Skip to main content

ต้นไม้ ลานจอดรถ กับอุณหภูมิอากาศในเมือง

คอลัมน์/ชุมชน

" อุณหภูมิของตัวหนอนลานจอดรถ


จะสูงกว่าของอากาศมากที่สุดเมื่อเวลาประมาณบ่ายสองโมง


โดยต่างกันถึงประมาณ 8 องศาเซลเซียส "


" ทำไมอากาศมันถึงได้ร้อนอย่างนี้ ทั้ง ๆ ที่มีพัดลมแล้ว" แม่ค้าร้านอาหารใต้หลังคาชั้นเดียว
บ่นระหว่างการเสิร์ฟอาหารเที่ยงให้ลูกค้า ผมได้ยินคำบ่นนี้หลังเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ได้ไม่นาน และไม่ใช่แม่ค้าคนเดียวที่รู้สึกเช่นนี้


แต่ในขณะเดียวกัน ผมก็ได้รับการบอกเล่าจากคนอีกพวกหนึ่งซึ่งขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ระหว่างตัวเมืองหาดใหญ่กับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยผ่านทางถนนช่วงสั้น ๆ ที่สองข้างทางเป็นสวนยางพาราว่า " ตอนที่อยู่ในตัวเมืองจะรู้สึกว่าร้อนมาก แต่เมื่อผ่านมาถึงถนนช่องเขาซึ่งมีสวนยางพาราทั้งสองข้างจะรู้สึกว่าเย็นสบายขึ้นทันที "


น่าเสียดายที่ไม่มีใครได้ตรวจวัดและจัดเก็บข้อมูลนี้ไว้เป็นหลักฐานเพื่อยืนยันกับผู้ที่ติดยึดกับ กระบวนการทางวิทยาศาสตร์และได้ตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ ( ฮา)


ในบทความนี้ผมได้นำข้อมูลทางวิชาการจาก 2 แหล่งมาแสดงและอธิบายว่า ทำไมคนทั้งสองพวก จึงได้สัมผัสกับสิ่งที่ต่างกันอย่างมาก


แม้ว่าเรื่องนี้จะเป็นแค่สามัญสำนึก แต่ด้วยข้อมูลที่เป็นตัวเลขและเป็นกราฟ จะทำให้เราคิดวิเคราะห์ และนำไปใช้ประโยชน์ได้อีกมาก ข้อมูลแรกมาจากหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่มีชื่อว่า Environmental Protection Agency (EPA) ส่วนข้อมูลที่สองมาจากหนังสือของสถาปนิกที่สนใจ พลังงานแสงอาทิตย์ท่านชื่อ ศ . ดร. สุนทร บุญญาธิการ สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยภูมิใจเสนอ


สำหรับท่านที่ขับขี่รถยนต์ ไม่เคยขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ ไม่เคยกินอาหารตามห้องแถวชั้นเดียว ท่านก็สามารถรับรู้ถึงความร้อนในลักษณะนี้ได้ในตอนที่ท่านเดินไปที่ลานจอดรถที่พื้นลานทำ ด้วยซีเมนต์หรือปูด้วยแผ่นซีเมนต์ที่ชาวบ้านเรียกว่า " ตัวหนอน" ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม จากส่วนราชการรวมทั้งมหาวิทยาลัยที่อ้างว่าเป็นแหล่งปัญญา จนสถานที่ราชการแทบจะไม่มีที่ว่าง ให้น้ำฝนได้ไหลลงดินเพื่อให้ไส้เดือนได้แบ่งไปดื่มกินกันบ้างเลย


ปรากฏการณ์ " เกาะแห่งความร้อน (Heat Island)"


การที่ " มอเตอร์ไซค์คนจน" รู้สึกร้อนจนตับแทบจะแตกเมื่อตอนอยู่ในเมืองที่เต็มไปด้วยอาคารสิ่งก่อสร้างและทางเท้าทำด้วยซีเมนต์ แต่แล้วก็รู้สึกเย็นสบายเมื่อผ่านสวนยางพาราแถบชานเมืองนั้นเป็นเพราะเขาได้ผ่านบริเวณที่เรียกว่า " เกาะแห่งความร้อน" (Heat Island) หรือบริเวณที่อุณหภูมิของอากาศในเมืองและพื้นผิวของตัวเมืองมีระดับสูงกว่าอุณหภูมิของชนบทที่อยู่รอบ ๆ ( กรุณาดูกราฟ) จากการศึกษาพบว่า หลายเมืองในสหรัฐอเมริกามีอุณหภูมิสูงกว่าชนบทที่อยู่รอบๆและยังคงสภาพเป็นธรรมชาติอยู่ถึง 5.6? C


