่องการรักเดียวใจเดียว ซึ่งถือว่า เป็น "คำ" อีกหนึ่งคำ ที่ไม่ได้ลดเงื่อนไขที่ทำให้มีการติดเชื้อเอชไอวีเอดส์น้อยลง เพราะหลายคู่ที่ใช้ชีวิตร่วมกัน และมีเพศสัมพันธ์กันหลังแต่งงาน ซึ่งบางคู่ก่อนที่มีเพศสัมพันธ์ต่างฝ่ายก็ไม่รู้ "ประวัติการมีเพศสัมพันธ์" ของคู่ตัวเอง ว่าเคยมีโอกาสเสี่ยงต่อการรับเชื้อเอดส์มากน้อยเพียงใด หรือหากมีการตรวจเลือดก่อนแต่งงาน บางคนก็ตรวจผิดประเภท หรือ บางคนที่มีเชื้อเอชไอวีเอดส์แต่กลับตรวจไม่พบ เพราะเชื้ออาจจะยังไม่ปรากฏอาการก็ได้ การรักเดียวใจเดียวจึง เป็นการบอกให้คนมีเพศสัมพันธ์กับคู่ของตนเท่านั้น


 


แต่ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้พร้อมกับประสบการณ์ของกลุ่มเยาวชนในหลายพื้นที่ในภาคเหนือและภาคต่างๆ พบว่า การสื่อสารการป้องกันเอดส์จากการรักนวลสงวนตัว และการรักเดียวใจเดียวนั้น ไม่ได้เป็น "ทางเลือก" ที่จะทำให้ป้องกันเอดส์ได้เลยแม้แต่น้อย เพราะแท้จริงแล้ว "ต้นทาง" ของการรับเชื้อเอชไอวีเอดส์เข้าสู่ร่างกายเกิดจาก "การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้อกกันกับคนที่มีเชื้อเอชไอวีเอดส์ ซึ่งดูไม่ออกจากภายนอก" และการสั่งห้าม หรือ รักเดียวใจเดียว ก็ไม่ได้ทำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ลดลง แต่กลับเพิ่มขึ้นๆ ทุกปี


 


ดังนั้นการสื่อสารด้วย "คำ" 2 คำนี้ จึงดูจะไม่ใช่เงื่อนไขสำคัญเลยแม้แต่น้อยที่จะทำให้เอดส์ลดลง และยังสอดคล้องกับคำประกาศล่าสุดตอนปิดงานเอดส์โลก ที่เมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา เมื่อเดือนกลางเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา โดยคุณ Stephen Lewis ซึ่งเป็นฑูตพิเศษด้านเอดส์ในอาฟริกาขององค์การสหประชาชาติ ที่ว่า "โครงการที่เน้นให้ละเว้นการมีเพศสัมพันธ์อย่างเดียวนั้นไม่ได้ผลเลย ความแข้งกร้าวของแนวทางนี้ถือได้ว่า ใช้ไม่ได้ผลเลยกับสถานการณ์ของมนุษย์เรา"


 


ท้ายที่สุดแล้ว ผมมองว่า การกำหนดประเด็น รักนวลสงวนตัว และ รักเดียวใจเดียว ไว้ในการประกวดนี้ จึงไม่เหมาะสมและสอดคล้องกับวิถีทางเพศที่เปลี่ยนแปลงไปของวัยรุ่นสมัยนี้เลยแม้แต่น้อย ด้วยเหตุเหล่านี้ผมจึงขอเสนอเลยว่า เลือกแค่ประเด็น "การใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์" ก็พอครับ


 


แล้วจะเดินไปอย่างไรเมื่อเป็นเช่นนี้?


