Skip to main content

ควันหลงคืนรัฐประหาร

คอลัมน์/ชุมชน

จั่วหัวซะเครียด เอาเป็นว่าให้ตามสมัยกับเค้าสักหน่อย แต่บอกได้ว่าบทความนี้จะไม่เครียดจนเกินไป เพราะไม่รู้จะเครียดไปทำไม แต่เป็น "เรื่องเล่า" บรรยากาศที่เกิดขึ้นนับจากคืนที่ประกาศการรัฐประหาร จนวันนี้ (คืนวันเสาร์) แม้ไม่เครียด แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้เขียนไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ 


 


คืนวันอังคารนั้น ผู้เขียนนั่งสอนภาษาอังกฤษสำหรับบุคคลภายนอก ช่วงหกโมงถึงสามทุ่ม คืนนั้นเป็นคืนที่สอง หลักสูตรนี่มีเรียน เจ็ดคืน คืนละสามชั่วโมง เรียกว่าหลักสูตร "ไวยากรณ์อังกฤษในการใช้งาน" ชื่อเขียนตั้งให้หรูเพราะว่าจะเน้นในเรื่องไวยากรณ์อังกฤษ แต่ที่มากกว่านั้นคือ เน้นเรื่องไวยากรณ์พื้นฐาน ชนิดที่เรียกว่า ถ้าสะกด เอบีซีได้ ก็เรียนได้ ผู้เขียนบอกว่า "นี่คือการรีฟอร์แมทฮาร์ดไดรว์ ของคุณด้านภาษาอังกฤษ" ดังนั้นยอมรับว่า สอนแบบถวายหัวเพราะรู้ว่าคนที่มาเรียนอยากได้อะไรจากผู้สอน แต่เพราะแต่ละท่านมีพื้นที่อ่อนมากจึงมาเรียนตามที่หลักสูตรบอกไว้ ผู้สอนต้องทำงานหนักแต่ยินดี แถมผู้เรียนนี่ให้ความตั้งใจดีมาก เลยไม่มีใครหลับให้เห็น ถือว่าได้ทั้งสองฝ่าย


 


แต่ตอนที่สอนคืนนั้นใกล้สามทุ่ม ผู้เขียนนี่รู้อาการตัวเองเลยว่าไข้ขึ้น คอเริ่มแห้งมากขึ้น ไม่แปลกใจ เพราะคืนจันทร์ก่อนหน้า เริ่มมีอาการบ้างแล้ว แต่คืนอังคารนี่ ท่าทางจะไม่ค่อยดี เอาเป็นว่า พอสอนจบ ก็โซเซแล้ว ปวดหัวหนึบๆ บอกผู้เรียนว่า อย่าลืมมาในวันต่อไป กลัวว่าจะไม่มาเพราะว่านิด้าทำเลอยู่ออกมานอกเมือง คนทำงานในเมืองออกมาเรียนลำบากเพราะรถติด เอาเป็นว่าเอาล่ะกะจะนอนแต่หัววัน เพราะรุ่งขึ้นต้องสอนต่อ


 


เมื่อถึงบ้านเกือบสี่ทุ่ม มีผู้ใหญ่โทฯมาบอกว่า จะมีปฏิวัติ อย่าออกไปไหน  เลยบอกออกไปว่าไม่ไปไหนแน่นอน เพราะเหนื่อยจะตายแล้ว สักพักก็มีคนโน้นคนนี้โทฯมา แล้วก็ตามข่าวบนสื่อต่างๆ เลยไม่ได้นอนจนถึงตีสองได้ อยากรู้ว่าอะไรเป็นอะไร กว่าจะพอรู้อะไรขึ้นมาบ้างก็ปาไปตีสอง แต่กระนั้นใจก็ไม่สบายเพราะว่าสถานการณ์ไม่ชัดเจนพอ แต่เหนื่อยเหลือเกินต้องนอนแล้ว กะว่าจะตื่นขึ้นสายหน่อย แล้วตามเหตุการณ์ต่อไป ในใจก็ยังคิดว่าถึงตื่นก็ไม่สามารถช่วยอะไรใครได้ นอนแล้วกัน


 


ตื่นขึ้นมาเกือบแปดโมงเช้า ได้รู้ทางทีวีว่า คปค. สั่งให้เป็นวันหยุดราชการ ก็บอกกับตนเองว่า เออดีแล้ว สักพักก็มีโทฯจากผู้ใหญ่อีกท่านหนึ่งโทฯมาบอกว่าสั่งงดสอนภาษาอังกฤษคืนวันพุธนั้นแล้ว แล้วจะมีการชดเชยอีกครั้ง ผู้เขียนเห็นว่าสถานการณ์ ไม่น่ากลัว ตื่นได้สักพักมีสายจากแอลเอ มาถามว่า จะขอให้สัมภาษณ์ได้มั้ย จะออกทีวีของคนไทยในแอลเอ จึงตอบไปว่า ตอบไม่ได้หรอก เพราะไม่รู้อะไรเลย อีกอย่างเป็นพนักงานของรัฐคิดว่าไม่ได้ ต้องได้รับการอนุญาตจากผู้บังคับบัญชา ทางนั้นจึงบอกว่าแล้วจะติดต่อกลับมาใหม่


