Skip to main content

คณะปฏิรูปการปกครองฯ ; คิดผิด ทำผิด (1)

คอลัมน์/ชุมชน


สมัยที่ผมเรียนปริญญาตรีที่รัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ อาจารย์ที่เป็นนักรัฐศาสตร์และเคย "เข้าป่า" ด้วยท่านหนึ่งเคยถามนักศึกษาในห้องเรียนว่า "ในบริบทของสังคมการเมืองปัจจุบัน นักศึกษาคิดว่าจะมีการรัฐประหารยึดอำนาจโดยทหารได้อีกหรือไม่" (ตอนนั้นประมาณปี 42) ด้วยเหตุผลที่คล้ายคลึงกัน ไม่มีนักศึกษาคนใดคิดและเชื่อเลยครับว่าทหารจะกลับมายึดอำนาจอีก


 


เพราะทหารได้หมดและควรจะหมดบทบาทไปจากเวทีการเมืองแล้ว ต้องยอมรับความจริงกันนะครับว่าในยุคโลกานุวัตน์ เวทีทางการเมืองไทยไม่ได้เป็นของทหารอีกต่อไป


 


ผมเองเชื่อว่า ความคิดที่จะยึดอำนาจโดยเหล่าทหารหาญยังคงมีอยู่  แต่ไม่คิดว่ามันจะเกิดขึ้นจริงได้ เพราะการยึดอำนาจเป็นการสร้างความยุ่งยากและปัญหาเพิ่มมากขึ้นในทุกๆ ทาง มันเป็นการแก้ปัญหาโดยการสร้างปัญหาให้เพิ่มพูนยิ่งขึ้น


 


แต่ซากเดนของวันเวลาเก่าๆ ที่ยังตกค้างอยู่ในหัวสมองของทหาร ทำให้ความคิดเรื่องการยึดอำนาจยังคงอยู่ซึ่งคงต้องใช้ระยะเวลายาวนานไม่น้อยในการชำระล้างทิ้งไป แต่ผมก็เชื่อว่ามันเป็นเพียงรอยความคิดที่ไม่อาจนำไปสู่การกระทำได้


 


เหล่าทหารคงจะตระหนักกันเป็นอย่างดีว่า ในอดีต เวทีทางการเมืองไทยหลังจาก 2475 เป็นต้นมา  ทหารเป็นตัวละครที่สำคัญมากที่สุด ไม่เคยเลยที่สนามการเมืองไทยจะขาดเหล่าทแกล้วทหารได้ คนที่เป็นนายกรัฐมนตรีก็มีแต่ทหารเสียเป็นส่วนใหญ่  คนที่ล้มรัฐธรรมนูญหลายครั้งก็คือเหล่าทหารหาญ การแย่งชิงอำนาจบางครั้งก็เกิดขึ้นกันเองในกลุ่มของทหาร และกล่าวได้ว่าการสืบทอดผ่องถ่ายอำนาจของทหารสู่ทหารเกิดขึ้นเรื่อยมาตลอดในการเมืองไทย


 


อย่างไรก็ตาม อำนาจการเมืองก็หนีห่างหลุดมือทหารไปสู่มือของพ่อค้า นักเลือกตั้ง และรวมทั้งประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป อาจเรียกได้ว่า เมื่อมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นก็ได้ ความหมายของผมก็คือยิ่งสังคมไทยมีความเป็นประชาธิปไตยมากเท่าใด อำนาจทางการเมืองก็จะหลุดออกจากมือของทหารมากขึ้นเท่านั้น พูดแบบเล่นสำนวนก็คือ ทหารและอำนาจของทหารแปรผกผันกับความเป็นประชาธิปไตยของไทย


 


หลายคนเชื่อเหมือนที่เพื่อนนักศึกษาในชั้นเรียนเชื่อ ก็คือ บทบาทของทหาร กองทัพ ได้สูญสิ้นไปแล้วหลังจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535


 


เป็นที่ทราบกันดีว่า เหตุการณ์ยึดอำนาจของรสช. ในปี 2534 เป็นความพยายามสืบทอดอำนาจอันเป็นเสมือนมรดกทางการเมืองของเหล่าทแกล้วทหาร แต่ก็ล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า น่าหัวร่อ ซึ่งท้ายที่สุดก็นำไปสู่สงครามกลางเมืองย่อยๆ (และทหารถึงแม้จะฆ่าคนตายก็รอดตัวไปตามธรรมเนียม)


 


ดูเหมือนว่า การยึดอำนาจโดยคณะปฏิรูปการปกครองฯ จากรัฐบาลที่ผ่านการเลือกตั้ง  จากพรรคไทยรักไทย และจากประชาชน ได้รับการสนับสนุนอยู่บ้างในตอนเริ่มต้น


 


ดูเหมือนว่า คณะปฏิรูปการปกครองฯ จะมีฐานพลังจากหลายกลุ่ม หลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นคนชั้นกลางหัวกลวงจำนวนหนึ่ง พวกสมุนศักดินาจำนวนหนึ่ง นักวิชาการสิ้นคิดจำนวนหนึ่ง และคนระดับล่างอีกจำนวนหนึ่ง ทำให้


