Skip to main content

รักพ่อ พอเพียง : ความสุขแท้จริง ที่ชุมพรคาบาน่ารีสอร์ท

คอลัมน์/ชุมชน

หาดทรายขาวละเอียดของทุ่งวัวแล่น  ด้านหน้าชุมพรคาบาน่ารีสอร์ทประดับด้วยผักบุ้งทะเลออกดอกสีม่วงใส ไม่มีร้านอาหารที่ดูเกะกะตา  ไม่มีเสียงโฉ่งฉ่างของเรือยนต์หรือเครื่องเล่นต่าง ๆ  มีแต่ความสวยของธรรมชาติ


 


ป้ายต้อนรับนำทางสู่ตัวโรงแรม ที่สร้างในระดับไม่สูงกว่าต้นไม้ สร้างด้วยทรัพยากรและแรงงานท้องถิ่น  ออกแบบให้คงทนรับแรงลมได้ถึง ๒๖๗ กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทนแรงแผ่นดินไหว ขนาด ๗.๖ ริกเตอร์ได้  สามารถจุคนให้มาหลบภัยได้ถึง ๗๕๐ คน แวดล้อมด้วยธรรมชาติร่มรื่นชวนให้สบายใจ


 


ดิฉันได้ยินชื่อ ชุมพรคาบาน่ารีสอร์ท มาหลายปีแล้ว เพิ่งทราบว่าคณะทำงานภาคใต้ของรางวัลลูกโลกสีเขียว เสนอชื่อ คุณวริสร  รักษ์พันธ์ กรรมการผู้จัดการของชุมพรคาบาน่าให้คณะกรรมการคัดเลือกลงมาศึกษาเรียนรู้ เพื่อพิจารณาให้ได้รับรางวัลประเภทบุคคลผู้อนุรักษ์ธรรมชาติ ด้วยผลงานการนำพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง มาประยุกต์ใช้กับกิจการโรงแรม จนทำให้ชุมพรคาบาน่ารีสอร์ทเป็นศูนย์การเรียนรู้ พึ่งตนเองได้


 



คุณวริสร  รักษ์พันธ์


 


บนหลักการ คือ  พอดี พอเพียง มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกัน มีธรรมชาติแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแบบอย่างของธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม


 


[1].วิวัฒน์  ศัลยกำธร  ผู้เป็นแรงบันดาลใจ เป็นกัลยาณมิตรที่เกื้อกูลให้คุณวริสร นำพระราชดำริมาปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมได้สำเร็จ ย้ำว่า บันได ๕ ขั้น ที่นำสู่ความมั่งคั่งแบบใหม่ คือ


 


หนึ่ง ต้องพึ่งตนเองให้ได้อย่างน้อยหนึ่งในสี่  สอง ต้องรู้จักพอ สาม รู้จักแจกแบ่งปันจะได้พวกขึ้น สี่ รวมตัวกัน ขยายงานให้เกิดความร่วมมือ เกิดกิจกรรมใหม่ และ ห้า มีการขาย เพราะพื้นฐานแน่นแล้ว มีการเอื้อกัน พึ่งพากัน ทุกคนอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีเท่ากัน ทั้งชาวไร่ ชาวนา ชาวประมง นักธุรกิจท่องเที่ยว เป็นสังคมใหม่ ที่เกิดจากการรู้ รัก  สามัคคี ตามที่พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งมานานแล้ว


 


ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นำไปใช้ได้กับทุกคน ทุกระดับ ทุกอาชีพ ไม่ใช่กับชาวนาอย่างเดียว ระดับครอบครัวต้องรู้จักความพอดี นักธุรกิจ นักอุตสาหกรรม นักบริหารก็ต้องพอดี ระดับประเทศก็ต้องพอดี


 



คุณวริสร (เสื้อขาว) กับคณะกรรมการคัดเลือกรางวัลลูกโลกสีเขียว


 