 


จากนั้น ผู้เขียนก็เลยโทฯไปหาเพื่อนฝรั่งที่สนิทกันมาเที่ยวเมืองไทยและเธอเพิ่งกลับจากพัทยา จะมาที่กทม. พักที่สีลม ผู้เขียนก็เลยบอกว่างั้นเดี๋ยวไปทานข้าวเที่ยงกัน  ผู้เขียนก็ขับรถไปหา ไปทานข้าวเที่ยงที่ร้านแถวสีลม กินไปไม่ทันไร มีโทฯมาสั่งว่า "ให้กลับบ้านด่วน เพราะมีเหตุการณ์ไม่น่าไว้ใจ" ผู้เขียนกินอะไรไม่ลงเลย ยอมรับว่าอะไรกันนี่ รีบโทฯไปบอกแม่ให้รีบปิดร้านกลับบ้านเช่นกัน ห่วงแม่กับพ่อว่าเอ๊ะจะเป็นไง ตัวเองไม่ห่วงเพราะไงก็น่าจะไม่น่ามีปัญหา พ่อแม่แก่แล้ว แต่มั่นใจว่า พี่ที่เป็นคนขับรถอยู่กันมานานน่าจะจัดการอะไรได้ หากมีอะไรเกิดขึ้น


 


จากนั้นสั่งให้เพื่อนฝรั่งรีบทานแล้วเช็คบิลทันที ในใจคิดจะบอกคนรอบข้างในร้านแต่ไม่แน่ใจว่าจะบอกดีมั้ย ไม่บอกดีกว่า เพราะถ้าไม่จริงเราก็คงโดนด่าหาว่าสร้างเหตุการณ์ เอาเป็นว่าถ้ามันเลวร้ายจริง คงมีคนมาบอกที่ร้านเองแหละ เพื่อนผู้เขียนตกใจพอควร ผู้เขียนบอกว่าไม่ต้องตกใจ เพราะเป็นนักท่องเที่ยว จะไม่มีคนมาสนใจและกลัวจะเดือดร้อนหากนักท่องเที่ยวเป็นอันตราย ส่วนคนไทยเองต้องระวังมากกว่า ผู้เขียนจับเพื่อนกลับเข้าโรงแรมแล้วบอกว่าถ้าเห็นท่าไม่ดี ไม่ต้องออกจากโรงแรม จากนั้นก็โทฯเข้าบ้านพี่ชายบอกว่าอย่าออกไปไหน ขับรถไปก็คิดต่อไปว่าอะไรจะเกิดถ้าหากคำเตือนเกิดเป็นจริง


 


ขณะขับรถกลับบ้าน ในใจคิดโกรธการขัดแย้งทางการเมืองไปตลอด แต่ก็มานั่งปลงว่า เอาเถอะ ไม่มีที่ไหนไม่มีการขัดแย้ง เพียงแต่ว่าอาจเป็นเพราะว่าผู้เขียนไปอยู่ในสังคมอเมริกันที่มีการจัดระบบดีกว่าทางการเมือง แล้วก็ไม่ได้เจอสภาพแบบนี้มานาน หลังจากที่ได้เกือบตายในพฤษภาทมิฬ เมื่อปี 2535 ทำให้ปลงได้ง่ายขึ้นและมีความรู้สึกเข้าอกเข้าใจคนที่อยู่ในประเทศที่มีภาวะสงคราม เค้าอยู่กันได้อย่างไร


 


ตอนนั้นคิดอยู่ว่า ถ้าหากเหตุการณ์บานปลาย ทุกอย่างปิดหมด น้ำไฟอาจไม่มี จะอยู่อย่างไร คิดไว้หมด แม้จะบอกกับตนเองอีกส่วนว่าไม่น่ามีอะไรน่ากลัวเพราะโลกปัจจุบันเค้าเน้นทำมาหากิน คงไม่มีใครยอมให้เกิดง่ายๆ แต่กระนั้น ผู้เขียนก็ไม่แน่ใจก็เลยนึกถึงตอนอยู่สหรัฐฯแล้วโดนสอนว่าถ้าหากสหรัฐฯ โดนโจมตีจะทำอย่างไร เลยพยายามจะพอนำมาใช้ตรงนี้บ้าง ก็เลยแวะซื้ออะไรบางอย่าง และเติมน้ำมันให้เต็ม


 