 


ในมุมมอง 2 เรื่องหลักนี้ ผมมองว่า หน่วยงานภาครัฐ คือ กรมควบคุมโรค มีความปรารถนาดีต่อการป้องกันและแก้ไขเอชไอวีเอดส์ในกลุ่มวัยรุ่น และได้ทำงาน "เชิงรุก" ที่จะสื่อสารเรื่องเอดส์ เพศศึกษากับกลุ่มวัยรุ่น โดยใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีที่มีความเปลี่ยนแปลงก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นในโลกปัจจุบันสื่อสารไปสู่วัยรุ่นระดับ "ปัจเจก" ได้อย่างทันสมัย


 


ทว่า "เนื้อหา" ที่ต้องการจะสื่อกลับไม่ทันสมัยตามความเปลี่ยนแปลงของวิถีเพศที่หลากหลายของวัยรุ่น แต่อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่ดีแล้ว การกำหนดเนื้อหา 3 ประเด็นนี้ขึ้นมา ก็ถือเป็นการให้ "ทางเลือกในการลดโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อ" สำหรับวัยรุ่นที่ต้องการข้อมูล ข่าวสารเรื่องเอดส์ และเพศศึกษาที่รอบด้านและจะนำไปสู่การคิด วิเคราะห์ ไตร่ตรอง และกำหนดเงื่อนไขในการป้องกันเอดส์ของตน ตามสิทธิและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์


 


ทั้งนี้ ในอีกด้านที่สำคัญ ผมว่า หากเรายังใช้คำว่า "รักนวลสงวนตัว" และ "รักเดียวใจเดียว" ในการสื่อสารเรื่องเอดส์และเพศศึกษากับวัยรุ่นอยู่ ก็จะเป็นการ "ตอกย้ำ" และ "ผลิตซ้ำ" ความเชื่อผิด ที่ว่าหนทางนี้จะสามารถป้องกันเอดส์ได้ เป็นไปได้ไหมว่า จะใช้ "คำ" อื่นแทน 2 คำนี้ เช่น "มีเพศสัมพันธ์เมื่อพร้อม" "มีเพศสัมพันธ์ที่รับผิดชอบ" ซึ่งจะสามารถส่งความหมายนี้ไปสู่ ทั้งชายและหญิง ได้อย่างเท่าเทียมกัน


 


เพราะเมื่อโลกมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงมากขึ้น – รัฐ ก็เห็นช่องทางนี้ และเมื่อโลกวัยรุ่นมีวิถีทางเพศที่เปลี่ยนไปมากขึ้น – รัฐก็ต้องเห็นความสำคัญและตามให้ทันว่าจะสื่อสารเรื่องเอดส์ เพศศึกษาอย่างไรที่ "โดนจุด" กับวัยรุ่นยุคปัจจุบัน (ไม่ใช่ทำเหมือน 20 ปีที่ผ่านมา ที่คนไทยเริ่มรู้จักเอดส์)


 


"ตัวชี้วัด" ความร่วมมือของผู้ใหญ่กับวัยรุ่น


 


นอกจากนี้ กรมควบคุมโรค อาจต้องให้วัยรุ่น หรือเยาวชนที่ทำงานด้านเอดส์ เช่น เครือข่ายเยาวชนด้านเอดส์ ประเทศไทย, เครือข่ายเยาวชน V – Teen, หรือกลุ่มเยาวชนต่างๆ เข้ามามี "ส่วนร่วม" ในการคิดและดำเนินการกิจกรรมที่ได้คิดมานี้ ให้สามารถสอดคล้องกับบทเรียนหรือประสบการณ์ของเยาวชน วัยรุ่นที่ทำงานด้านเอดส์และพบบทเรียน รูปธรรมต่างๆ อีกมากมาย – เรื่องนี้กรมควบคุมโรค โดยสำนักงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้ ควรให้ความสำคัญอย่างจริงจังและต่อเนื่อง


 


ผมเชื่อว่าเยาวชน พร้อมจะทำงานร่วมกับผู้ใหญ่ ภาครัฐ ด้วยใจจริงที่เปี่ยมล้นด้วยพลังที่อยากทำเพื่อสังคมและเพื่อนเยาวชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และลดโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีเอดส์


 


ความร่วมมือในการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐกับเยาวชน "ก่อน" จะคิด หรือทำอะไรกับเยาวชนสำคัญอย่างยิ่ง และไม่ควรละเลยที่จะคำนึงถึง หากภาครัฐหวังดีต่อเยาวชน วัยรุ่น ด้วยความจริงใจ


 

ความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็น "ตัวชี้วัด" ได้ดีว่า ภาครัฐ เห็นความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของวัยรุ่นมากน้อยเพียงใด