บ่ายแก่ ๆ ของวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๔๙ คณะกรรมการคัดเลือกรางวัลลูกโลกสีเขียว นำโดยประธานคือ คุณสันติวิภา  พานิชกุล ได้มาถึงชุมพรคาบาน่ารีสอร์ท คุณวริสร เล่าที่มาของชีวิตวัยเด็กที่ได้รับการปลูกฝังจากคุณพ่อคุณแม่ให้รักธรรมชาติ เคารพในศักดิ์ศรีของผู้คนทุกวัย ทุกฐานะ ทั้งได้รับการปลูกฝังให้จงรักภักดีและภูมิใจในชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จากการเรียนที่วชิราวุธวิทยาลัย ตั้งแต่ ป.๓ ถึง ม.๖ รวม ๑๐ ปี


 


[2] คุณวริสร ได้ตามคุณพ่อมาเยี่ยมคุณย่าที่หาดวัวแล่น ชุมพร ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ซึ่งการเดินทางลำบากมาก ถนนยังเป็นลูกรัง ไม่มีไฟฟ้า มีหาดกว้าง ทรายขาวละเอียด ในทะเลก็มีปลาเยอะ น้ำใส มีปะการังมาก


 


..๒๕๒๕ คุณพ่อคุณแม่มาทำร้านอาหารที่นี่ ชาวบ้านในชุมชนใกล้ ๆ มาทำงานด้วย คุณวริสร จึงได้เรียนรู้จากลูก ๆ ของเขา พาไปขึ้นเขา ตกปลา ไปนอนที่บ้านเขา ตามเขาออกเรือไปตอนกลางคืน นอนในเรือ ได้รับพลังจากธรรมชาติ ซึมซับจนกลายเป็นความรักทะเล รักวิถีชุมชน เป็นทุนที่ดีของชีวิต


 


นักเขียนและผู้บริหาร ททท. เช่น คุณปราโมทย์ ทัศนาสุวรรณ  รพีพร อิงอร เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ภราเดช  พยัฆวิเชียร ได้มาที่ร้านอาหารบ่อย คุณพ่อคุณแม่จึงสร้างที่พัก ๔ – ๕ หลัง แล้วเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ


 


คุณภราเดช และอาจารย์สุรพล  สุดารา ได้ช่วยวางแนวทางตั้งแต่แรกว่าที่นี่ต้องเป็นรีสอร์ทสำหรับคนที่ชอบธรรมชาติ ชอบดินน้ำ ต้องช่วยดูแลทะเล ดูแลปะการัง ต้องไม่รุกชายหาด ไม่มีเจ็ตสกี  เพราะมีใจรักที่นี่ ต้องการมาใช้ชีวิตและทำงานที่นี่ คุณวริสร จึงเรียนต่อด้านการโรงแรม โดยได้เรียนกับอาจารย์ปรีชา แดงโรจน์ ที่มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่สอนด้านนี้


 


จุดเปลี่ยนที่สำคัญในชีวิต คือ การเขียนโครงการกู้เงินเพื่อขยายโรงแรม ตามนโยบายของคุณพ่อ ที่จะสร้างรีสอร์ทขนาด ๓ ดาว เพื่อกลุ่มท่องเที่ยวธรรมชาติประมาณ ๑๓๐ -๑๕๐ ห้อง แล้วได้รับอนุมัติ ทั้ง ๆ ที่เพิ่งเรียนจบ เขียนโครงการเองโดยไม่ได้จ้างผู้เชี่ยวชาญ


 


เมื่อได้รับเงินก้อนแรกก็เริ่มขยาย โรงแรมยังไม่เสร็จ รัฐบาลก็ปล่อยเงินบาทลอยตัว เมื่อ พ..๒๕๔๐ ทั้งยังเกิดน้ำท่วมใหญ่ชุมพรในปีนั้นด้วย จึงต้องประคองชีวิตให้ดีที่สุด ต้องสร้างโรงแรมให้เสร็จ งัดทุนชีวิตทุกอย่างออกมาใช้ โดยเฉพาะทุนความจงรักภักดีต่อพระเจ้าอยู่หัว ได้รู้ว่าทรงเป็นห่วงประชาชน ทรงบัญชาการให้คณะทำงานในกองงานส่วนพระองค์ มาช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมชุมพร จึงทำให้น้ำไม่ท่วมชุมพรอีก