กลับบ้านนั่งตามข่าว มีคนโทฯมาถามผู้เขียนว่ามีข่าวอะไรมั้ย ผู้เขียนตอบไปว่า จะมีได้ไง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับใครเลย ตอนนั้นไม่คิดอะไรมากนอกจากว่า เกิดอะไรขึ้น ความจริงคืออะไร แต่ไม่คิดว่าจะได้ความจริงเต็มร้อยจากใครทั้งสิ้น ไม่รู้สึกกลัวว่าประชาธิปไตยจะหาย เพราะเมื่อตอนอยู่อเมริกา มี 9/11 ก็พบว่ารัฐบาลอเมริกันก็ไม่ได้ให้ข้อมูลอะไรชัดเจน ทั้งที่ก็ประกาศตนว่าเป็นประชาธิปไตย เลยไม่คิดว่าจะมีประชาธิปไตยอย่างที่หลายๆคนที่มอง แบบอุดมคติจะมีจริง ส่วนมากคนที่ไม่รู้เพราะไม่ทันมอง หรือคิดไปว่ารู้ทั้งที่ไม่รู้


 


เรื่องนี้เป็นเรื่องที่หลายคนเคยคิดว่าสหรัฐฯมีเสรีภาพจริง ทั้งที่เมื่อไปอยู่จริงๆแล้ว มันก็ไม่ได้ต่างกับเมืองไทยเท่าไรนัก บางเรื่องเปรียบไม่ได้ บางเรื่องเปรียบได้ แต่เรื่องประชาธิปไตยนั้น เรามองกันคนละแนว ดังนั้นการที่มองรัฐประหารครั้งนี้แบบที่ฝรั่งมอง การรัฐประหารคราวนี้เป็นเรื่องที่รับไม่ได้ และน่ากลัว แต่ถ้ามองแบบไทยๆ ก็บอกว่าเป็นเรื่องจำเป็น เป็นเรื่องเฉพาะหน้า เพียงแต่ว่า ความเป็นเหตุการณ์เฉพาะหน้าจะเข้าทางใครต่อไปและอย่างไรเท่านั้น เรื่องของอำนาจไม่มีอะไรแน่นอน ที่เห็นชัดคือใครจะนึกว่าจะมีคืนวันอังคาร หรือการยึดอำนาจจากรัฐบาลเดิม


 


ผู้เขียนไม่ใช่นักรัฐศาสตร์ แต่เป็นนักการสื่อสาร จึงมองว่าเป็นปัญหาในเชิงสัญลักษณ์และความหมาย ที่มีการผูกเรื่องและให้ความหมายต่างกัน ผู้เขียนไม่เชื่อว่าเรื่องการเมืองจะมีอะไรในด้านเดียว การสื่อสารการเมืองก็เช่นกัน เรื่องแบบนี้มีเงื่อนงำ เพียงแต่ว่าใครจะจัดการเรื่องแบบนี้ได้ดีกว่า ดังนั้นประชาธิปไตยจึงไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว หรือประชาธิปไตยต้องมาจากการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเพียงอย่างเดียว หรือประชาธิปไตยต้องมาจากการการให้เสรีภาพในรูปแบบใดแบบหนึ่งเพียงอย่างเดียว ประชาธิปไตยเป็นสัญลักษณ์ซึ่งแปรเปลี่ยนได้ขึ้นอยู่กับหลายๆปัจจัย อย่าแน่นหรือหลวมจนเกินไป และมองดูบริบทเป็นสำคัญด้วย


 


คืนพุธที่ผ่านมา ผู้เขียนได้นั่งพักที่บ้าน ไข้ลด แต่คอยังเจ็บ เช้าพฤหัสฯไปทำงาน แล้วก็เคลียร์งานที่ต้องทำให้เสร็จ ศุกร์สอนเช้าและค่ำ ไข้ขึ้นกลับมาใหม่ สอนเสร็จบอกผู้เรียนว่าสัปดาห์หน้าเจอกันใหม่เสียงคงจะดีขึ้น  ขอให้ทุกคนกลับบ้านโดยสวัสดิภาพ 


 


คืนเสาร์ที่ผู้เขียนกำลังพิมพ์ต้นฉบับนี้อยู่ ผู้เขียนได้มองกลับไปยังเหตุการณ์ที่ผ่านมาจากคืนวันยึดอำนาจ มองเหตุการณ์อีกมุมมองหนึ่ง นึกขำที่ชาวบ้านหลายคนที่เดินช็อปปิ้งอย่างสนุกสนาน หลายคนที่ยังหาคู่บนอินเตอร์เน็ท และหลายคนที่ติดตามข่าวต่างๆ อย่างใกล้ชิด แต่ละคนมีความสุขกันคนละแบบ นึกต่อไปอีกว่าการที่บอกว่าประชาธิปไตยจริงๆน่าจะเป็นที่ว่า การเปิดโอกาสให้คนมีความสุขส่วนตัวโดยที่ไม่ไปเบียดเบียนใคร  เปิดโอกาสให้คนได้คิด ได้พูดในระดับหนึ่งในโอกาสทั่วไป อันนี้อยากถามผู้รู้อื่นๆเหมือนกันว่าเราจะตีกรอบคำนี้อย่างไร  เพราะน่าสนใจอย่างที่สุดเรื่องหนึ่ง