Skip to main content

อวสานเซลล์แมน

คอลัมน์/ชุมชน

เมื่อวันอังคารที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา เวลาประมาณสี่ทุ่มกว่า ผมได้รับโทรศัพท์จากนักข่าวรุ่นพี่ที่ อสมท. เขาบอกว่า ตอนนี้ พล.ต.อ.ชิดชัยถูกควบคุมตัวไว้แล้ว ทหารยกกำลังเข้าควบคุมจุดสำคัญๆ ในกรุงเทพฯ และรัฐมนตรีบางคนหนีไปสิงคโปร์ เขาบอกแค่นั้นแล้วว่า พรุ่งนี้ค่อยคุยกัน


 


ผมวางสายแบบงงๆ  ข่าวการปฎิวัติรัฐประหารอบอวลอยู่ในสังคมไทยมาร่วมๆ สองสัปดาห์ ไม่มีใครกล้าคิดว่าจะเกิดขึ้น รวมทั้งฝ่ายทหารเองก็ปฏิเสธเรื่องนี้มาโดยตลอด แต่ในที่สุดก็เกิดขึ้นจริง


 


เช้าวันพุธที่ 20 กันยายน ผมโทรศัพท์หานักข่าวรุ่นพี่อีกครั้ง คราวนี้เขาเล่าได้ยาวหน่อย เพราะยังไม่ได้ไปทำงาน เขาบอกผมว่า พล.อ.สนธิ ผบ.ทบ. เป็นหัวหน้าคณะปฏิรูป แล้วเขาเล่าเหตุการณ์คร่าวๆ เท่าที่ทราบ ตบท้ายว่าที่เมื่อคืนเขาพูดได้แค่นั้น เพราะทหารเข้ามาคุม อสมท. พอดี และวันนี้เขาก็ต้องไปรายงานตัวด้วย


 


ก็เป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ระทึกขวัญที่ผมได้รับฟังจากผู้อยู่ในเหตุการณ์


 


เท่าที่โทรถามเพื่อนฝูงหลายคน ก็บอกตรงกันว่า โทรทัศน์ยังไม่มีรายงานข่าว มีแต่ประกาศของคณะปฏิรูปฯ ผมจึงต้องไปค้นหาข่าวจากอินเตอร์เน็ตซึ่งเว็บบอร์ดยอดฮิตและเว็บไซต์ข่าวเข้าไม่ได้เลย ส่วนหนังสือพิมพ์ก็ขายดีเกือบจะเกลี้ยงแผง ก็พอจะรู้รายละเอียดพอสมควร


 


แรกๆ ก็ยังสับสนอยู่ว่าจะเป็นการ "รัฐประหาร" คือยึดอำนาจแต่ใช้รัฐธรรมนูญฉบับเดิม หรือการ "ปฏิวัติ" คือยึดอำนาจและยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับเก่า เมื่อได้อ่านแถลงการณ์คณะปฏิรูปฉบับที่ 3 ที่ให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 รวมทั้งให้ วุฒิสภา สภาผู้แทน คณะรัฐมนตรี และศาลรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลง ก็สรุปได้ว่าการยึดอำนาจครั้งนี้คือการ "ปฏิวัติ"


 


ทราบว่า สถานการณ์ในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่อย่างเช่นเชียงใหม่ ชาวบ้านตื่นตกใจกันไม่น้อยที่อยู่ๆ มีกำลังทหาร รถหุ้มเกราะ และรถถังออกมากันเต็มถนน แต่ประชาชนในต่างจังหวัดส่วนใหญ่ แม้จะจับกลุ่มสนทนาถึงเรื่องที่เกิดขึ้น หรือตะโกนคุยกันว่า "ปฏิวัติแล้วๆ" กันไปทั่ว แต่ก็ทำมาหากินกันไปเหมือนเป็นเรื่องปกติ


 


ว่ากันถึง ความเห็นในสังคมไทยต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เบื้องต้นดูเหมือนว่า เสียงส่วนหนึ่งจะพอใจที่ทหารยึดอำนาจ ทำให้ความขัดแย้งในสังคมไทยจบลงเสียที และอีกส่วนหนึ่งบอกว่าไม่เห็นด้วยเพราะ "ทำให้ประชาธิปไตยถอยหลัง"  ผมคิดว่า ความคิดนี้น่าจะมีสาเหตุหลักจากบทเรียนเมื่อครั้ง รสช. ที่ทำให้เกิดการผูกขาดอำนาจจนเกิดเหตุการณ์ "พฤษภาทมิฬ"ตามมา