 


แม่เล่าว่าได้เข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านทรงฝากว่า "อย่าทิ้งเรื่องข้าว คนใต้จะลำบากมากถ้าไม่มีข้าวกิน" ผมจึงคิดเรื่องข้าวอยู่ในใจมาตลอด


 


หลักเศรษฐกิจพอเพียงที่ทรงพระราชทาน ผมศึกษาจากอาจารย์วิวัฒน์ ศัลยกำธร ซึ่งทำงานโครงการพระราชดำริกับ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล นักเรียนเก่าวชิราวุธฯ ผมจึงตามไปดูโครงการพระราชดำริ ทำความเข้าใจ นำมาลงมือทำ ประยุกต์ใช้กับโรงแรม โดยเริ่มจากข้าว ร่วมมือกับชาวนา ๖ – ๗ ครอบครัว ปรับดินทรายให้ปลูกข้าวได้ โดยใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ ปลูกหญ้าแฝกกันดินพัง  ได้ฟื้นพันธุ์ข้าวพื้นเมือง คือ "เหลืองปะทิว" ให้กลับคืนมา รณรงค์ไม่ใช้สารเคมี รับซื้อผลผลิตข้าวอินทรีย์ทั้งหมดในราคาที่ชาวบ้านพอใจ ทำให้ได้น้ำใจจากชาวบ้าน เพราะซื้อข้าวจากชาวนาโดยตรง  นำมาเลี้ยงข้าวพนักงานถึง ๓ มื้อ เป็นการ"ระเบิดจากข้างใน" คือ เริ่มจากการฝึกชาวนาที่เป็นพนักงานในโรงแรมก่อน จนเห็นผลดี  เกิดความต้องการร่วมกัน และมีความพร้อม จึงได้เกษตรกรรอบ ๆ โรงแรมมาเป็นแนวร่วมมากขึ้น


 


"โครงการเศรษฐกิจพวกเรา" เพื่อให้พนักงานโรงแรม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรมีรายได้เพิ่มจากเงินเดือนประจำ ไม่ให้เงินทองรั่วไหลออกไป ให้อยู่ในกระเป๋าของพวกเรา คุณวริสร จึงส่งเสริมให้พนักงานปลูกพืชผัก ผลไม้ เลี้ยงไก่ไข่ เลี้ยงปลา ขายให้โรงแรม ทำให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ร่วมกัน โรงแรมได้อาหารคุณภาพดีมาปรุงอาหารตลอดเวลา ลูกค้าได้กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ พนักงานและชาวบ้านกับโรงแรมมีความผูกพันกันด้วยดี เพราะ "รั้วของเราคือ ชาวบ้าน" ดังที่คุณพ่อคุณแม่สอนไว้


 


ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ จากพนักงาน คือ การทำสบู่ ยาสระผม น้ำยาล้างจาน น้ำยาทำความสะอาดอื่น ๆ ใช้เองในโรงแรม เพื่อลดสารเคมี ใช้บรรจุภัณฑ์ดินเผา เพื่อลดขยะ


 


เศษอาหาร นำมาทำปุ๋ยอินทรีย์ กระดองปู หัวกุ้ง เอามาทำอาหารไก่ ของเสียจากห้องส้วม นำมาผ่านกระบวนการทำปุ๋ย น้ำมันใช้แล้วเอามาทำไบโอดีเซลใส่รถ ใส่เรือ


 


ทุกโครงการทำให้ลดต้นทุน ลดขยะ สิ่งแวดล้อมดี ความสัมพันธ์กับพนักงานดี ไม่มีใครต้องเกษียณอายุ ทำงานไปตามความสามารถ เช่น ป้าเที่ยง อายุ ๗๐ แล้ว แต่ตำข้าวเก่ง ผัดข้าวเก่ง ก็ได้ทำงานอย่างมีความสุข ได้คุยกับแขกของโรงแรมทุกวัน


 



สวนเพลิน


 