กราฟข้างล่างนี้เป็นระดับความร้อนหรืออุณหภูมิในบริเวณต่างๆของเมืองและบริเวณรอบๆเมือง ( โปรดสังเกตรูปตึกและต้นไม้ตามแนวนอน) ดูอีกทีหนึ่งเส้นกราฟอุณหภูมิก็มีลักษณะคล้ายๆเกาะโผล่ออกมาจากที่ต่ำหรือจากน้ำ


ภาพร่างเพื่อเปรียบเทียบอุณหภูมิในตอนบ่ายแก่ๆของบริเวณต่าง ๆ ตั้งแต่ชนบท (Rural) เขตเมือง (Downtown) เขตที่พักอาศัยชานเมือง (Suburban Residential) เป็นต้น โปรดสังเกตว่าอุณหภูมิต่างกันถึงกว่า 3 องศาเซลเซียส ลักษณะเส้นโค้งของอุณหภูมิโผล่ขึ้นมาสูงสุดคล้าย " เกาะ" ในบริเวณตัวเมือง ที่มาhttp://www.epa.gov/heatisland/about/index.html


เกาะแห่งความร้อนเกิดขึ้นได้อย่างไร ?


เมื่อพื้นดินที่เคยถูกปกคลุมด้วยธรรมชาติถูกแทนที่ด้วยตึกขนาดใหญ่ ถนน ทางเท้า และสิ่งก่อสร้างอื่นๆ สิ่งก่อสร้างเหล่านี้จะดูดความร้อนจากดวงอาทิตย์ไว้มากกว่าที่ ธรรมชาติเคยทำได้ ส่งผลให้อุณหภูมิของพื้นผิวและของอากาศในบริเวณนี้เพิ่มสูงขึ้น การสูญเสียต้นไม้และพุ่มไม้ป่าละเมาะได้ไปทำลายกระบวนการระบายความร้อนออก ไปจากบริเวณทั้งส่วนที่ทำให้เกิดร่มเงาและส่วนที่ทำให้เกิดการระเหยของน้ำจากใบไม้ (evapotranspiration) ซึ่งจะนำความเย็นมาสู่บริเวณนั้น เกาะแห่งความร้อนนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกฤดูกาลและทุกเวลา


 


ผลกระทบจากเกาะแห่งความร้อน


ผลกระทบที่ชัดเจนคือต้องเสียเงินค่าพลังงานไฟฟ้าให้กับเครื่องทำความเย็นมากขึ้น ทำให้โรงไฟฟ้าต้องปล่อยมลพิษออกมามากขึ้นกว่าเดิมและเกิดปัญหาโลกร้อน เป็นต้น ทั้งหมดนี้ยังไม่ได้พูดถึงปัญหาสุขภาวะของคน พืชและสัตว์ต่าง ๆ หนังสือที่อ้างถึงแล้วได้อธิบายเหตุผลและให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ต้นไม้ขนาดใหญ่จะดูดน้ำ จากใต้ดินขึ้นมาวันละ 65 ลิตรเพื่อคายออกเป็นไอทางใบ การที่น้ำกลายเป็นไอได้ต้อง ใช้ความร้อนออกไปด้วย จึงส่งผลให้บริเวณนั้นอุณหภูมิลดลง ความสามารถของต้นไม้ ดังกล่าวเท่ากับเครื่องปรับอากาศขนาด 1 ตัน (12 ,000 บีทียูต่อชั่วโมง)


ความแตกต่างระหว่างการปูตัวหนอนกับปูหญ้า


ครานี้มาถึงเรื่องข้อมูลเปรียบเทียบระหว่างอุณหภูมิของพื้นผิวที่ปูด้วยตัวหนอนกับพื้นผิวที่ ปูด้วยหญ้าเปียกซึ่งผมได้มาจากหนังสือที่ได้อ้างถึงแล้ว เท่าที่ผมค้นจากอินเตอร์เน็ตพบว่า การวัดอุณหภูมิของพื้นผิวตัวหนอน เขาจะวัดกันที่ระดับ 1.5 เมตรเหนือตัวหนอน แต่ในหนังสือเล่มนี้ไม่ได้ระบุไว้ ท่านผู้อ่านที่ทราบโปรดชี้แนะ ด้วยครับ สำหรับอุณหภูมิของอากาศน่าจะวัดกันที่ระดับความสูง 10 เมตร