 


ทว่า ประชาธิปไตยของไทยก็เกิดขึ้นจากการยึดอำนาจของคณะทหารอย่าง "คณะราษฎร" มิใช่หรือ? พูดอย่างนี้ไม่ใช่ว่าผมสนับสนุนการใช้กำลังทหารเข้ายึดอำนาจนะครับ เพียงแต่เห็นว่าการมองว่า ทหารยึดอำนาจทำให้ประชาธิปไตยถอยหลังนั้น อาจจะลืมมองจากมุมอื่นๆ ด้วย นอกจากนี้ เหตุการณ์ทหารยึดอำนาจจากรัฐบาลนั้น ในช่วงหกทศวรรษของประชาธิปไตยไทย ที่เกิดขึ้นรวมครั้งนี้ทั้ง 10 ครั้ง ก็ทำให้เกิดผลสืบเนื่องกับประชาธิปไตยทุกครั้ง บางครั้งเกิดความรุนแรง เสียเลือดเสียเนื้อ เป็นโศกนาฎกรรมที่คนไทยฆ่ากันเอง แต่ก็ทำให้สังคมไทยเกิดการเรียนรู้ และมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ก้าวหน้ากว่าเดิมตามมา


 


โดยความเห็นส่วนตัว สารภาพตามตรงว่าผมรู้สึก "ห่วง" มากกว่าจะ "กลัว" เพราะผลลัพธ์สำคัญที่สุดจากการยึดอำนาจครั้งนี้ คือ หนึ่งทำให้การเผชิญหน้าระหว่างฝ่ายผู้สนับสนุนระบอบทักษิณ และฝ่ายผู้ต่อต้านระบอบทักษิณสิ้นสุดลง และสอง ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนที่ 23 กลายเป็น "อดีต" ไปทันที ซึ่งผลลัพธ์ทั้งสองย่อมทำให้สังคมไทยคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ทว่า ก็เช่นเดียวกับหลายๆ คน ภาพหลอนจากเมื่อครั้ง รสช.ยึดอำนาจจนทำให้เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ก็ยังทำให้เป็นห่วงว่า เหตุการณ์จะซ้ำรอยเดิม แต่ถ้าไม่ใช่ก็ต้องถือว่าเป็นการถอยหลังเพื่อเดินหน้าต่อ และไม่แน่ว่าอาจจะเดินได้อีก "หลายก้าว"


 


และความห่วงอีกประการหนึ่ง คือเกรงว่า อดีตนายกฯ มหาเศรษฐี และพลพรรค ซึ่งล้วนแต่ "ฤทธิ์มาก" จะทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้อำนาจคืนมา และอาจสร้างเงื่อนไขที่จะทำให้สังคมไทยแตกแยกอีกครั้ง ผมอาจจะคิดมากไป แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้


 


ย้อนคิดถึงช่วงที่รัฐบาลทักษิณ เพิ่งจะบริหารประเทศในปีแรก นั่นเป็นช่วงเดียวกับที่ผมเริ่มงานนักข่าวพอดี กระแส "ทักษิณฟีเวอร์" กำลังมาแรง ประชาชนคนไทย ต่างเห่อนายกฯ คนใหม่ ผู้ร่ำรวยและมีวิสัยทัศน์กว้างไกล แถมใจดีเป็นพ่อพระ ผุดไอเดียแต่ละโครงการล้วนแต่ (อ้างว่า) ทำเพื่อประชาชน เดินสายไปจังหวัดไหนประชาชนก็แห่แหนต้อนรับ


 