สวนเพลิน  พื้นที่ ๑๕ ไร่ เป็นศูนย์การเรียนรู้ เรื่องการปลูกข้าว เรื่องการบำบัดน้ำเสีย โดยใช้พืชคือผักตบชวา เรื่องการปลูกพืช ๕ ชั้น คือ ไม้สูง กลาง เตี้ย  เรี่ยดิน และใต้ต้น  ปลูกป่า ๓ อย่าง ได้ประโยชน์ ๔ อย่าง คือ ไม้สร้างบ้าน ไม้ฟืน ไม้ผล เพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำ รวมทั้งการห่มดิน โดยนำเศษพืช เช่น ใยมะพร้าว ใยปาล์ม เศษหญ้า ฟางข้าว ใบไม้มาคลุมดิน แล้วนำน้ำปุ๋ยหมักรดสัปดาห์ละ ๑ ครั้ง จนย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยอย่างดีให้พืช


 


เมื่อฟังคุณวริสร เล่าเรื่องจบแล้ว คณะกรรมการรางวัลลูกโลกสีเขียวได้สัมผัสด้วยตา ด้วยใจ ถึงความจริงทุกอย่าง จากพนักงานที่อธิบายโครงการต่าง ๆ ด้วยสีหน้าแห่งความสุข ความภาคภูมิใจ


 


ชายหาดหน้าชุมพรคาบาน่า มีทรายขาวสะอาดจริง ๆ เสียดายที่ไม่ได้มีโอกาสลงเล่นน้ำและชมปะการังอาหารค่ำภายใต้แสงเทียนที่ใช้กาบกล้วยเป็นโคม กันลมอย่างเรียบง่าย รสชาติดี เพราะความสดใหม่ของวัตถุดิบที่ปลอดสารพิษ


 


ห้องนอน ห้องน้ำ เครื่องใช้ดูสะอาด สบู่ แชมพู ทำเอง บรรจุในภาชนะดินเผา  ไม่ใช้พลาสติกที่ต้องเป็นขยะ ต่างจากโรงแรมกระแสหลักทั่วไป (เสียอย่างเดียวคือ ไม่มีมุ้งลวด ที่หน้าต่าง ทำให้ต้องใช้แอร์ แทนลมธรรมชาติ)


 


อาหารเช้ามีขนมครกข้าวกล้องที่แสนอร่อย ฝีมือป้าแนะ กับขนมปังข้าวกล้อง สดใหม่ นุ่ม หอม จนดิฉันอิ่มเสียก่อน ไม่ได้กินข้าวยำ เมนูเด็ดอีกอย่าง


 


ดิฉันตั้งใจไว้ว่าอยากมาเรียนรู้จากคุณวริสร คุณพ่อ คุณแม่ และพนักงานของชุมพรคาบาน่ารีสอร์ทอีก เพราะครั้งนี้มีเวลาน้อยเหลือเกิน กินข้าวเช้าเสร็จ ก็ออกเดินทางไปศึกษางานของพื้นที่อื่นเสียแล้ว ยังไม่ทันจุใจ


 


คุณวริสร ย้ำว่า "อนาคตของชุมพรคาบาน่ารีสอร์ท คือ รีสอร์ทของคนรักธรรมชาติ และจะพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์การเรียนรู้เรื่องเกษตร  ธรรมชาติ และเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะผมจะไม่ไปทางไหนแล้ว นอกจากเดินตามรอยพระราชดำริของพระเจ้าอยู่หัวอย่างเดียว และการพึ่งตนเองได้ เป็นวิถีทางเดียวที่จะทำให้ค้นพบความสุขที่แท้จริง






[1] จากบทความ "ชุมพรคาบาน่า รีสอร์ท ธุรกิจมีชีวิต ยิ่งทำยิ่งได้....ยิ่งให้ยิ่งมี" ประชาชาติธุรกิจ วันจันทร์ที่ ๒๖ - วันพุธที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๔๘



[2] จากบทสัมภาษณ์ "ความหมายของคนรักทะเล  วริสร รักษ์พันธ์" Life  and Family เดือน  มีนาคม  ๒๕๔๙