กราฟซ้ายมือเป็นการเปรียบเทียบระหว่างอุณหภูมิเหนือผิวตัวหนอนกับอุณหภูมิของอากาศ ในช่วง 32 ชั่วโมง โดยเริ่มต้นตั้งแต่ตอนกลางคืนคือเวลาตี 4.15 น. จนถึง 10.15 น. ของอีกวันหนึ่ง



จากกราฟ เราพบว่าอุณหภูมิของตัวหนอนสูงกว่าอุณหภูมิของอากาศเสมอ โดยอุณหภูมิ ของตัวหนอนลานจอดรถจะสูงกว่าของอากาศมากที่สุดเมื่อเวลาประมาณบ่ายสองโมง โดยต่างกันถึงประมาณ 8 องศาเซลเซียส คือขณะที่อากาศร้อนถึง 3 4 องศา แต่ถ้าเราเดินผ่านเข้าไปในบริเวณที่มีการปูตัวหนอน เราจะรู้สึกร้อนถึง 42 องศาแต่ถ้ามีลมพัดผ่านเราจะได้รับอุณหภูมิที่ 38 องศา


แม่ค้าร้านอาหารใต้หลังคาชั้นเดียวไม่มีฝ้าเพดานที่ผมเล่ามาตั้งแต่ต้น ที่รู้สึกร้อนมาก ก็เพราะเป็นปรากฏการณ์คล้ายกันกับการเดินผ่านซีเมนต์ตัวหนอน การมีฝ้าเพดานอาจ ช่วยลดความร้อนลงได้บ้างถ้าด้านล่างมีลมพัดผ่าน ทีนี้กลับมาดูกราฟทางขวามือบ้างซึ่งเป็นการเปรียบเทียบระหว่างอุณหภูมิของอากาศ ( เช่นเดิม) กับอุณหภูมิของพื้นผิวที่ปูด้วยหญ้าเปียกในร่ม เราพบว่าในเวลาประมาณ บ่ายสองอุณหภูมิของหญ้าเปียกจะต่ำกว่าของอากาศอยู่ถึงประมาณ 7 องศา เมื่อมีลมพัดผ่านบริเวณนี้ อุณหภูมิของลมจะประมาณ 32 องศา ต่ำกว่าของอากาศถึง 3 องศา คนขับขี่รถมอเตอร์ไซค์จึงรู้สึกเย็นสบายเมื่อผ่านบริเวณสวนยางพารา


ข้อมูลที่ปรากฏอยู่ในกราฟทั้งหมดนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการคิดคำนวณเรื่อง ค่าไฟฟ้าในการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ จากการประเมินอย่างคร่าว ๆ ผมคาดว่าในคน ไทยทั้งประเทศเสียค่าไฟฟ้าเพื่อเดินเครื่องปรับอากาศไม่ต่ำ 5 หมื่นล้านบาทต่อปี ( ประมาณ 1 ใน 5 ของค่าไฟฟ้าทั้งหมด) ความรู้เรื่องอุณหภูมิของตัวหนอน ลานจอดรถและต้นไม้ที่ต่างกันถึง 6 องศา จะช่วยให้คนไทยลดค่าไฟฟ้าลงได้เยอะนับหมื่นล้านบาทต่อปีเลยครับ


พืชตั้งแต่สนามหญ้าไปจนถึงต้นไม้ขนาดใหญ่มีคุณค่ามหาศาล ดังได้เห็นจากตัวอย่างที่ยกมาแล้ว


ว่ากันว่าปัญหาโลกร้อนเป็นปัญหาระดับโลกที่ต้องอาศัยคนทุกภาคส่วนของโลกมาช่วยกันแก้ไข แต่ในระดับชุมชน สำนักงานหรือเล็กลงมาจนถึงระดับครัวเรือน เราก็ไม่น่าจะมาซ้ำเติมปัญหานี้ด้วยการช่วยกันสร้าง " เกาะแห่งความร้อน" ขึ้นมาอีก เพราะเป็นการลดคุณภาพชีวิต และผลาญเงินในกระเป๋าของตัวเองโดยไม่จำเป็นเลย