ครั้งหนี่ง นายกฯ ทักษิณและคณะรัฐมนตรีเดินทางโดยรถไฟไป "ครม.สัญจร" ที่ จ.ศรีษะเกษ เป็นช่วงเดียวกับที่ผมกลับไปเยี่ยมญาติทางแม่ที่อยู่ที่นั่น (แต่ไม่ได้ไปขบวนเดียวกับ ครม.สัญจรนะครับ) ญาติผู้ใหญ่ท่านหนึ่งของผมซึ่งเป็นข้าราชการและปลื้มนายกฯ คนนี้มาก ถามว่าทำไมผมจึงไม่ไปทำข่าว ครม.สัญจรคราวนี้ ผมซึ่งไม่ได้ปลื้มนายกฯ และครม.ชุดนี้เท่าไร ก็ได้แต่ตอบไปตามตรงว่า ผมไม่ได้รับคำสั่งจาก บก.ให้มาทำข่าวนี้ ที่สำคัญคือผมไม่ได้มีหน้าที่เชียร์รัฐบาล


 


ครม.สัญจร ไปศรีษะเกษคราวนั้น เป็นการ "นั่งรถไฟขายฝัน" นัดแรกๆ ที่ได้ผลไม่น้อย สารพัดโครงการที่ท่านผู้นำบอกว่าจะให้ จะให้ และจะให้ ผมไม่ทราบว่ามีโครงการไหนที่ได้ให้จริงและเกิดการพัฒนาจริงๆ ขึ้นมาบ้าง แต่เท่าที่ทราบ ครม.สัญจรครั้งนั้น ทำให้สถานีรถไฟศรีษะเกษ ที่ทรุดโทรมมานานหลายปี ดูดีขึ้นทันตาเห็นเลย และนั่นเป็นเพียงสิ่งเดียวที่ผมเห็นจาก ครม.สัญจร


 


หลังจากนั้นต่อมาอีกหลายปี นายกฯ ทักษิณ และคณะ ยังคงเดินหน้าเปลี่ยนแปลงประเทศไทยด้วยสารพัดโครงการเมกะโปรเจกต์และประชานิยม เดินหน้าจัดระเบียบประเทศ บางเรื่องทำจริง แต่หลายเรื่อง ก็ยังเป็นเพียงคำโฆษณาชวนฝัน หลายโครงการทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี แต่อีกหลายโครงการก็ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชีวิตประชาชน


 


การจัดระเบียบสังคมโดย "ท่านปุระชัย" มือปราบสายเดี่ยว ทำให้ความเละเทะมัวเมาในสังคมคนกลางคืนลดน้อยลง ชาวบ้านต่างชื่นชม แต่การทำสงครามกับยาเสพติด แม้จะทำให้ปัญหายาเสพติดลดความรุนแรงลงไปอย่างมาก แต่ก็ทำให้มีการฆ่าตัดตอนถึงสองพันกว่าศพ,โครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรค แม้จะทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้มากขึ้น แต่ด้วยงบประมาณที่จำกัดและการจัดการที่ไม่ดีพอก็ทำให้โรงพยาบาลต้องแบกรับค่าใช้จ่าย บุคลากรไม่สามารถรองรับปริมาณงานได้ ต้องลาออกกันไปมากมาย และสุดท้าย โรงพยาบาลก็ตัองจัดแบ่งคนไข้ออกเป็นสามประเภท คือหนึ่ง คนไข้ที่จ่ายค่ารักษาตามปกติ สอง คนไข้ที่ใช้บัตรประกันสังคม และสาม คนไข้ที่ใช้บัตรสามสิบบาท,สารพัดโครงการเอื้ออาทรที่หลายโครงการยังคาราคาซังมาจนปัจจุบัน ดังเช่น บ้านเอื้ออาทร แท็กซี่เอื้ออาทร โทรทัศน์เอื้ออาทร (มีจริง) ฯลฯ


 


ตลอดเวลาห้าปีกว่าบริหารประเทศ ด้วยระบบ "บริษัท ประเทศไทย" รัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ทำให้สังคมไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬาร หลายอย่างเติบโตแบบก้าวกระโดด แต่หลายอย่างก็เสื่อมถอย คนไทยจำนวนไม่น้อยสร้างตัวเองได้จากโครงการที่รัฐบาลส่งเสริม เช่น SMEs,กองทุนหมู่บ้าน,โครงการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน แต่คนไทยอีกไม่น้อยเช่นกันที่ประสบปัญหาถูกแย่งชิงทรัพยากรจากโครงการพัฒนาของรัฐ กลายเป็นหนี้เป็นสินเพราะไม่มีเงินไปใช้หนี้ให้รัฐบาล,ความพยายามในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ(ที่ได้ผลกำไรสูง)ให้กลายเป็นบริษัทมหาชน แล้วหุ้นส่วนใหญ่ก็ไปตกอยู่ในมือครอบครัวนักธุรกิจการเมืองทั้งหลาย,วิธีการบริหารงานราชการแบบทันสมัยดังที่ท่านนายกฯ ชี้นำทำให้เราได้ผู้ว่า CEO ที่มีอำนาจสูงสุดราวกับ "ประธานบริษัท" ,การประมูลงานแบบ "อี-ออคชั่น" ซึ่งสุดท้ายก็แก้ปัญหาฮั้วไม่ได้อยู่ดี ฯลฯ ฯลฯ


