Skip to main content

การกัดเซาะชายฝั่งทะเลในอ่าวไทย : รุนแรง แต่ไม่มีการทบทวน !

คอลัมน์/ชุมชน

โบราณกล่าวว่า " แม้คำบรรยายสักพันคำก็ให้ความรู้สึกได้ดีไม่เท่ากับภาพเพียงภาพเดียว " ผมจึงขออนุญาตลงภาพสักสี่ภาพในบทความนี้ แต่ละภาพมีวัตถุประสงค์ต่างกันครับ ภาพถ่ายทั้ง ๔ เป็นภาพเหตุการณ์ การกัดเซาะชายฝั่งทะเลในอ่าวไทยของเรา ตั้งแต่จังหวัดสงขลาจนถึงนครศรีธรรมราช


 



ภาพที่ ๑ บ้านเรือนชาวบ้านบ่ออิฐ อ . เมือง จ. สงขลา กำลังถูกคลื่นกัดเซาะ ( ภาพเมื่อ มกราคม ๔๘)


 


ความจริงแล้วชายฝั่งในอ่าวไทยกำลังถูกเซาะตลอดแนวทุกจังหวัด ตั้งแต่ล่างสุดคือ นราธิวาส ปัตตานี รวมไปถึงจังหวัดระยองในภาคตะวันออก แต่ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะที่อยู่ใน ๔ ภาพนี้เท่านั้น คือสงขลาและนครศรีธรรมราช


ภาพแรกเกิดขึ้นในจังหวัดสงขลา เฉพาะสองจังหวัดที่กล่าวถึงมีบ้านเรือนที่ถูกคลื่นซัดพังลงไปในทะเลแล้วหลายสิบหลัง และที่กำลังจะพัง (ดังภาพ) ท่านได้เห็นภาพนี้แล้วคงจะรู้สึกและคิดอะไรบางอย่าง


 



ภาพที่ ๒ ถนนนาทับ - บ่ออิฐ อ. เมือง จ. สงขลา ( ถ่ายเมื่อมกราคม ๔๘)





ภาพ ๓ ที่เดียวกัน ( ถ่ายเมื่อต้นมีนาคม ๔๘)


ความรุนแรงของการกัดเซาะสังเกตได้จากเส้นกลางถนนและต้นไม้ที่เห็น


 


ก่อนที่จะกล่าวถึงสาเหตุของปัญหา เรามาดูความรุนแรงเชิงกายภาพของปัญหาก่อน จากภาพที่ ๒ และ ๓ ซึ่งถ่ายจากที่เดียวกัน แต่เวลาห่างกันเพียงประมาณ ๖๐ วันเท่านั้นเอง ภาพที่ ๒ ถ่ายเมื่อเดือนมากราคมซึ่งเป็นช่วงปลายของฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ( เริ่มต้นประมาณเดือนพฤศจิกายน) ส่วนภาพที่ ๓ ถ่ายเมื่อต้นเดือนมีนาคม ( สิ้นฤดูมรสุมแล้ว แต่เป็นช่วงที่ลมสำเภาเข้ามา) ในช่วงเวลานั้นถนนได้ถูกกัดไปแล้วเป็นความกว้างประมาณ ๖- ๗ เมตร


ถ้าคิดกันให้ครบทุกฤดูกาลของทั้งขวบปีแล้ว การกัดเซาะจะมีมากขนาดไหนและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของชาวบ้านตลอดชายฝั่งที่ยาวกว่าพันกิโลเมตรมากแค่ไหน เท่าที่ผมทราบยังไม่ได้มีการประเมินอย่างเป็นระบบจากหน่วยงานของรัฐ


 



ภาพที่ ๔ แสดงบริเวณชายฝั่งบ้านบ่อคนที ริมถนน หัวไทร- ปากพนัง จ. นครศรีธรรมราช


โปรดสังเกตคันกันทรายที่ถูกสร้างขึ้น ทำให้กระแสน้ำเปลี่ยนทิศทาง แล้วไปกัดชายฝั่งทางตอนเหนือ


 


ภาพที่ ๔ นอกจากจะเป็นภาพที่บอกให้เราได้ทราบถึงสาเหตุหนึ่งของการกัดเซาะแล้ว ( อาจมีหลายสาเหตุ) ยังจะเป็นภาพที่บอกเล่าเหตุการณ์ในอดีตได้ด้วย เพราะบ้านเกิดของผมอยู่ห่างจากภาพนี้ไม่เกิน ๑ กิโลเมตร ( ทุกภาพ ได้รับความเอื้อเฟื้อจาก ดร. สมบูรณ์ พรพิเนตรพงษ์)