 


ดูเหมือนว่า การยึดอำนาจของคณะปฏิรูปการปกครองฯ เกิดขึ้นและเป็นไปอย่างง่ายดายและสะดวกยิ่ง


 


แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้นครับ คนที่พร้อมจะคัดค้านคณะปฏิรูปการปกครองฯ มีมากมายหลายระดับ ทั้งที่กำลังเคลื่อนไหวกันอยู่  ที่กำลังจะเคลื่อนไหวในเร็ววัน ที่กำลังตัดสินใจร่วมเคลื่อนไหว ซึ่งจะปรากฏให้เห็นในไม่ช้าว่า การยึดอำนาจในครั้งนี้ เป็นการคิดผิดทำผิดอย่างแท้จริง


 


และอย่าลืมนะครับว่า คนที่รักทักษิณก็มีมาก อย่างน้อยที่สุด ข้อมูลที่เรารับทราบกันโดยทั่วไปก็คือ ผู้คนที่ไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั่วประเทศนั้น เขาเลือกทักษิณและพรรคไทยรักไทยมากกว่าใครเพื่อน ดังนั้นการยึดอำนาจในครั้งนี้ไม่ใช่ของง่ายแน่


 


ในที่นี้ ผมจะไม่ไปถึงประเด็นเรื่องความชอบธรรมของคณะปฏิรูปการปกครองฯ เพราะคิดจะเก็บไว้เขียนในบทความต่อๆ ไป  แต่ผมอยากจะชี้ให้เห็นว่าการยึดอำนาจในครั้งนี้นับเป็นความผิดพลาดอย่างมากในทุกๆ ประการ


 


กลุ่มคนที่ยึดอำนาจฉวยโอกาส- ผมใช้คำว่าฉวยโอกาส ตอนที่กระแสไม่ชอบทักษิณกำลังขึ้น ฉวยโอกาสตอนที่สังคมกำลังไม่สบายใจกับกระแสความแตกแยก (น่าสงสัยอยู่เหมือนกันว่าความแตกแยกจะมีส่วนมาจากกลุ่มฉวยโอกาสนี้บ้างหรือไม่) โดยคิดว่ากระแสต่างๆ เพียงเท่านี้จะเพียงพอต่อเข้า "เทคโอเวอร์ประเทศไทย" (บางท่านเคยใช้ศัพท์คำนี้กับทักษิณ แต่มันก็ดีไม่หยอกหากลองเอามาใช้กับคณะปฏิรูปการปกครองฯ บ้าง) และเพียงพอต่อการ "ส่งบท" ให้กลุ่มตัวเองเป็นพระเอกขี้ม้าขาวเข้ามาแก้ปัญหาประเทศชาติ


 


คณะปฏิรูปการปกครองฯ คิดจะเล่นบทพระเอกครับ น้ำเน่าใช่ไหมครับ คณะปฏิรูปการปกครองฯ คิดจะเล่นบทพระเอกเข้ามากอบกู้บ้านเมืองจากความแตกแยก  จากปัญหาคอรัปชั่น (ยึดอำนาจทีไรก็อ้างคอรัปชั่นทุกที) 


 


แต่พระเอกหรือนางเอกไม่มีนะครับในการเมือง ในการเมืองไม่มีพระเอกหรือนางเอก คงจะเป็นการเข้าใจผิดอย่างใหญ่หลวงหากคิดจะเป็นพระเอกขี่ม้าขาวในการเมืองไทย และหากสมมติว่ามีพระเอกอยู่จริงในการเมือง สมมตินะครับ พระเอกก็จะไม่ใช่นักฉวยโอกาส!!!


 


พระเอกหรือนางเอกมีที่อยู่ก็แต่ในนิยายน้ำเน่าเท่านั้น และจะว่าไป นับวันบทบาทของพระเอกในนิยายน้ำเน่าก็ชักเริ่มพร่าเลือน มันคงจะเป็นเรื่องที่สับสนอลหม่านกันจริงๆ นะครับ หากไม่สามารถแยกออกระหว่างการเมืองกับนิยายน้ำเน่า


 


หลังจากนี้เป็นต้นไป ผมคิดว่าปัญหาจากการยึดอำนาจจะปรากฏชัดขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัญหาทางการเมือง ปัญหาทางกฎหมาย ที่กฎหมายบางฉบับใช้ได้ แต่บางฉบับใช้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับหลักแห่งความพึงพอใจ? ปัญหาทางรัฐศาสตร์ที่มีหลายเรื่องชวนให้ปวดหัว และที่พูดถึงกันมากก็คือการที่มันส่งผลกระทบต่อระบอบประชาธิปไตยที่หลายคนเชื่อว่าเป็นการถอยหลังลงคลอง


 


ครับประเทศไทยและการเมืองไทยไม่ใช่ play station ของนักฉวยโอกาสที่ยังหลงผิดคิดว่าตัวเองเป็นพระเอก  แต่แท้ที่จริงแล้วก็เป็นเพียงสิ่งปฏิกูลของการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นใหญ่เท่านั้นเอง!