 


ท่านนายกฯ พยายามสั่งสอนให้ทุกคนคิดแบบท่าน ทำงานแบบท่าน และถ้าให้ดีก็ควรจะ "เทิดทูน"ท่านด้วย


 


แรกๆ มันก็คงจะแปลกๆ แปร่งๆ แต่ไปๆ มาๆ ก็พอถูไถไปได้ แต่ปัญหาคือ อาการหลงตัวเองชักจะหนักข้อขึ้นทุกวัน เมื่อท่านคิดท่านทำอะไร ท่านก็อยากจะให้คนเห็นด้วยและทำตาม ถ้าใครไม่เห็นด้วย ก็ควรอยู่เงียบๆ ถ้าโวยวายจะกลายเป็นพวก "จ้องทำลาย" เป็นศัตรูความเจริญของชาติ อย่าว่าแต่นักการเมือง สื่อมวลชน เอ็นจีโอ หรือฝ่ายพันธมิตร เลยครับ เอาแค่ชาวบ้านทั่วไปก็มี


 


กรณีตัวอย่างให้เห็นมากมาย เช่น หมู่บ้านหนึ่งเขาพึ่งตัวเองได้ไม่ต้องการเงินกองทุนหมู่บ้าน แต่เจ้าหน้าที่บอกว่าถ้าไม่กู้จะผิดกฎหมาย ชาวบ้านเขาก็เลยต้องกู้มา แล้วก็เอาไปฝากธนาคาร ซึ่งได้ดอกบี้ยน้อยกว่าที่ต้องเสีย เขาก็ยอมเสียเงิน แต่ไม่อยากเป็นหนี้รัฐบาล, หรือ อย่างคุณยายท่านหนึ่งที่ จ.น่าน เป็นหนี้กองทุนหมู่บ้านไม่มีเงินมาใช้หนี้ เลยถูกคนในหมู่บ้านต่อต้านไม่คบค้าสมาคมให้ร่วมกิจกรรมใดๆ ด้วยทั้งสิ้น ไม่ให้ใช้น้ำประปาหมู่บ้าน คุณยายเอาเงินไปทำบุญ ก็ยังมีคนเอาเงินมาคืน ไม่ใช่แค่คุณยายคนเดียว ครอบครัวของผู้ค้ำก็โดนหางเลขไปด้วย ชาวบ้านแบ่งเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเห็นใจ อีกฝ่ายหนึ่งไม่ยอมท่าเดียว ไปๆ มาๆ กลายเป็นเรื่องใหญ่จนทางอำเภอต้องเข้ามาช่วยแก้ไข


 


แต่ที่หนักที่สุดในห้าปีของรัฐบาลทักษิณ ซึ่งเป็นเรื่องที่สังคมไทย "สุดจะทน" คือ หนึ่ง การทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางมากมาย ทั้งซับซ้อน ทั้งลึกล้ำ แต่ที่น่าเจ็บใจที่สุดคือท่านผู้นำ ประกาศจะทำสงครามกับการทุจริตคอรัปชั่น "แค่ปาก" แต่ในทางปฏิบัติ ไม่มีการลากคอตัวการใหญ่มารับผิดได้เลย ตรงกันข้าม ถ้าเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลทำผิดบ้าง จะถูกจู่โจมตรวจค้นและจับกุมทันที เลือกปฏิบัติ "สองมาตรฐาน" อย่างไม่สนใจจะแยกแยะผิดถูกชั่วดี จนเป็นสาเหตุให้เกิดความแตกแยกระหว่างคนรักทักษิณ กับ คนเกลียดทักษิณ


 


สอง คือปัญหาความไม่สงบทางภาคใต้ที่ท่านอดีตนายกฯ ไม่ยอมรับผิดชอบใดๆ เลย แก้ไม่ได้ก็เปลี่ยนคนรับผิดชอบ เปลี่ยนแล้วเปลี่ยนอีก มีปัญหาทีก็โยนความรับผิดชอบให้เจ้าหน้าที่ ไม่เคยคิดจะเปลี่ยนตัวเองสักที เกิดเหตุระเบิด เกิดการลอบยิงชาวบ้านตายกันทุกวัน ท่านก็ยังตีกอล์ฟ เดินห้าง และ "โยนความผิด"ให้เจ้าหน้าที่เหมือนเดิม แต่พอเกิด "ระเบิดด้าน" แถวบ้านที ท่านก็เกิดอาการกลัวตายขึ้นสมอง เป็นภาพน่าละอายของผู้นำประเทศให้ชาวบ้านเขาได้สมเพชกันทั่วหน้า


 


เรื่องทำนองนี้ ต่อไปอาจจะทยอยมาให้เราได้รับรู้กันมากขึ้นเรื่อยๆ เข้าทำนอง "น้ำลด ตอผุด" นั่นละครับ พอหมดอำนาจ สิ่งเลวร้ายที่กระทำไว้ก็จะถูกเอามาแฉ


 


ผมคาดว่า หลังจากนี้ น่าจะมีใครรวบรวมและสรุปผลการทำงานของรัฐบาลทักษิณในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาว่าทำให้สังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน รวมถึงการวิเคราะห์และสรุปผล การขึ้นสู่จุดสูงสุดและการตกลงสู่จุดต่ำสุดของรัฐบาล


 


ในช่วงเวลาที่เรายังต้องรอ นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีที่จะมาจากการแต่งตั้งอยู่นี้ ผมคิดว่าเราอาจจะยังไม่สามารถวิเคราะห์หรือวิจารณ์สถานการณ์ที่ยังคลุมเครืออยู่นี้ได้มากนัก สังคมไทยโดยรวมย่อมมีความหวังเช่นเดียวกันว่า ทุกสิ่งทุกอย่างคงจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ในช่วงเวลานี้ อะไรบางอย่างทำให้ผมคิดถึงบทบรรณาธิการจากนิตยสารหนังเล่มหนึ่ง ซึ่งตั้งข้อสังเกตว่า "ทุกครั้งที่มีหนังไทยขาดทุน มาตรฐานต่ำสุดของหนังไทยจะสูงขึ้นเรื่อยๆ" ผมคิดว่า ทุกสิ่งทุกอย่างต้องมีการเรียนรู้และเติบโต ไม่มีใครอยากให้เกิดความผิดซ้ำซากขึ้นอีก และแม้ว่าผมจะไม่อาจบอกได้ว่า การยึดอำนาจที่ผ่านมาทั้ง 9 ครั้ง ทำให้สังคมไทยก้าวหน้าหรือถอยหลังอย่างไร แต่ผมเชื่อว่า ทุกครั้งที่มีการยึดอำนาจ สังคมไทยได้เรียนรู้อะไรบางอย่างที่มีส่วนช่วยให้เกิดการเจริญเติบโตขึ้น ไม่ว่าจะสะใจ โล่งอก ไม่พอใจ หวาดกลัว หรือ เฝ้าระวัง ก็ล้วนแต่เป็นสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากการยึดอำนาจครั้งที่ผ่านๆ มาทั้งสิ้น


 


ผมเองไม่มีญาณวิเศษแบบ "หมอดูอีที" ที่จะทำนายอนาคตข้างหน้าได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมสรุปได้ในตอนนี้คือ การเดินทางของ "เซลล์แมนนักขายฝัน" ที่ชื่อ ทักษิณ ชินวัตร นั้นได้จบสิ้นลงไปแล้ว สังคมไทยจะต้อนรับเขาอีกหรือไม่ ไม่สำคัญเท่ากับว่า เราได้สรุปบทเรียนจากการกระทำของเขาและพวกพ้องอย่างไร


 


ขอโบกมือลาระบอบทักษิณตลอดกาล