ตอนที่ผมเป็นเด็ก บ้านผมอยู่ห่างจากริมน้ำทะเลชายฝั่งประมาณ ๑๒๐ เมตร ผมเคยวิ่งเล่นอยู่แถบนี้เป็นประจำ ตอนนั้นการกัดเซาะชายฝั่งก็เกิดขึ้นบ้างแต่เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ แบบค่อยเป็นค่อยไป หรือบางช่วงก็หยุดกัดเซาะไปหลายปี คือกัดบ้างเว้นบ้าง บางหมู่บ้านกลับมีชายหาดงอกเพิ่มขึ้นมาจนปลูกต้นมะพร้าวเพิ่มเติมก็มี


เมื่อประมาณ ๓๐ ปีมาแล้ว ทางราชการได้มาสร้าง คันกันทราย ( สังเกตในวงกลม) เพื่อป้องกันไม่ให้ทรายถูกคลื่นซัดมาถมทางระบายน้ำ (ที่อยู่ใกล้ ๆ) เมื่อมีคันกันทรายซึ่งเป็น " สิ่งแปลกปลอม" เข้ามากีดขวางการไหลตาม " ธรรมชาติ" ของน้ำ กระแสน้ำแทนที่จะถูกทำให้ช้าลงและกลับออกจากฝั่งไปอย่างนิ่มนวลด้วยพื้นทราย เมื่อมากระทบคันซึ่งเป็นของแข็งก็จะเด้งกลับไปความเร็วที่สูงขึ้น และเปลี่ยนทิศทางไปกัดชายฝั่งที่อยู่ถัดไปอย่างรุนแรง


ทางราชการก็แก้ปัญหาด้วยการนำหินมาถมทำเป็นรูปตัวที (T) เป็นระยะ ๆ ผลการแก้ปัญหาดังกล่าวก็สามารถป้องกันได้บ้างเฉพาะในบริเวณที่อยู่ในระหว่างตัวที แต่เมื่อหมดบริเวณที่มีตัวทีแล้วการกัดเซาะก็เกิดขึ้นและเกิดรุนแรงด้วย


บริเวณบ่ออิฐดังภาพที่ ๒ และ ๓ ก็เกิดขึ้นจากคันกันทรายปากคลองนาทับเหมือนกับกรณีในภาพที่ ๔ ไม่มีผิด ขณะนี้คันกันทรายปากคลองใหม่ที่เพิ่งขุดจากชะอวด - แพรกเมือง ในอำเภอหัวไทรซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการพระราชดำริก็มีลักษณะเหมือนกับสองกรณีที่ได้กล่าวมาแล้ว คือกำลังก่อปัญหาแบบเดียวกันจนถึงขั้นที่ศพซึ่งได้ฝังไว้ในสุสานก็ถูกคลื่นซัดขึ้นมา เหตุการณ์นี้เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อต้นเดือนมีนาคมนี้เอง


สาเหตุหนึ่งที่สรุปได้จากนับสิบตัวอย่างในสองจังหวัดก็คือ มีคันกันทรายที่ไหน การกัดเซาะรุนแรงก็เกิดขึ้นที่นั่น โดยที่ด้านหนึ่งของคันจะมีทรายงอกออกมา นักวิชาการบางคนเล่าว่า ในต่างประเทศที่มีเงินทุนหนาหน่อย เขาก็จะขนทรายจากด้านที่งอกขึ้นมาไปถมให้กับด้านที่ถูกกัด เพื่อสร้างสมดุลกลับคืนมา แต่บางที่ของไทยกลับขุดไปทำการก่อสร้าง


นักประวัติศาสตร์บางคนตั้งข้อสังเกตว่า เป็นเพราะมีการสร้างเขื่อนจำนวนมากในประเทศจีน ทำให้ตะกอนทรายถูกกักเก็บเอาไว้ ไม่ไหลลงมาสู่ปากแม่น้ำโขง ทำให้ทรายในอ่าวไทยเสียสมดุลจึงเกิดการกัดเซาะ


มีเหตุผลต่าง ๆ นานาครับ แต่สิ่งที่เราจะต้องทำคือการเรียนรู้ การสรุปบทเรียน แล้วอย่าให้ผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำอีก